บนสนทนาที่ชายทะเลจะนะ


เพิ่มเพื่อน    

        บทสนทนาระหว่าง “คนบ้าข่าว” กับ “คนบ้าทะเล” ที่ชายทะเลบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อ.จะนะ จังหวัดสงขลา วันหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

        เป็นส่วนหนึ่งของการ “ฟังเสียงประเทศไทย, คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน” ของผมในรายการ ThaiPBS

       “บังนี” รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักทะเลจะนะ (ชาวประมง) เล่าให้ผมฟังถึงความพยายามปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในเขตจะนะ-เทพา ที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษมาถึงรุ่นปัจจุบัน

         บังนีเป็น “คนฟังเสียงปลา” (ดูหลำ) ที่สามารถใช้หูแนบกับทะเลแล้วรู้ว่าฝูงปลาอยู่ที่ไหน มีปลาอะไรบ้าง และจำนวนมากน้อยเพียงใด เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ส่งต่อมาจากคุณพ่อที่เป็นชาวประมงมายาวนาน อยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

        จะนะและเทพาเป็นแหล่งอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ที่สามารถสนองความต้องการของอาเซียน ชาวประมงท้องถิ่นมีรายได้พอสมควร ดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา แต่ก็มีประเด็นเรื่องเอกสารสิทธิ ซึ่งยังเป็นหัวข้อที่ผู้นำท้องถิ่นได้เจรจากับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาตลอด

        ชาวประมงบอกผมว่า ออกเรือหาปลาทุกเช้า ภายในสองสามชั่วโมงก็กลับเข้าฝั่งพร้อมกุ้งหอยปูปลาที่รายได้เฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท

       “บางวันเราได้ 2,000-3,000 บาท และแม้ในช่วงมรสุมเราก็ยังออกทะเลได้วันเว้นวัน เราอยู่กับธรรมชาติ เราปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง หลายครอบครัวมีรายได้พอที่จะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย แม้ว่ารุ่นผมจะไม่ได้เรียนหนังสือมากนัก...” ชาวประมงของบ้านสวนกงอีกคนบอกผม

       “เรารณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองมายาวนาน และยังจะต่อสู้ต่อไป เพราะชาวบ้านต้องการปกป้องแหล่งอาหารที่สำคัญของประเทศไทยที่มีคุณค่ามหาศาล ไม่ต้องการให้ถูกทำลายโดยโครงการที่สร้างมลพิษและบ่อนทำลายวิถีชีวิตของผู้คนที่ปักหลักสร้างชุมชมที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน” บังนีบอกผมด้วยน้ำเสียงของนักสู้ทรหดที่เผชิญกับภัยคุกคาม เพราะบทบาทการเป็นผู้นำการต่อต้านมาหลายครั้ง

        พูดคุยกับผู้นำและชาวบ้าน “บ้านสวนกง” แห่งนี้แล้ว ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของชุมชนที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรแห่งนี้อย่างทุ่มเทและอดทน

        แกนนำของชุมชนแห่งนี้มิได้ต่อสู้ด้วยเพียงอารมณ์และความรู้สึกหวงแหนถิ่นเกิด แต่ได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน เพื่อบอกกล่าวให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิด และร่วมกันแสวงหาแนวทางพัฒนาประเทศที่ไม่ทำลายธรรมชาติ, ความหลากหลายแห่งวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันของชุมชน, ธุรกิจและอำนาจรัฐอย่างสันติ และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กันและกัน

        ผมได้เรียนรู้ข้อมูลจากผู้นำท้องถิ่นมากมายหลายด้าน มีความซาบซึ้งในความมุ่งมั่นทุ่มเทในการสร้างสรรค์ชุมชน สร้างกิจกรรมสำหรับเยาวชนให้เข้าใจความสำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

        ขณะเดียวกันผมได้ฟังเหตุผลของกลุ่มคนที่ต้องการผลักดันโครงการ logistics ในจังหวัดสงขลา และแผนพัฒนาจังหวัดของทางการ

        ข้อสรุปน่าจะอยู่ที่การหาทางออกด้วยการนั่งลงพูดคุยกันอย่างเปิดอก แสดงข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียร่วมกันอย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ของชาติที่เคารพ และอุ้มชูวิถีชาวบ้านและธรรมชาติอย่างเป็นธรรมสำหรับทุกๆ ฝ่ายในฐานะเพื่อนร่วมชาติเหมือนๆ กัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"