สิ้น‘ทูตวีรชัย’ฮีโร่‘เขาพระวิหาร’


เพิ่มเพื่อน    

  ประเทศไทยสูญเสียครั้งใหญ่ ท่านทูตวีรชัย พลาศรัย ฮีโร่คดีเขาพระวิหาร ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ด้วยโรคมะเร็งไขกระดูกอย่างสงบ หลังเข้ารับรักษาตัว ที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ เมดิซิน ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศยกย่อง นักการทูตที่เป็นแบบอย่างที่ดี 

    เมื่อเสาร์ที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างสงบ ด้วยโรคมะเร็งไขกระดูก เมื่อเวลา 00.43 น. ณ กรุงวอชิงตัน ตรงกับ 11.43 น. เวลาประเทศไทย
    น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่านายวีรชัยได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 มี.ค. เวลา 00.43 น. ตามเวลาในสหรัฐ ที่โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ เมดิซิน เมืองบัลติมอร์ มลรัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิต ต้องรอผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลต่อไป
    เธอกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายวีรชัยถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของกระทรวง เนื่องจากเป็นนักการทูตที่เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งเรื่องความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงมีผลงานสำคัญที่เป็นที่ยอมรับจากข้าราชการกระทรวง และประชาชนคนไทย จากการทำหน้าที่ตัวแทนไทยในการสู้คดีปราสาทพระวิหาร นายวีรชัยได้อุทิศตนทำงานเพื่อประเทศชาติมาตลอดชีวิตราชการ ส่วนการประกอบพิธีศพนั้น ขณะนี้ไม่ทราบรายละเอียด เพราะถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว
    นายวีรชัย เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2503 เป็นที่รู้จักในฐานะหัวหน้าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร การชี้แจงต่อศาลโลกกรณีคดีปราสาทพระวิหาร สมรสกับนางอลิซาเบธ พลาศรัย
    ประวัติการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รุ่น 12) เคยเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนที่จะไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท มหาวิทยาลัยปารีส (นองแตร์) ระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส ระดับประกาศนียบัตร หลักสูตรป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน 
    ทำงานเลขานุการตรี กองแอฟริกา และกลุ่มอาหรับ 1 เมษายน พ.ศ.2547 รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 15 กันยายน พ.ศ.2550 อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 28 พฤษภาคม พ.ศ.2551 เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (เจ้าหน้าที่การทูต 10) สำนักงานปลัดกระทรวง 19 สิงหาคม พ.ศ.2551 
    อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (นักบริหาร 10) 19 สิงหาคม พ.ศ.2551 กรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 6 พฤษภาคม พ.ศ.2552 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (กรุงเฮก) 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
    เมื่อปี 2551 ชื่อของนายวีรชัยเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะอธิบดีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ โดยวันที่ 10 เม.ย.2551 นายวีรชัยได้เชิญนายโลรองต์ บิลี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบเพื่อแจ้งท่าทีของไทยเกี่ยวกับแผนที่โบราณคดีจังหวัดอุดรเมียนเจย และแผนที่โบราณคดีจังหวัดพระวิหาร โดยอาศัยข้อมูลจากกรมภูมิศาสตร์กัมพูชา ซึ่งไทยเห็นว่าแผนที่ทั้งสองฉบับแสดงข้อมูลเกี่ยวกับเส้นเขตแดนคลาดเคลื่อน
    ครั้งนั้นนายวีรชัยได้ขอให้กัมพูชาถอนกำลังทหาร และตำรวจของกัมพูชาออกไปจากดินแดนปราสาทพระวิหาร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชา อ้างสิทธิทับซ้อนกันอยู่
    แต่ต่อมา วันที่ 6 พ.ค.2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีมติโยกนายวีรชัย จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง การโยกย้ายครั้งนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูในหมู่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ  เพราะนายวีรชัยเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเชี่ยวชาญงานกฎหมายระหว่างประเทศมากที่สุดคนหนึ่ง  
    มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของคำสั่งโยกย้ายคือ ฝ่ายการเมืองมีการประสานด้วยวาจา เพื่อขอเอกสารคดีทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ช่วยแปลให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งนายวีรชัยไม่ส่งมอบให้ เพราะเห็นว่าต้องมีเอกสารแจ้งขอเป็นลายลักษณ์อักษร จึงสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายการเมือง นำไปสู่การโยกย้ายดังกล่าว
    แต่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวอ้างในภายหลังว่า เป็นการย้ายเพื่อความเหมาะสม  
    ขณะที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกด้วยลายมือ ลงวันที่ 7 พ.ค.2551 มีข้อความระบุตอนหนึ่งว่า
    "...มีความภูมิใจที่ราชอาณาจักรไทยมีนักการทูตที่เก่งกาจ ท่านอธิบดีวีรชัย ซึ่งทำหน้าที่อย่างดีเลิศในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยและผลประโยชน์ของชาติ...ขอให้ข้าราชการทุกท่านของกรมสนธิสัญญาฯยึดถือท่านอธิบดีวีรชัยเป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติอย่างสุดความสามารถ และรักษาเกียรติยศของชาติ ของกระทรวงการต่างประเทศ และของตน อย่างสมศักดิ์ศรีของข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
    ต่อมาวันที่ 5 ส.ค.2551 ช่วงปลายรัฐบาลสมัคร  มีการย้ายนายวีรชัย จากเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กลับมาเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เช่นเดิม ครั้งนั้น นายเตช บุนนาค รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า “ได้ให้กลับไปอยู่สถานะเดิมก่อนการโยกย้าย เพราะจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น”
    และนับเป็นการมองการณ์ไกล เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2552  ครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติย้ายนายวีรชัย จากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ไปเป็น เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์ โดยหลายฝ่ายมองว่านายวีรชัยเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รัฐบาลจึงให้ไปเตรียมการในการต่อสู้ข้อพิพาทเขาพระวิหาร เนื่องจากประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นที่ตั้งของศาลโลก
    ภายหลังการต่อสู้คดีเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก ได้เกิดความนิยมในตัวคณะทนายไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหัวหน้าทีมอย่างนายวีรชัย
    นพ.ประเวศ วะสี ได้ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ว่า วีรชัยฟีเวอร์ที่นิยม คือนิยมความรู้ความสามารถของท่านทูตวีรชัย ซึ่งต้องอาศัยความบากบั่นพากเพียร เพื่อความรู้ลึก ซึ่งถ้าไม่รู้จริงก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในกรณีนี้คือต้องแพ้คดีเขาพระวิหาร คนไทยจึงควรจะสนใจใฝ่หาความรู้ สำหรับวีรชัยฟีเวอร์นั้น เป็นเรื่องที่ดี คือนิยมชมชอบในคนที่มีความรู้ความสามารถ ถ้าท่านทูตวีรชัยไม่ใช่คนใฝ่เรียนรู้ ไทยก็มีแต่จะแพ้. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"