การประกาศจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมตรี ไม่ต่างกับการโยนระเบิดลูกใหญ่เข้าใส่สนามการเมืองที่ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ
ทันทีที่การลั่นวาจาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กส่วนตัวและสื่อนำมาขยายผลต่อ ปฏิกิริยาจากพรรคฝ่ายตรงข้ามก็ดังขึ้นทั่วทุกสารทิศอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นระลอก
มิใช่เรื่องแปลก เพราะการเมืองที่อยู่กันคนละฝักฝ่าย ย่อมมีข้อโต้แย้งจากอีกฝ่ายอยู่เสมอ แต่ที่เป็นประเด็นก็ตรงที่ฝ่ายเดียวกันดาหน้าออกมาตอบโต้นายอภิสิทธิ์และพรรค ปชป.แบบไม่ยั้งมือ
การถูกสวนหมัดกลับมาแบบไม่เกรงใจที่รุนแรงและเจ็บแสบที่สุดคือ การทวงบุญคุณของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แถมยังแฉโพยเบื้องหลังการดึง ส.ส.จากพรรคฝ่ายตรงข้ามมาหนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ต่างไปจาก “กินบนเรือน ขี้รดบนหลังคา”
การทิ้งไพ่ “ไม่เกรงใจสุเทพ-ประยุทธ์” ของนายอภิสิทธิ์ ก็ไม่มีอะไรพิสดาร นอกจากนายอภิสิทธิ์คาดการณ์ว่า ปชป.จะได้จำนวน ส.ส. มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนั่นหมายถึงว่า พปชร.ต้องดึงพรรค ปชป.ไปร่วม โดยสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
มิใช่ดึงพรรค ปชป.ไปเป็นตัวสำรองหรือไม้ประดับ เหมือน “ไก่รองบ่อน” เพียงแค่เติม ส.ส.ให้ได้เกินครึ่ง แล้วไปหนุนลูกพี่ คือ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
นี่คือกลเกมการเมืองประเภท “รอบจัด” ของ ปชป.ยุคเดอะมาร์ค ที่เชื่อว่าตนเองเหนือกว่า พปชร.และ พล.อ.ประยุทธ์
แต่ถ้า ปชป.ได้ ส.ส.น้อยกว่า พปชร.ก็เป็นอีกเรื่อง ปชป.จะเสียงไม่ดัง อำนาจต่อรองในการแบ่งกระทรวงและเก้าอี้รัฐมนตรีก็จะน้อย
สุดท้าย การฟอร์มรัฐบาลผสม หนีไม่พ้น 2 สูตรหลัก
สูตรที่ 1 ปชป.-พปชร.-พรรครวมพลังประชาชาติ
สูตรที่ 2 เพื่อไทย-พรรคอนาคตใหม่-พรรคเสรีรวมไทย-พรรคเพื่อชาติ-พรรคประชาชาติ
โดยมีพรรคขนาดตัวแปรและพรรคปลาไหลขนาดย่อมๆ เข้าสมทบได้ทั้งสูตรที่ 1 และสูตรที่ 2 ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ เพื่อเติมเต็มให้รัฐบาลมีเสียง ส.ส.เกินครึ่ง หากได้ถึง 270-290 เสียง ก็จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
เหตุปัจจัยเช่นนี้ เพราะวิธีการเลือกจัดสรรปันส่วนผสม ด้วยการกาบัตรได้เบอร์เดียว ผู้ออกแบบไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทย รองลงมาก็คือ ปชป.กวาดเก้าอี้ ส.ส.มากเกินไป นั่นประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งคือ การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ให้ผู้สมัครได้เบอร์กันคนละเบอร์ ไม่ผูกติดกับพรรค ซึ่งเดิมให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศทั้งผู้สมัครเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อ การออกแบบดังกล่าวนี้ทำให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสได้ ส.ส.เข้าสภากับเขาบ้าง
พรรคขั้วที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย หากได้ ส.ส.มาแบบถล่มทลาย เกินครึ่งหนึ่ง (เกิน 250 เสียง) ก็อาจทำให้เกมอำนาจพลิก แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะประชาชนว่างเว้นการเลือกตั้งมา 7-8 ปี
หากเกิดอารมณ์เบื่อ คสช.ถึงขีดสุด ผิดหวังกับการแก้ไขปัญหาปากท้อง และการเหินห่างกับชาวบ้าน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นนักการเมือง รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลก็ไม่ใช่นักบริหาร
บางทีอาจมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ ปรากฏการณ์ฉีกหน้า หักปากกานักวิเคราะห์ หมอดูและโพลทุกสำนักก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ “นั่นเท่ากับปิดทางบิ๊กตู่ไม่ให้กลับมาเป็นนายกฯ”
ค่ำวันที่ 24 มีนาคม หลังรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ คำตอบของโจทย์การเมืองเรื่องใครจะได้เป็นนายกฯ ใช่คนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์หรือเปล่า พรรคใดจะเป็นรัฐบาลและพรรคใดจะเป็นฝ่ายค้าน จะค่อยๆ มีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ
ผู้บริหารพรรคการเมืองต่างๆ จะต้องนัดพูดคุยเจรจาต่อรองกันหลายรอบ เสนอเงื่อนไขกันไปมากว่าทุกอย่างจะลงตัว ยอมรับกันทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม แต้มต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ที่บรรดาพรรคการเมืองมิอาจปฏิเสธหรือมองข้ามไปได้ก็คือ การมีส.ว. 250 คน อยู่ในกระเป๋า เนื่องจากเป็นคนคัดสรร เลือกเองด้วยมือ
โดยเฉพาะ 6 คน ได้แก่ ผบ.ทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร., ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.สูงสุด และ ผบ.ตร. คือฝ่ายความมั่นคงที่มีสถานะเป็นข้าราชการประจำให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย
แม้จะมีสถานะคบซ้อน สวมหมวกพร้อมกันทีเดียว 2 ใบ คือการเป็นข้าราชการประจำกับการเป็นนักการมือง จะแสดงบทบาทให้พลิกพลิ้วอย่างไรถึงจะสมศักดิ์ศรี สง่างาม แต่นี่คือสิ่งที่คนเขียนรัฐธรรมนูญบรรจงร่างไว้เพื่อปูทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สืบทอดอำนาจในการเป็นนายกฯต่อ
หากเกิดเหตุการณ์พลิกผัน นายกฯ ไม่ใช่ “บิ๊กตู่” แต่เป็นนักการเมืองคนอื่นซึ่งมีสถานภาพเป็น ส.ส. ไม่ว่าจะนายอภิสิทธิ์ หรือใครๆ ก็ตาม สมมติว่า ส.ว.ไม่เล่นด้วย สภาล่างซึ่งสนับสนุนรัฐบาล ส่งร่างพระราชบัญญัติขึ้นมา วุฒิสภาแกล้งถ่วงเวลาให้นานที่สุด หรือไม่ก็แก้ไขรายละเอียดจนจำไม่ได้ กระบวนการนิติบัญญัติก็เกิดสภาพเป็ดง่อยขึ้นได้
บางทีใช้เวลานานถึง 2 ปี รัฐสภาก็ยังไม่สามารถผ่านพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้ แล้วรัฐบาลชุดนั้นจะบริหารประเทศไปได้อย่างไร
ยิ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลและรัฐสภา (วุฒิสภากับสภาผู้แทนฯ) ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
ถ้าบิ๊กตู่ไม่ได้เป็นนายกฯ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่นายกฯ ซึ่งเป็นนักการเมืองจะสนใจและใส่ใจเรื่องการปฏิรูปประเทศ ตรงกันข้าม กลับจะทบทวน รื้อและแก้ไขใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายพรรคประกาศท่าทีมาอย่างต่อเนื่องว่าจะเข้ามาแก้ไขล้มล้าง
ก่อนหน้านี้ การสำรวจความเห็นของโพลหลายสำนักออกมาตรงกันว่า คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครและพรรคไหน
ขณะนี้การเลือกตั้งมาถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้ว นับจากนี้เหลืออีกไม่ถึงสัปดาห์ คนที่ยังไม่ตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจและจดจำเบอร์ผู้สมัครที่ตนเองอยากจะเลือกให้ได้เพื่อการกากบาทหมายเลขผู้สมัคร จะได้ไม่ผิดพลาด เป็นบัตรเสีย
แม้ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นทั้งนายกฯ และหัวหน้า คสช. จะมีความได้เปรียบบางอย่าง มีต้นทุนที่เหนือคู่แข่ง แต่จุดอ่อนที่เป็นความเปราะบางในการเอาชนะการเลือกตั้ง และการประคองอำนาจให้ดำเนินไปได้หลังจัดตั้งรัฐบาลก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
โค้งสุดท้ายจึงห้ามกะพริบตาเด็ดขาด....
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |