กทม.เร่งกำจัดฝุ่น สธ.เฝ้าระวังผู้ป่วย


เพิ่มเพื่อน    

    พบปริมาณฝุ่นละอองใน กทม.ยังเกินมาตรฐาน 6 พื้นที่ ตั้งแต่บางนา วังทองหลาง พระราม 4 อินทรพิทักษ์ ลาดพร้าว และพญาไท หมอปิยะสกลสั่งดูแลผู้ป่วย 4 โรคที่อาจได้รับผลกระทบ ปลอบประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ กรมควบคุมโรคผนึกหลายหน่วยงานเตรียมแผนเผชิญเหตุ ระบุสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งปริมาณรถ การก่อสร้างอาคารสูง รถไฟฟ้า 
    เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ในพื้นที่ ณ เวลา 08.00 น. พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ตรวจวัดได้ระหว่าง 52-72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 6 สถานี ที่บริเวณริมถนนพระราม 4 ปริมาณ 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ริมถนนอินทรพิทักษ์ 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ริมถนนลาดพร้าว 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ริมถนนพญาไท 52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เขตบางนา 61 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเขตวังทองหลาง 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นที่ริมถนนอินทรพิทักษ์และริมถนนพญาไท ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 87% ลมสงบ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มขึ้น
    ต่อมาเวลา 12.00 น. คพ.ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ตรวจวัดได้ระหว่าง 56-83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน 6 พื้นที่ ได้แก่ เขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนพระราม 4 ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนลาดพร้าว และริมถนนพญาไท โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสถานี
    นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดี คพ. กล่าวว่า ขอแนะนำให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่อยู่อาศัย หรือต้องเข้าในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน หากจำเป็นต้องออกจากอาคารควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ เช่น การใช้ยานพาหนะ การเผา และโดยเฉพาะการก่อสร้าง ให้มีมาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างให้มีการปิดคลุมให้มิดชิด เพื่อที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองลงได้
    ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนเกินมาตรฐาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึง 4 โรคที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นละออง คือ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด เยื่อบุตาอักเสบ และผิวหนัง แต่จากการติดตามของกรมควบคุมโรค (คร.) ยังไม่พบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรง เสียชีวิต หรือเป็นกลุ่มก้อน ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ก็ลดลง ขณะที่โรคปอดอักเสบแนวโน้มคงที่ ทั้งนี้ ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานไม่ได้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ และปริมาณฝุ่นละอองก็เพิ่มขึ้น-ลดลงในทุกวัน ไม่ได้สูงตลอดเวลา ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
    นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเผยแพร่คลิปโดยระบุว่าเป็นภาพฝุ่นใน กทม.ที่ถ่ายได้จากบริเวณหน้าสวนลุมพินี ขณะที่แสงสปอตไลต์สาดเป็นทางยาว จนเห็นฝุ่นละอองขนาดเล็กลอยฟุ้งกระจายจำนวนมากนั้น ขอชี้แจงว่า คลิปดังกล่าวเป็นคลิปเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอนมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม 20 เท่า ดังนั้น จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แสงสปอตไลต์ส่องก็มองไม่เห็นเป็นเกล็ดขนาดนี้ หากจะเห็นก็จะเห็นเป็นแบบขมุกขมัว เพราะแสงส่องทะลุไม่ได้
    นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กทม. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.เกิดจากหลายปัจจัยหลัก คือ เกิดจากรถยนต์ ซึ่งมีมากถึง 10 ล้านคัน มีมากกว่าถนนที่สามารถรองรับได้ 4.4 เท่า ยิ่งการจราจรติดขัด รถหนาแน่น ก็ยิ่งเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก รวมไปถึงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะ การก่อสร้างอาคาร คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้าตามแนวรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กทม.ได้มีมาตรการในการลดฝุ่น โดยในด้านจราจรจะควบคุมรถของ กทม.4 พันคันไม่ให้ปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน รณรงค์ลดการปล่อยมลพิษ ส่วนด้านการก่อสร้าง ก็จะให้สำนักการโยธาและสำนักสิ่งแวดล้อมติดตามเรื่องการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะเพิ่มการทำความสะอาดถนนจากสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นทุกวันในพื้นที่ที่ คพ.ระบุว่ามีค่าเกินมาตรฐาน และพื้นที่เขตโดยรอบ ซึ่งชัดเจนว่าช่วยลดปริมาณฝุ่นลงได้ โดยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้ล้างถนนในตอนกลางคืน พอตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ปริมาณรถน้อย ค่าปริมาณฝุ่นลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงเพิ่มสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทั่ว กทม.ด้วย
    ดร.กมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลเรดาห์และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สาเหตุที่ช่วง ม.ค.ที่ผ่านมา มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงนั้น มาจากความกดอากาศสูงที่แผ่มาจากภาคอีสาน ทำให้อากาศเย็นและแห้ง มวลอากาศหนัก ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ลอยตัวไม่สูง อยู่ประมาณไม่เกิน 3 กิโลเมตร จึงเห็นเป็นอากาศแบบขมุกขมัว แต่เมื่อถึงเวลากลางวัน อากาศร้อนจึงเบาและลอยตัวได้ดี เมื่อมีลมใต้เข้าก็จะพัดกระจายฝุ่นเหล่านี้ออกไป อย่างไรก็ตาม วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.นี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่อากาศใน  กทม.จะอุ่นขึ้น และจะเริ่มสูดอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น เนื่องจากวันที่ 15 ก.พ.ถือว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนไปจนถึงกลาง พ.ค. อากาศลอยตัวสูง เมื่อมีลมพัดเข้ามาก็จะกระจายฝุ่นออกไปได้ดี
    นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี คร. กล่าวว่า ได้มีการจัดระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เกิดจากฝุ่น โดยเน้นการตรวจจับในห้องฉุกเฉิน หากมีให้รายงานทันที ส่วนกลุ่มติดบ้านติดเตียงนั้น ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกตรวจเยี่ยม ส่วนกรณีหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขณะนี้ได้ร่วมกับกรมอนามัย กรมการแพทย์ สำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. ในการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือ โดยนำแผนเผชิญรับมือเหตุหมอกควัน 8 จังหวัดภาคเหนือมาปรับใช้ ทั้งนี้ ย้ำว่าฝุ่นเกินมาตรฐานไม่ได้เกิดขึ้นทุกจุด ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติได้ ซึ่งการใส่หน้ากากป้องกันต้องใช้หน้ากาก N95 แต่ใช้เฉพาะคนที่มีความจำเป็นหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นเวลานาน สำหรับคนที่มีบ้านอยู่ติดถนนที่มีการจราจรหนาแน่นอาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพิ่มการทำความสะอาดมากขึ้น ปิดประตู-หน้าต่างตามความจำเป็น
    นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ กทม.เป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยชี้ว่า หากปล่อยให้ปัญหาฝุ่นละอองใน กทม.เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และจะเป็นการทำลายสุขภาพของประชาชนในระยะยาวได้ โดยขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เพื่อที่กรุงเทพมหานครจะได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษตามมาตรา 60 ซึ่งรัฐบาลกลางจะได้สนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหามลพิษให้สำเร็จลง และภาคประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยกันลดมลพิษตามที่กฎหมายกำหนดได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"