เขามอบริเวณพิพิธภัณฑฯ พระนคร มีการบูรณะรักษารูปทรง วัสดุ และคุณค่า
บ่อยครั้งที่เราเดินเข้าไปในวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง มักเห็นภูเขาจำลอง หรือ "เขามอ" ที่งดงาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และความเชื่อทางศาสนายืนหยัดผ่านกาลเวลามายาวนานหลายร้อยปี แต่ยังมีเขามออีกหลายสถานที่รกร้างขาดการดูแลไปจนถึงถูกทำลายไม่เหลือรูปทรงเดิม ด้วยไม่รู้จัก ไม่เห็นคุณค่า หรือยังไม่ทราบถึงความหมายที่แท้จริง
เหตุนี้ เพจ Public City ร่วมกับสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย จัดกิจกรรมในหัวข้อ "เขามอ ศิลปะ และสวนไทย" KHAO MO, ART AND THAI GARDEN เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์สวนไทยและแนวทางการอนุรักษ์เขามอ งานนี้มีทั้งวงเสวนาเขามอที่ห้องประชุมอาคาร ดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พาเยี่ยมชมเขาแก้วบริเวณพิพิธภัณฑฯ พระนคร ต่อด้วยลงเรือล่องเจ้าพระยาไปรู้จักเขามอที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และเขามอวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กิจกรรมเน้นชวนคนในสังคมหันมาให้ความสนใจที่จะช่วยกันฟื้นฟูเขามอและลานวัดให้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะของสังคมไทยที่มีคุณค่าอีกครั้ง
ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก กรมศิลปากร พาชมเขามอวัดพระเชตุพนฯ
"เขามอ" คืออะไร มาจากไหน อย่างไร ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ไขปริศนาให้ฟังว่า "เขามอ" คือภูเขาจำลองที่สวยงาม สร้างสรรค์จากความเชื่อพราหมณ์ฮินดูและปรัชญา มีหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยอยุธยา แม้พระนารายณ์ราชนิเวศ จ.ลพบุรี ก็ขุดพบเจอมุมหนึ่ง ถือเป็นสถานที่อันน่ารื่นรมย์ แต่ยุคที่รุ่งเรืองมากสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง มีเขามอและธารน้ำ แสดงให้ต่างชาติเห็นว่าไทยมีความรุ่งเรือง มาถึงรัชกาลที่ 3 ทรงรื้อสวนขวาออกไปถวายวัดต่างๆ เช่น วัดพระเชตุพนฯ เขามอจึงออกสู่พื้นที่สาธารณะของเมือง ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สมัย ร.3 มีเขามอกระจาย โดยเฉพาะที่วัดประยุรฯ ปัจจุบันโครงสร้างหินใกล้เคียงกับของเดิม ส่วนเขามอวัดอรุณฯ มีก่อเป็นรูปทรงเจดีย์จีนกับรูปทรงภูเขาธรรมชาติ เขามอลักษณะจะคล้ายสวนจีน ที่จีนใช้หินสวยงามในท้องทะเลสาบ พบมากที่เมืองซูโจ ส่วนไทยใช้ก้อนหินอีกลักษณะนำมาก่อขึ้นรูป
"จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี มีภาพสะท้อนแนวคิดคนโบราณลักษณะสวนสวยถ่ายทอดสู่เขามอ รวมถึงภาพเขาพระสุเมรุ เขามอในบางพื้นที่สื่อถึงเขาพระสุเมรุด้วย แล้วยังมีภาพวิมานบนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ แม้กระทั่งสระอโนดาตเป็นแลนด์สเคปของสระโบราณ ล่าสุดใช้ออกแบบฐานรอบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 สิ่งต่างๆ เชื่อมโยงในงานภูมิสถาปัตยกรรม แม้แต่พระเมรุสมัยก่อนไม่ได้อยู่บนพื้นดิน แต่อยู่บนเขามอชั่วคราว เพราะกษัตริย์เป็นวรรณะชั้นสูง ไม่ได้ใช้หินจริง วัสดุเป็นไม้ไผ่และกระดาษเงินกระดาษทองบุสร้างรูปทรงคล้ายภูเขา พบในพระราชพิธีโสกันต์" ดร.พรธรรมกล่าว
ภาพเก่าสะท้อนเขามอ สัญลักษณ์-ความเชื่อทางศาสนา
ส่วนขนาดของเขามอ ภูมิสถาปนิกบอกว่า มี 2 แบบ คือ เขามอก่อบนดินสามารถเดินเข้าไปสัมผัสได้ และเขามอก่อในกระถางใช้ประดับในบ้านเรือนเจ้านาย จะก่อหินเป็นรูปสัตว์มงคลต่างๆ และทำไม้ดัดตามตำราไม้ดัดกระบวนไทย ถือเป็นภูมิสถาปัตยกรรมไทยที่ขาดคนสืบต่อ ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสวัดคลองเตยสืบทอดความรู้และนำมาเผยแพร่ในงานพระเมรุมาศ ร.9
เขามอที่หายไป ดร.พรธรรม ยกตัวอย่างผ่านผังของวังหน้าก่อนปรับรื้อและสร้างสนามหลวง บริเวณวัดพระแก้ววังหน้า มีจุดหนึ่งเขียนในผังว่าเป็นเขามอ ปัจจุบันไม่พบแล้ว ขณะที่เขามอวัดบวรนิเวศฯ มีการต่อเติมขึ้นมาใหม่ เป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ หากจะอนุรักษ์ต้องปรับเปลี่ยนให้ใกล้เคียงแบบเดิมที่สุด แล้วยังมีที่วังพญาไท ปัจจุบันพบสิ่งแปลกปลอมจำนวนมาก หากมีโครงการบูรณะจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา อีกสถานที่น่าห่วงเขามอวัดจักรวรรดิฯ มีถ้ำเข้าไปเดินดูได้ และมีส่วนเขาซึ่งเป็นฐานให้อาคารสำคัญ ปัจจุบันทรุดโทรมไปมาก แต่ยังเห็นร่องรอย ลีลาของการต่อหินงอกหินย้อย มีช่องที่เดิมเคยมีต้นไม้
"ที่น่าสนใจโครงสร้างเขามอวัดจักรวรรดิฯ มีการใช้ไหกระเทียมเพื่อลดน้ำหนักในส่วนยอด เป็นความชาญฉลาดไม่ให้ภูเขาโค่นลงมา ทั้งยังเป็นที่ใส่ดินสำหรับปลูกต้นไม้ เป็นรูปแบบที่ศึกษาได้จากสิ่งที่พบ ทั้งยังใช้อิฐก้อนลดน้ำหนัก มีผิวปูนฉาบปิด" ดร.พรธรรมเผย
นอกจากนี้ เขาเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์ของเขามอบ้านพิษณุโลกใช้พื้นที่เขามอขุดหลุมหลบภัยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับเขามอ รพ.วชิระ ดัดแปลงใช้ประโยชน์เป็นหลุมหลบภัย ด้วยเป็นเนินเขาสูง ส่วนเขามอพระที่นั่งพิมานรัตยาในพระบรมมหาราชวัง เทคนิคก่อสร้างแบบเดียวกับวัดประยุรฯ มีปูนปั้นประดับอย่างประณีต มีทางเดินเข้าไปในถ้ำ ยังพบโครงสร้างไม้เพื่อใช้รับน้ำหนัก เขามอในวังหลวงยังอยู่ในสภาพที่ดี
การอนุรักษ์เขามอที่ถูกต้อง ดร.พรธรรมหยิบยกตัวอย่างเขามอวัดประยุรวงศาวาสฯ กรมศิลปากรได้บูรณะคืนความของแท้ดั้งเดิมเขามอให้มากที่สุด พื้นใช้วัสดุใกล้เคียงของเดิม เปิดมุมมองรักษาผนังโขดหินเอาไว้ ก่อนบูรณะค้นคว้าเอกสาร ภาพถ่ายเก่า รวมถึงทำภาพสเกตช์และแผนผัง จากนั้นฟื้นฟูตามหลักวิชาการ
"เขามอเป็นมรดกทางภูมิสถาปัตยกรรม ปัจจุบันคนไม่รู้จัก หากพบเจอกองหินตามวัด ไม่อยากให้มองผ่าน แต่ลองสังเกต และร่วมกันอนุรักษ์สืบทอดต่อไป หากจะสร้างเขามอในยุคใหม่ขึ้นกับว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบเดิมหรือแปลงเป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์ ซึ่งออกแบบนำเสนอต่างไป แต่แฝงความคิดเดิมไว้ ปัจจุบันตนปรับปรุงภูมิทัศน์สวนไทยภายในพื้นที่หมู่พระวิมาน บริเวณพิพิธภัณฑฯ พระนคร จะมีส่วนจัดแสดงเขามอ ไม้ดัดตามตำราไทย ตุ๊กตาจีนโบราณ เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สถาปัตยกรรมไทยโบราณที่ถูกต้อง จะแล้วเสร็จภายในปี 62 นี้" ดร.พรธรรมกล่าว พร้อมพาชมเขามอสถานที่ต่างๆ
สร้างบทสนทนากับพื้นที่เขามอวัดอรุณฯ ผ่านงานศิลปะร่วมสมัย
ด้าน ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เขามอกับประวัติศาสตร์ภูมิสถาปัตยกรรมไทยอยู่คู่กันมาช้านาน แต่เขามอในวัดจะถูกรื้อหรือปรับเปลี่ยนเป็นที่เก็บอัฐิผู้ล่วงลับบ้าง ต้นแบบการอนุรักษ์ที่น่าศึกษา คือ เขามอวัดราชคฤห์ ย่านตลาดพลู อดีตใช้พื้นที่เป็นสุสาน ต่อมามีการบูรณะเขามอจนสวยงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา มีถ้ำ อาศรมขนาดเล็กและกุฎีฤาษี มีบันไดขึ้นภูเขาสองด้าน ทิศเหนือและทิศใต้ มีสถูปพระบรมสารีริกธาตุบนยอดเขา อยากชวนไปชมและค้นหาความหมาย อีกสถานที่เขามอวัดจักรวรรดิฯ เชิงเขามีสระจระเข้และถ้ำฤาษี มีผีเสื้อปูนปั้นเฝ้าเชิงถ้ำ บนยอดเขามีพระบาทให้สักการะ รวมถึงรูปปั้น "เจ้ามา" เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิฯ สมัยรัชกาลที่ 5 ที่น่าสนใจวัดนี้มีพระพุทธฉาย รอบพระอุโบสถมีไม้ดัดประดับ
อ.ประวัติศาสตร์สถาปัตย์กล่าวต่อว่า ช่วงรัชกาลที่ 5 ยังมีการสร้างเขามอ เพียงเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ทรงเห็นสวนเมืองนอก จึงทำภูเขาแบบฝรั่ง นำรูปปูนปั้นมาประดับ ปลูกพรรณไม้แปลกๆ ไม่มีวิธีคิดทางศาสนาแฝงอยู่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ตามวัดไม่มีการสร้างเขามอ จะมีแต่สวนญี่ปุ่น สวนแฟชั่น ยุคต่อมายังพบตามวังเก่า เช่น บ้านพระศุลีสวามิภักดิ์ และวังบางพลูเชิงสะพานกรุงธนฯ ของราชสกุลสนิทวงศ์ แต่ที่น่าสนใจเขามอวังบางขุนพรหม และวังปารุสกวัน ปัจจุบันยังคงมีอยู่ เขามอสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 9 พระยามไหสวรรย์ ก่อเขามอเล่นในกะถาง
"เขามอเกี่ยวข้องกับความเชื่อ อยู่ตั้งแต่ในวัง วัด บ้านเจ้านายและพื้นที่สาธารณะตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เขามอประกอบด้วยหิน น้ำ ต้นไม้ และสัตว์ โดยย่อส่วนในจังหวะที่งดงาม หน้าที่ของเขามอมีความหลากหลาย สร้างถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความรื่นรมย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือใช้ตกแต่ง" ผศ.ดร.พีรศรีกล่าว
เขามอนอกจากเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรม ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ นิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิก ทำงานศิลปะร่วมสมัยแสดงในงาน Bangkok Art Biennale ที่ผ่านมา โดยสร้างบทสนทนากับพื้นที่เขามอวัดอรุณฯ ผ่านงานศิลป์
นิทัศน์กล่าวว่า สนใจเขามอที่ผูกพันกับความเชื่อและเกี่ยวข้องกับภูมิสถาปัตยกรรม สำหรับเขามอวัดอรุณฯ สร้างตามความเชื่อคติจักรวาลจากไตรภูมิ เกิดแนวคิดสร้างผลงานให้คนก้าวข้ามจากโลกข้างนอกสู่โลกข้างใน คนได้มีเวลาสำรวจความเปลี่ยนแปลงในใจตนเอง ผลงานเปรียบเทียบจักรวาลในเชิงคติความเชื่อพุทธศาสนาและจักรวาลในมิติวิทยาศาสตร์ เช้า สาย บ่าย เย็น เกิดแสงตกกระทบในพื้นที่ต่างกัน สื่อความเปลี่ยนแปลง ชมได้จากข้างนอกและข้างใน อีกทั้งดึงลวดลายดาวเพดานมาเรียบเรียงสื่อสารใหม่
"งานเฟสแรกชุบชีวิตเขามอ ก่อนปรับปรุงพื้นที่เขามอ วัชพืชขึ้นทึบมาก หลังปรับปรุงเปิดให้เห็นเนื้อหินเขามออย่างน้อย 80% ต้องทำความสะอาดและยกทรงขึ้นพุ่มต้นไม้ ดึงวัชพืชออก โดยปรึกษากรมศิลปากร เฟสสอง เสนอศิลปะจัดวาง นี่คือ การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และตีความใหม่" ศิลปินหญิงมั่นใจศิลปะจะส่งแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |