เพื่อไทยสอนบิ๊กตู่ อย่ากลัว'แม้ว-ปู'


เพิ่มเพื่อน    


    "เพื่อแม้ว" ทยอยเดินทางซบ "นายใหญ่-นายหญิง" ที่ฮ่องกง คาดหารือหลายเรื่อง โต้ไร้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศ 2 อดีตนายกฯ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พร้อมแถลงป้องม็อบนศ. "เดอะแจ็ค" ชี้สัญญาณชัดตระกูลชินวัตรปลุกมวลชน ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ให้ค่า หยันแค่อยากเป็นข่าว แต่ยังหวั่นแก๊งฮาร์ดคอร์ซุกอาวุธไว้เพียบ "ไก่อู" ลั่นขยับโรดแมปหน่อยเดียวจะมีอะไรนักหนา "สุรชัย" วอนอย่ากังวล สนช.ตีตกกฎหมายลูก 
    เมื่อวันพุธ มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า   สำหรับความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมีสมาชิกและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอดีต ส.ส.เลย,  นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี ทยอยเดินทางเข้าพบที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 
    โดยแบ่งการเดินทางไปเป็นกลุ่มเล็กๆ 4-5 คน คาดว่าจะมีการพูดคุยถึงผู้นำพรรค เนื่องจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคทั้งหมด ทั้งนี้ นายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอยู่ที่ฮ่องกงถึงประมาณต้นสัปดาห์หน้า ก่อนเดินทางไปยังประเทศอื่น
     ขณะที่คนใกล้ชิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธถึงกระแสข่าวตามที่นายสมชาย แสวงการ รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะมีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เกาะฮ่องกง โดยคนใกล้ชิดรายนี้เผยเพียงว่า ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากใครทั้งสิ้น เพิ่งได้ยินข่าวจากนายสมชาย
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุสองอดีตนายกฯ ขยับอยู่ต่างประเทศ ทำให้คนในประเทศป่วนไปหมด ขยับเป็นข่าวไปหมด เดือดร้อนคนทั้งประเทศ ว่าการปรากฏภาพของสองอดีตนายกฯ ที่ไปซื้อเกาลัด เป็นปกติที่บุคคลจะเดินทางไปที่ไหนแล้วถูกถ่ายภาพและนำมาเผยแพร่ ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เชื่อมั่นเหมือนกับที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าบุคคลที่เป็นระดับอดีตนายกฯ ไม่มีทางที่จะคิดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน อยากให้ท่านผู้นำตั้งสติว่า ไม่มีสิ่งใดกระทบต่อความมั่นคงของท่านและรัฐบาล คสช. ทุกอย่างอยู่ที่การกระทำของรัฐบาลเอง อย่าไปโยนบาปให้คนอื่น 
    ส่วนที่นายสมชาย แสวงการ รองประธาน กมธ.การต่างประเทศ สนช. ระบุว่าเป็นความพยายามที่จะใช้กระบวนการโลกล้อมประเทศไทย และส่งสัญญาณไปยังกลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล คสช. ที่ทำในนามกลุ่มคนต้องการเลือกตั้งให้เคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายในช่วงขาลงของรัฐบาล คสช.นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นว่าจะมียุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทยอะไร คนไทยยังคงสามารถติดต่อสื่อสารทำธุรกิจกันได้ตามปกติ ไม่อยากให้นายสมชายพูดอะไรเกินเลยจากกรอบความเป็นจริง ปริวิตกเกินเหตุ ซึ่งนายสมชายใช้วิธีการลักษณะนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้ผล เป็นมุกแป้กแบบเดิมๆ ไม่มีใครเชื่อ 
    "การที่นักศึกษากลุ่มคนต้องการเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว ก็เป็นไปตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด ขออย่าได้ใส่ร้ายป้ายสีพลังอันบริสุทธิ์ของคนรุ่นหนุ่มสาว ที่จะใช้พลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศ กรุณาอย่าใช้จินตนาการและความเลอะเทอะใส่ร้ายคนอื่น นายสมชายไม่อาย แต่คนที่เข้าใจ รู้เรื่องเขาอาย ขนาดนายสมชายยังยอมรับเลยว่าเป็นขาลงของรัฐบาล คสช. ทำไมประชาชนจะรู้สึกและรับรู้ไม่ได้ แทนที่จะช่วยรัฐบาล คสช. การออกมาทำแบบนี้ นอกจากจะไม่ช่วย ยังทำให้ภาพขาลงของรัฐบาล คสช.เด่นชัดยิ่งขึ้น" นายอนุสรณ์กล่าว
    วันเดียวกัน พรรคพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช.และรัฐบาลยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำประเทศกลับสู่ความเป็นปกติสุข มีเนื้อหาดังนี้ 1.การรัฐประหาร เมื่อปี 2557 คือต้นธารของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คสช.ได้ออกประกาศและคำสั่ง และมีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ประกาศให้มีการจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมาย การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงที่รุนแรงเกินจริงตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญากับนักการเมือง สื่อมวลชนที่เห็นต่าง ดังเช่นที่กระทำกับนักศึกษาและประชาชนกลุ่ม “We walk” และกลุ่ม “MBK 39” ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาความเดือดร้อน และจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิโดยชอบธรรม และเป็นการทวงสัญญาที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ แต่ไม่ทำตามหลายครั้ง
"ชินวัตร" ปลุกมวลชน
    2.การประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ  มิได้ช่วยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนยุติลง แต่กลับทำให้ได้เห็นความย้อนแย้งในพฤติกรรมของ คสช.และรัฐบาลอย่างชัดแจ้ง ทำไปเพียงที่จะลดแรงกดดันจากต่างประเทศ และเป็นความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์  แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่กล่าวในวันสิทธิมนุษยชนสากลที่ผ่านมา เช่นที่กล่าวว่ามีการไปดึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมาย หรือไม่ต้องการให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง สะท้อนความไม่เข้าใจ เนื่องจากกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมิใช่เรื่องเดียวกัน เช่น คำสั่ง คสช. ที่ห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คนนั้น แม้เป็นกฎหมาย แต่ก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการใช้เสรีภาพ ขัดต่อทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเป็นการยากที่จะทำให้นโยบายการนำสิทธิมนุษยชนมาเป็นวาระแห่งชาติ ให้สำเร็จตามที่มีการปฏิบัติการไอโอ ชวนเชื่อ
    3.ให้ คสช.และรัฐบาลยกเลิกประกาศและคำสั่งที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน, ประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมาย, ประกาศ คสช. ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น ยุติการดำเนินคดีกับพี่น้องนักศึกษาและประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในนามกลุ่ม “We walk” และในนามกลุ่ม “MBK 39” ยุติการใช้กฎหมายปิดปาก การดำเนินคดีกับสื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนที่เห็นต่าง และเปิดพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชนอย่างจริงจัง
    ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีปรากฏภาพนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่กรุงปักกิ่ง วันเดียวกับที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งว่า เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าตระกูลชินวัตรยังเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างประเทศ เพื่อปลุกขวัญกำลังใจคนที่นิยมชมชอบในตระกูลชินวัตร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการติดตามตัวจับกุมอดีตนายกรัฐมนตรีสองคนกลับมา ส่วนที่ต่างประเทศยังไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล รัฐบาลต้องชี้แจงเหตุผลว่าอดีตนายกฯสองคนทำผิดอะไร คำพิพากษาที่ออกมาเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจกับต่างชาติ
     แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวจนว่าจะมีการเลือกตั้งว่า ทางหน่วยงานความมั่นคงยังคงติดตามดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยการใช้กฎหมายปกติเข้าดำเนินการหากมีการทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้เกาะติดทุกความเคลื่อนไหว แต่ทั้งนี้การเคลื่อนไหวต่างๆ นั้น ทางเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถควบคุมดูแลได้ แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะพยายามดำเนินกิจกรรมทุกกิจกรรมเพื่อหวังจุดกระแสให้ติดให้ได้
    ส่วนความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีภาพออกมาปรากฏในช่วงนี้นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงมองว่าไม่มีอะไร เป็นเพียงการเปิดเผยตัว เพราะต้องการให้เป็นข่าวเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนที่ทำผิดกฎหมาย ทางฝ่ายความมั่นคงจึงไม่อยากให้ความสำคัญ และไม่อยากพูดถึง เพราะเรารู้จุดประสงค์ของเขาว่าต้องการให้เป็นข่าวว่าสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ เราจึงไม่อยากเชิดชูผู้ที่หนีคดีอาญาของแผ่นดิน คนที่ไม่ยอมรับกฎกติกาของบ้านเมือง แถมยังท้าทายอำนาจรัฐที่ทุกคนให้ความเคารพ
ฮาร์ดคอร์ซุกอาวุธอื้อ
    แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงกล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมเครือข่ายนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำคนเสื้อแดงปทุมธานี พร้อมอาวุธสงครามได้เป็นจำนวนมาก เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ต้องชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนที่ยังคงดำเนินการขยายผลจนสามารถจับกุมเครือข่ายของนายโกตี๋ได้พร้อมอาวุธสงครามจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงเกาะติดและติดตามความเคลื่อนไหวเครือข่ายกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นแกนนำใช้กำลัง ซึ่งยังอยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่ ในส่วนของกรณีนี้ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะนำไปเคลื่อนไหวหรือก่อเหตุในพื้นที่ใด โดยอาวุธสงครามดังกล่าวเป็นของเก่าหลายปี เมื่อ คสช.เข้ามาและเดินหน้ากวาดล้าง ทำให้คนที่ครอบครองเกรงกลัวความผิด จึงเก็บซุกซ่อนเอาไว้ แต่ก็ไม่รอดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ไปได้ 
    "จากงานด้านการข่าวพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังแอบเก็บอาวุธสงครามไว้อีกมากในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และ จ.นนทบุรี สำหรับความคืบหน้าการติดตามอาวุธของทหารที่ถูกปล้นไปเมื่อปี 53 นั้น ขณะนี้ยังได้กลับคืนมาไม่ได้ทั้งหมด แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินการติดตามอย่างเต็มที่" แหล่งข่าวด้านความมั่นคงระบุ
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจถึงเหตุผลการเลื่อนเลือกตั้งว่า นายกฯ บอกว่าวันนี้ถ้าเราได้ติดตามดูจะพบว่ามีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น แม้ไม่เยอะนัก แต่ให้ความสำคัญทุกภาคส่วน ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน แน่นอนกลุ่มที่เคลื่อนไหวอาจทำความเข้าใจยากหน่อย ไม่เป็นไร แต่ประชาชนที่อยู่บริเวณชุมนุมต้องได้รับความเข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นคนกำหนดให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป โรดแมปยังคงเป็นโรดแมปเหมือนเดิม เพียงแต่สนช.เห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าให้มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน พร้อมให้เหตุผลว่าเพราะอะไร ตรงนี้ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ
    "คสช.และรัฐบาลเป็นเพียงปลายทางที่ได้รับอานิสงส์อันนั้น ถ้าสมมุติว่าจำเป็นต้องเลื่อนที่วันนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน นายกฯ เข้าใจเลื่อนออกไปในระยะที่กฎหมายกำหนดไว้ 90 วัน ไม่มีนัยสำคัญอะไรเลยที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลหรือ คสช.อยากอยู่ เพียงแต่ยังไม่คลิกในแง่ของกฎหมาย ความไม่พร้อมของส่วนต่างๆ ที่ สนช.ได้อธิบายให้สังคมฟังแล้ว เพราะฉะนั้นต้องชี้แจงประชาชนที่บริเวณชุมนุมรับทราบ เชื่อว่าสังคมวันนี้ฟังเหตุและฟังผล ได้รับจากกลุ่มผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้อง สังคมวันนี้ชั่งใจได้อะไรคือความเหมาะสมที่เราจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยและเดินหน้าไปตามโรดแมป เราไม่ได้บอกว่าจะไม่เลือกตั้ง เราเลือกตั้งเพราะโรดแมปเป็นแบบนี้ ขยับไปแค่หน่อยเดียวมันจะมีอะไรนักหนา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้สังคมต้องได้รับฟัง เมื่อท่านบอกเป็นสังคมประชาธิปไตย ท่านต้องยินดีให้คนอื่นให้ข้อมูลกับสังคมด้วยเหมือนกัน" พล.ท.สรรเสริญระบุ 
    เมื่อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงรายงานหรือไม่การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะมีมากขึ้น พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น กลุ่มที่เคลื่อนไหวยังเป็นกลุ่มที่ทุกคนรับรู้ เพียงแต่เคลื่อนไหวบ่อยครั้งขึ้น แต่ด้วยเหตุผลอะไรไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์ เชื่อมั่นว่าสังคมที่บริโภคข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางสื่อต่างๆ วิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากอะไร นายกฯ ให้แนวทางกับซีกที่ทำงานฝ่ายรัฐบาลว่าประเทศเรามีปัญหาเยอะแล้วกับการแก้ปัญหาของชาติ ทั้งความปรองดอง สามัคคี ปัญหาการบิน ปัญหาแรงงานต่างด้าว และเรื่องร้อยแปดพันเก้า อยากให้มีสมาธิกับเรื่องนี้ รัฐบาลขอให้สมาธิการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่า ถ้าเอาทุกอย่างมาปนกันงานจะขับเคลื่อนได้ช้า
อย่ากังวลคว่ำ กม.ลูก
    "นายกฯ พยายามให้ทุกคนเข้าใจว่าถ้านับตามโรดแมปเดิมคือเดือน พ.ย.61 แต่ถ้านับที่ทุกคนคาดหมายบวกไป 90 วัน ก็จะเป็นเดือน ก.พ.62 นับย้อนหลังเวลาไม่นานยังมีเรื่องต่างๆ อีกเยอะที่เราต้องทำความเข้าใจและขับเคลื่อนอย่างการปฏิรูปทั้ง 11 คณะ อันนี้ต่างหากจะเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้ประเทศเดินไปเทียบบ่าเทียบไหล่กับประเทศอื่น” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
    ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เปิดเผยว่า การประชุม สนช.ในวันที่ 15 ก.พ. จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ สนช. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามที่ กรธ.และ กกต.ได้เสนอประเด็นโต้แย้งร่างกฎหมายดังกล่าวที่ สนช.ได้มีการแก้ไข โดยตามขั้นตอนเมื่อที่ประชุม สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่ายแล้ว จะมีเวลาพิจารณาให้เสร็จ และเสนอกลับมายัง สนช.ภายใน 15 วัน ทั้งนี้ กมธ.วิสามัญฯ จะปรับแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายได้เฉพาะในประเด็นที่ กรธ.และ กกต.ได้เสนอประเด็นโต้แย้งเท่านั้น โดยไม่สามารถไปปรับแก้มาตราอื่นได้ และเมื่อ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว จะเป็นหน้าที่ของสนช.ในการลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่
     "การลงมติของ สนช.ในขั้นตอนหลัง กมธ.วิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว จะไม่ได้เป็นการลงมติทีละประเด็น แต่จะเป็นการลงมติว่าจะเห็นชอบกับรายงานของ กมธ.วิสามัญฯ ที่พิจารณาร่างกฎหมายในแต่ละฉบับหรือไม่เพียงฉบับละหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยหาก สนช.มีมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจะมีผลให้ร่างกฎหมายตกไปทันที ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีคว่ำร่าง พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับ และคิดว่า กมธ.วิสามัญฯ จะทำงานโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อให้มีกติกาการเลือกตั้ง ส.ส. และการคัดเลือก ส.ว.ที่สุจริตและเป็นธรรม จึงไม่อยากให้แต่ละฝ่ายวิตกกังวลเรื่องการคว่ำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ" นายสุรชัยกล่าว
    นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงการเป็นตัวแทน กกต.ใน กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พิจารณากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า โดยส่วนตัวไม่มีความกังวลอะไร พร้อมเป็นตัวแทนของ กกต.เพื่อไปทำหน้าที่ โดยประเด็นที่จะนำไปแถลงและชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ก็จะเป็นการไปยืนยันมติของ กกต. ที่มีความเห็นแย้ง 6 ประเด็น  ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 5  ประเด็น และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 1  ประเด็น คือมาตรา 64 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้อำนาจศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับการสรรหาได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 
    "จากที่เห็นรายชื่อกรรมการในส่วนของ สนช.และ กรธ.แล้ว ไม่รู้สึกกังวลใดๆ เพราะมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พร้อมชี้แจงเหตุผล ซึ่งเป็นไปตามมติของ กกต."  นายศุภชัยกล่าว 
    ช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่มนักศึกษานิติศาสตร์ นักวิชาการในนามสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (LACMUD) ได้รวมตัวกันชูป้ายข้อความขอทวงสัญญาเลือกตั้งจากรัฐบาล และทำกิจกรรมเล่นดนตรี บริเวณประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามกำหนด 
    โดยนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาตัวแทนกลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดมานาน จึงทำให้เกิดจุดแตกหัก เมื่อมีการเลื่อนเลือกตั้งในช่วงต้นปี ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามันจะถูกเลื่อนไปเรื่อยๆ หรือไม่ ประชาชนก็เริ่มไม่พอใจกับการเลื่อนไปเรื่อยๆ ประกอบกับที่กรุงเทพฯ ก็มีการใช้ความรุนแรงพอสมควรกับเพื่อนๆ นักศึกษา พวกตนก็ถูกกดันเป็นระลอกๆ ความอึดอัดนี้เองก็เริ่มทำให้เกิดความแตกหักแล้วระเบิดออกมา จึงออกมาสู้ ออกมาพูด และร่วมกันตั้งคำถาม แบบแฟลชม็อบ
    ทั้งนี้ พบว่ามีกลุ่มนักวิชาการเครือข่าย ม.เที่ยงคืน เช่น นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ มาร่วมด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"