นับจากการทำประชามติเบร็กซิต (Brexit) เมื่อมิถุนายน 2016 สังคมสหราชอาณาจักรยังถกเถียงว่าประเทศควรถอนตัวออกจากอียูหรือไม่ ทั้งๆ ได้ประชามติให้ถอนตัวแล้ว อีกประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือจะถอนตัวแบบไหน แบบมีข้อตกลงหรือไร้ข้อตกลง (no deal) ตามกำหนดการต้องได้คำตอบภายใน 29 มีนาคมนี้
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรประชุม 3 วัน 3 รอบเพื่อลงมติ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือการยอมรับร่างข้อตกลงแยกตัว (Withdrawal Agreement) ฉบับที่อียูเห็นชอบแล้ว เรื่องที่ 2 ขอมติการถอนตัวออกโดยปราศจากข้อตกลง และเรื่องสุดท้ายคือควรขยายเวลาการถอนตัวออกไปหรือไม่
ไม่กี่วันก่อนลงมตินายกฯ เทเรซา เมย์ (Theresa May) หารือกับอียูเพื่อได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด และชี้แจงว่าเป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดในขณะนี้ แต่ก่อนเริ่มลงมติมีกระแสข่าวว่าสภาผู้แทนฯ จะล้มร่างข้อตกลง ผลออกมาตามคาด สภาฯ คัดค้านร่างข้อตกลงเบร็กซิตของรัฐบาลเมย์อีกรอบ ด้วยคะแนนคัดค้าน 391 ต่อ 242
ขั้นต่อมาคือลงมติว่าจะต้องออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงหรือไม่ ผลออกมาคือไม่เห็นด้วยแบบเฉียดฉิว ด้วยคะแนน 312 ต่อ 308 ค่าเงินปอนด์รับข่าวดีดังกล่าวแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน นักธุรกิจหลายคนยินดีกับข่าวนี้ ตรงตามที่นายกฯ เมย์ย้ำว่าอยากให้ประเทศออกจากอียูอย่างเป็นระบบระเบียบตามข้อตกลง
นำสู่การลงมติเรื่องที่ 3 คือ ควรยืดการเจรจาเบร็กซิตออกไปหรือไม่ (article 50 extension) ผลปรากฏว่าได้รับเสียงรับรองท่วมท้น ด้วยคะแนน 413 ต่อ 202
เป็นอันจบรอบลงมติเบร็กซิตในสภารอบ 2 ลงเอยว่าไม่รับร่างข้อตกลงการถอนตัวของรัฐบาลเมย์ พร้อมกับเสนอให้ยืดขยายเวลาออกไป
ควรยืดการเจรจาออกไปอีกระยะ :
ก่อนการลงมติรอบนี้ บางคนเห็นว่าควรลงมติยืดการเจรจาเบร็กซิตออกยาวๆ ถึง 1 ปี เพื่อสังคมจะมีเวลาหารือมากขึ้น บางคนเสนอให้ทำประชามติใหม่อีกรอบ
ก่อนการประชุมสภาเพื่อตัดสินใจเบร็กซิต Antonio Tajani ประธานสภาสหภาพยุโรปแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยหากสหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลง เพราะจะเกิดความโกลาหลวุ่นวาย น่าจะเลื่อนกำหนดเส้นตายวันถอนตัวจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม
ไม่กี่วันต่อมา นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ผู้นำอียูน่าจะเห็นด้วยหากสหราชอาณาจักรจะขอยืดเบร็กซิตออกไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน มีกระแสข่าวว่าฝ่ายบริษัทเอกชนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และควรยืดเวลามากพอ
จะเห็นว่าท่าทีของนายกฯ แมร์เคิลสอดคล้องกับท่าทีของ Antonio Tajani ดังนั้นโอกาสที่อียูจะยอมขยายเวลาน่าจะมีไม่น้อย เหลือแต่ประเด็นว่าจะยืดกี่เดือนกี่ปีเท่านั้น
ไอร์แลนด์เหนือ คำถามที่รอคำตอบ :
แม้จะผ่านการเจรจาเป็นปี มีประเด็นหนึ่งที่ยังตกลงกันไม่ได้ คือข้อตกลงพรมแดนระหว่าง “ไอร์แลนด์เหนือ” (ส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) กับ “ประเทศไอร์แลนด์” (ที่เป็นสมาชิกอียู)
ปัจจุบันคน 2 ประเทศเดินทางข้ามไปข้ามมาเป็นประจำเพื่อการทำงาน ขนส่งสินค้า ทุกอย่างกระทำโดยเสรีเนื่องจากเป็นตลาดเดียวภายใต้อียู รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในหมู่ประเทศอียูด้วย
จุดยืนของชาวไอร์แลนด์เหนือคือต้องการให้เป็นเช่นนี้ต่อไป
เช่นเดียวกับฝ่ายอียูที่ต้องการให้เปิดพรมแดน ให้ไอร์แลนด์เหนือยึดกฎระเบียบอียูต่อ แม้สหราชอาณาจักรจะถอนตัวออกจากอียู ส่วนนี้เรียกว่า "backstop plan" ของอียู
อียูให้เหตุผลว่าเป็นระบบที่ช่วยสลายความขัดแย้งในไอร์แลนด์ที่ได้ผลมาหลายทศวรรษแล้ว หากข้อตกลงสุดท้ายคือกำหนดพรมแดนแบบเข้มงวด (hard border) มีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากร อาจผลักดันให้ไอร์แลนด์เหนือประกาศเอกราช
นักการเมือง พลเมืองไอร์แลนด์เหนือปฏิเสธการกำหนดพรมแดนแบบเข้มงวด เพราะกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
ด้านนายกฯ เมย์เห็นว่าแผนดังกล่าวจะเป็นการแบ่งแยกประเทศสหราชอาณาจักรออกจากกัน
บรรดาผู้สนับสนุนการแยกตัวไม่เห็นด้วยกับ "backstop plan" เช่นกัน ชี้ว่าเท่ากับยังอยู่ในระบบศุลกากรอียูต่อไป ซึ่งเท่ากับสหราชอาณาจักรยังอยู่ในตลาดเดียวกับอียูต่อไปนั่นเอง
รัฐบาลเมย์พยายามเสนอทางเลือกอื่นๆ แทน "backstop plan" แต่จนบัดนี้ยังตกลงกันไม่ได้
เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่การยืดขยายเวลามีความจำเป็น
อนาคตที่ไม่แน่นอน :
สิ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรต้องการคือเวลาเพื่อต่อเวลาเจรจากับอียูให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด อย่างน้อยสามารถตอบพลเมือง สามารถตอบประชาชนผู้สนับสนุน (ทั้ง 2 ฝ่าย) ว่าทำไมจึงพาประเทศออกจากอียูด้วยข้อตกลงเหล่านั้น เป็นโอกาสให้ฝ่ายธุรกิจ ประชาชนต่างๆ ได้เตรียมพร้อมเพิ่มอีกหน่อย แม้ก่อนเบร็กซิตหลายฝ่ายได้นำเสนอคาดการณ์ว่าหลังพ้นสมาชิกภาพอียูจะเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าอาจเป็นความ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งใหญ่ของประเทศอย่างไม่มีใครคิดถึงเลย เป็นการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แบบถึงรากถึงโคน ดังนั้น ทุกคนควรเร่งเรียนรู้การปฏิบัติตัวหลังพ้นสมาชิกภาพ ไม่ว่าท้ายที่สุดจะออกจากอียูโดยมีข้อตกลงหรือไร้ข้อตกลง
ดังที่นายกฯ เมย์เตือนว่าลำพัง “การลงมติต้านการออกโดยไร้ข้อตกลงและลงมติให้ยืดขยายเวลาออกไป ไม่ช่วยแก้ปัญหา” การยืดเวลาออกไปอีกระยะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เป็นการยืดการตัดสินใจออกไปเท่านั้น ท้ายที่สุดก็ยังต้องกลับมาพูดเรื่องเดิม
ที่ควรตระหนักคือ การยืดเวลาออกไปมีที่สิ้นสุดแน่นอน บัดนี้ใกล้ 3 ปีแล้ว นับจากวันที่ลงประชามติเบร็กซิต
ทุกประเทศล้วนมีอธิปไตยของตัวเอง :
ในมุมมองที่กว้างขึ้น สหราชอาณาจักรลงมติแยกตัวออกจากอียูด้วยหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือเพื่อรักษาอธิปไตยของตัวเอง ไม่ต้องเดินตามนโยบายอียูที่หลายคนไม่ชอบ เช่น นโยบายเปิดรับผู้อพยพลี้ภัยต่างชาติ
อันที่จริงแล้ว การเข้าร่วมสมาชิกกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะองค์การค้าโลก สหประชาชาติ หรือองค์กรพหุภาคีอื่นๆ มักจะต้องสูญเสียอธิปไตยบางส่วน ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ไม่เห็นด้วยบางข้อ กระทั่งต้องยอมเสียผลประโยชน์บางส่วนเพื่อได้ประโยชน์อื่นที่ต้องการ
เมื่อสหราชอาณาจักรรู้จักรักษาผลประโยชน์ตัวเอง ทำไมอียูและสมาชิกอียูจะไม่เป็นเช่นนั้นบ้าง
ฝ่ายสหราชอาณาจักรจะพยายามเจรจาให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด แต่โอกาสที่จะได้น้อย เนื่องจากเป็นการเจรจากับ “กลุ่ม” สมาชิกในกลุ่มมีความต้องการหลากหลาย มีจุดยืนของตัวเอง ดังนั้นยากที่สหราชอาณาจักรจะได้ “สิ่งที่ต้องการ” ที่น่าจะได้คือสิ่งที่อียูพร้อมจะให้ในฐานะองค์กร ดังนั้น เทคนิคยืดเวลาเจรจาไม่น่าจะได้ผลเท่าไหร่
ทำนองเดียวกับที่คนในสหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์แตกต่างหลากหลายเช่นกัน กรณีไอร์แลนด์เหนือคือตัวอย่างที่เห็นชัด.
----------------------------
ภาพ : เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
----------------------------
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |