“เสียใจด้วย เต็มแล้ว” รถเมล์ในเมืองโคควิทแลม รัฐบริติชโคลัมเบีย แจ้งสถานะบนจอหน้ารถ
เมื่อตอนที่เขาอายุได้ 13 ขวบก็เริ่มสูบบุหรี่แล้ว เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่บ่งชี้ว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง และกลุ่มคนที่เชียร์ให้เขาสูบแบบมวนต่อมวนจนหมดซองก็เป็นสมาชิกในครอบครัวเสียด้วย
ปีเตอร์ คัมเบอร์เบิร์ช เกิดในแคนาดาแต่ไปใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กในยุโรปเพราะพ่อเป็นนักบินของกองกำลังนาโต (NATO) ก่อนจะย้ายกลับแคนาดาตอนขึ้นชั้นมัธยม และได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียด้วยโควต้านักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง โดยเลือกเรียนวิชาเอกวรรณกรรม แต่เรียนใกล้จบแล้วก็เลือกที่จะไม่สอบเอาปริญญาบัตร ออกไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานหลายประเภท รวมทั้งช่างทาสี จนติดใจกลิ่นสี ค่อยๆ พัฒนาเป็นการเขียนภาพ ในที่สุดเขาก็เป็นศิลปินภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ แนวทาง “ศิลปะนามธรรม” (Abstract Art)
ผู้ชายฝรั่งเป็นอะไรก็ไม่รู้ มีจำนวนไม่น้อยชอบผู้หญิงที่อายุมากกว่า และไม่ใช่มากกว่าแบบปีสองปี แต่มากกว่าเป็นสิบ ปีเตอร์แต่งงานตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ ขณะที่ดอนน่า-ภรรยานั้นสามสิบกว่าเข้าไปแล้ว ปีเตอร์ชวนดอนน่าลงเรือบรรทุกไม้สัญชาติรัสเซียจากแวนคูเวอร์ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังญี่ปุ่นเพื่อสอนภาษาอังกฤษหาเงิน ดอนน่าอยู่ได้ 2เดือนก็เดินทางกลับเพราะมีอาชีพครูให้ต้องไปทำหน้าที่ แต่ปีเตอร์อยู่ค้นหาญี่ปุ่นในตัวเองต่อถึงครึ่งปี เขามีย่าทวดเป็นชาวญี่ปุ่นที่แต่งงานกับหนุ่มเชื้อสายอังกฤษ ลูกชายของฝรั่งชาวผู้ดีกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในนางาซากิยุคญี่ปุ่นปิดประเทศ (เปิดเฉพาะนางาซากิ)
เมื่อกลับไปแคนาดาเขาก็หาเรื่องเดินทางมาเอเชียอีกครั้ง (โดยไม่มีดอนน่า) จุดหมายปลายทางคราวนี้คือประเทศอินเดีย เขาเกิดหลงใหลอินเดียเสียยิ่งกว่าญี่ปุ่นจนเขียนภาพขึ้นมากมาย รวมทั้งหนังสือรวมบทกวี 2 เล่ม แต่ญี่ปุ่นก็ดึงเขากลับจนได้ เพราะพบรักกับสาวแดนอาทิตย์อุทัยที่ไปเที่ยวกรุงพาราณสี
ระหว่างนี้ปีเตอร์มักจะเดินทางกลับไปท่องเที่ยวในอินเดียอยู่เสมอ และทุกครั้งจะต้องแวะเมืองไทย เขาเคยมีงานแสดงภาพเขียนในกรุงเทพฯ 2 ครั้ง โดยภาพทั้งหมดเขียนขึ้นในอินเดียและญี่ปุ่น ไม่มีสักภาพที่เขียนขึ้นในเมืองไทย จนผู้จัดงานพูดค่อนแคะหลายครั้ง
ผมเริ่มรู้จักกับปีเตอร์ช่วงก่อนที่เขาจะแยกทางกับภรรยาชาวญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว และเมื่อความสัมพันธ์ชีวิตคู่สิ้นสุดลงหลังอยู่กินกันได้ 8 ปี ปีเตอร์ก็กลับไปปักหลักในอินเดียอีกครั้ง
ทว่าช่วงท้ายๆ เขาต้องจากอินเดียมาและไม่ยอมเดินทางกลับไปอีกเพราะสะเทือนใจที่แมวนับสิบตัวที่เขาเลี้ยงดูในโกลกาตาถูกคนนำใส่กระสอบเอาไปทิ้ง ซึ่งเขาสงสัยว่าแมวพวกนั้นน่าจะถูกฆ่า จึงเลือกที่จะเทียวไปเทียวมาระหว่างไทยและลาว
กลางปี 2558 เขาล้มป่วยลง ผมไปเยี่ยมที่เกสต์เฮาส์บนถนนพระอาทิตย์ก็รู้ว่าอาการหนัก ไม่มีเรี่ยวแรงจะเดินขึ้นลงบันได ไม่ค่อยกินอาหาร คุยกับคนที่ปรากฏในภาพหลอน แต่ต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่ 3 วันกว่าเขาจะยอมไปโรงพยาบาล และหมอให้นอนค้างทันที
นางพยาบาลต้องการกรอกศาสนาที่ปีเตอร์นับถือลงในแบบฟอร์ม เขาระบุเองว่า “ใส่ศาสนาพุทธลงไป”
ภาพฟิล์มเอ็กซเรย์เห็นมีก้อนเนื้ออยู่ในปอดด้านขวา หมอบอกว่าต้องทำซีทีสแกนหรือนำชิ้นเนื้อไปตรวจหามะเร็ง ปีเตอร์ไม่ยอมให้ตรวจชี้ชัดลงไปว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ แต่ผมสรุปได้ว่าใช่แน่นอน
ระหว่างนอนหลับในโรงพยาบาล เขาสูบบุหรี่ล่องหน และเขี่ยบุหรี่ลงในที่เขี่ยล่องหนเช่นกัน อาจละเมอจากภาพในความฝัน หรือไม่ร่างกายก็เคลื่อนไหวไปตามสิ่งที่เคยทำมาหลายสิบปีโดยอัตโนมัติ
ใบเมเปิล สัญลักษณ์ของประเทศแคนาดา ใบนี้รูปร่างผอมจนคล้ายอาวุธสามง่าม
หลังจากกินอาหารเหลวเป็นส่วนมากอยู่ 4 วัน ก็เริ่มมีกำลังขึ้น หมออนุญาตให้กลับได้ ผมเรียกแท็กซี่หน้าโรงพยาบาล ให้ปีเตอร์เข้าไปนั่งเบาะหลังเผื่อว่าเขาจะล้มตัวลงนอน ผมนั่งเบาะหน้าข้างคนขับ ปีเตอร์ควักบุหรี่ขึ้นมาจากย่ามแล้วจุดสูบทันที ผมโวย คนขับก็โวย เขาจึงรู้ตัวว่าอยู่ในแท็กซี่ คนขับกดกระจกลง ปีเตอร์รีบขว้างบุหรี่ทิ้ง
ผมพาปีเตอร์ไปพักอยู่ด้วยกัน คอยซื้ออาหารและกาแฟให้ ช่วงนี้เขาชอบกินอาหารหวานๆ เป็นพิเศษ คงเป็นขนมที่ชอบตอนเด็กๆ จำพวกมัฟฟิน เค้ก ช็อกโกแล็ตแท่ง กาแฟก็ใส่น้ำตาล 2-3 ซอง ส่วนยากินตามกำหนดในช่วงแรกๆ ตอนหลังเริ่มขาดวินัยแม้ว่าจะเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ตาม เรื่องภาพหลอนยังเห็นอยู่บางครั้ง ส่วนมากเป็นบรรดาสุภาพสตรีในชีวิต
หมอนัดสัปดาห์ละครั้งเพื่อติดตามอาการ ระหว่างนี้ผมหาวิธีติดต่อกับจอห์น น้องชายของเขาซึ่งผมไม่รู้จักมาก่อน ตอนนี้ยังไม่มีญาติคนใดทราบข่าวการป่วยของปีเตอร์ เพราะเขาไม่คิดว่าเขาป่วยหนัก จึงไม่ส่งข่าวถึงใครทั้งสิ้น เมื่อติดต่อจอห์นได้ จอห์นก็โทรทางไกลมาหาผมเกือบทุกวัน และพอจัดการธุระจำเป็นเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางมาเมืองไทยก่อนวันที่ปีเตอร์จะพบหมอรอบที่ 4
การพบหมอรอบนี้ หมอให้ปีเตอร์นอนโรงพยาบาลอีกครั้ง เขาขออนุญาตออกไปสูบบุหรี่เป็นมวนสุดท้าย แต่หมอไม่อนุญาต “It’s toxic” (มันเป็นพิษ) ผมยังจำคำที่หมอพูดได้ และยังเสียใจอยู่จนทุกวันนี้ที่ไม่พยายามช่วยให้เขาได้สูบบุหรี่มวนนั้น
สองวันหลังจากนั้นปีเตอร์พูดไม่ได้ ผมนำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กมาเปิดเพลงที่เขาชอบให้ฟัง สองวันต่อมาเขาสิ้นใจลง โดยมีผมและจอห์นอยู่คนละฝั่งเตียง เขาจากไประหว่างเพลงLike a Rolling Stone ของบ็อบ ดีแลน กำลังเล่น
หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารการตายและนำร่างไปเผาที่วัดแล้ว จอห์นเก็บกระดูกบางส่วนกลับแคนาดาโดยการช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากทางสถานทูต
หนึ่งเดือนหลังจากนั้น จอห์นส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ผม เชิญไปพูดในงานรำลึกถึงผู้วายชนม์ที่เรียกว่า Memorial Service “ในฐานะตัวแทนจากโลกตะวันออก” จอห์นระบุเช่นนั้น
วีซ่าได้รับอนุมัติอย่างรวดเร็วเพราะมีหนังสือเชิญเขียนเสมือนว่าผมเป็นบุคคลสำคัญสำหรับชาวแคนาเดียนทั้งมวล
สัญลักษณ์รูปนกของชนพื้นเมือง ชาวแคนาเดียนเรียกพวกเขาว่า “First Nation” หรือ “ผู้ที่อยู่ก่อน”
มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ วันที่ 23 กันยายน เวลา 16.25 น. โดยสารการบินอีวีเอแอร์ของไต้หวัน แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินเถาหยวน 2 ชั่วโมง ถึงสนามบินแวนคูเวอร์ประมาณ 1 ทุ่มครึ่งของวันที่ 23 ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งตามหลังประเทศไทย 14 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถามว่ามาทำไม ผมตอบว่ามางานศพเพื่อน เขาขอดูเอกสารของปีเตอร์ พอดีผมมีสำเนาพาสปอร์ตของปีเตอร์ติดตัวอยู่ เขาพูดว่า “เพื่อนไม่ค่อยหนุ่มแล้วนี่” ผมจึงสวนว่า “ก็ไม่มีใครสมควรตายเพราะไม่ค่อยหนุ่มหรอกนะ”
ถามอีกว่าจะพักที่ไหน ใครออกค่าตั๋วให้ พอตอบว่าจอห์น น้องชายคนตายออกให้ เขาก็ถามว่าทำไมไม่ออกเอง ผมเลยบอกว่า “ถ้าให้ออกเองก็ไม่มาหรอก” เขาต้องประทับตรายินยอมให้เข้าเมืองลงไปในหน้าวีซ่าอย่างไม่สบอารมณ์ ก่อนนี้เขาก็หัวเสียกับสตรีมุสลิมจากตะวันออกกลางคนหนึ่งมาแล้ว เธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาตำหนิเธอว่า “พูดอังกฤษไม่ได้เลยแล้วจะอยู่ในแคนาดายังไง” ทั้งที่เขาก็รู้ว่าเธอมาเยี่ยมญาติ และมากับญาติที่พูดภาษาอังกฤษได้อีกหลายคน
จอห์นยืนรอผมอยู่ที่ประตูทางออกผู้โดยสารขาเข้า เมื่อเดินออกไปนอกตัวอาคารเพื่อจะไปขึ้นรถต้องเปิดกระเป๋าเอาแจ็คเก็ตมาสวมเพราะอากาศเย็นมาก จากสนามบินแวนคูเวอร์ ไปยังเมืองโคควิทแลม (Coquitlam) ซึ่งอยู่ในรัฐบริติชโคลัมเบียเหมือนกัน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงนิดๆ
บ้านของจอห์นอยู่บนเชิงเขา ทำเลดี วิวสวย ลิเลียน-ภรรยาของจอห์นออกมาต้อนรับ เธอโผเข้ากอดเหมือนคนรู้จักกันมาก่อน พาขึ้นไปยังชั้นสองเพื่อเลือกห้องนอนที่มีอยู่ 2 ห้อง ห้องแรกแต่งแบบญี่ปุ่นเพราะย่าทวดของจอห์นเป็นชาวญี่ปุ่น อีกห้องแต่งแบบชนเผ่ามาไซเพราะพ่อของลิเลียนเคยสอนหนังสือให้ชนเผ่านี้ในแอฟริกา ผมเลือกห้องชนเผ่ามาไซ ส่วนอีกห้องจะเป็นของชาร์ล็อต ลูกสาวคนเดียวของบ้าน ตอนนี้เธออยู่มอนทรีออล จะบินมาสมทบในวันพรุ่งนี้
จอห์นถามเรื่องอาหารมาตั้งแต่ในรถ ผมบอกไม่ค่อยหิวเพราะกินบนเครื่องมาครบ 3มื้อแล้ว เลือกห้องนอนได้แล้วก็ดื่มเบียร์ยี่ห้อแปลก ๆ ของจอห์นไป 2 กระป๋อง คุยกับทั้งคู่อยู่จนประมาณ 5 ทุ่ม ก็อาบน้ำและนอนหลับทันทีเพราะเพลียมาก
ตื่นมาประมาณ 8 โมง มีอาการมึนๆ แบบที่เรียกว่าเจ็ตแล็ก เดินลงไปข้างล่างก็พบจอห์นและลิเลียนนั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์รออยู่ในครัว จอห์นรินกาแฟให้จากกาต้ม และทอดไข่กับเบค่อนให้เป็นมื้อเช้า
ลิเลียนรับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เธอเป็นอดีตครูสอนเด็กชั้นประถมหลายวิชา ตั้งแต่คณิตศาสตร์ยันประวัติศาสตร์ ตอนกินอาหารเช้าเสร็จแล้วจอห์นวุ่นอยู่กับการเตรียมเอกสารและของที่ระลึกสำหรับแจกในงานรำลึกปีเตอร์ ผมหันไปเห็นถ้วยใสเหรียญเงินสกุลแคนาเดียนซึ่งล้วนเป็นรูปสัตว์ บางตัวผมไม่รู้จัก ลิเลียนก็หยิบทีละเหรียญออกมาอธิบายว่าพวกมันคือตัวอะไรบ้าง และมีถิ่นอาศัยอยู่แถบไหนของประเทศ เธอบอกได้ละเอียดมาก
จอห์นแต่งงานกับลิเลียนเมื่อเขาอายุได้ 20 ปี ส่วนลิเลียนนั้นปาเข้าไป 34 แล้ว จอห์นยังเรียนมหาวิทยาลัยไม่จบ ส่วนลิเลียนเป็นครูแล้ว ทั้งคู่พบกันในงานแต่งของปีเตอร์กับดอนน่า ซึ่งอายุห่างพอ ๆ กับคู่จอห์น-ลิเลียน ปีเตอร์แต่งก่อน 1 ปีหรือ 2 ปี ลิเลียนเป็นเพื่อนของดอนนา ซึ่งเป็นครูเหมือนกัน
จอห์นเคยมีอาชีพเป็นนักกายภาพบำบัดให้กับนักกีฬาทีมชาติแคนาดา ขณะนี้เกษียณแล้วแต่ยังคงทำงานกับเด็กพิการทางสมอง โดยต้องเดินทางไปให้บริการถึงบ้าน
ลิเลียนเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งจอห์นโทรไปที่บ้านของวัยรุ่นชายที่เขาดูแลเพื่อจะคุยกับพ่อของเด็ก แต่ผู้ที่รับสายคือเด็กคนนั้นเอง เด็กบอกว่าตอนนี้ไม่มีใครอยู่ในบ้าน จอห์นจะฝากข้อความให้พ่อของเด็กโทรกลับ เด็กหาปากกาไม่เจอ จึงบอกจอห์นว่า “ช่วยมาที่บ้านเพื่อหาปากกาให้ผมหน่อยสิจอห์น”
ตอนเที่ยง จอห์นชวนออกไปเอารูปที่อัดใส่กรอบไว้สำหรับตั้งประกอบในงานรำลึกถึงปีเตอร์ ผมจึงถือโอกาสหาตู้กดเงินจากบัตรเดบิต จอห์นบอกว่ากดเงินได้แต่ห้ามใช้เงินตัวเองซื้ออะไรเด็ดขาด นอกจากของฝากไปให้คนอื่น ที่เหลือเขาจะดูแลทั้งหมดระหว่างที่ผมอยู่ในแคนาดา ผมจึงไปเลือกเบียร์มาให้เขาจ่ายเงิน กลับบ้านแล้วจอห์นให้ผมพัก ผมถือโอกาสร่างคำกล่าวสำหรับงานวันพรุ่งนี้
ตอนเย็นเราออกไปกินข้าวที่ร้านอาหารใกล้บ้าน เป็นร้านใหญ่มีอาหารหลากหลายประเภท จอห์นคิดว่าผมอยากกินอาหารเอเชีย แต่ผมสั่งสเต๊กเพราะมีไวน์กินคู่ด้วย ส่วนลิเลียนสั่งบะหมี่ผัดที่เขียนระบุว่าเป็นอาหารไทย แต่ดูยังไงก็ไม่ใช่ จอห์นสั่งคล้ายๆ กัน สเต๊กของผมแม้จะเป็นชิ้นเล็กสุดในเมนูแต่ทำเอาเหนื่อยกว่าจะกินหมด ดีที่สั่งไวน์แบบแก้วใหญ่ เมื่ออิ่มกันแล้วก็กลับบ้าน จอห์นถามว่าจะไปรับชาร์ล็อตด้วยกันไหม แต่ผมขอรออยู่ที่บ้าน ระหว่างนั้นดื่มเบียร์รอและเผลอหลับคาเก้าอี้ไปราว 5 นาทีหรืออาจจะนานกว่า ตื่นตอนที่ชาร์ล็อตเดินเข้ามา
เธอรุ่นราวคราวเดียวกับผม ยิ้มเห็นฟันเกือบทุกซี่ โผกอดผมเหมือนแม่เธอเลย พร้อมขอบคุณที่ช่วยดูแลลุงปีเตอร์ของเธอ ร่างกายเธอแข็งแรงบึกบึนเพราะเล่นกีฬาแนวใหม่ที่เรียกว่าครอสฟิตซึ่งต้องใช้พละกำลังสูง แต่อาชีพของเธอคือนักร้อง และยังเป็นครูสอนร้องเพลงให้กับเด็กๆ อีกด้วย
เธอผูกพันกับลุงปีเตอร์ของเธอตั้งแต่เมื่อตอนยังเป็นเด็กหญิง และลุงปีเตอร์มีส่วนอย่างมากในการสร้างแรงบันดาลใจและให้ความเชื่อมั่นต่อแนวทางการเป็นศิลปิน ตามความฝันของเธอ.
////
1. “เสียใจด้วย เต็มแล้ว” รถเมล์ในเมืองโคควิทแลม รัฐบริติชโคลัมเบีย แจ้งสถานะบนจอหน้ารถ
2. ใบเมเปิล สัญลักษณ์ของประเทศแคนาดา ใบนี้รูปร่างผอมจนคล้ายอาวุธสามง่าม
3. สัญลักษณ์รูปนกของชนพื้นเมือง ชาวแคนาเดียนเรียกพวกเขาว่า “First Nation” หรือ “ผู้ที่อยู่ก่อน”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |