กกต.สรุปยอดใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า 86.98% พบทุจริต 3 จังหวัด เจอปัญหา จนท.แจกบัตรผิดเขต ยันปรับปรุงไม่ให้เกิดซ้ำ 24 มี.ค. พาสื่อชมศูนย์คัดแยกบัตรเลือกตั้ง โชว์รัดกุมโปร่งใส "ศรีสุวรรณ" ร้องสั่ง 9 พรรคแจงที่มาเงินนโยบายประชานิยม
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.แถลงผลการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดทั่วประเทศวันที่ 17 มี.ค.ว่า ในจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ 2.6 ล้านคน มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 86.98 และมีหลายแห่งใช้สิทธิ์เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยจากรายงานพบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรวม 3 กรณี คือ 1.อาจมีการกระทำทุจริตใน 3 จังหวัด คือ จ.สมุทรสงคราม มีผู้แอบนำบัตรเลือกตั้งทั้งเล่มไปทำเครื่องหมายให้ผู้สมัครพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบและนำบัตรเล่มนั้นไปเจาะทำลาย และนำบัตรเลือกตั้งเล่มใหม่ส่งไปทดแทน พร้อมแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด, จ.อุทัยธานี มีการนำบัตรประจำตัวของบุคคลอื่นไปแสดงตนขอใช้สิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว และที่ จ.กาฬสินธุ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 มีการทำเอกสารปลอมโดยอ้างว่าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตประกาศไม่รับสมัครผู้สมัครของพรรคการเมืองหนึ่ง ทั้งที่ในพื้นที่พบว่ายังมีป้ายหาเสียงอยู่ จึงได้แนะนำให้ผู้สมัครไปแจ้งความไว้
2.เจ้าหน้าที่แจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต ซึ่งพบมากในหลายจังหวัด โดยหากเป็นการพบหรือทักท้วงก่อนการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ได้มีการแก้ไขโดยแจกบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้องให้ผู้ใช้สิทธิ์ แต่หากมีการลงคะแนนและนำบัตรใส่ในหีบบัตรเลือกตั้งไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกเหตุการณ์ไว้ ส่วนกรณีผู้มีสิทธิ์ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ไม่พบข้อมูลที่หน่วยเลือกตั้งเมื่อได้ทำการตรวจสอบหลักฐาน เมื่อพบว่ามีการลงทะเบียนจริง กรรมการประจำหน่วยจะเพิ่มชื่อให้ผู้มีสิทธิ์ได้ใช้สิทธิ์ และ 3.แอปพลิเคชันสมาร์ทโหวตไม่สามารถใช้งานได้ในระยะเวลา 08.30 น. และได้ปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์เป็นเวลา 15 นาทีจนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทั้งนี้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะซักซ้อมเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในวันที่ 24 มี.ค.
ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยเลือกตั้งเขตบางกะปิซึ่งมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์มากที่สุดกว่า 61,401 คน สามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิ์ได้ใช้สิทธิ์เรียบร้อย และมีการปิดหีบเลือกตั้งเวลา 18.00 น. ซึ่งถือว่าทำได้เป็นที่น่าพอใจ ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงสถานที่เลือกตั้งกลาง ได้มีการแจ้งเตือนในทุกช่องทางทั้งทางสมาร์ทโหวต รถกระจายเสียงในพื้นที่ รวมถึงคัตเอาต์หน้าสถานที่เลือกตั้งเดิม มีเพียงแห่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงกะทันหันคือหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากฝนตกหนัก จึงมีการย้ายหน่วยไปตั้งในจุดใกล้เคียงกับหน่วยเลือกตั้งเดิม
ต่อมาเวลา 15.30 น. นายอิทธิพรพร้อมด้วย กกต.อีก 6 คนได้นำสื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การคัดแยกบัตรลงคะแนนล่วงหน้า เพื่อจัดส่งด้วยรถขนส่งไปรษณีย์ไปยัง 350 เขตเลือกตั้งปลายทาง ที่ศูนย์ปฏิบัติการการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ส.ส. 2562 ที่ลงคะแนนแล้ว ไปรษณีย์ไทย หลักสี่ โดยมีนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) อธิบายขั้นตอนการคัดแยกบัตรด้วยเครื่องคัดแยกอัตโนมัติ (OCR) และมีการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำซ้ำอีก 2 ครั้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทไปรษณีย์ไทย ซึ่งผลัดเวรกัน 3 ชุดทำหน้าที่คัดแยกบัตรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจัดส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งปลายทางก่อนวันที่ 24 มี.ค.นี้ สำหรับพื้นที่ชั้นในถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ผู้ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานซึ่งจะเข้าถึงซองบรรจุบัตรเลือกตั้งจะต้องมีบัตรผ่านและถูกตรวจสอบด้วยระบบยืนยันตัวตนอย่างรัดกุม
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาฯ กกต.เปิดเผยว่า ขณะนี้บัตรเลือกตั้งล่วงหน้ามาครบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือเพียงแค่เกาะสมุยที่จะส่งมาถึงวันที่ 19 มี.ค. ส่วนบัตรนอกราชอาณาจักรเหลือเพียงบัตรที่ลงระบบไปรษณีย์ซึ่งจะมาถึงไม่เกินวันที่ 22 มี.ค. โดยเมื่อมาถึงแล้วไปรษณีย์จะทำการคัดแยก และจะเริ่มขนส่งบัตรไปยัง 350 เขต ซึ่งเลขาธิการ กกต.จะมีหนังสือไปยังทุกพรรคการเมืองว่า หากพรรคไหนจะส่งตัวแทนมาสังเกตการณ์การคัดแยกและการส่งบัตร สามารถแจ้งชื่อผู้แทนมาร่วมสังเกตการณ์ผ่านโทรทัศน์วงจรปิดที่สำนักงานไปรษณีย์หลักสี่ได้ และสามารถขับรถตามรถขนส่งบัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ได้ เพราะจะมีตำรวจและระบบจีพีอาร์เอสดูความเคลื่อนไหวไม่ให้ออกนอกเส้นทาง
นายณัฏฐ์กล่าวย้ำว่า กรณีบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิ์ได้บัตรไม่ตรงกับเขตและมีการลงคะแนนไปแล้วนั้น จะรู้ว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่ก็ในวันที่ 24 มี.ค. หากบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกับเขตที่เขียนไว้หน้าซองที่บรรจุบัตรมา เจ้าหน้าที่จะขานเป็นบัตรเสีย ส่วนข้อกังวลที่ว่าจะมีการนำบัตรนอกเขต นอกราชอาณาจักรหรือบัตรปลอมมาเพิ่มในวันที่ 24 มี.ค.นั้น ขอชี้แจงว่าบัตรแต่ละแบบแยกสีชัดเจน มีรหัสควบคุมของตัวเอง 5 ชุดและมีเลขาธิการ กกต.กำหนดและรู้เพียงคนเดียว
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต.ในโซเชียลมีเดีย หากพบว่ามีการบิดเบือนใส่ร้ายหรือเจตนาเพื่อสร้างกระแสจะให้ฝ่ายกฎหมายของ กกต.ดำเนินคดี ส่วนกรณีมีคลิปซื้อเสียงที่จังหวัดอุบลราชธานี ผอ.จังหวัดอุบลราชธานีได้แจ้งว่าเป็นเรื่องที่สั่งรับไว้สืบสวนสอบสวนตั้งแต่เดือน ก.พ. สำหรับกรณีตรวจพบการกระทำอาจส่อทุจริตการเลือกตั้งในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้สั่งให้พนักงานสืบสวนสอบสวนไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นเข้าใจว่าเป็นการใช้สิทธิ์ครั้งแรกและหยิบเอาบัตรเลือกตั้งเข้าไปในคูหาทั้งเล่ม เมื่อนำไปกาเสร็จแล้วก็นำมาส่งให้เจ้าหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ต้องรอฟังผลจากชุดสืบสวนสอบสวนเสียก่อน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าถือว่าเรียบร้อยดี อาจจะมีปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง ขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความสนใจในการออกมาเลือกตั้ง ตนก็ได้เดินหน้าไปสู่โรดแมปของตน ให้ทุกคนได้มีโอกาสเลือกตั้ง ขอให้ใช้สติปัญญา หลักคิดที่ดีในการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือการกำหนดอนาคตประเทศไทยว่าจะเดินหน้าไปอย่างไรในทิศทางที่ถูกต้อง วันนี้หลายพรรคออกมาชี้แจงแล้วว่านโยบายเป็นอย่างไรก็ทำไป ทุกอย่างจะเกิดขึ้นในรัฐบาลหน้า
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เห็นว่ามาใช้สิทธิ์กันตั้ง 80% ถือเป็นตัวเลขที่ออกมาดี ถ้าทั้งประเทศได้ระดับนี้จะน่าพอใจอย่างมาก ส่วนที่มีการท้วงติงการทำหน้าที่ของ กกต.และเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งที่ผิดพลาดนั้น ก็ต้องแก้ไขกันไปเพราะใหม่ด้วยกันทั้งนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน เจ้าหน้าที่อาจจะงงๆ ประชาชนก็ยังงงอยู่ด้วยเหมือนกัน
วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นหนังสือถึง กกต.กรณีการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ของนโยบายจะมีลักษณะการใช้เงินการแจกเงินอย่างมาก เข้าข่ายเป็นนโยบายประชานิยม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มาตรา 258 ก. (3) ประกอบมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งพรรคการเมืองกลับไม่นำเสนอที่มาของเงินในการดำเนินนโยบาย เกรงว่าจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมและเป็นโมฆะได้ ตามกฎหมายกำหนดให้ กกต.สั่งพรรคการเมืองให้ดำเนินการในเวลาที่กำหนด โดยพบว่ามี 9 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา, พรรคประชาชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ทั้งนี้หาก กกต.ไม่ดำเนินการจะร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |