'ยะรัง'ผวาซ้ำ จักรยานบอมบ์ โล่งอีโอดีกู้ทัน


เพิ่มเพื่อน    

    จักรยานบอมบ์โผล่อีก! จอดข้างมัสยิดอำเภอยะรัง อีโอดีเก็บกู้สำเร็จไร้เจ็บ ผู้การปัตตานีเชื่อฝีมือกลุ่มเดียวกับป่วน 11 ก.พ. ชี้ระเบิดล็อตเดียวกัน แม่ทัพภาค 4 ปลื้มแนวร่วมบีอาร์เอ็น-พูโล 103 คน กลับใจเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ยันดูแลให้ความเป็นธรรมตาม กม.
    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 07.40 น. พ.ต.อ.อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ ผกก.สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี นำกำลัง ฉก.ทพ.22 พร้อมด้วยชุดกำลังทหาร ตำรวจ และเก็บกู้วัตถุระเบิด และตำรวจพิสูจน์หลักฐานปัตตานี เข้าตรวจสอบ หลังได้รับแจ้งว่าพบจักรยานต้องสงสัย มีกระป๋องน้ำแบบพกพาติดกระเป๋า ริมถนนข้างมัสยิด ม.4 บ้านต้นมะขาม ต.เมาะมาวี อ.ยะรัง เมื่อถึงที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้กันประชาชนออกนอกพื้นที่ เพราะมีลักษณะเหมือนจักรยานบอมบ์ที่เคยก่อเหตุระเบิดมาแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา
    จากการตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าเป็นจักรยาน ยี่ห้อ Scotch รุ่น Shark ประกอบระเบิดแสวงเครื่องในกระป๋องน้ำแบบพกพาติดจักรยาน จุดชนวนด้วยนาฬิกาตั้งเวลา มีน้ำหนักประมาณ 1 กก.เศษ จึงได้ใช้เครื่องยิงทำลาย และสามารถเก็บกู้ได้สำเร็จ โดยไม่มีใครได้รับอันตราย เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนร้ายเพื่อให้บ้านเมืองวุ่นวาย
    ด้าน พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เชื่อว่าเป็นระเบิดที่เหลือมาจากวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ระเบิดไม่ทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ไปเจอเมื่อช่วงเช้า ซึ่งคนร้ายใช้วิธีการแบบเดียวกัน โดยการบรรจุระเบิดในขวดน้ำและเอาไปแขวนที่จักรยานเสือหมอบ คาดว่ากลุ่มที่ทำเป็นกลุ่มเดิมในวันที่ 11 ก.พ. แต่ระเบิดไม่ทำงาน เนื่องจากใช้วิธีการประกอบระเบิดในลักษณะเดียวกัน
    "การประกอบระเบิดลักษณะแบบนี้ คนร้ายเพิ่งมาใช้ครั้งแรก ซึ่งเราได้ตรวจเจอเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ พบในพื้นที่อำเภอยะรังทั้งหมด 4 ลูก ใช้จักรยาน 4 คัน ซึ่งเป็นจักรยานเสือหมอบ นำเข้าจากปนะเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 12 อำเภอเพิ่มความเข้มรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนเน้นหนักในการเฝ้าระวังรถจักรยานยนต์ จักรยาน และรถยนต์อย่างเข้มงวด และกำลังเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษเฝ้าระวังย่านชุมชนและบริเวณที่มีการจัดงานเทศกาลตรุษจีน" พล.ต.ต.ปิยะวัฒน์ระบุ
    สำหรับประเด็นและสาเหตุที่คนร้ายก่อเหตุในช่วงนี้นั้น คาดว่าเป็นการแสดงศักยภาพตามปกติ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ไปจับแกนนำในพื้นที่จำนวนหลายคน จึงมีการตอบโต้ ประกอบกับใกล้เทศกาลตรุษจีน และคณะผู้แทนองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) มีกำหนดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่  ส่วนคนร้ายอยู่ระหว่างการสเกตช์ภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกได้ เชื่อว่าเป็นกลุ่มเดิมๆ และมีหมายจับแล้ว ขอเวลาให้ชุดสืบสวนสอบสวนที่ตั้งขึ้นมาติดตามคดีนี้ คงทราบเร็วๆ นี้
    ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อ.สายบุรี พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติโครงการพาคนกลับบ้าน โดยมี พล.ต.เฉลิมพล จินนารัตน์ ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย, นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
    สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้หารือถึงความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้านในประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรมและขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ โดยล่าสุดมีผู้ที่ประสงค์เข้ามารายงานตัวเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้านเพิ่มขึ้นอีก 103 คน ประกอบด้วยสมาชิกบีอาร์เอ็นและพูโลเก่า รวมถึงผู้ที่หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน  
    ทั้งนี้ หลังการประชุมได้มีการพบปะกับผู้ที่เข้ารายงานตัวโครงการพาคนกลับบ้านจำนวน 103 คนพร้อมญาติพี่น้อง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงกระบวนการขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้าน รวมทั้งมีการพิสูจน์ว่าเป็นสัญชาติไทย นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำการตรวจดีเอ็นเอด้วย
    พล.ท.ปิยะวัฒน์ยืนยันว่า จะดูแลทุกคนด้วยความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายไทย โดยในขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 24 คน  
    "จากการพูดคุยกับผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้านในครั้งนี้ท่านหนึ่งเปิดเผยว่า รู้สึกดีใจที่ทางรัฐบาลไทยให้การดูแลพวกเขา ขณะนี้ทุกคนต้องการที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และมีความมั่นใจในกระบวนการขั้นตอนของโครงการพาคนกลับบ้าน ขอขอบคุณ" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จพิธีทั้ง 103 คนได้พบกับญาติพี่น้อง โดยต่างสวมกอดกันด้วยความดีใจ เนื่องจากกว่า 10-20 ปีที่ไม่ได้เจอหน้ากัน และต่างถามทุกข์สุข บางคนจำไม่ได้ เพราะหนีจากไทยยังเล็กอยู่ และบางคนก็อายุมากแล้ว
    นายเลาะ หนึ่งในผู้รายงานตัวโครงการดังกล่าว เล่าว่า ออกจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากถูกบีบ ต้องหนีเข้าอยู่รัฐกลันตัน มาเลเซีย รับจ้างกรีดยาง แต่ใช้ชีวิตลำบากมากๆ เพราะเป็นคนไม่มีสัญชาติ ทั้งๆ ที่เป็นคนไทย โดยอยู่ในกลุ่มขบวนการพูโล แต่ไม่เคยสร้างปัญหาหรือสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ เมื่อมีลูกๆ ก็ไม่มีบัตรประชาชขน จะกลับไทยก็กลัว พอมีโครงการนี้จึงรวมตัวกันเข้ามารายงานตัว ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 รับปากหาที่อยู่อาศัย หางานทำ และลูกๆ มีที่เรียนหนังสือ ทำให้พวกเราดีใจมาก รวมถึงดีใจที่ได้พบญาติที่มาเยี่ยม ทั้งนี้ หากแม่ทัพภาคที่ 4 ทำจริงตามโครงการนี้ เชื่อว่ามีอีกหลายร้อยที่อยากจะกลับบ้านประเทศไทย  
     "เดี๋ยวนี้ขบวนการไม่ค่อยมีแล้ว คิดว่ามีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศ เป็นพวกมีอิทธิพล พวกยาเสพติด ที่อาศัยอ้างขบวนการสร้างสถานการณ์ ผมอยากกลับมาใช้ชีวิตในประเทศไทย" นายเลาะระบุ
    นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการนี้ดีมาก เป็นการดำเนินการสันติวิธี รัฐจะต้องดูแลเขา ให้มีที่อยู่ อาชีพ และการศึกษา ต้องปฏิบัติจริงตามที่สัญญา เชื่อว่าอีกหลายคนรอดูอยู่ หากรัฐทำจริง อีกหลายคนจะออกมาร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น และอนาคตชายแดนใต้จะสันติสุข.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"