หมัดเด็ด พลังประชารัฐ เพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชน ทำได้จริงหรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

      พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงเปิดนโยบายโค้งสุดท้าย ประเทศไทยต้องรวย ด้วยพลังประชารัฐ ไปแล้วเมื่อ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ภายใต้คอนเซปต์ "คนไทยต้องรวยด้วยความสงบ รวยด้วยความสุข และรวยด้วยความหวัง" ผ่านแนวนโยบายเช่นเรื่องของราคาพืชผลการเกษตร ที่ พปชร.ชูนโยบายว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรต้องได้รับการดูแลบางช่วงเวลา เช่น ข้าวเจ้า 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน, ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน, ยางพารา 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม หรือนโยบายจะผลักดันค่าแรงงานขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน, อาชีวศึกษา 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรี  20,000 ต่อเดือน

      สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ นโยบายข้างต้นดังกล่าวทำได้จริงหรือไม่ และหากทำแล้วจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่น ผู้ประกอบการ, เจ้าของกิจการ หากต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราดังกล่าวจะมีผลต่อการดำเนินกิจการหรือไม่ รวมถึงการดำเนินนโยบายต่างๆ หาก พปชร.เป็นรัฐบาลจะนำงบประมาณจากส่วนไหนมาสนับสนุน หลังแกนนำพรรค พปชร.ย้ำว่าทำได้จริง ทำทันที ผ่านการ เพิ่มรายได้ประเทศ  เพิ่มรายได้ประชาชน

      เรื่องนี้ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร.และอดีต รมว.อุตสาหกรรม ให้ข้อมูลไว้โดยละเอียด โดยเกริ่นนำว่าจากข้อเท็จจริงคือประเทศไทยเราเป็นประเทศพื้นฐานเกษตรกรรม พี่น้อง   เกษตรกรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ แนวทางของพรรคพลังประชารัฐที่เราทำได้จริงก็คือ การพัฒนาภาคเกษตรสู่เกษตรยั่งยืน แต่ว่าภาคเกษตรจะถูกกระทบด้วยหลายปัจจัย เช่นความเสี่ยงเรื่องดินฟ้าอากาศ, ราคาพืชผล จึงจำเป็นต้องมีการดูแลในบางช่วงเวลาอย่างเหมาะสม พรรค พปชร.เชื่อมั่นว่าจะทำให้พี่น้องเกษตรกรรวยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ใช่ฉาบฉวย อย่างข้าวเจ้าที่หากดูแลกันอย่างครบกระบวนการก็ 12,000 บาทขึ้นไปต่อตัน, ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทขึ้นไปต่อตัน, อ้อย 1,000 บาทขึ้นไปต่อตัน

...สำหรับยางพารา เราเชื่อว่าหากมีการบริหารจัดการ มีการเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปในช่วงของการผลิต การเพิ่มมูลค่า หาหนทางใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มากขึ้น 65 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัมต้องทำได้  ขณะที่มันสำปะหลัง 3 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม และปาล์มต้องทำให้ได้ราคาเป้าหมายที่ 5 บาทขึ้นไปต่อกิโลกรัม

ทั้งหมดอยู่ภายใต้หลักการเดียวกันว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ โดดเข้าไปช่วย เราดูแลตลอดทางและดูแลเมื่อมีความจำเป็น มีความจำเป็น มันถึงจะเกิดความหวัง อย่าลืมว่าพี่น้องเกษตรกรประสบปัญหามาเยอะ ถ้าเราไม่ยื่นมือไปช่วยฉุดเขาลุกขึ้นมาก่อน แล้วจะไปบอกว่าให้เขาก้าวไปข้างหน้า มันไม่ได้ เพราะฉะนั้นมาตรการของเรา เป้าหมายของเรา มีเพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรให้เดินหน้าไปให้รวยสักที โดยรวยอย่างมั่นคงยั่งยืน

ทำไมต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ-เงินเดือนปริญญาตรี ?

      หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวอีกว่านอกจากพี่น้องเกษตรกรแล้ว พวกเราผู้ใช้แรงงานอีก  14.6 ล้านคนก็ต้องการการดูแลเช่นกัน พรรคไม่ทอดทิ้ง เราให้ความสำคัญกับพี่น้องคนไทยที่อยู่ในภาคของผู้ใช้แรงงาน

      นายอุตตม ให้ข้อมูลว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาทราบกันหรือไม่ว่า ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต่อวันมีการขึ้นไปเท่าใด คำตอบคือ 25 บาท ในช่วง 7 ปีไม่เยอะเลย ค่อนข้างน้อยเมื่อเราเปรียบเทียบว่าค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพมีการขึ้นไปเท่าใดในช่วง 7 ปี พรรคคิดง่ายๆ ว่าถ้าสมมุติคิดแบบแฟร์ๆ ขึ้นปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา วันนี้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำต้องอยู่ที่ 425 บาทต่อวัน เอาตัวเลขมายันกัน

...วันนี้ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาทต่อวัน เราคิดว่าสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง สำหรับอาชีวศึกษาพรรคพลังประชารัฐเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศไทย การให้  18,000 บาทต่อเดือนไม่สูงเกินไป เผลอๆ จะต่ำเกินไปหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ 18,000 บาทสำหรับการสร้างอาชีวะที่มีคุณภาพ สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องการ ส่วนปริญญาตรี 20,000 ต่อเดือน เราเน้นที่คุณภาพ แต่จะมีคุณภาพก็ต้องให้คนมีความหวัง ให้เขาอยู่ได้ให้เขามีแรงจูงใจที่จะทำงานหนัก เพราะฉะนั้นในส่วนของผู้ใช้แรงงานพรรคพลังประชารัฐต้องดูแล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ใช้แรงงาน 14.6 ล้านคนและภาคเกษตร

        "เราเข้าใจว่าฝ่ายนายจ้างก็คงเป็นห่วงกังวลว่า นโยบายดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าพรรคพลังประชารัฐจะดูแลอย่างรอบคอบ เรามีมาตรการที่จะดูแลฝ่ายนายจ้างเหมือนกัน จะช่วยในด้านค่าใช้จ่าย มีแน่นอนไม่ต้องห่วง" หัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวย้ำ และกล่าวต่อไปว่าพรรคทำและคิดนโยบายนี้ในภาพใหญ่ว่า วันนี้เศรษฐกิจจะขยับไปได้หลายอย่าง เราต้องกล้าทำและต้องทำได้ทำจริง ไม่มีปัญหาอะไรที่ติดตามมา อันนี้ยืนยันได้ว่าเราทำได้แน่ตามนี้

      อุตตม-หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับ มนุษย์เงินเดือน ด้วยว่า มนุษย์เงินเดือนก็ต้องการความมั่นคง ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาของสังคมไทย ถ้าเราจะรวยด้วยความหวัง ต้องกำจัดความเหลื่อมล้ำ มนุษย์เงินเดือนก็ต้องดูแล พรรคกำลังพูดถึงระบบภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำตรงนี้ดูง่ายๆ ภาษีนิติบุคคลของบริษัทได้รับการปรับลดอัตราลงมา อัตราสูงสุดวันนี้เหลือร้อยละ 20 ต่อปี จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 มนุษย์เงินเดือนร้อยละ 37 วันนี้เหลือร้อยละ 35 ต่อปี สิ่งที่เรานำเสนอคือเราจะลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ในทุกขั้นบันได

...หมายความว่าคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษี เพื่อจะได้นำเงินนั้นไปพัฒนาตัวเอง ไปพัฒนาครอบครัว คนที่จะเสียภาษีต้องมีรายได้สองแสนบาทต่อปีขึ้นไปเท่านั้น และจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน เพราะเราเสนอลดลงร้อยละ 10 ในทุกขั้น เราลดภาษีร้อยละ 10  อย่าไปคิดว่ามากมายเกินเหตุ ทราบหรือไม่ว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน โครงสร้างภาษีของประเทศไทยสูงสุดอันดับหนึ่ง มันจำเป็นไหมต้องเป็นแบบนั้น เพราะถ้าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยให้คนไทย สิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่าจำเป็นและเราจะทำให้ได้แน่ ขณะที่สำหรับนักศึกษาจบใหม่กำลังตั้งตัว มีภาระพอสมควร หลายคนต้องดูแลครอบครัว ดูแลพ่อแม่ เราเสนอยกเว้นภาษีเด็กจบใหม่ 5 ปี ให้เขาตั้งตัวได้ ให้มีอาชีพมีความหวัง

...นอกจากนี้จะยกเว้นภาษีการค้าขายออนไลน์ เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยกำลังก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล และเป็นสิ่งที่จะปรับเปลี่ยนหลายอย่างในประเทศ วันนี้พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องเรียนรู้ค้าขายออนไลน์  พรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยต้องเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล การค้าขายออนไลน์ เราจึงเสนอยกเว้นภาษีให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี

หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเราจะดูแลตลอดทาง เพื่อให้ถึงเรื่องทุน คนที่มีทักษะ ถึงเทคโนโลยีถึงตลาด คนตัวเล็กเอสเอ็มอีที่เคยมีปัญหาสั่งสม เราจะเข้าไปช่วยด้วยมาตรการที่เหมาะสม ช่วยเขาลุกขึ้นมา เสริมแกร่งด้วยทักษะและทุน ให้เขาสามารถเดินหน้าไปได้  เราจึงเสนอนโยบาย ล้มแล้วลุก โดยเราจะให้สินเชื่อทันทีห้าหมื่นบาท อันนี้เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กเลย  เป็นไมโครเอสเอ็มอีที่เป็นกำลังหลักของประเทศเช่นกัน รายละหมื่นห้า ช่วยปรับโครงสร้างเสริมแกร่งด้วยทักษะ แล้วปล่อยเข้าไปอีกรายละหนึ่งล้านบาท อย่างนี้มันถึงจะต่อเนื่องด้วย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 1 ต่อปี ถึงจะเดินไปได้

...โชห่วยประชารัฐก็เช่นกัน วันนี้ที่พูดกันว่าร้านค้าโชห่วยจะตายเพราะโมเดิร์นเทรด ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่มองกลับเลยว่าเป็นโอกาสที่โชห่วยจะเป็นโชห่วยประชารัฐ เป็นดิจิตอลเหมือนกัน เรามีนโยบายที่จะไปช่วยโชห่วย ยกขีดความสามารถในการค้าขาย โดยให้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอล ที่ทำให้โชห่วยสามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตเพื่อให้ต้นทุนลดลง

“เรามีเป้าหมายสร้างโชห่วยประชารัฐทุกตำบล อย่างน้อยเริ่มต้นโดยจะให้สินเชื่อ 1 ล้านบาทต่อโชห่วยเพื่อปรับตัว ให้นำไปใช้เลยเพื่อเป็นเครดิตให้ผู้บริโภค เกษตรกรมาซื้อสินค้า เป็นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้”

เพิ่มรายได้ประเทศ เพิ่มรายได้ประชาชน

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับในภาพรวมเมื่อเราทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม  ดังนั้นก็ต้องทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มให้สอดรับกัน พรรคพลังประชารัฐดูอย่างครบวงจรยึดโยงกัน ไม่ใช่ดูแค่ท่อนใดท่อนหนึ่ง เราถึงมั่นใจว่าทำได้จริงแน่นอน ไม่เป็นภาระให้กับประเทศ โดยเราจะสร้างเศรษฐกิจด้วยแนวนโยบายที่เรามี เราเชื่อว่าเราจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ประเทศเป็น 19 ล้านล้านบาทภายในปี 2565 ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจใหม่ เศรษฐกิจดิจิตอล ขับเคลื่อนภาคการเกษตรฐานรากที่ยั่งยืน เข้มแข็ง จะเกิดการลงทุนครั้งใหญ่เพิ่มรายได้ 2 ล้านล้านบาท เราตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 4.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2565 และสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก  ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 2 ล้านล้านบาทภายในปี 2565

“ทั้งหมดจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยในแง่ของรายได้เพิ่มขึ้น 19 ล้านล้านบาทภายในปี 2565

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ได้พูดลอยๆ แต่มีแหล่งที่มา โดยจะปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีทั้งหมด ที่จะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งทำได้ เพื่อความเป็นธรรม ช่วยผู้ประกอบการไทยที่จะโกดิจิตอลออนไลน์ เราจะเสนอเก็บภาษีผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่ได้เข้ามาทำธุรกิจ หารายได้จากประเทศไทย เสนอให้เก็บภาษีตรงนี้ โดยจะไม่ไปยุ่งกับคนไทยตัวเล็กๆ ที่ค้าขายออนไลน์ E-Commerce น่าจะได้อีก 40,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องไปห่วงพวกนั้น เขาเป็นผู้เล่นระดับอินเตอร์ เขาไปประเทศอื่นเขาชินอยู่แล้วกับการถูกจัดเก็บภาษีแบบนี้ มันก็ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทำเรื่องนี้เช่นกัน เราเป็นตลาดใหญ่ เขามาหารายได้ไปมาก

...นอกจากนี้เราจะปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรมธนารักษ์มีทรัพย์สินมากมาย ที่จะมีวิธีการบริหารจัดการให้ทรัพย์สินที่กรมธนารักษ์มี เช่นไปช่วยการพัฒนาในพื้นที่ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ธุรกิจเอสเอ็มอี ตรงนี้เราเชื่อว่าอีกแสนล้านบาททำได้ นอกจากนี้ปฏิรูประบบการบริหารจัดการ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เงินที่เราจะประหยัดได้ตรงนี้เท่ากับเงินที่จะนำไปใช้ทำอย่างอื่น ถ้าตรงนี้เราทำให้เหมาะสมจะประหยัดรายได้อีกสองแสนล้านบาท

ขณะเดียวกันโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ พรรคพลังประชารัฐจะส่งเสริมให้เกิด ประเทศไทยวันนี้ ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เช่นลงทุนในระบบคมนาคมขนาดใหญ่ โดยจะขยายและใช้ระบบการลงทุนร่วม Public Private Partnership (PPP) ที่รัฐและเอกชนร่วมลงทุน จะลดภาระงบประมาณให้รัฐทันที โดยเราประเมินไว้ที่สามแสนล้านบาท ถือเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศ เพื่อนำไปใช้ในส่วนอื่น เช่นเดียวกันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เราจะขยายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย Thailand Future Fund จะเป็นการประหยัดภาระงบประมาณไปอีกหนึ่งแสนล้านบาท และจะส่งเสริมสนับสนุนกองทุนรวมเพื่อสังคม ที่จะไปช่วยการพัฒนาในระดับพื้นที่ในระดับชุมชนให้เกิดการร่วมทุน รัฐออกเงินเพียงส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็เป็นเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล ที่เราจะสนับสนุนให้ลงทุนภายใต้รูปแบบที่ยั่งยืนทำได้จริง

ตรงนี้รวมๆ กันแล้วต่อปี เรื่องแหล่งที่มาของเงิน แหล่งที่มารายได้ใหม่ของรัฐ คือประมาณ  1.24 ล้านล้านบาทต่อปี เมื่อรายได้ระดับประเทศเพิ่ม อะไรที่เราทำก็เพราะประชาชนมีปัญหาสั่งสม และเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และมีความหวัง พรรคพลังประชารัฐเราไม่ได้ทำแบบเลื่อนลอย แต่เราดูแล้วว่าจะใช้เงิน ก็หาเงินเป็น และทำได้จริงๆ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยืนยัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"