ม็อบต้านไฟฟ้า อดข้าว3วันวูบ รัฐวอนมีเหตุผล


เพิ่มเพื่อน    

    ม็อบต้านโรงไฟฟ้าอดข้าววันที่ 3 วูบ 7 ราย! ลั่นปักหลักสู้ต่อจนกว่ายุติโครงการ "สรรเสริญ"  เผย "บิ๊กตู่" เป็นห่วงขอคุยด้วยเหตุผล วอนอย่าใช้อารมณ์ ชี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลแล้ว 
    ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ ประมาณ 200 คน ที่ปักหลักชุมนุมบนทางเท้าหน้าประตูทางเข้ายูเอ็น เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยได้ยกระดับขัดขืนขั้นสูงสุดด้วยการอดอาหารเข้าสู่วันที่ 3 นั้น ปรากฏว่าได้มีผู้ชุมนุมทยอยกันเป็นลมหมดสติ เนื่องจากความหิวและแดดที่ร้อนระอุ บางรายล้มลงหัวฟาดกับพื้นจนต้องปฐมพยาบาลอย่างชุลมุน เนื่องจากไม่มีทีมแพทย์และพยาบาล ก่อนที่ตำรวจจะพาส่งโรงพยาบาล
    สำหรับชาวบ้านที่เป็นลมมีทั้งหมด 7 ราย เริ่มตั้งแต่เวลา 14.20 น. คือ นางสุภาภรณ์ ตาวัน อายุ 28 ปี, น.ส.มารศรี มาดโอสถ อายุ 32 ปี ชาวบ้านจังหวัดกระบี่ นำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชั่น ต่อมาเวลา 14.30 น. ชาวบ้านจังหวัดกระบี่เป็นลมเพิ่มอีก 1 คน คือ น.ส.ชมภู หลำหงะ อายุ 32 ปี นำส่งโรงพยาบาลวชิระ จากนั้นเวลา 14.50 น. ชาวบ้านจังหวัดสงขลาเป็นลมเพิ่ม 1 คน คือ นางร่อกีบ๊ะ ประสิทธิ์หิมะ อายุ 61 ปี นำส่งโรงพยาบาลวชิระ กระทั่งเวลา 15.00 น. ชาวบ้านเป็นลมอีก 3 คน คือ นางหร้อเดีย เหมละงู อายุ 49 ปี, น.ส.อวัสดา หวังสง่า อายุ 18 ปี ชาวบ้านจังหวัดกระบี่ และนางสุกัญญา หัดขะเจ อายุ 41 ปี ชาวบ้านจังหวัดสงขลา นำส่งโรงพยาบาลวชิระ ทั้งนี้ มีชาวบ้านร่วมอดอาหารทั้งหมด 67 คน
    นายสมบูรณ์ กำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคใต้ กล่าวว่า ชาวบ้านยังยืนยันที่จะปักหลักต่อสู้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องยืนยันเจตนาที่แท้จริงต่อสังคมในเรื่องถ่านหินว่าจะยุติหรือไม่ ไม่ใช่สั่งให้มีการชะลอ แต่ให้เดินหน้ากระบวนการทำรายงานสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และชาวบ้านยืนยันที่จะอดอาหารจนเหลือคนสุดท้าย เพื่อให้นายกฯ ยุติถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ 
     ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนที่มีผลได้เสียต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง รัฐบาลไม่ได้บังคับว่าจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ต้องการให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้ชุมนุม เปิดใจรับฟังเสียงของคนอื่น ฟังเหตุผล แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เราขอเวลาศึกษาให้รอบด้านก่อนได้หรือไม่ว่าพลังงานที่จะนำมาสร้างกระแสไฟฟ้าแต่ละชนิดนั้นมีผลกระทบอย่างไร และจะสามารถลดผลกระทบนั้นได้อย่างไรบ้าง แต่หากตั้งเป้าคัดค้านโดยไม่สนใจเหตุผลและข้อมูลทางวิชาการแล้วประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า สำหรับพลังงานหลัก ประเทศไทยได้ใช้น้ำมันและก๊าซเป็นหลัก ส่วนนิวเคลียร์และถ่านหินหลายส่วนอาจเห็นว่ายังไม่มีความพร้อม รัฐบาลไม่ได้กำหนดว่าจะต้องใช้ถ่านหิน แต่ได้ให้ไปศึกษาเรื่องผลกระทบ โดยพยายามชี้แจงว่าจะต้องมีอย่างอื่นมารองรับปัญหาด้านพลังงาน เพราะในวันข้างหน้าราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าจะต้องสูงขึ้นตาม ดังนั้นจึงต้องการให้สังคมมาร่วมกันศึกษา ถ้าดีก็ทำ หากไม่ดีก็ไม่ต้องทำ จะฝากชีวิตไว้กับน้ำมันและก๊าซได้ ไม่เป็นไร แต่อยากให้มาศึกษาร่วมกัน
    “พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงผู้ชุมนุม ได้สั่งการเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าให้ลงไปดูผู้ชุมนุม พร้อมอธิบายให้เกิดความเข้าใจ พร้อมกับทำความเข้าใจกับประชาชนว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยนายกฯ ย้ำว่าในกระบวนการการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ต้องโปร่งใส เพราะไม่มีอะไรในโลกที่เมื่อทำแล้วจะไม่เกิดผลกระทบ วันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก อย่าเอาการอดอาหารมาทำให้สังคมเกิดความรู้สึกลังเล หรือขัดแย้ง เพราะการคุยกันด้วยเหตุและผลเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเดินไปได้โดยต้องไม่ใช้อารมณ์" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    เมื่อถามว่า รัฐบาลจะปล่อยให้ผู้ชุมนุมยังปักหลักกดดันอยู่ที่หน้ายูเอ็นเช่นเดิมหรือมีวิธีอื่นใด พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า คงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกันไป แล้วมีวิธีการอื่นหรือไม่ เพราะถ้าจะให้กลับบ้านรัฐบาลต้องรับปากว่าจะยกเลิกการศึกษา ถามว่าเป็นแนวทางที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยหรือไม่ และถ้าเอาอารมณ์อยู่เหนือเหตุผลเป็นตัวตั้ง เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาในประเทศนี้ได้เลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"