เมื่อเวลา 11.15 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมคณะกรรมการนโยบายพรรค ร่วมกันแถลงนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชั่น โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปชป.ได้ใช้คำขวัญของพรรคว่าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง และสุดท้ายนำไปสู่การรัฐประหาร ตนเป็นห่วงเรื่องการทุจริต ซึ่งมีการพูดกันน้อยเกินไปในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าพยายามสื่อสารทำนองว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเพียงวาทกรรม ปชป.ยืนยันว่าปัญหาการทุจริตและความต้องการที่จะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องวาทกรรม แต่เป็นเรื่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงและมียังอยู่ในปัจจุบัน และจะทำให้มีปัญหาในอนาคต นำมาสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำลายความเข้มแข็งของสังคม ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำและเป็นวาระแห่งชาติคือ การปราบโกงทุกรูปแบบ
ถ้าดูจากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ที่จัดลำดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จะเห็นว่า ว่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา ตอนรัฐบาล ปชป.เข้ามานั้น ประเทศถูกจัดอันดับ 84 ถัดมาช่วงคาบเกี่ยวรัฐบาล ปชป.มาเป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกลงมาเล็กน้อย และมีปัญหามากในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งตกไปถึงอันดับ 102 มาถึงปี 57 และ 58 อันดับดีขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะมีการพูดถึงการต้องการเข้ามาปราบปรามการทุจริต แต่สามปีหลังมานี้ กลับกลายเป็นประเทศกลับไปนำอันดับ 99
ปชป. เป็นรัฐบาลหลายสมัย มีนายกรัฐมนตรี 4 คน ทุกคนให้ความสำคัญกับการรักษาความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของพรรค นายกฯของ ปชป.ไม่มีใครมีมลทินเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาการทุจริตในขณะนี้มีการทุจริตซึ่งมีการพัฒนาไปในหลายระดับและหลายรูปแบบ รูปแบบที่มักพูดกันคือ การปล้นประเทศโดยการใช้งบประมาณที่ไม่ถูกต้อง เบียดบังเงินภาษีของประชาชน หรือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ รูปแบบที่สอง การปล้นประชาชน เก็บส่วย รีดไถ และรูปแบบที่สาม การวางแผนมาปล้น โดยอาศัยนโยบายมาขับเคลื่อนเพื่อจะเอื้อประโยชน์กับคนของตัวเองและพวกพ้อง ดังนั้น ปชป.มีนโยบายการปราบปรามทุจริตที่สามารถครอบคลุมได้ทั้งสามประเภท
เครื่องมือที่ ปชป.จะใช้ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น มี 5 ตัว คือ 1.นำเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ APP แจ้งโกง เริ่มต้นจากเทคโนโลยี โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทำให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการโกง ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็ว และคุ้มครองข้อมูลที่ประชาชนแจ้งเข้ามา หลายประเทศพบว่าเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จะมีประชาชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม, Govtech คุมจัดซื้อจัดจ้าง มามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการภาครัฐ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การออกแบบการประมูล การแข่งขัน การกำหนดราคากลาง ซึ่ง ปชป.เคยบังคับใช้ให้เปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยกเลิกไป, เปิดเผยราคากลางและวิธีกากรคำนวณออนไลน์/เปิดเผยภาษีที่ดินออนไลน์ ป้องกันการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง จะทำให้มั่นใจว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับภาครัฐมีความโปร่งใสให้เกิดขึ้นได้ และพบผิดความผิดปกติได้
2.การมีส่วนร่วมของประชาชน จะต้องพัฒนาเป็นหลักสูตรโตไปไม่ยอมให้ใครโกง เพราะลำพังสร้างคนสุจริตไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องสร้างคนที่พร้อมจะทำให้โปร่งใสได้ ทำให้คนไม่ยอมให้ใครโกง, สนับสนุนองค์กรพิทักษ์ความโปร่งใส กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักว่าตัวเองคือผู้เสียประโยชน์ จะสนับสนุนให้เกิดองค์กรเหล่านี้มากขึ้น, ชี้เป้าโกงได้รางวัลและความคุ้มครองเป็นธรรม เพื่อเป็นการจูงใจให้คนพร้อมให้ข้อมูล และให้ความมั่นใจแก่เขาได้, สัญญาคุณธรรม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้ แต่น่าเสียดายว่าเมื่อใช้แล้วยังมีหลายหน่วยงานมีข้อยกเว้นในปัจจุบัน เช่น การประมูลดิวตี้ฟรี และยังมีบางโครงการของรัฐบาลยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่ง ปชป.จะทำให้มีเขี้ยวเล็บมากขึ้น, บทบาทสื่อกับงานวิจัยในการตรวจสอบ บางสื่อค่อนข้างจริงจังกับเรื่องนี้ แต่การใช้ข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลยังทำน้อยเกินไป เรามีช่องทางสนับสนุนให้วงการสื่อกล้าทำข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตมากขึ้น
3.สังคายนากฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการสังคายนากฎหมายที่เป็นบ่อเกิดและสร้างช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริต โดยมีกฎหมายที่ยังล้าสมัยให้อำนาจและดุลยพินิจเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในขั้นตอนของการอนุมัติมากเกินไป, ออก พ.ร.บ.ปราบโกง ซึ่งต้องอาศัยการนิยาม การตรวจสอบ การสืบสวนสอบสวนรองรับการทุจริตที่หลากหลาย ต้องมีกฎหมายเฉพาะในการปราบโกง, ตั้งหน่วยงานตรวจสอบงบประมาณ ที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายบริหาร ทำให้มีความอิสระในการจัดสรรงบประมาณ, ยกเครื่อง ป.ป.ช. ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ช.มีปัญหาในการสืบสอบสอบสวน ตัดสิน และชี้มูลที่ล่าช้า คำวินิจฉัยบางคดีมีข้อกังขามากมายว่าถูกแทรกแซงหรือไม่ และปราศจากการตรวจสอบ, หกเดือนต้องชี้มูล ป.ป.ช.ต้องใส่ใจเรื่องใหญ่ จับตัวใหญ่ ส่วนเรื่องเล็กให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบได้ปกติ เพราะถ้าเราจับตัวใหญ่มาลงโทษได้ จะเป็นการปราบปรามการทุจริตที่ดีที่สุด, ยกคำร้องต้องเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมด กรณียกคำร้องต้องเปิดเผยข้อมูลและถูกตรวจสอบว่ามีอะไรไม่ตรงไปตรงมาหรือไม่ และ ป.ป.ช.ต้องผิดชอบในการยกคำร้อง
นอกจากนี้ ยังมีบางประเด็น ที่ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช.ทำอะไรจะไปโต้แย้งไม่ได้ ต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภามีสิทธิว่าจะส่งหรือไม่ส่งไปถึงศาลก็ได้ ซึ่งประธานรัฐสภาส่วนใหญ่จะเป็นของพรรครัฐบาล เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องร้องเรียนรัฐบาล เราไปปล่อยให้กลไกอยู่ในฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้น ต้องแก้กฎหมาย
4.การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ต้องเพิ่มบทบาทผู้ตรวจราชการให้มีอำนาจสอบภายในกระทรงมากขึ้น, โยกย้ายข้าราชการ ไม่ใช่การทำโทษ แต่โยกย้ายเพื่อให้เกิดการสอบสวนอย่างมีอิสระ ไม่ใช่ย้ายแล้วจบ และ 5.ปราบโกงเชิงระบบ สนับสนุนการแข่งขันเสรี ลดทุนผูกขาด, กระจายอำนาจกับการกำกับท้องถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดทุจริต เพราะการรวมศูนย์อำนวยเท่าไรยิ่งตรวจสอบยาก ถ้าไปดูมูลค่าการทุจริตของท้องถิ่นจะพบว่าน้อยมากถ้าเทียบกับการทุจริตในส่วนกลางและภูมิภาค อีกทั้งการทุจริตในท้องถิ่นประชาชนพบเห็นง่าย ดังนั้น จะออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะ, ปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องมาหลายปี จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ปชป.มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน ทั้งการสอบสวนที่จะต้องมีอิสระ ทำอย่างไรการทำงานของตำรวจถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
มาตรการทั้งหมดยังไม่พอ สิ่งที่ ปชป.เคยทำมาตลอดคือ ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่ามาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ในทางกฎหมาย หลายคนมองข้ามลืมไปในวันที่ตนเป็นนายกฯ เกิดเรื่องขึ้นมาในบางกระทรวง สิ่งที่เกิดขึ้นใน ปชป.คือ รัฐมนตรีที่เกี่ยวของลาออกทันที เพื่อเปิดทางให้มีการสอบได้อย่างอิสระ ลดปัญหาที่จะต้องให้สังคมติดหล่ม โต้แย้งเป็นเดือนเป็นปี จนทำลายศรัทธาระบบสภา และการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และกรณีของรัฐบาลผม รัฐมนตรีที่ออกไปนั้น มีการตรวจสอบภายหลังว่าท่านไม่ได้ผิด แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ท่านตัดสินใจเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาล และสังคม แต่รักษาศรัทธาเอาไว้
เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าจะบอกรัฐบาลอื่นๆ ไม่สนใจก็ไม่จริง แต่จะสังเกตเกือบทุกรัฐบาลปราบโกงเฉพาะฝ่ายตรงข้าม ตัวที่จะวัดจริงๆ ว่าใครจริงจังในการการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นคือ เมื่อเกิดกับรัฐบาลตัวเอง ฝ่ายตัวเอง และพรรคตัวเอง จะมีมาตรการอย่างไร อย่างน้อยที่สุดคนใน ปชป.ถ้าจะเข้าไปในรัฐบาล จะต้องมีมาตรฐานสูง ตนคิดจะให้คนของ ปชป. ทั้งตัวเขา ครอบครัว และพี่น้อง ที่มีผลประโยชน์ธุรกิจอะไรบ้างเปิดเผยข้อมูล แม้กฎหมายไม่ห้าม เพื่อให้ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ประชาชนติดใจหลายเรื่อง เช่น การใช้สิทธิเดินทาง ตั๋วเครื่องบินของ ส.ส. ควรเอาให้ชัดว่าเวลาเดินทางไปจะไปที่ไหน ทำอะไร สิทธิของรัฐมนตรี การมีงบรับรองควรจะเปิดเผยว่าใช้มากน้อยแค่ไหน สมเหตุสมผลหรือไม่ สิทธิบางอย่างยกเลิกได้หรือไม่ รัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องนั่งเฟิร์สคลาส เราจะเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ เพราะ ปชป.ถือเป็นเรื่องใหญ่ อยากให้พรรคการเมืองเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งเหลือไม่กี่วันจะเลือกตั้ง แต่ยังบอกกันว่าการทุจริตเป็นเรื่องวาทกรรม ซึ่งไม่ใช่แน่นอน แต่เป็นภัยร้าย ถ้ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยทุจริต บ้านเราจะวนเวียนในวงจรอุบาทว์ หมดเวลาเกรงใจแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |