"ป๋าเปรม" ใส่สายออกซิเจนใช้สิทธิล่วงหน้า ยิ้มทักสื่อบอกสุขภาพโอเคดี ขณะที่เพจดังแฉเกณฑ์ทหารเลือกพรรคการเมืองหนึ่ง "เต้น" กังขาใช้รถหลวงขนกำลังพลลงคะแนน โฆษก ทบ.โต้ปัดบังคับให้เลือกใคร ยันให้อิสระ เป็นสิทธิส่วนบุคคล
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เวลา 09.20 น. พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่โรงเรียนสุโขทัย ถนนสุโขทัย กรุงเทพฯ ซึ่ง พล.อ.เปรมมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งที่ 1 เขตดุสิต ชุดที่ 4 ลำดับที่ 3041 โดยมีนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มารอต้อนรับ ทั้งนี้พล.อ.เปรมแต่งกายโดยสวมเสื้อเชิ้ตสีเหลือง ใส่เสื้อแจ็กเกตทับ และใส่กางเกงสแล็กสีน้ำตาล นั่งรถวีลแชร์และใส่เครื่องออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจ ก่อนจะเดินเข้าไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้ง
ภายหลัง พล.อ.เปรมใช้เวลาในการลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขต 10 นาที ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างกับการเลือกตั้งในรอบ 8 ปี พล.อ.เปรมไม่ได้ตอบคำถาม โดยส่ายหน้าพร้อมกับโบกมือ เมื่อถามว่าจะเป็นกำลังใจให้รัฐบาลอย่างไร พล.อ.เปรมก็ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว เพียงยิ้ม ทั้งนี้เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.เปรมตอบเพียงสั้นๆ ว่า “ก็ดี” ส่วนเมื่อถามว่าสุขภาพเป็นอย่างไร พล.อ.เปรมกล่าวว่า ก็โอเคดี
ทางด้านคนใกล้ชิด พล.อ.เปรมเปิดเผยว่า ปกติแล้วเมื่อ พล.อ.เปรมอยู่บ้านพักไม่ได้ใช้เครื่องออกซิเจน แต่ที่ใช้เครื่องออกซิเจนวันนี้เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งมีคนจำนวนมาก และมีอากาศค่อนข้างอบอ้าว จึงต้องใช้เครื่องออกซิเจน
สำหรับบรรยากาศการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่โรงเรียนสุโขทัย เป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนจำนวนมากทยอยเดินทางมาใช้สิทธิตั้งแต่ 08.00 น. รวมถึงกำลังพลของกองทัพซึ่งเดินทางมาด้วยชุดไปรเวตใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากติดภารกิจในการดูแลความสงบเรียบร้อยในวันเลือกตั้งจริง วันที่ 24 มี.ค. รวมทั้งขณะนี้มีการฝึกประจำปีของหน่วยต่างๆ ของกองทัพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า หลายพื้นที่ทั่วประเทศมีทหารกองประจำการ หรือทหารเกณฑ์มาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ตามนโยบายของกองทัพบก ที่ต้องการให้กำลังพลออกมาใช้สิทธิให้ได้ 100% โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้รถทหารขนกำลังพลทั้งทหารเกณฑ์และทหารประจำการมาที่คูหาเลือกตั้งอย่างเป็นระเบียบ ขณะที่กรุงเทพฯ พื้นที่เขตดุสิต ซึ่งมีหน่วยทหารอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมากปรากฏว่ามีกำลังพลไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่โรงเรียนสุโขทัย เช่น มณฑลทหารบกที่ 11 กองพันทหารราบ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โดยบางหน่วยให้แต่งชุดพลเรือนปกติ แต่บางหน่วยให้แต่งชุดพรางสนามโดยใช้ยานพาหนะของหน่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางมา
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวมีนักการเมืองและสังคมโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทัพเกณฑ์กำลังพลไปลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองหนึ่ง อาทิ เพจ CSI LA ระบุว่า "มีสายข่าวรายงานเข้ามา พิษณุโลก และเชียงคำพะเยา และอีกหลายๆ เขต ทหารเกณฑ์โดนบังคับให้เลือกตั้งไปแล้วนะครับ คะแนนเต็มด้วย สืบเอาเองได้ข่าวจากวงใน" พร้อมทั้งโพสต์ภาพข้อความในอินบ็อกซ์ เป็นบทสนทนาที่ระบุว่ามีการให้เลือกพรรคการเมืองหนึ่ง หากไม่เลือกอาจจะมีการงดบ้านพัก
ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย โพสต์ภาพรถทหารที่มีข้อความว่า "รถสำหรับรับ-ส่งกำลังพลและครอบครัวเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หน่วยกองพันพัฒนาที่ 3 พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "วันนี้ลงคะแนนล่วงหน้า ประชาชนต่อแถวยาว ใช้สิทธิ์ของตัวเองที่ถูกยึดไปเกือบ 5 ปี มีคนส่งรูปนี้มาให้ ไม่รู้ที่ไหน อย่างไร แต่คำถามคือ กฎหมายห้ามขนคนไปลงคะแนน หน่วยงานรัฐทำแบบนี้ได้หรือไม่ การจัดรถไปแบบนี้มีการโน้มน้าวจูงใจ หรือออกคำสั่งให้เลือกพรรคหนึ่งพรรคใดหรือเปล่า ปราศรัยก็ให้ราชการเกณฑ์คน ลงคะแนนก็รถหลวงขนคน ลองเดาดูไหมว่าแบบนี้จะเอื้อประโยชน์ให้พรรคไหน ส่วนปฏิกิริยา กกต. ผมไม่กล้าเดา กลัวเดาถูกว่าไม่ทำอะไร"
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ถึงทหารอาชีพและทหารเกณฑ์ทุกท่าน : ไม่มีใครสั่ง/บังคับให้คุณกาให้ใครหรือพรรคไหนได้ อำนาจอยู่ที่ปลายปากกาของคุณ การกาของคุณเป็นเจตจำนงของตัวคุณเอง ผ่านกระบวนการลงคะแนนที่เป็นความลับ เขาไม่สามารถตรวจสอบว่าคุณกาให้ใครได้ ดังนั้นอย่ากลัวการข่มขู่จากเขา แต่จงกาเพื่อเปลี่ยนประเทศ”
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวที่ออกมาไม่ใช่จากสื่อหลัก เป็นเพียงการอ้างแหล่งข่าว ไม่มีการระบุชื่อ อย่างไรก็ตาม กองทัพบกได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลือกตั้ง มีการเชิญชวนกำลังพลและครอบครัวให้ไปใช้สิทธิโดยอิสระ สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า มีกำลังพลบางส่วนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้ว เนื่องจากมีภารกิจในวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ทั้งกำลังพลที่ปฏิบัติภารกิจราชการสนามชายแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยรวมของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสังคมส่วนใหญ่รับทราบในแนวทางดังกล่าว
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ที่สำคัญการจะเลือกใคร เป็นเรื่องสิทธิเฉพาะบุคคล เมื่ออยู่ในคูหาคงจะไปบังคับให้เลือกหรือไม่เลือกใคร คงเป็นไปไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่วนในเรื่องพฤติกรรมของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวกับ กิจกรรมของการเลือกตั้ง ถ้าพบว่าบางอย่างไม่เหมาะสม และไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย สามารถแจ้งบอกกล่าวต่อ กกต.ที่ประจำอยู่ในแต่ละพื้นที่ได้ทันที
"ในช่วงนี้พบว่ามีหลายข่าวสาร มักเกิดจากทัศนคติ อคติ และวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย คงต้องรู้เท่าทัน โดยอาศัยวิจารณญาณที่สมบูรณ์มากขึ้น ส่วนการจะเสนอบอกต่อข้อมูล อาจต้องระมัดระวังในความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นด้วย" โฆษกกองทัพบก ระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |