ปลุกเลือก'พปชร.' ลุงตู่ปล่อยคลิปเวทีปราศรัย ผู้ตรวจการันตีไม่ใช่จนท.รัฐ


เพิ่มเพื่อน    


    “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตีตรา “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 พิงหลัง ชี้ไม่เข้าข่ายครบ 4 ข้อ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาใคร แต่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ พร้อมการันตีแทน กกต.ประกาศชื่อลุงตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ชอบแล้ว “หญิงหน่อย” ซัดตลกร้าย ส่วน “เต้น” ชี้เป็นการตีไพ่ให้ผู้มีอำนาจน็อกมืด “ประยุทธ์” ส่งคลิปครั้งแรกเวทีสุโขทัย ชวนประชาชนอย่าลังเลใจ ขอให้กล้าไปกับลุงตู่ 
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงถึงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ยกเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ว่าต้องมีลักษณะครบถ้วน 4 ประการคือ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
    นายรักษเกชาแถลงต่อว่า สถานะหัวหน้า คสช. แม้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มิใช่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ คสช. และตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ จึงแสดงให้เห็นได้ว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.มิได้มีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่มีการร้อง ดังนั้นการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ของพรรค พปชร.เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
    “ผู้ตรวจฯ พยายามมองในหลายๆ มุม แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าผู้ตรวจพิจารณาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง” นายรักษเกชากล่าว
    ส่วน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และเห็นว่ายังมีปัญหาในข้อกฎหมาย จึงให้สำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. โดยจะนัดประชุมในวันที่ 18 มี.ค.นี้ เมื่อได้รับความเห็นแล้วจะนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก็ขึ้นอยู่กับ กกต.จะหยิบยกคำวินิจฉัยดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ แต่สำนักงาน กกต.ได้เสนอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับลักษณะของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ฉบับที่ 5/2543 ให้ที่ประชุม กกต.ด้วย
รุมสับมติผู้ตรวจการฯ
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าเป็นตลกร้าย ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วมีการปลดคน ใช้มาตรา 44 ได้อย่างไร ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากวินิจฉัยเช่นนี้ก็ไม่ต้องมีหลักอะไร หรือไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ ต้องฝากความหวังไปที่ศาล กกต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้หรือไม่
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การวินิจฉัยสถานะ พล.อ.ประยุทธ์แบบนี้ไม่ได้แค่ตอบสนองความต้องการผู้มีอำนาจ แต่เป็นการเสริมความชอบธรรมให้การรัฐประหารว่า หัวหน้าคณะไม่ต้องอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายใด ซึ่งน่าสังเกตว่าผู้ตรวจการแผ่นดินรีบวินิจฉัยเป็นพิเศษ ทั้งที่เพิ่งรับเรื่องเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ต่างกับ กกต.ที่ยื่นคำร้องเรื่องนี้เมื่อวันที่  11 ก.พ. แต่เพิ่งมีข่าวว่าตั้งกรรมการสอบ  
    "ที่ กกต.ช้าอยู่ก็เพื่อดึงเวลา เพราะหามุมออกยากจนผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรงวินิจฉัยก่อน ถือเป็นการตีไพ่ให้ กกต.เล่นง่ายใช่หรือไม่ ถ้าองค์กรอิสระของประเทศชวนกันตีไพ่ให้ผู้มีอำนาจน็อกมืด แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันยังไง" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า กกต.ควรเร่งดำเนินเรื่องความชัดเจนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ควรวินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำ ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซัง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า กกต.ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยคุณสมบัติดังกล่าวโดยเร็ว
    ส่วนนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อประธาน กกต.ขอให้ตรวจสอบเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. กรณีพรรค พปชร.จัดเวทีปราศรัยหาเสียงที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยได้นำพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปเสียงปราศรัย พร้อมเอกสารในกรณีสัญญาว่าจะให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ในการหาเสียงมายื่น 
    "ครั้งนี้พยานหลักฐานชัดเจน และผมหวังว่า กกต.จะเดินหน้าเรื่องนี้ไปให้สุด ต้องให้มันถึงจริงๆ ซึ่ง กกต.ต้องไม่ลืมว่าคนจับตาดูอยู่ทั่วโลกว่าจะมีการเลือกตั้งแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่" นายสุชาติกล่าว
    วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ภาพชุดลุคส์หล่อ พล.อ.ประยุทธ์ จากประชาชนทั่วประเทศ 1,450 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาล พบว่า 56% เคยสนับสนุนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และ 44% เคยสนับสนุนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
    และเมื่อถามถึงการปรับเปลี่ยนภาพชุดลุคส์หล่อเท่ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า 74.6% ระบุว่าควรรักษาภาพเดิมๆ ตอนเข้ามาเป็นรัฐบาลตอนแรกๆ และ 25.4% เห็นควรปรับเปลี่ยนมาเป็นภาพชุดลุคส์หล่อ ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นอะไร พบว่า 66.1% เห็นว่าควรเป็นหัวหน้า คสช. และ 33.9% เห็นควรเป็นนักการเมือง
ลั่นทำดีเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุม CLSA อาเซียน ประจำปี 2562 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยถือเป็นตัวเลือกที่ดีอีกประเทศหนึ่ง ขอบคุณทุกคนที่มาลงทุนในประเทศไทย หากใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขอให้ตัดสินใจเลย เพราะจะได้นอนหลับฝันดี จึงขอให้เชื่อมั่นจะทำให้ดีที่สุด อย่างที่เคยได้ทำมาตลอด 5 ปี ขอทุกคนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในอาเซียน เพื่อขยายธุรกิจของตนเองต่อไป ส่วนเรื่องการเมือง ก็ขอให้เป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ
    พล.อ.ประยุทธ์ยังตอบคำถามสื่อมวลชนต่างประเทศถึงกรณีผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้จะออกมาเป็นอย่างไร ว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรต้องยอมรับ เพราะในเมื่อเราจัดให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อถามถึงหลังการเลือกตั้งจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่ายินดี เพราะเป็นเรื่องของการเมือง รัฐบาลต้องมีการผสมผสานการทำงาน โดยมาจากพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล
    เมื่อถามถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แสดงความเป็นห่วงว่าการหาเสียงในช่วงนี้มีการยกประเด็นไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะทำให้นักลงทุนเกิดความสับสนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นห่วงว่าวันนี้จะพูดอะไรก็ตามในเรื่องของการเลือกตั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของเราภายในประเทศ ก็ไม่อยากให้มีผลกระทบกับเรื่องความเชื่อมั่น ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ช่วยกันเถอะ อย่าเพิ่งมีความขัดแย้งกันตอนนี้ หลายเรื่องค่อยไปเริ่มกันหลังจัดตั้งรัฐบาล
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ประกาศคิดว่าสากลน่าจะดีใจ เพราะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองในระดับสากลพึงกระทำอยู่แล้ว ส่วนที่ระบุว่าไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าเป็นนักบอยคอตนั้น เป็นคนละเรื่องกัน คำพูดของนายสมคิดเสียอีกที่บอกว่าถ้าไม่ให้เลือกตั้งก็ได้ สะท้อนตัวตนมากกว่า ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการดิ้นของคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ 
    นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กว่า การแสดงจุดยืนว่าพรรคการเมืองสนับสนุนหัวหน้าพรรคตนเอง และไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคของพรรคคู่แข่ง เป็นเรื่องปกติในโลกสากล จึงไม่เห็นว่ามีใครตระหนกตกใจแต่อย่างใด 
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวเช่นกันว่า การติดล็อกเกิดจากความวุ่นวายของ คสช.เอง ถ้าไม่ยอมปล่อยประชาธิปไตย ซึ่งการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติขึ้นอยู่กับหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่เข้มแข็งมากกว่า
พปชร.รับห่วงเดดล็อก
    ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. ยืนยันว่า พรรคไม่ได้เน้นชัยชนะทางการเมือง ส่วนจะทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าเป็นคำตอบในวันนั้น แล้วเป็นทางออกที่ดีให้กับประเทศ ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองควรคิดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำไป
    “แน่นอนตามแนวทางประชาธิปไตย คนที่มีเสียงข้างมากต้องดำเนินการก่อน หากทำไม่ได้ คนที่ได้คะแนนเสียงอันดับสองก็ต้องดำเนินการ ส่วนตัวไม่อยากเห็นการทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง เพราะจะทำให้ประชาชนว้าเหว่ ดังนั้นขอให้การเมืองเดินไปตามแนวทางประชาธิปไตย อย่าสร้างเงื่อนไขจนประเทศไปถึงทางตัน เราห่วงการเมืองจะเดินหน้าไปสู่จุดที่เราเดินหน้าไม่ได้” นายสนธิรัตน์กล่าวตอบข้อถามการให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลก่อน 
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง พรรค พปชร. กล่าวว่า ถ้าหากว่าพรรค พปชร.ไม่เร่งสปีดขึ้นโพลต่างๆ อาจมองว่าพรรค ปชป.อาจมาแรง แต่เชื่อว่าหากพรรค พปชร.ได้ 150 ส.ส. จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากเราขาดความทะเยอทะยานเมื่อไร เราอาจตกลงไปเป็นอันดับ 3 และอาจทำให้คนที่ออกมาพูดว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้
    มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-20 มี.ค. โดยวันที่ 16 มี.ค. ลงพื้นที่ จ.เชียงรายและแพร่, 18 มี.ค. ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช, 19 มี.ค. ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ 20 มี.ค. ตรวจราชการที่ จ.ฉะเชิงเทรา 
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เห็นลีลา พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ ใครยังกล้าบอกว่าไม่ใช่หาเสียงก็เกินไป การพูดบนเวทีแบบนั้นคือการซ้อมปราศรัยเพื่อขึ้นเวทีใหญ่ในวันที่ 22 มี.ค. ซึ่งทราบมาว่าพรรค พปชร.เตรียมไว้เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ เพื่อเอาเปรียบพรรคคู่แข่งจนวินาทีสุดท้ายของการเลือกตั้ง 
“ขอเรียกร้องให้ท่านแสดงความเคารพและให้เกียรติประชาชนโดยขึ้นเวทีพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่วันนี้ บอกมาเลยว่าที่ไหนอย่างไร ผมจะย้ายเวทีก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยไปเปิดในพื้นที่ใกล้เคียง เอาวันเดียวกันเลย ประชาชนจะได้ตัดสินใจ” นายณัฐวุฒิกล่าว
    ทั้งนี้ ที่สนามฟุตบอลทุ่งทะเลหลวง สโมสรสุโขทัย เอฟซี อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย แกนนำพรรค พปชร.ได้จัดปราศรัยใหญ่ โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน ซึ่งระหว่างการปราศรัยได้มีเซอร์ไพรส์เปิดคลิป พล.อ.ประยุทธ์ ที่จัดทำมาเพื่อพูดคุยกับประชาชนเป็นครั้งแรกที่ จ.สุโขทัย เนื้อหาคลิปยาว 8 นาที โดยตอนหนึ่งระบุว่า วันนี้ที่ประเทศเดินหน้าได้ และสิ่งต่างๆ สำเร็จได้นั้นก็ต้องอาศัยพี่น้องคนไทยทั้งประเทศร่วมมือกัน จับมือกัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเดินอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจว่าเราจะเลือกเดินอย่างไรในเวลาที่สำคัญ ก่อนตัดสินใจอยากให้พี่น้องประชาชนของพวกเรานำความรัก ความสามัคคี และรอยยิ้มที่สวยงามกลับมา ประเทศของเราต้องไม่ย้อนกลับไปในอดีต ที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ตัดสินใจตอบรับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ไม่ใช่ความต้องการส่วนตัว แต่มองเห็นโอกาสของประเทศที่ต้องพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ หลากหลายอุดมการณ์ หลากหลายความคิด แต่ทุกคนต้องมาร่วมมือกันทำงาน ยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ทิ้งอดีตเอาไว้ข้างหลัง ทำอนาคตให้ดี โดยหากได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะสานต่องานให้มีการพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน จะยึดหลักธรรมาภิบาลกฎหมายต่างๆ เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่งคั่งยั่งยืน 
    “ขอให้พวกเราคิดว่าการกระทำในวันนี้นั้น จะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าวันหน้าเราจะเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นทำวันนี้เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่า ไม่ใช่เพื่อตัวตนเอง ตัวพวกเราเอง แต่พวกเรากำลังทำเพื่ออนาคตของประเทศชาติ ของลูกหลาน ของเราทุกคน ที่จะเติบโตมีอนาคตสดใส ในวันหน้า อย่าลังเลใจ ขอให้คุณกล้าไปกับผม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"