ภท.-ไม่คิดแค่พรรคตัวแปร หลังเลือกตั้งจะอยู่ขั้วไหน?
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค ถูกมองว่าจะเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ในยามที่การหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายเริ่มแบ่งข้างกันชัดเจนระหว่างสองขั้วสำคัญ คือ สนับสนุนและไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง โดยมองกันว่าหากขั้วไหนได้พรรคภูมิใจไทยไปร่วมด้วยก็ทำให้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลลงล็อกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายเนวิน ชิดชอบ คนดังบุรีรัมย์ ยังเชื่อว่าภูมิใจไทยมีทางเลือกมากกว่านั้น
“หัวหน้าพรรค ตัวผม และกรรมการบริหารพรรค เราเชื่อว่าภูมิใจไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้เป็นตัวแปร เราเชื่ออย่างนั้น และเราก็เดินหน้าทำงาน เพราะนโยบายพรรคตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ คือปัญหาความยากจน หนี้สิน และเรื่องปากท้องประชาชน แต่ก็อยู่ที่ประชาชนในการโหวตวันที่ 24 มีนาคม เราเคารพอยู่แล้ว ประชาชนตัดสินใจอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือประชาธิปไตย เคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่ไม่ละทิ้งเสียงส่วนน้อย”
เลขาธิการพรรค ภท. วิเคราะห์การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญในส่วนขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน พรรคการเมืองที่สามารถเลือกประธานสภาได้ พรรคนั้นจะเลือกนายกฯ ได้ โดยการเลือกได้จะต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุน 251 เสียง เมื่อเขาเลือกประธานสภาได้ที่เป็นฉันทานุมัติเบื้องต้น โดยไม่ต้องพูดถึง ส.ว.ที่จะมาทีหลังเลย แต่ก็มีคนพูดว่า ส.ว.อาจเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำงาน เพราะเป็นเหมือนสภาพี่เลี้ยงที่ต้องส่งกฎหมายไปให้พิจารณา แต่ ส.ว.ก็ทำได้แค่ยับยั้ง เสียเวลาส่งกลับไปกลับมา แต่หากจะทำบ่อยๆ ประชาชนก็จะตำหนิเขาเอง แต่ผมเชื่อว่า ส.ว.ที่จะมา 250 คน ทุกคนมีวุฒิภาวะว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าไปกังวลสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
การเลือกนายกฯ จึงต้องดูที่การเลือกประธานสภาที่จะมีแต่ ส.ส.โหวต ถามว่าพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.แค่ 126 คนจะเลือกประธานสภาได้หรือ ก็ต้องแพ้ 300 กว่าเสียง แค่นี้เราก็เห็นอยู่แล้วใครจะเป็นนายกฯ พรรคไหนเป็นแกนนำ ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันมากๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ใครก็มาล้มล้างมติของประชาชนไม่ได้ ทุกคนก็ต้องยอมรับ
“โดยธรรมเนียมหลักปฏิบัติต้องให้พรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกมาอันดับหนึ่งรวบรวมเสียงก่อน หากทำไม่ได้พรรคอันดับสองก็ทำ หากทำไม่ได้อีกก็พรรคอันดับสามและถัดไป เราเคยมีพรรคการเมืองที่มี 18 เสียงสมัย พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านทำได้ ก็มี เพราะทุกคนยอมรับท่านหมด ก็เป็นไปได้" เลขาฯ ภท.ตอบหลังเราถามความเห็นว่า จำเป็นหรือไม่ที่พรรคการเมืองได้เสียง ส.ส.อันดับหนึ่งจะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากพรรคอันดับรองๆ ลงมาเช่นพรรคอันดับสองหรือสามเกิดจับมือกันตั้งรัฐบาลได้
ศักดิ์สยาม เลขาฯ ภท. แสดงท่าทีทางการเมืองหลังเราถามว่า ภูมิใจไทยสามารถร่วมงานกับเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐได้หรือไม่หลังเลือกตั้ง โดยเขาออกตัวว่าการร่วมงานก็คือการนำนโยบายมาคุยกัน จริงๆ วันนี้การร่วมงานกับทุกพรรคการเมืองไม่ได้เป็นปัญหาเลย แต่ต้องมาอยู่กรอบเดียวกัน กรอบของพรรคภูมิใจไทยคือเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน หนี้สินประชาชน ปัญหาปากท้อง เพราะเราข้ามสิ่งที่จะเป็นปัญหาเช่นความขัดแย้งที่เป็นนามธรรม แต่นำปัญหาใหญ่ของประเทศมานั่งคุยกัน ถ้ากรอบตรงกันก็ทำงานด้วยกัน หากกรอบไม่ตรงกันมีอะไรที่จะปรับเข้าหากันได้ก็ปรับเข้าหากัน
-ช่วงโค้งสุดท้ายหลายพรรคแสดงจุดยืนแบ่งขั้วการเมืองกันเกือบหมดแล้ว?
เราก็ชัดเจน เรายืนอยู่แบบนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว คือยืนอยู่บนประโยชน์ที่ประชาชนต้องได้รับสูงสุด ไม่ได้ยืนอยู่บนประโยชน์ที่พรรคการเมืองจะได้รับสูงสุด ถ้าเลือกพรรคภูมิใจไทยเราก็เข้าไปทำงานตามนโยบายพรรค 12 เรื่องทันที หากพรรคได้ ส.ส.น้อยเราก็อาจเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาของพรรคภูมิใจไทย เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นพรรครัฐบาลเท่านั้น
ส่วนโอกาสที่หัวหน้าพรรค-อนุทิน-จะได้เป็นนายกฯ ก็เห็นผลโพลบางสำนักที่ออกมา คือวันนี้หัวหน้าพรรคไม่ได้มีอะไรด้อยไปกว่าคนอื่น เป็นหัวหน้าพรรคที่มีความสมบูรณ์แบบมากๆ และแสดงให้เห็นจิตอาสา ความเสียสละ ซึ่งทำมานานแล้ว ขับเครื่องบินส่วนตัวนำอวัยวะต่างๆ ไปให้ ติดต่อมากี่โมง ก็ไป แล้วก็เคยประสบความสำเร็จในธุรกิจที่วันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว กับการบริหารบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ บริหารเงินเป็นแสนๆ ล้านต่อปีก็บริหารด้วยความเรียบร้อย แล้ววันนี้เดินมาทำหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชน
-หากไปร่วมกับบางพรรคอย่างประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนโยบายประกันรายได้พืชผลเกษตร แต่ของภูมิใจไทยเป็นระบบแบ่งปันผลกำไร profit sharing จะทำอย่างไร?
ก็ต้องมาคุยกัน เพราะเรื่องประกันต้องถามว่าทำได้หรือไม่ จะมีภาระงบประมาณหรือไม่ จะนำงบมาจากไหน วันนี้หนี้สาธารณะ 6.8 ล้านล้านบาท หากไปเอาเงินอนาคตมาใช้ แล้วสุดท้ายต้องขึ้นภาษีหรือกู้เงินมา สุดท้ายภาระก็จะกลับไปอยู่ที่ประชาชน แต่หากทำอย่างที่พรรคเสนอนโยบายที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ จาก 12 นโยบายของภูมิใจไทยจะใช้เงินประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ที่ก็บริหารจัดการภายในกระทรวง แล้วจะมีเงินเพิ่มเข้ามา 3 แสนกว่าล้านบาทจากนโยบายกัญชาเสรีของพรรค
-หากร่วมกับพลังประชารัฐที่ไม่เคยเสนอความเห็นนโยบายกัญชา จะทำอย่างไร?
เราพูดเรื่อง 12 นโยบาย วันนี้อย่าไปแยกขั้ว วันนี้ต้องมองปัญหาของประเทศในเรื่องความยากจนและหนี้สินของประชาชน ถ้าวันไหนที่ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ถึงวันนั้นไม่ต้องบอกหรอกว่าระบบอะไร วันนี้สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องดูปัญหาของตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วดูว่านโยบายของพรรคภูมิใจไทยตอบโจทย์หรือไม่ จะเป็นภาระต่อไปหรือไม่ เราไม่เสนอนโยบายลดแลกแจกแถม ที่แบบนั้นพูดอะไรก็ได้ แล้วพอถึงเวลาก็กลับมาสร้างภาระให้ประชาชน ถ้าแบบนี้ผมก็ไม่เอาด้วย
บางคนตั้งคำถามว่าพรรคภูมิใจไทยไม่มีความชัดเจน แต่ผมว่าเราชัดเจน คือชัดเจนบนผลประโยชน์ของประชาชน เราไม่มีอะไรที่จะทำให้ประชาชนปวดหัว เลือกพรรคเราไปแล้วจะต้องปวดหัวแน่ๆ ไม่มีแน่นอน เราจะไปทะเลาะกับใคร ก็มีแต่ทะเลาะกับอำนาจรัฐเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นคนกำหนดอำนาจรัฐ เราจะทลายทุกข้อจำกัดเพื่อให้ประชาชนทำงาน มีอาชีพ โดยเฉพาะการปลูกกัญชาเสรีให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
ศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงเป้าหมาย ส.ส.ที่พรรคคาดว่าจะได้จากการส่งครบทั้ง 350 เขตเลือกตั้งว่า ก็เอาจริงหมด แต่ที่ดูจากข้อมูลจากสำนักโพลต่างๆ เราก็เคารพ แต่เราเชื่อว่าตรงนี้ที่เป็นแค่การทำข้อมูลจากผู้มีสิทธิ์ 49 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 51 เปอร์เซ็นต์ข้อมูลจากโพลก็บอกอยู่แล้วว่ายังไม่ตัดสินใจ ซึ่งเราคิดว่ากลุ่มนี้จะเป็นผู้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางไหน ที่พรรคส่งผู้สมัครครบทุกเขต เพราะเป็นเจตนาที่แสดงให้เห็นว่าเราพร้อมทำงานให้ประชาชน
“เราไม่ได้บอกว่าเราเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อจะเป็นพรรคทางเลือก ที่จะเป็นพรรคขนาดกลางที่จะรอเสียบกับใครก็ได้ แต่เรามาครั้งนี้เพื่อจะมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อจะเข้าไปทำงานตอบโจทย์ตามนโยบายพรรค 12 เรื่องเร่งด่วนให้ประชาชน”.
..................................
กัญชาเสรี -แคลิฟอร์เนียโมเดล ถ้าไม่รับ เราไม่ร่วมรัฐบาล
เลือกตั้งรอบนี้พรรคภูมิใจไทยนำเสนอนโยบายหลักๆ ในการหาเสียงรวม 12 เรื่อง เช่น นโยบายทวงคืนกำไรให้เกษตรกร, พืชพลังงาน, การแก้ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), เรียนออนไลน์ฟรีตลอดชีพ, ยกระดับ อสม.ให้เป็นหมอประจำบ้าน เป็นต้น โดยนโยบายพรรคที่คนพูดถึงมากสุดคงไม่พ้นเรื่อง กัญชาเสรี
ศักดิ์สยาม-เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงภาพรวมนโยบายพรรคในเรื่องหลักๆ เช่น กัญชาเสรี โดยเกริ่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคได้ทำการศึกษาวิจัยปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทย โดยใช้สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อเตรียมนำไปแก้ปัญหาให้ประชาชน เช่นจัดทำเป็นร่างกฎหมาย ระเบียบ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้สามารถนำเสนอต่อสภาและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้นำไปปฏิบัติและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
...นโยบายหลักๆ ของพรรคภูมิใจไทยมี 12 เรื่อง เราดูที่โจทย์ใหญ่ของประเทศ คือเรื่องปัญหาหนี้สินและความยากจนที่เป็นปัญหาใหญ่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อีกมาก เราจะพักวางเรื่องนามธรรมไว้ก่อน เพราะวันนี้สิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้รับการแก้ไข ให้เขาแข็งแรงก่อน
California Model
ทำรายได้ 3 แสนล้านบาท
ศักดิ์สยาม กล่าวต่อไปว่าพรรคมีนโยบายเรื่อง กัญชาเสรี มาตอบโจทย์สำคัญของประเทศนี้ คือความยากจนและหนี้สิน และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
...กัญชาเสรี ภูมิใจไทยได้ศึกษาเรื่องนี้มานานแล้วว่ากัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ในอดีตกัญชา เคยเป็นพืชส่งออกของประเทศไทย ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2505 ชื่อ Thai Stick แต่หลังจากนั้นมาเรามีการออก พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 เอากัญชาไปไว้เป็นยาเสพติดเพราะเราไปเชื่อประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งว่าเป็นยาเสพติด แต่เชื่อหรือไม่ว่าจากปี 2522 ประเทศมหาอำนาจที่มาบอกเรา เขานำกัญชาไปศึกษาวิจัย จนวันนี้ประชาชนในประเทศมหาอำนาจเขาใช้กัญชาในทางที่เป็นประโยชน์กับเขา ซึ่งมีอยู่ที่หนึ่งที่เขานำไปใช้ และพรรคนำตัวแบบนั้นมาก็คือมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
เรานำตัวแบบดังกล่าวมาเพื่อที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย อย่างไรก็ตามกัญชาไม่ได้มีแค่ที่สหรัฐอเมริกา แต่มีอยู่ใน 34 ประเทศในโลกและจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละประเทศก็จะมีระดับการใช้ประโยชน์จากกัญชาทั้งด้านการแพทย์ การพาณิชย์ รวมไปถึงสันทนาการเสรีอย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ของเราไม่ใช่ เรามองเรื่องนี้จากหลักว่ากัญชาจะมีประโยชน์ต่อประชาชน จากรายงานการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจที่พรรคทำไว้เรียบร้อยแล้ว โดยสถาบันการศึกษาที่พรรคให้ทำวิจัยเรื่องปัญหาของประเทศไทย เราจะสามารถทำมูลค่าในธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาในช่วงสองปี ประมาณไม่น้อยกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวแบบที่นำมาจากแคลิฟอร์เนีย โดยที่แคลิฟอร์เนียมีการเก็บภาษีจากมูลค่าธุรกิจของเขาในปีที่แล้ว มีรายได้ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็ประมาณแสนกว่าล้านบาท แต่รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาเล็กกว่าประเทศไทย เขามีประชากร 40 ล้านคน แต่ของเรามี 70 ล้านคน
...หากใช้ตัวแบบของแคลิฟอร์เนียมาทำในประเทศไทย ทำลักษณะใกล้เคียงกันคือให้ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นที่บ้าน เพื่อทำเชิงการแพทย์และพาณิชย์ เราจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 303,000 ล้านบาทที่ได้จากค่าใบอนุญาตและค่าธรรมเนียม โดยตัวเลข 303,000 ล้านบาทดังกล่าวมีความหมายกับประเทศไทยมาก เพราะวันนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ ดูได้จากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ วันนี้เรามีคนจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากตัวเลขคนที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีถึง 11-14 ล้านคน อันเป็นดัชนีชี้วัดว่าประเทศกำลังจะเจอกับอะไร
ดังนั้นวิธีคิดการทำนโยบายอะไรต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ไม่สร้างภาระให้ประชาชน สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยคิดคือต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน ดังนั้นบางเรื่องที่พรรคนำเสนอ เช่น นโยบายการทำแกร็บคาร์ให้ถูกกฎหมาย การให้ประชาชนทำโฮมสเตย์ เรื่องพืชพลังงงาน เพียงแค่ออกกฎหมายรองรับก็ทำได้แล้ว ไม่ต้องใช้งบประมาณ สิ่งที่ต้องใช้เงินก็แค่นโยบายยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นหมอประจำบ้าน ที่ต้องเพิ่มเงินให้ หรือเรื่องการเรียนออนไลน์ที่ใช้งบในการสร้างแพลตฟอร์ม ทั้งหมดใช้เงินแค่ประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องไปดึงงบมาจากไหน แต่ใช้วิธีการบริหารจัดการ นำงบประมาณที่อยู่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ แต่หากเราได้เงินสามแสนสามพันล้านบาทดังกล่าวจากธุรกิจกัญชามาให้รัฐ ก็จะเป็นประโยชน์แก่รัฐ โดยสามารถนำเงินมาดูแลประชาชนได้ เช่นการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ศักดิ์สยาม แจงผลดีของแนวคิด กัญชาเสรี ว่า เพราะรายได้หลักของประเทศมาจากภาษีที่จัดเก็บได้แต่ละปี หากไม่พอก็กู้เงินหรือออกพันธบัตร แต่เราต้องหารายได้จากส่วนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว, พืชพลังงาน และกัญชาเสรีที่ให้ปลูก 6 ต้นในที่พักอาศัย ที่จะสร้างรายได้ให้รัฐและนำไปสู่การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม จากที่เก็บอยู่ 7 เปอร์เซ็นต์ รัฐเก็บได้ 9 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่หากเรามีเงิน 3 แสนล้านบาทจากค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาตของกัญชา แล้วนำมาใช้สัก 2 แสนล้านบาท รัฐก็ไปเก็บแค่ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้ได้ 9 แสนล้านบาทเท่าเดิม ก็จะทำให้สามารถไปลดแวตได้ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนที่ลดมาทุกคนจะได้กันหมด เช่นไปซื้อบะหมี่สำเร็จรูปจากซองละ 7 บาท ก็จะเหลือ 5.50 บาท ผู้ประกอบการต่างๆ ก็ได้ด้วย
ส่วนประโยชน์ที่ได้จากกัญชาโดยตรง เรายอมรับว่าเป็นเรื่องของการนำมาทำยา ซึ่งวันนี้ประเทศไทยก็ทำแล้ว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ อย่างเช่น ยาพ่นรักษามะเร็ง ที่มหาวิทยาลัยรังสิตทำออกมาแล้วและกำลังขอจดสิทธิบัตร ซึ่งนอกจากทำยารักษาโรควันนี้โลกไปไกลกว่านั้น คือนำกัญชาไปเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ เช่นญี่ปุ่นนำไปใช้ทำข้าวปั้น นำไปทำเทมปุระ หรือใส่ในสเต๊ก โดยมีการใส่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ใช่ใส่ไปกินแล้วสลบในร้าน หรืออย่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ผู้ผลิตเครื่องดื่มโค้กก็ทำ Coke Cannabis ที่ใส่ไปในปริมาณเหมาะสมดื่มแล้วสบาย มันไม่ได้อยู่แค่ยา แต่มีการนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ศักดิ์สยาม-เลขาธิการพรรค ภท. ให้ทัศนะว่า จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีการปรับแก้ให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และพาณิชย์ได้ โดยเรื่องการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทยตรงกับแนวทางของรัฐบาล แต่สิ่งที่เราตั้งคำถามคือ ประโยชน์ของกัญชาที่มีมากมายใครควรเป็นผู้ได้ประโยชน์ ประชาชนควรได้ประโยชน์แค่ไหน ถ้าเป็นแค่ผู้บริโภคโดยเขาปลูกกัญชาไม่ได้ แบบนี้ก็จะเป็นภาระเพราะยาที่ทำจากกัญชาจะแพง เพราะวันนี้ตลาดที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายกิโลละ 7 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท แล้วแต่พันธุ์ แล้วนำไปสกัด คิดดูว่ามูลค่าจะเท่าไหร่ อย่าง น้ำมันกัญชา ขายเป็นซีซี ในราคา 100-1,000 บาท แล้วแต่พันธุ์กัญชา หากซีซีละหนึ่งร้อยบาท หนึ่งลิตรที่เท่ากับหนึ่งพันซีซี ก็เท่ากับหนึ่งแสนบาท ถ้าซีซีละหนึ่งพันบาท หนึ่งลิตรก็เท่ากับหนึ่งล้านบาท
...เมื่อต้นทุนมาแบบนี้ เขาก็ต้องขายน้ำมันกัญชาในราคาแพง จุดนี้คือสิ่งที่เรามองต่างกันกับรัฐบาล เพราะเรามองว่าประชาชนควรเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากกัญชา ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภค แต่เขาต้องเป็นผู้ปลูกภายใต้การกำกับดูแล และเป็นพี่เลี้ยงโดยรัฐบาล เพราะภายใต้กฎหมายที่แก้ไขกัน ประชาชนไม่สามารถปลูกได้เลยแม้จะเขียนไว้ให้วิสาหกิจชุมชนเป็นหนึ่งในเจ็ดที่ให้เข้ามาทำ เพราะต้องมีผลการวิจัยมารองรับพันธุ์กัญชาที่ปลูก ซึ่งถามว่าคนที่จะทำวิจัยได้จะเป็นใคร ก็ต้องเป็นบริษัทที่มีทุนมีห้องแล็บ พรรคกำลังบอกว่าสิ่งที่ทำกันเรากลัวว่าจะเป็นเหมือนกฎหมายเบียร์เหล้า ที่ประชาชนเคยต้มเหล้ากิน เวลาหนาว แต่วันนี้ต้องหนีเพราะสรรพสามิตไปไล่จับ คนก็ต้องกลับมาซื้อเหล้า กัญชา ก็จะเป็นเหมือนกัน
เลขาธิการพรรค ภท. ย้ำว่า จากจุดดังกล่าวพรรคจึงคัดค้านนายทุนผูกขาดสัมปทานกัญชา รัฐบาลบอกว่ายังไม่เคยบอกจะให้ใคร แต่เอาแค่ขณะนี้พรรคก็เห็นแล้วว่าจะมีปัญหา เพราะปัจจุบันคนที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาตัวเองจากการเจ็บป่วยโรคต่างๆ เช่นมะเร็งมีเยอะมาก ที่มีการให้นิรโทษกรรมคนที่ปลูกกัญชา ถามว่ามีไปกี่คน เขาไม่ไปเพราะเขารู้ทันรัฐบาล ที่รัฐบาลทำโรงเรือนปลูกกัญชาแล้วบอกจะสามารถสกัดน้ำมันกัญชาที่ลงทุนไปสิบล้านบาท ปลูกได้ร้อยต้น เท่ากับมูลค่าต้นละแสน แพงเหลือเกิน โดยบอกว่าจะสกัดได้ประมาณหนึ่งพันขวด ทั้งที่คนป่วยที่ต้องการใช้ไปรักษาตัวมีเป็นล้านคน เท่ากับมีแค่พันคนได้เอาไปใช้ แต่ที่เหลือเก้าแสนกว่าคนปล่อยให้เขาตายหรือ
...จะสร้างตราบาปให้คนไทย มีเจตนาบริสุทธิ์เป็นเรื่องดี แต่หากไม่พร้อมก็อย่าทำดีกว่า ทำแล้วประชาชนเป็นทุกข์ หากให้เขาเป็นผู้บริโภคอย่างเดียว เขาจะนำเงินจากไหนมาซื้อ แทนที่จะทำแบบที่พรรคภูมิใจไทยคิด คือให้ประชาชนเป็นผู้ปลูก ให้ได้ประโยชน์จากการขาย จะได้มีรายได้ จะได้แก้ปัญหาความยากจนหนี้สิน
ศักดิ์สยาม อธิบาย กัญชาเสรี-แคลิฟอร์เนียโมเดล ว่า แนวทางของพรรคทำแบบแคลิฟอร์เนียเลย เราจะตั้งสถาบันกัญชาแห่งชาติ ต้องออกกฎหมาย โดยให้มีสำนักงานกำกับกิจการปลูกกัญชา ที่จะทำหน้าที่คอยวิจัยให้ประชาชนว่าเขาต้องปลูกพันธุ์อะไร ปลูกวิธีไหน ไปแนะนำสนับสนุน โดยจะมีสำนักงานผลิตและแปรรูป ที่หากจะมีเอกชนเข้ามาแปรรูปก็ต้องมาติดต่อที่สำนักงาน เพื่อมายื่นขอจดทะเบียนว่าจะนำพันธุ์กัญชาต่างๆ ไปใช้ โดยได้กำไรแล้วต้องใช้ระบบ profit sharing กับรัฐบาล เราถึงจะมีรายได้ตรงนี้ นอกจากนี้จะต้องมีสำนักงานขนส่งและจำหน่ายกัญชา ที่หากจะทำร้านขายกัญชาก็มายื่นจดทะเบียน
ส่วนการขนส่งไม่ใช่ว่าใครอยากจะขนส่งก็ทำได้ แต่ต้องมายื่นจดทะเบียน เราต้องบอกว่าทุกเรื่องมีทั้งประโยชน์และโทษ เราต้องดูว่าจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติสูงที่สุด โดยโทษก็ต้องมีวิธีการป้องกันและแก้ไข อย่างเหล้าเบียร์ก็มีกฎหมายควบคุม ใครดื่มเกินปริมาณที่กำหนดไว้ หากขับรถออกมาเป่าเจอก็ถูกยึดใบขับขี่ หรือใครดื่มแล้วไปทำให้เกิดความรุนแรง ไปขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุก็ยิ่งโดนหนักขึ้นไปอีก คือทุกเรื่องหากไปใช้เกินปริมาณมีปัญหาทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดถึงเหล้า เอาแค่ข้าวลองกินห้าจานซึ่งเราเชื่อว่าไม่มีใครเป็นแบบนั้น เราก็ต้องให้ความรู้ประชาชน
...ที่แคลิฟอร์เนียที่ใช้เพื่อสันทนาการ ก็ให้ทำแค่ในบ้าน ออกมาไม่ได้ หากออกมาก็มีเครื่องเป่า เหมือนกับเครื่องเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ถ้าเจอก็รับโทษแรงเหมือนกัน แต่คุณสมบัติอย่างหนึ่งของกัญชาคือหากใช้จะมีอาการง่วงนอน ไปไหนไม่ได้ ไม่มีอาการคึก พรรคมองเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงกัญชา ก็คือเท่าเทียมในการปลูก หากต้องการปลูกกัญชาพันธุ์อะไรก็ไปยื่นจดกับทางราชการ ค่าใบอนุญาตต้นละ 30 บาท เหมือนกับที่แคลิฟอร์เนียก็คิดหนึ่งเหรียญ ก็ไว้ใช้ในบ้าน ส่วนที่เหลือหากอยากขายก็ต้องไปยื่นเรื่องจดทะเบียนกับสำนักงานจำหน่าย หากพันธุ์ดีก็ขายได้ราคาไป แต่หากอยากได้ราคา 7 หมื่นบาทต่อต้น หกต้นเท่ากับ 420,000 บาท สำนักงานกำกับกิจการปลูกกัญชาจะเป็นพี่เลี้ยงให้ โดยนอกจากจะมีสิทธิ์ในการปลูกได้ไม่เกินหกต้นแล้ว
...นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อขอปลูกเชิงพาณิชย์ได้ แต่ค่าอนุญาตก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถึงได้บอกว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้รัฐมีรายได้ 303,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาบางคนพยายามจะพูดเรื่องนี้ แต่ไม่มีรายละเอียดเหมือนของพรรคภูมิใจไทย
ศักดิ์สยาม ย้ำว่าเรื่องกัญชาเรามีไทม์ไลน์ โดยจะทำกฎหมายออกมาภายในหกเดือน โดยทั้งหมดจะเสร็จภายในไม่เกินสองปี สิ่งที่สำคัญคือประเทศไทยมีเรื่องพวกนี้มานานแล้ว แพทย์แผนไทยทำตำรับยาที่มาจากกัญชา 300 กว่าตำรับ แต่องค์การเภสัชกรรมรับรองแค่ยี่สิบกว่าตำรับ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น หากเรารอในสิ่งเหล่านี้โดยคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นวิทยาศาสตร์หมด พี่น้องประชาชนเราตายกันหมดพอดี พรรคภูมิใจไทยทำแบบนั้นไม่ได้
วันนี้มาบอกว่าพรรคทำผิดกฎหมาย ถามว่าเราทำผิดกฎหมายอะไร ผมไม่ได้ปลูกอะไรเลย แต่เสนอนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย ทั้งการเป็นยารักษาโรค การทำเชิงพาณิชย์ทำแล้วส่งออกไปขายต่างประเทศ เพราะคนป่วยที่เป็นมะเร็งหรือพาร์กินสันในโลกนี้มีไม่รู้เท่าไหร่ หรือการปลูกแล้วใช้ในบ้านไม่เกินหกต้น ไม่ต้องห่วงเรื่องหากให้ปลูกมากๆ แล้วจะไม่มีตลาดเพราะไม่ได้เอาไปทำยาอย่างเดียว เพราะมีการนำกัญชาไปทำอาหารเครื่องดื่มเยอะแยะไปหมด รัฐต้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เราได้คัดค้านเรื่องการผูกขาดสัมปทาน กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ เป็นยาเหมือนกับมารักษาโรคแก้จนของประชาชน ปลูกหกต้นขั้นต่ำได้ต้นละ 7 หมื่นบาทต่อปี ก็ประมาณ 420,000 บาท โดยรัฐต้องเป็นคนจัดซื้อไม่ใช่ให้เอกชนไปซื้อกันเอง
...รัฐเคยบริหารโรงงานยาสูบมา แล้วทำไมจะบริหารสำนักงานบริหารกัญชาไม่ได้ ถ้ารัฐบริหารไม่ได้ประชาชนก็โหวตให้พรรคภูมิใจไทย พรรคจะเข้าไปทำเรื่องนี้ตามไทม์ไลน์ที่บอก หากทำไม่ได้เราก็รับผิดชอบโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมาตัดสิน การทำได้หรือไม่ได้มีปัจจัยคือ
“หากภูมิใจไทยได้รับเสียงโหวตให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราทำตามไทม์ไลน์ได้หมดทุกอย่าง แต่หากเราเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล เราก็จะเสนอนโยบายพรรค 12 เรื่องให้พรรคแกนนำ ถ้าไม่รับเราไม่ร่วมรัฐบาล” เลขาธิการพรรค ภท.ระบุ
...พรรคจะดูนโยบาย 12 เรื่องของพรรคเป็นหลัก เราไม่ดูเรื่องอื่นเลย อะไรที่เป็นนามธรรมนำมาซึ่งความขัดแย้งเราไม่ยุ่ง แต่จะเอา 12 เรื่องที่เป็นการแก้ไขปัญหาประชาชน เป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ถ้ารับเราเข้าไปร่วม และรับแล้วต้องทำตามไทม์ไลน์ของพรรค หากเราไม่ได้เป็นแกนนำ แต่หากรับไปแล้วไม่รู้จะทำเสร็จเมื่อใดเราก็ไม่ร่วม แต่หากเราเป็นแกนนำเราจะทำตามไทม์ไลน์ที่ประกาศไว้ ถ้าเป็นแกนนำรัฐบาลแล้วทำไม่ได้ก็ต้องยุบสภาหรือไม่ก็ลาออก แล้วให้พรรคอื่นมาตั้งรัฐบาลแทน แต่เรายืนยันว่าเราทำได้เพราะพรรคทำวิจัยมาก่อน หากพรรคเป็นแกนนำรัฐบาลเข้าไปนโยบายต่างๆ ก็ทำได้ทันที โดยการทลายข้อจำกัดต่างๆ เช่นเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการลดอำนาจรัฐ เพื่อปากท้องประชาชน
Profit Sharing-พืชพลังงาน ตอบโจทย์คนกลุ่มไหน?
เลขาธิการพรรค ภท. กล่าวถึงนโยบายเรื่องอื่นๆ ต่อไปว่า พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่มีด้วยกัน 5 ผลผลิต คือ ข้าว, ยาง, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย และมันสำปะหลัง จะเจอปัญหาเรื่องโครงสร้างการกำหนดราคา จะมีก็แค่อ้อยที่มีกฎหมาย พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลที่ให้การกำหนดราคาเป็นธรรม ออกมาปี พ.ศ. 2527 ที่มีการแบ่งกำไรปลูกอ้อยและนำไปทำน้ำตาล ที่ให้เกษตรกร 70 เปอร์เซ็นต์ ที่คิดคำนวณจากต้นทุนทำให้อ้อยมีปัญหาน้อยที่สุดในพืชเศรษฐกิจห้าชนิด พรรคก็เห็นว่าจากที่มีกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถนำไปปรับใช้กับพืชเศรษฐกิจอีกสี่ชนิดที่เหลือคือ ข้าว, ยาง, ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง
จากตัวอย่างที่ศึกษา หากเรานำวิธีการของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ปี 2527 มาใช้กับข้าว พี่น้องเกษตรกรจะได้ส่วนแบ่งกำไร 75 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็ให้โรงสี ผู้บรรจุข้าวถุง 25 เปอร์เซ็นต์ ก็มีคำถามว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เราก็เห็นว่าเมื่ออ้อยและน้ำตาลทำได้ ที่เหลือก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมารัฐก็เข้ามาดูแลเรื่องโควตาเช่นการส่งออก ที่รัฐดูแลเรื่องการส่งออก ส่วนข้าวสารบรรจุถุง ที่ยังไม่มีเรื่องของโควตารัฐก็เข้าไปดูแลเรื่องโควตา เพื่อให้มีการแบ่งปันผลกำไรอย่างเป็นธรรม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้ามาอยู่ในระบบโควตา หากใครไม่เข้ามาในระบบโควตา พูดง่ายๆ ก็ประกอบธุรกิจต่อไม่ได้
สาเหตุที่เราทำก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแบ่งกำไรของพืชเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาเรื่องการปลูก แต่เป็นปัญหาเรื่องกลไกการกำหนดราคา ซึ่งที่ผ่านมาวิธีการที่เราใช้กันคือการเข้าไปแทรกแซงการกำหนดราคา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน และปัจจุบันระบบกฎหมายของเรา ก็มีเรื่องของการประชานิยม จึงสุ่มเสี่ยงมากที่หากทำอะไรแล้วขัดกับหลักของกฎหมาย ก็อาจสร้างปัญหาในอนาคต
แนวนโยบายกำไรแบ่งปันดังกล่าวของภูมิใจไทย ไม่ก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากในการต้องไปหางบประมาณมาดำเนินการ เพราะเม็ดเงินทั้งหมดอยู่ในกลไกของมันอยู่แล้ว เหมือนกับอ้อยและน้ำตาล รัฐเพียงแต่เข้าไปกำกับดูแลกระบวนการผลิตพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด
พรรคคิดว่านโยบายดังกล่าว ในช่วงเวลาเพียงหกเดือนหลังการเลือกตั้ง หากพรรคภูมิใจไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากประชาชนโหวตให้เรา ฤดูการผลิตที่กำลังมาถึงเราสามารถใช้กฎหมายนี้ที่พรรคเตรียมไว้มาดำเนินการได้เลย
สิ่งสำคัญกว่านั้น พรรคมองในเรื่องกลไกการตลาดที่สมบูรณ์ คือต้องมีการสร้างตลาดรองรับพืชผลการเกษตร พืชเศรษฐกิจของไทย สามารถพัฒนาให้เป็นผลผลิตไปในการสร้างระบบพลังงานได้ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อยสามารถทำพืชพลังงานได้ อย่างอ้อยกับมันสำปะหลังก็ทำเอทานอล ปาล์มน้ำมันก็ทำไบโอดีเซลซึ่งวันนี้เราก็ทำกันอยู่ อย่างเอทานอลก็ทำ E85 แต่หากเราทำเป็น E100 แบบที่บราซิลทำ ก็จะสามารถมีตลาดรองรับมากมาย และเป็นการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร สิ่งสำคัญกว่านั้นคือจะลดการนำเข้าพลังงานที่ทำจากฟอสซิลคือปิโตรเลียม เพื่อจะได้ใช้พลังงานที่มาจากพืชเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เป็นพลังงานที่ยั่งยืนของประเทศ และสร้างตลาดรองรับให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้ได้มั่นใจว่าปลูกแล้วมีตลาดรองรับ
ศักดิ์สยาม ลงรายละเอียดเรื่องนโยบายพืชพลังงานว่า จะให้มีการพัฒนาเรื่องพืชพลังงาน โดยทำกฎหมายให้เอาสัดส่วนของพืชพลังงานไปผสมกับปิโตรเลียม จนในที่สุดต่อไปอาจไม่ต้องผสมเลย เพราะจากข้อมูลจะพบว่าปัจจุบันทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เขาพัฒนาเครื่องยนต์เพื่อให้รองรับพลังงานที่ทำมาจากพืชพลังงานได้หมดแล้ว เพียงแต่ขาดความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะส่งเสริมเรื่องนี้จริงจังขนาดไหน ซึ่งตรงนี้มองว่าปลายทางของเรื่องพลังงานในประเทศไทยสุดท้ายคงเป็นเรื่องไฟฟ้า โดยมองว่าต่อจากนี้อีกสิบปีไฟฟ้าจะเข้ามา แต่ในระหว่างนี้ก่อนจะถึงช่วงดังกล่าว พืชเศรษฐกิจที่นำมาทำเป็นพลังงานต้องมีการพัฒนาเพื่อสร้างตลาดที่ยั่งยืน และแม้ต่อไปจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พรรคภูมิใจไทยก็คิดว่าต้องใช้พืชพลังงานเพื่อทำการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีตลาดที่ยั่งยืน รวมถึงเพื่อทำให้ได้สิ่งแวดล้อมที่ดีได้ธรรมชาติกลับคืนมา เพราะหากจะไปใช้ลิกไนต์ นิวเคลียร์ ก็ต้องถูกต่อต้าน
ส่วนพลังงานสะอาดอย่างเช่นลมและแสงอาทิตย์ มองดูแล้วก็คิดว่ามีต้นทุนใกล้เคียงกันมาก อย่างเรื่องไฟฟ้าก็จะเกี่ยวข้องกับพืชเศรษฐกิจคือปาล์ม พรรคก็เห็นว่ารัฐก็มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานสร้างกระแสไฟฟ้าอยู่ที่บางปะกง, ราชบุรี และกระบี่ ที่รอแค่อัพเกรด อย่างที่กระบี่สร้างเสร็จแล้ว เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แต่ใช้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือสาเหตุทำให้ประชาชนที่ปลูกปาล์มน้ำมันมีปาล์มล้นตลาดจนราคาตก ซึ่งจริงๆ รัฐมีเครื่องมืออยู่แล้ว หากพรรคภูมิใจไทยได้เข้าไปเป็นรัฐบาลก็จะให้ทำแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ที่กระบี่แต่ทุกที่ซึ่งปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นพลังงานสะอาดและวันนี้ประชาชนที่ปลูกปาล์มกำลังจะเจอกรณีอียูออกกฎว่าปาล์มน้ำมันสร้างปัญหาสุขภาพและส่งออกไม่ได้ แต่หากทำแบบนี้ต่อไปก็ไม่ต้องไปยุ่งกับอียู นี่คือสิ่งที่เรามีแต่เราไม่ได้นำมาใช้ โดยหากทำก็จะสร้างตลาดรองรับ และทำให้ประชาชนภาคใต้ที่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า จน กฟผ.ต้องไปซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศแล้วทำตัวเป็นผู้ขาย ปัญหาก็จะได้จบ และสิ่งที่เขาจะได้ก็คือปาล์มน้ำมันก็จะมีตลาดที่ยั่งยืน ราคาก็จะไม่ตก เพราะหากไปทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่ มีการอัพเกรดที่ราชบุรี และบางปะกง ก็จะมีตลาดรองรับปาล์มน้ำมันได้ทั้งประเทศ ทำให้ราคาอยู่ที่ประมาณห้าบาทต่อกิโลกรัม
เลขาธิการพรรค ภท. กล่าวต่อไปว่า จากโครงสร้างที่มีปัญหาเรื่องการกำหนดราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกร ก็ส่งผลต่อการเรียนหนังสือของลูกหลานเกษตรกร เพราะเมื่อเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการกำหนดราคาสินค้าเกษตร ก็ส่งผลต่อเรื่องปัญหาหนี้สินจนทำให้เกษตรกรจะส่งลูกเรียนหนังสือก็ไม่มีเงิน เขาก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ อันเป็นผลจากปัญหาหนี้สินความยากจน พอลูกหลานเข้ามาเรียนหนังสือ เมื่อเงินไม่พอก็ต้องไปกู้ยืม เช่นกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่เป็นหลักการที่ดี คือมีแหล่งทุนให้ได้ใช้เพื่อการศึกษา แต่ดูแล้วมันไม่ตรงวัตถุประสงค์ เพราะไปใช้หลักคิดเหมือนกับการทำธุรกิจ เช่น การคิดดอกเบี้ย คิดเบี้ยปรับ การต้องมีผู้ค้ำประกัน การให้ระยะเวลาผ่อนชำระที่ไม่ยาวมากนัก ก็สร้างภาระให้ประชาชน
...การเรียนหนังสือคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นการลงทุนเพื่อการศึกษา การไปเอาหลักคิดทางธุรกิจมาใช้เพื่อให้กองทุนมีเงินมากๆ แบบนั้นคือระบบธนาคาร ทั้งที่ กยศ.คือกองทุนเพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นอนาคตของประเทศ คือหากลูกหลานเราจบการศึกษามาแล้ว ประเทศนี้มีงานรองรับเขา แบบนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ที่ผ่านมาก็จะพบว่าของเราไม่ได้มีตำแหน่งงานมากพอ พรรคจึงเห็นว่าต้องแก้ไขปัญหานี้โดยรีบด่วน เพราะคนที่มีปัญหาเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษามีจำนวนมาก หนึ่งล้านคนที่เป็นลูกหลานของพวกเราถูกบังคับคดีไปแล้วเพราะแพ้คดี โดยต้องจ่ายเงินกู้ยืมพร้อมเบี้ยปรับ 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีลูกหลานนักศึกษาอีกสามล้านคนกำลังมีปัญหาแบบรุ่นพี่ รวมถึงพ่อแม่ที่มาค้ำประกัน รวมแล้วเกือบ 8 ล้านคนที่กำลังเจอปัญหา กำลังจะเป็นมนุษย์เอ็นพีแอล
...เมื่อเราปรับหลักคิดว่าทั้งหมดคือการลงทุนเพื่อการศึกษา แล้วปรับวิธีการบริหารกองทุนกู้ยืมใหม่ เช่นใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ เพราะคนที่กู้ยืมไปเขาไม่คิดจะไม่ชำระ แต่ที่มีปัญหาคือดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่มีเรตสูง หากเราไม่คิดดอกเบี้ยการกู้ยืม เบี้ยปรับไม่ต้องมี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะการให้กู้ยืมจะมีการสัมภาษณ์เด็กนักศึกษาที่จะโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญของประเทศอยู่แล้ว รวมถึงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวคือประมาณ 10 ปี สิ่งสำคัญพรรคมองเรื่องระยะเวลาปลอดหนี้ควรจะประมาณ 5 ปี เพราะช่วงห้าปีดังกล่าวคนที่จบออกไปจะต้องใช้เวลาหางาน ใช้เวลาในการไปเพิ่มความรู้ให้ตัวเอง ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
การที่พรรคให้ความสำคัญกับเรื่องการให้คนหาความรู้เพิ่มเติม หากไปเรียนในระบบปัจจุบันก็จะเกิดปัญหาหนี้ตามมาอีก เพราะมีค่าใช้จ่ายในการเรียน ที่พรรคคิดเรื่องการเรียนระบบออนไลน์ หรือ Thailand Sharing University โดยทำแพลตฟอร์มเป็นแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ทุกคนสามารถเข้ามาลงทะเบียนเรียนได้หมดถ้าเป็นคนไทย ซึ่งระบบนี้บางประเทศทำมานานแล้ว โดยในประเทศไทย มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่งก็ทำแล้ว แต่เขาคิดค่าใช้จ่าย แต่ระบบนี้ของเราเห็นว่ารัฐต้องทำให้ประชาชนเข้าถึง เข้าเรียนฟรีกันทุกคน จะได้ลดข้อจำกัดต่างๆ เช่น เรื่องเวลาเรียน เวลาสอบ เพราะเป็นระบบอยากเรียนเวลาไหนก็เรียนได้ เหมือนกับดูยูทูบในมือถือ
เรื่องนี้พรรคคิดไว้หมดแล้ว โดยจะออกเป็นกฎหมายรองรับที่ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือน โดยเมื่อลูกหลานของเราสามารถเรียนออนไลน์ได้ เขาก็ไม่ต้องเข้ามาในเมืองเข้ามา กทม. ก็จะแก้ปัญหาได้หลายเรื่องเช่นความแออัดใน กทม.
เลขาธิการพรรค ภท. กล่าวถึงนโยบายยกระดับ อสม.ว่า เวลานี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราจะมีคนอายุเกิน 60 ปีถึง 20 ล้านคนภายในไม่กี่ปีข้างหน้า พรรคมองว่าถ้าเราไม่หาวิธีการดูแลสังคมผู้สูงอายุจะทำให้ศักยภาพของประเทศลดลง เพราะเมื่อมีผู้สูงอายุลูกหลานก็ต้องมีความกตัญญูผู้มีพระคุณ ต้องใช้เวลาไปดูแลท่าน แต่หากมีคนมาช่วยดูแลก็ทำให้ลูกหลานผู้สูงอายุนำเวลาไปหารายได้ ไปทำงานส่วนอื่นที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ
ปัจจุบันมีพี่น้อง อสม.จำนวนล้านกว่าคนเสียสละทำหน้าที่นี้มา 40 กว่าปี ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยสาธารณสุข หากเราเพิ่มศักยภาพให้ อสม.โดยฝึกอบรม ยกระดับอัพเกรด อสม. จากที่เป็นอาสาสมัครให้ขึ้นเป็นหมอประจำบ้าน โดยให้อยู่ที่หมู่บ้านแล้วทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กๆ แต่ละหมู่บ้าน โดยเพิ่มความรู้ให้เทคโนโลยีกับ อสม.ที่เรียกว่า แพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ที่ก็คือผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน เพราะตอนนี้การสื่อสารของเราเป็นระบบ 4 จี ก็จะแก้ปัญหาผู้ป่วยที่ต้องใช้เวลาเดินทางไปพบแพทย์ได้ไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ที่จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลทั้งที่จังหวัดและอำเภอ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปพบแพทย์ของประชาชน แต่หากเราใช้วิธีนี้ซึ่งก็เหมือนกับการไปหาหมอ โดยให้พี่น้อง อสม.ที่เป็นหมอประจำบ้านซึ่งมีเครื่องมือ เช่นช่วยตรวจการเต้นของหัวใจ ก็ใช้ระบบแพทย์ทางไกลช่วยดูคนไข้ได้ นโยบายนี้ทำได้ด้วยการบริหารจัดการ ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากมาย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายนี้ก็จะเห็นได้ว่า อสม.ต้องทำงานมากขึ้น เราจึงต้องมองเรื่องขวัญกำลังใจ เพราะนอกจากให้ความรู้ อสม.แล้วต้องดูเรื่องค่าตอบแทน พรรคจึงมองว่าต้องทำโครงสร้างค่าตอบแทนให้เป็นระบบและมีความยั่งยืน เพราะเมื่อ อสม.ลักษณะงานใกล้เคียงกับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่มีโครงสร้างค่าตอบแทนที่ชัดเจน เราจึงมองว่าหากนำโครงสร้างของกำนันผู้ใหญ่บ้านมาก็สตาร์ตที่ 2,500 บาทต่อเดือนและมีบันไดขึ้นทุกปี โดยสูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาทต่อเดือนที่ก็ใช้เวลาหลายปี ก็จะตอบโจทย์เรื่องสาธารณสุขให้ประเทศนี้
งบประมาณที่จะใช้ หากเราลดคนที่จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้ งบในส่วนนั้นก็จะประหยัดลงและนำมาใช้ในส่วนนี้ได้ ซึ่งจากการศึกษาของพรรคพบว่าจะใช้งบในส่วนนโยบายด้านสาธารณสุขดังกล่าวประมาณ 27,070 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดหาเทคโนโลยีและค่าตอบแทน โดยงบส่วนนี้จะใช้การบริหารจัดการจากที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งงบผู้สูงอายุรายหัวไว้แล้ว ก็นำงบส่วนนี้มาปรับก็จะเรียบร้อย
“ทุกเรื่องทุกนโยบายของพรรคมีไทม์ไลน์ไว้หมดว่าต้องทำเมื่อใด เสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างการเรียนระบบออนไลน์ใช้เวลา 6 เดือนในการออกกฎหมาย จากนั้นทำแพลตฟอร์มให้เริ่มเรียนได้ ภายใน 21 เดือน ขณะที่เรื่องพืชเศรษฐกิจใช้เวลาออกกฎหมาย 6 เดือน และทำทั้งระบบในเรื่องพืชพลังงานอีก 18 เดือน ทั้งหมดเราทำแผนงานไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าประกาศนโยบายแล้วถึงเวลาไม่ทำ” เลขาธิการพรรค ภท.ระบุตอนท้าย.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ราม ปั้นสนธิ
..............................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |