การเดินทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปัจจุบันมีระบบรถสาธารณะให้บริการหลากหลายประเภท รถแท็กซี่เป็นหนึ่งในรถสาธารณะที่ได้รับความนิยม และก็เป็นหนึ่งในรถสาธารณะที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธผู้โดยสารด้วยข้ออ้างสารพัด โกงค่าโดยสาร พูดจาไม่สุภาพ ไม่กดมิตเตอร์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกในฐานะที่กำกับดูแลก็พยายามที่จะออกมาควบคุมบรรดาเหล่ารถแท็กซี่ที่นอกลู่นอกทาง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถกำจัดได้หมดเสียที
เช่นเดียวกับรถแท็กซี่หมดอายุการใช้งาน ที่ยังคงวิ่งเกลื่อนให้บริการอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พีระพล ถาวรสุภเจริญ ได้ออกมาระบุอย่างชัดเจน ว่า "การฝ่าฝืนใช้รถแท็กซี่ครบอายุการใช้งาน มารับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่งผลต่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากประชาชน ทั้งยังมีความผิดตามกฎหมาย"
ดังนั้น เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถสาธารณะให้แก่ประชาชน กรมการขนส่งทางบกได้จัดผู้ตรวจการขนส่งลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้ฝ่าฝืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล
พร้อมทั้งกำชับว่า หากพบการกระทำผิดดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 5 (10) ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถทันที
นอกจากนี้ ยังคงแนะนำประชาชนงดใช้บริการรถแท็กซี่หมดอายุการใช้งานแล้ว และหากพบเห็นขอให้แจ้งข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
สำหรับข้อสังเกตว่ารถแท็กซี่ใดหมดอายุนั้น ให้สังเกตที่ หมวดอักษรบนแผ่นป้ายทะเบียน กรณีรถแท็กซี่นิติบุคคล หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล กรณีรถแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวเหลือง หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย ทจ, มก, มข, มค, มง, มจ
พร้อมทั้งแนะนำให้สังเกตสภาพตัวรถเพิ่มเติม โดยตัวรถต้องมั่นคงแข็งแรงต่อการใช้บริการอย่างปลอดภัย, มีโป๊ะไฟบนหลังคา, ป้ายไฟแสดงสถานะ, ข้อความ “แท็กซี่บุคคล” หรือ “ชื่อนิติบุคคล” หมายเลขทะเบียนรถและข้อความ “ร้องเรียนแท็กซี่ โทร.1584” ไว้ที่ประตูตอนหน้าด้านนอกทั้งสองข้าง, ภายในรถมีบัตรประจำตัวผู้ขับรถ (บัตรสีเหลือง) แสดงไว้บริเวณที่นั่งผู้โดยสารตอนหน้า ซึ่งจะระบุข้อมูลรถ ชื่อและรูปถ่ายผู้ขับรถซึ่งต้องถูกต้องตรงกัน มีมาตรค่าโดยสารและอัตราค่าโดยสารเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของตัวเราเอง
นอกจากนี้ กรมการขนส่งยังระบุอีกว่า รถแท็กซี่ที่มีอายุเกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียน เมื่อครบอายุการใช้งานแล้วต้องส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถ เพื่อแจ้งระงับทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน
รวมถึงต้องถอดอุปกรณ์ส่วนควบของรถแท็กซี่ เช่น โป๊ะไฟ มิเตอร์ และห้ามนำไปใช้รับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสารโดยเด็ดขาด หากต้องการใช้รถเพื่อการส่วนตัว ต้องแจ้งเปลี่ยนประเภทจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และห้ามนำมารับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสาร พบฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 21 ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับประชาชนหากพบเห็นการกระทำดังกล่าว พบรถสาธารณะไม่ปลอดภัย หรือการลักลอบให้บริการผิดกฎหมายทั้งรถแท็กซี่หมดอายุการใช้งาน รถจักรยานยนต์ป้ายดำ แจ้งสายด่วน 1584
อย่างไก็ตาม ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก ที่จัดทำขึ้นเพิ่มกำกับดูแลในด้านความปลอดภัยของประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า รถแท็กซี่ที่หมดอายุจำนวนมากยังคงวิ่งให้บริการตามท้องถนน แทบทุกซอกทุกมุม และยังคงมีประชาชนใช้บริการ
เรื่องนี้จะถามว่าประชาชนไม่รู้หรือว่ารถแท็กซี่เหล่านั้นหมดอายุการใช้งานแล้ว บอกแล้วว่าไม่รู้ ซึ่งสาเหตุที่ประชาชนไม่รู้นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากกรมการขนส่งทางบกเองที่ยังขาดด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสร้างข้อมูลอย่างแท้จริง อาจจะมีประกาศแล้ว แต่คงประกาศเสียงเบาเกินไปหรือเปล่าจึงทำให้ประชาชนไม่ได้รับข่าวสาร คงต้องฝากทานอธิบดีกรมการขนส่งเร่งดำเนินการโดยด่วน ก่อนที่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะบานปลายไปจนแก้ไม่ได้อย่างรถตู้โดยสารนะคะท่าน
แค่โพสต์ในเพจ "กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News" เพื่อข้อความขอความร่วมมือจากประชาชน งดใช้บริการรถแท็กซี่ที่หมดอายุที่แอบให้บริการ เพื่อความปลอดภัยและได้รับบริการที่มีคุณภาพ อย่างเดียวมันไม่น่าจะกระจายได้ทั่วถึงแน่นอน.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |