กนง. มติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อปี หลังประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มสูบ พร้อมแนะภาคธุรกิจจับตาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนใกล้ชิด
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อไป เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน รวมทั้งแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ซึ่งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงไตรมาส 2/2561
อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของครัวเรือนโดยรวมยังปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโครงสร้างในตลาดแรงงานและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางดีขึ้น และมีแนวโน้มดีต่อเนื่องตามการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แม้ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าไปบ้างในช่วงปลายปี 2560 โดยเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
“ที่ประชุม กนง.ไม่ได้มีการหารือปัจจัยในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นพิเศษ ซึ่ง กนง.มีความชัดเจนว่าการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะต้องดูปัจจัยหลายด้าน โดยเฉพาะปัจจัยภายในประกอบ เช่น ทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน ความสมดุลของนโยบาย ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามเฟด เพราะ กนง.เห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรน และไม่ได้กำหนดระยะเวลาด้วยว่าจะต้องผ่อนปรนไปจนถึงเมื่อใด” นายจาตุรงค์ กล่าว
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท กนง.พิจารณาว่าที่ผ่านมามีความผันผวนสูงมาก ซึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเป็นไปได้ทั้ง 2 ข้าง บางครั้งแนวโน้มตลาดก็เป็นเรื่องน่าตกใจที่ค่าเงินจะสามารถกลับทิศทางได้เร็ว กนง.จึงอยากให้ภาคธุรกิจ พิจารณาความผันผวน และบริหารจัดการความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจตัวเอง โดย กนง. ไม่ได้มีความเป็นห่วงการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา