ป.ป.ช.ฟัน 3 พี่น้องตระกูลชิน "แม้ว-ปู-แดง" สังเวยจีทูเจี๊ยะข้าวล็อตสอง "จตุพร" ยัน "ทักษิณ" ควรได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม แต่ 12 ปีมาแล้วพานายใหญ่กลับบ้านไม่สำเร็จเสียที แต่คนที่น่าจะกลับบ้านก่อนคือ "ลุงตู่"
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสอง ได้แจ้งคำสั่งไต่สวนของอนุกรรมการฯ ส่งเป็นหนังสือไปยังผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวรวม 71 ราย โดยมีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) รวมอยู่ด้วย เพื่อแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบว่ากำลังจะถูกสอบสวนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นกระบวนการไต่สวนผู้ถูกพาดพิง หรือพยานเพิ่มเติม
สำหรับการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งไต่สวนครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการการขยายผลสอบสวนการระบายข้าวแบบจีทูจี ล็อตแรก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาต้องโทษจำคุกนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 42 ปี ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ขยายผลในการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง กระทั่งโยงไปถึง 3 พี่น้องกระกูลชินวัตร ซึ่งเป็น 1 ใน 71 ผู้ถูกกล่าวหาด้วย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินสายหาเสียงที่จังหวัดกาญจนบุรี ถึงเรื่องที่พรรคเพื่อชาติแถลงต้องการนำนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับบ้านว่า ตนได้เคยอธิบายความถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น เช่น คณะกรรมการที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งตั้งเพื่อที่จะดำเนินการเล่นงานบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือดำเนินการกับนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แค่กระบวนการตั้งต้นก็ไม่มีความยุติธรรมแล้ว ไม่ต้องไปคิดถึงปลายทาง
เขากล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน อาทิ การเลือกปฏิบัติของบรรดาองค์กรอิสระต่าง ๆ อดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ควรได้รับการปฏิบัติ พิจารณาตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม มีมาตรฐานเดียวกับบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม 12 ปีมานี้ มีความพยายามในการพาอดีตนายกฯ ทักษิณกลับมาเสมอ แต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที
"ผมเชื่อว่าคนที่จะได้กลับบ้านก่อนอดีตนายกฯ ทักษิณคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ถ้าพี่น้องเลือกพรรคการเมืองซีกฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งในระบบบัตรใบเดียว เป็นเรื่องที่ยากที่พี่น้องประชาชนจะทำใจ"
นายจตุพรกล่าวว่า ถ้าพี่น้องประชาชนไม่เข้าใจว่าในระบบบัตรใบเดียวการเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งจำนวนมากคะแนนจะติดเพดาน พรรคที่ใหญ่ที่สุด คะแนนเต็มที่ได้ 175 เสียง ยังขาดอีก 201 เสียง จึงจะเกิน 376 เสียง เพราะฉะนั้นการเลือกพรรคเพื่อชาติจึงเป็นคะแนนที่ไม่สูญเปล่า จะเป็นการเพิ่มเสียงให้กับฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ส่วนนายยงยุทธ ติยะไพรัช กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ปราศรัยที่จังหวัดเชียงรายว่า นโยบายพาอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณกลับบ้านเพื่อต่อสู้คดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่ระบบ 2 มาตรฐาน ซึ่งพรรคมีนโยบายจะปฏิรูปส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักสากล นานาชาติยอมรับ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศในทุกๆ ด้าน
เขากล่าวถึงกรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ระบุว่าจะมีการปราศรัยปลุกมวลชนให้เห็นความเลวร้ายของระบอบทักษิณ และต่อต้านการกลับมาของระบอบทักษิณนั้น ในฐานะที่ตนมีความสนิทสนมกับนายสุเทพตั้งแต่สมัยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ อยากเรียกร้องให้นายสุเทพหยุดหาเสียงบนซากปรักหักพังของประเทศ เพราะกระแสนี้จุดไม่ติดแล้ว 5 ปีที่ผ่านมาประชาชนได้รู้ความจริงแล้ว เลิกนำประเด็นนี้มาสร้างความเกลียดชัง หันมาใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางออก ซึ่งเป็นแนวทางของอารยชน ที่ใช้ยุติปัญหาความขัดแย้งมาแล้วทั่วโลก
นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวกรณีผลโพลของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 และพรรคพลังประชารัฐจะได้ที่นั่ง ส.ส.ประมาณ 100 ที่นั่งขึ้นไปนั้น นายอุตตมกล่าวว่า เป็นที่น่ายินดี เป็นกำลังใจให้พวกเราทุกคน แต่เราฟังโพลเป็นข้อมูลประกอบ สุดท้ายพวกเรายึดมั่นตัวพวกเราเอง ต้องทำงานเต็มที่ ทำยังไงให้พี่น้องคนไทยให้ความไว้วางใจเรา เพื่อเราจะได้เข้าไปทำงาน และมั่นใจว่าเราจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างแน่นอน
จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้วันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป กรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “โค้งสุดท้าย ส.ส.แบบไหนคนไทยจะเลือก” โดยเก็บข้อมูลประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,794 คน พบว่า
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 96.9 ระบุว่าตั้งใจว่าจะไปเลือกตั้ง มีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้นที่ระบุว่าตั้งใจว่าจะไม่ไป ที่เหลือร้อยละ 1.5 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ
สำหรับปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง/ส.ส. เข้ามาบริหารประเทศนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.9 ระบุว่าตัดสินจากนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง รองลงมาร้อยละ 39.7 ระบุว่าดูจากความรู้ความสามารถ วิสัยทัศน์ก้าวไกล, ร้อยละ 39.3 ระบุว่าดูจากผลงานในอดีต, ร้อยละ 38.7 ระบุว่าต้องไม่มีประวัติด่างพร้อยด้านการทุจริต และร้อยละ 35.9 ระบุว่าเป็นคนทำงานช่วยเหลือชุมชนแก้ปัญหาชุมชน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |