"พปชร." ดูแลเกิดยันตาย ย้ำ "มารดาประชารัฐ" สร้างโอกาสลดเหลื่อมล้ำ


เพิ่มเพื่อน    

       โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งมาถึงแล้ว นับถอยหลังให้ถึงวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค. หลายพรรคการเมืองแข่งกันนำเสนอนโยบายกันอย่างคึกคัก ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้นก็เช่นกัน ซึ่งวันนี้คิดกระบวนการครบวงจรขจัดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม

       “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า พรรคมี 2 โจทย์ใหญ่ คือ ก้าวข้ามความขัดแย้ง นำพาประเทศสู่ความสงบ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นโยบายต่างๆ มีความต่อเนื่อง นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญของประเทศไทยยังมีสิ่งที่เรื้อรังมานาน คือ ความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้น โจทย์คือทำอย่างไรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ นำสู่ความเท่าเทียม ดังนั้นชุดนโยบายของพลังประชารัฐส่วนใหญ่จึงเน้นลดความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้น เรื่องสวัสดิการประชารัฐ บัตรสวัสดิการประชารัฐ พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 3 ปี สปก. 4.0 บ้านล้านหลัง ถือเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน

       อีกนโยบายหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นไม่ได้พูดถึง คือ การพัฒนาคน โดยเรามีนโยบาย มารดาประชารัฐ เป็นการเริ่มดูแลตั้งแต่แรกเกิด เด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีคุณภาพ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นปฐมบทของการเหลื่อมล้ำ

        อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่ามารดาประชารัฐเป็นประชานิยม ซึ่งความจริงไม่ใช่ ลองมองย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา เราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาประเทศ นั่นคือด้านกายภาพ แต่ศตวรรษที่ 21 นี้คือ การลงทุนในคน นี่คือที่มาของมารดาประชารัฐ เราคิดว่าเด็กที่อยู่ในครรภ์ไม่ใช่สมบัติของมารดาหรือครอบครัวเขาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสมบัติของชาติด้วย ดังนั้นเราจึงอยากลงทุนกับเด็กเหล่านั้น จากผลวิจัยของ

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การลงทุนมนุษย์ตั้งแต่ในครรภ์จนถึง 6 ขวบ เป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุด เพราะลงทุนทุก 1 บาท ได้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมเกิน 7 บาท

        มารดาประชารัฐลงทุนโดยรวมต่อเด็ก 1 คน 181,000 บาท ซึ่งมีผลตอบแทนเกิน 2 ล้านบาทแน่นอน โดยตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ให้มารดา 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 9 เดือน หลังจากคลอดเอาไปอีก 10,000 บาท ในเวลาเดียวกันระหว่างที่เด็กอายุ 0-6 ปี ให้อีกเดือนละ 2,000 บาท

        บางคนตั้งคำถามว่า นโยบายดังกล่าวคุ้มหรือไม่ ตอบเลยว่าคุ้มอยู่แล้วในเชิงเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันยังไม่มีกระทรวงใดดูแลเป็นพิเศษ แต่หากทำแบบนโยบายของเราจะทำให้เด็กเรียนรู้เร็ว เพราะได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันดูแลเรื่องนี้แบบเบี้ยหัวแตกอยู่ราว 3-4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นลงทุนเพียง 6 หมื่นกว่าล้านบาท ถือว่าเพียงพอแล้ว

       “ถ้าเด็กมีจุดเริ่มต้นเท่ากัน ความเหลื่อมล้ำที่เหลือจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่หากเริ่มต้นยังเหลื่อมล้ำก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ พรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าความเหลื่อมล้ำสืบทอดรุ่นสู่รุ่น เมื่อพ่อแม่ไม่มีโอกาส เด็กก็จะไม่มีโอกาส ดังนั้นเราจึงต้องเบรกวงจรนี้ก่อน โดยให้เด็กได้มีโอกาส ส่วนคนที่เหลือจะเติมเต็มด้วยครอบครัวประชารัฐ โดยพ่อแม่มีเวลาช่วยคลอด และต้องการยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศด้วย” รองหัวหน้าพรรคกล่าว

       “สุวิทย์” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พลังประชารัฐยังสนับสนุนในด้านการศึกษาให้เท่าทันและทั่วถึง เพื่อสร้างเยาวชนไทย 4.0 เด็กประถมศึกษาต้องเริ่มเรียนเรื่อง A.I และต้องมีจิตสาธารณะ มีน้ำใจนักกีฬา ทั้งนี้ สมัยที่ตนเองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรามีบอร์ดอัจฉริยะให้เด็กเล่นและหัดเขียนโปรแกรมเองในการใช้ควบคุมแสง ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น ซึ่งต้นทุนบอร์ดอยู่ที่ 300-400 บาท ทางพรรคจะแจก 1 ล้านบอร์ด ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองสามารถเขียนโปรแกรมเองได้

        นอกจากนี้ เราจะจัดให้มีโรงประลองวิศวกรรม มีทั้ง 3D ปริ๊นเตอร์และเลเซอร์อยู่ในโรงเรียน หากเด็กต้องการทำหุ่นยนต์ก็สามารถทำได้ตามความฝัน ทั้งนี้ โรงประลองต้นทุนต่ำมาก ประมาณ 5 แสนถึง 1 ล้านบาทต่อโรง ถ้าโรงเรียนมี 10,000 โรง ก็ใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาทเอง

       “สุวิทย์” กล่าวต่อว่า ในส่วนของอาชีวศึกษา อนาคตของเด็กต้องกำหนดเองได้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส โดยเริ่มจากอาชีวะประชารัฐ มีงานทำตั้งแต่เรียนและตั้งกองทุนยุวสตาร์ทอัพในสถานศึกษาอาชีวะและมหาวิทยาลัย นั่นหมายถึงว่าหากมีไอเดียดีจะมีรายได้ตั้งแต่ตอนนั้น อย่างไรก็ตาม อาชีพในอนาคตจะค่อนข้างเปลี่ยนแปลง เราจึงจะจัดตั้งสถาบันแนะแนวทักษะในการประกอบอาชีพด้วย รวมทั้งจะสร้างนักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ สร้างสตาร์ทอัพ 10,000 คน สร้างเมกเกอร์นักประดิษฐ์ 100,000 ราย สมาร์ทฟาร์มเมอร์ 1 ล้านราย และสร้างสมาร์ทเอสเอ็มอี 5 ล้านราย

        อย่างไรก็ตาม พลังประชารัฐยังมีนโยบายที่ครอบคลุมไปถึงผู้สูงอายุ สูงวัยอย่างแฮปปี้ สูงวัยสุขสรรค์ เขาระบุว่า เราจะมีโรงเรียนสูงวัยเพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้ไม่เป็นโรคซึมเศร้า และทำจิตอาสา เพราะกลุ่มนี้จะมีประสบการณ์สูง และมีบ้านสูงวัย 1 ล้านหลังทั่วประเทศ อีกทั้งยังจะมีโรงพยาบาลเฉพาะสำหรับผู้สูงวัย นอกจากนี้ จากผลวิจัยพบว่า สตาร์ทอัพที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นคนสูงวัยจะมีอาชีพใหม่ด้วย

        “สุวิทย์” ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ "ประชารัฐสร้างคน คนสร้างชาติ" ไม่ใช่แค่นโยบายด้านการศึกษา แต่นี่คือการบูรณาการสุขภาพ การศึกษา การมีงานทำเข้าด้วยกัน รวมวงจรตั้งแต่เกิดยันตาย ถ้าทั้งหมดทำได้ความเหลื่อมล้ำจะลดลง ทั้งนี้ มารดาประชารัฐเป็นการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีโอกาส และเป็นต้นปฐมบทให้สังคมมีความสามารถ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"