ในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองมากที่สุด มีจำนวนผู้สมัคร ส.ส.เยอะที่สุด และเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนสับสนกับระบบการเลือกตั้งมากที่สุด ทั้งการแบ่งเขตการเลือกตั้งและรูปแบบของบัตรเลือกตั้งที่มีถึง 350 แบบใน 350 เขต การเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ (Mixed Member Apportionment System, MMA) ให้เรามีสิทธิ ‘กากบาท’ เลือกผู้สมัครที่ประจำเขตเลือกตั้งของเรา หรือ ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่านั้น แล้วคะแนนเสียงที่เราเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตจะถูกนำไปใช้คำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อหรือ ‘ปาร์ตี้ลิสต์’ ของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครคนนั้นสังกัดอีกต่อหนึ่ง ง่ายๆ คือ เรากาครั้งเดียวเลือก ส.ส.เขต แต่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคด้วยนั่นเอง ดังนั้นเราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักดีๆ เพราะบางทีถ้าเราเลือก ‘คนที่รัก’ อาจไม่ได้ ‘พรรคที่ชอบ’ ก็เป็นได้
จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งล่าสุดเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2560 พบว่ามีทั้งหมด 66,188,503 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 32,464,906 คน และผู้หญิง 33,723,597 คน แต่ถ้านับตั้งแต่อายุครบ 18 ปีขึ้นไป มีประมาณ 51,735,326 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ คือผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง หากวันเลือกตั้งคือ วันที่ 24 ก.พ.62 จริง หรือผู้ที่เกิดวันที่ 23 ก.พ.2544 หรือก่อนหน้านั้น ก็จะมีสิทธิเลือกตั้ง โดยกลุ่มผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) หมายถึง กลุ่มผู้ที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา แต่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง และกลุ่มที่จะมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2562 ที่สำคัญคือวัยรุ่นที่จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก คนกลุ่มนี้จะตื่นตัวเป็นพิเศษ รอวันที่จะได้ลงคะแนนสียง ซึ่งจะติดตามข่าวสารการเมืองทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหลายพรรคใช้ช่องทางนี้ในการดึงคะแนนเสียงในโค้งสุดท้าย ส่วนใหญ่จะมีการพูดคุยกับเพื่อนฝูงและมีความคิดเป็นของตนเอง ดูที่นโยบายพรรคและผู้ที่ลงสมัครเป็นหลัก ไม่เลือกตามความเห็นชอบของสมาชิกในครอบครัว ทุกคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น อยากเห็นนักการเมืองที่มีคุณภาพเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ และต้องการสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ต้องการผู้นำเผด็จการที่ไม่รับฟังความเห็นต่าง
ถามว่าคนรุ่นใหม่อยากได้นายกฯ แบบไหน ส่วนใหญ่จะตอบว่าอยากได้นายกฯ ที่มีความเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ ไม่โกงไม่กิน และฟังเสียงของประชาชน อยากเห็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และการปราบการทุจริต คอร์รัปชันให้หมดไป ที่สำคัญคือการแก้ปัญหาการศึกษาไทยที่คนกลุ่มนี้เผชิญอยู่ เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของชาตินำการศึกษาไปสร้างอาชีพ และมีรายได้จริง กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อทุกพรรค เพราะหากได้เสียงจากวัยรุ่น โอกาสเข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎรก็ย่อมมีสูงขึ้น โดยเฉพาะการได้มาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นฐานเสียงของวัยรุ่นที่เพิ่งใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในอนาคตอันใกล้นี้ จึงเป็นตัวแปรสำคัญชี้ชะตาอนาคตประเทศไม่น้อย.
จิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
([email protected])
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |