14 มี.ค.62- ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 18 เรื่อง"เข้าใจปัญหาเยาวชนกับภาวะซึมเศร้า" โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า สังคมไทยมีความกังวลกับภาวะซึมเศร้า สอดรับกับรายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) พบ 300 ล้านคน เป็นโรคซึมเศร้า ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ การสูญเสียจากการฆ่าตัวตายในไทยมีค่อนข้างสูง เฉลี่ย 6 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นเรื่องน่าห่วง การทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าในเยาวชนมีความสำคัญ ต้องสื่อสารในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม ช่วยกันป้องกันผลกระทบให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สูญเสียซ้ำในสังคมไทย
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า อารมณ์เศร้ากับภาวะซึมเศร้าต้องแยกแยะให้ได้ หากอารมณ์เศร้าซึมอยู่เป็นเวลานาน ส่งผลทางกายและอารมณ์ระยะยาวจะกลายเป็นภาวะซึมเศร้า ความเศร้าเกิดขึ้นได้ แต่ละคนรับมือต่างกัน และการพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้าของแต่ละคนต่างกัน ภาวะซึมเศร้า กลุ้มใจ หดหู่ วิตกกังวล ไร้ค่า หากมีคำพูด "อยากจมอยู่บนเตียง ไม่ลุกขึ้นมา " เป็นสัญญาณภาวะซึมเศร้า
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อว่า จากงานวิจัยศึกษาในนิสิตนักศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในภาวะเสียศูนย์ พบว่ามี 3 ตัวกระตุ้นหลัก คือ 1.การถูกประเมิน เช่น ผลการสอบหรือเกรดผิดจากคาดหวังมีโอกาสเสียศูนย์ หากไม่ได้เกรด A จะรู้สึกผิดกับพ่อแม่ ครูอาจารย์ เป็นบุคคลสำคัญของเรา 2.เงินทอง 3. ความรัก ไม่ใช่แค่รักฉันท์หนุ่มสาว แต่เป็นความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน การเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวว่า การตีความสถานการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกัน เราไม่สามารถนำประสบการณ์เดิมไปห่วง ดูแล และครอบเขา แต่เราควรตีความสิ่งที่เขาพบเจอ นอกจากสถานการณ์ยังมีรูปแบบการคิดที่ไม่เหมาะสม เขาประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นจัดการไม่ได้ พฤติกรรมที่แสดงเมื่อถึงขั้นเสียศูนย์จะแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สนใจการเรียน และพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง กรีดข้อม้อ ต่อย ซึ่งพวกเขาต้องการคนช่วยคิดและช่วยดูแลอารมณ์จิตใจ ที่อยากเน้นที่สุด ปัจจัยที่อยู่รอบ ถ้าดี ดีใจหาย ถ้าร้าย ร้ายลงเหว ครอบครัว เพื่อน และอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์สำคัญมาก ในงานศึกษา หากสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ได้ จะช่วยได้ แต่ถ้าได้รับการตีความทางลบของคนกลุ่มนี้ สถานการณ์จะแย่ลง
" การแก้ปัญหาที่เหมาะสม ไม่ใช่การทำซ้ำหรือวิ่งสู้ฟัด จะยิ่งสร้างความเครียด ฉะนั้น ต้องฝึกจัดการปัญหาที่หลากหลาย หยุด และคิดวางแผนแก้ปัญหา เมื่อเราอยู่ในภาวะซึมเศร้า หากมองสิ่งที่พบเจอ และผ่านพ้นไปแล้ว จะเข้มแข็งขึ้นและมองเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างอนาคตใหม่ ภาวะซึมเศร้าต้องรู้ต้นธารอารมณ์ สิ่งสำคัญ คือ การจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสมมากกว่าเก็บและกดเอาไว้ ยอมรับว่า เราเป็นเจ้าของอารมณ์ สิ่งแวดล้อมภายนอกที่สำคัญ การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ การรับฟังเป็นการเริ่มต้นที่ดี ไม่ใช่พยายามแก้ไขหรือเชียร์อัพลุกขึ้นๆ หากวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้ามากก็สามารถแนะนำสู่มืออาชีพ " ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
ผศ.ดร.ปิยวรรณ วิเศษสุวรรณภูมิ หัวหน้าภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ของภาวะซึมเศร้าของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย จากผลศึกษาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยิ่งชั้นปีที่สูง ยิ่งพบภาวะซึมเศร้ามาก เพราะการเรียนท้าทายมากขึ้น ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีนิสิตพยายามฆ่าตัวตายร้อยละ 6.4 ของนิสิตทั้งหมด คนที่ขอความช่วยเหลือ คือ เพื่อน ส่วนสถานที่ฆ่าตัวตาย คือ หอพักและบ้าน เป็นสถานที่คุ้นเคย สำหรับสาเหตุฆ่าตัวตาย อันดับแรกทะเลาะกับคนใกล้ชิด ปัญหาการเรียน ปัญหาความรักตามลำดับ
ผศ.ดร.ปิยวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษา ภาวะสุขภาพ โรคประจำตัว ความเครียด ความสัมพันธ์ไม่ดีกับพ่อแม่ มีความทุกข์ทางใจ ความคิดอัตโนมัติลบ ครุ่นคิด เหตุการณ์เชิงลบ บุคลิกภาพของพ่อแม่ ปัจจัยทางลบหนุนรายได้ที่เพียงพอ ความสามารถในการฟื้นหลัง บรรยากาศครอบครัวที่ดี การเห็นคุณค่าในตนเอง
" ในชั้นเรียนมีความหลากหลาย บรรยากาศในห้องเรียนมาจากเพื่อนร่วมชั้น อาจารย์ ซึ่งส่งผลขณะเรียน บางคนเกิดอารมณ์ทางบวก นำไปสู่การเรียนรู้ มีความสุขอยากเรียน แต่ถ้าเกิดอารมณ์ทางลบอาจไม่อยากเข้าชั้นเรียนนี้อีกเลย บางคนไม่สามารถจัดการอารมณ์ทางลบตนเองได้ อาจเรื้อรัง สู่ภาวะซึมเศร้า บรรยากาศในชั้นเรียนมีความหลากหลาย ทัศนคติของนิสิตนักศึกษา ทุนชีวิต ภูมิต้านทานแตกต่างกัน ฝากผู้สอน คนเรียนเก่งให้มีประสบการณ์ล้มเหลวหรือทำไม่ได้บ้าง ส่วนคนที่ล้มเหลวให้มีประสบการณ์ทำสำเร็จบ้าง เพื่อรู้จักคุณค่าของตนเอง การสอนก็เหมือนให้การรักษา หากผู้เรียนเดินเข้ามาด้วยอาการต่างกัน แต่ผู้สอนให้ยาชนิดเดียวกัน ไม่แฟร์ การจัดการเรียนการสอน เด็กที่มีพื้นฐานต่างกัน คำพูดบางคำ เด็กเสียใจมาก เพราะภูมิต้านทานไม่เหมือนกัน " ผศ.ดร.ปิยวรรณ กล่าว
ผศ.ดร.ปิยวรรณ กล่าวว่า ผู้เรียนต้องจัดการการเรียนในวิธีของตัวเอง ถ้าไม่ได้ หาตัวช่วยเพื่อน อาจารย์หรือพ่อแม่ รวมถึงมองโลกในมุมบวก ความล้มเหลวเกิดขึ้นกับเรา แต่ไม่ใช่เสมอไป ชีวิตจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ความล้มเหลว ในมุมผู้สอนมีทั้งบริบทในห้องเรียน ต้องคำนึงความแตกต่างนิสิตแต่ละคนทักษะไม่เท่ากัน นิสิตที่ขาดเรียน เงียบ อย่าเพิ่งตีตรา และหาสาเหตุของพฤติกรรมที่แท้จริง นำไปสู่การช่วยเหลือ ส่งต่อระบบดูแลช่วยเหลือของสถาบันการศึกษา ที่จุฬาฯ มีศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะนิสิตให้บริการ
ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แนวทางการดูแลวัยรุ่นที่มีภาวะซึมเศร้า ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากขึ้น และเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นในประเทศไทย หากมีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการ"สิ้นยินดี "กินไม่ได้ น้ำหนักลด ตื่นกลางดึก อ่อนแรง เส้นแบ่งภาวะซึมเศร้าเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ก็มีการปรับเปลี่ยน ในการดูแลเคสวัยรุ่นซึมเศร้า ไม่รักษา แต่ดูไปก่อน อย่าถามทุกวัน จะฆ่าตัวตายมั้ยและให้กำลังใจ แต่หากอาการรุนแรงและเป็นต่อเนื่อง จะมีการพูดคุยจิตบำบัด ยกตัวอย่าง เคสวัยรุ่นซึมเศร้า จะพูดคุยปรับทัศนคติภาวะซึมเศร้าว่า เป็นปัญหาสุขภาพจิต อธิบายจิตใจไม่สบายได้ มีหมอรักษาจิตใจ แต่หากผู้ป่วยมองซึมเศร้าเป็นโรคของคนอ่อนแอ โทษตัวเอง ต้องปรับเปลี่ยนความคิด และให้ความหวัง มีทางรักษาให้หายเป็นส่วนใหญ่ ภาวะซึมเศร้าก็เหมือนหวัด ใครๆ ก็เป็นได้
" เมื่อปรับทัศนคติได้แล้ว แนะนำให้วัยรุ่นสังเกตุอารมณ์ตัวเอง เพราะเมื่อหายจากโรคซึมเศร้าแล้ว ก็สามารถจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ต่อไป ถัดมาสอนให้จัดการกับชีวิตปัจจุบัน กลับสู่ชีวิตในแบบเดิมให้เร็วที่สุด ถ้ารอให้หายซึมเศร้าค่อยทำจะยิ่งจมจ่อม มองตัวเองมองโลกนี้มันแย่ไปหมด ต้องปรับวิธีคิด กลับไปเรียนหรือทำงาน หากยังไม่ได้ก็ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย ทำให้ชีวิตแอ็คทีฟขึ้น นอกจากนี้ การถามความคิดที่จะฆ่าตัวตายนั้น สามารถถามได้หากสนิทและใกล้ชิด ช่วยลดการจบชีวิตได้ ขณะที่ตามสถาบันการศึกษาควรให้แพทย์จิตเวชประจำเพื่อให้คำปรึกษาด้วย " ผศ.นพ.ณัทธร กล่าว
ผศ.นพ.ณัทธร กล่าวว่า ผู้ป่วยบางคนทำร้ายร่างกายตัวเองจะต้องมีแผนรับมือกับการทำร้ายตัวเอง ถ้าคิดตอนมีอาการจะรับไม่ทัน ดื่ม เข้าไลน์กลุ่ม เฟซบุก ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นให้ทำร้ายตัวเอง ต้องหลีกเลี่ยง คนฆ่าตัวตายจะคิดด้านร้าย ทุกข์ทรมาน เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คนที่รอดจากการฆ่าตัวตายจะนึกถึงพ่อแม่ แม้กระทั่งศิลปินดารา ห่วงเด็กๆยุคนี้ ความหมายชีวิต คือ เรียนหนังสือ สอบได้คะแนนดี จะทำอย่างไรให้พวกเขามองความหมายของชีวิตที่กว้างกว่าการเรียน อย่างไรก็ตาม นอกจากให้คำปรึกษาทางจิตเวช จะให้ยาที่เหมาะสม หากมีอาการเรื้อรัง บางเคสใช้การช็อตไฟฟ้า ซึ่งได้ผลดีและปลอดภัย ล่าสุดมีการรักษาแนวใหม่เป็นยาพ่นจมูก ทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น มีการใช้ในสหรัฐ เป็นความหวังของผู้มีภาวะซึมเศร้า
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต สธ. กล่าวว่า ในกลุ่มวัยรุ่นจะแสดงอารมณ์หงุดหงิด บางครั้งแสดงความโกรธ ไม่ได้แสดงความเศร้าตรงๆ ปัญหาวัยรุ่น มีเสพยาเสพติด เซ็กส์ และซ่า หรือพฤติกรรมเกเร แล้วยังมีปัญหาความเครียด คือ วิตกกังวล ซึ่งสัมพันธ์กับอารมณ์เศร้า รวมถึงมีอาการสมาธิสั้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสปอย เยาวชนได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจ ในระบบสุขภาพมีรายงานว่า ภาวะซึมเศร้ามีภาระโรคสูงที่สูด และก่อให้เกิดปัญหาการตายก่อนวัยอันควร โดยการฆ่าตัวตาย และอยู่โดยไม่มีความสุข ติดอันดับหนึ่งของโรคจิตเวช แต่ไม่ได้รับการพูดถึง มาหาหมอจิตเวชต้องกระมิดกระเมี้ยน คนไข้รู้สึกอายเมื่อถูกตีตราเป็นผู้ป่วยจิตเวช
" วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ในไทยมีกว่า 8 ล้านคน แต่เรามีระบบดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพียง 10% อย่างไรก็ตาม สพฐ.มีระบบประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน หากพบภาวะซึมเศร้าจะส่งต่อ ต้องพัฒนาระบบให้ครอบคลุม แต่ปัจจุบันพบเด็กไม่แสดงอาการซึมเศร้า ถ้าครูไม่เข้าใจจะคิดว่า เด็กเกเร เด็กสปอย ไม่ได้รับการรักษา จะพัฒนาสู่ภาวะซึมเศร้ารุนแรง อย่างไรก็ตาม วิธีการฆ่าตัวตายที่นำเสนอผ่านข่าว ไม่ใช่วิธีที่พบบ่อยที่สุด แต่ห่วงการผลิตข่าวซ้ำ ยิ่งอธิบายรายละเอียดมาก กระโดดตึกกี่ชั้น รมควันด้วยอุปกรณ์ใด อัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น แต่หากนำเสนอวิธีป้องกันและดูแลจะช่วยลดอัตราฆ่าตัวตาย หาก แนวทางป้องกันภาวะซึมเศร้า ต้องสร้างทักษะชีวิต สอบได้เรื่องตลก สอบตกเรื่องธรรมชาติ คิดสร้างสรรค์ จัดการอารมณ์ทั้งบวกและลบได้อย่างเหมาะสม จำกัดวิธีและมีระบบเฝ้าระวัง สอดส่องมองหาในสถานศึกษา เพราะเคสฆ่าตัวตายจำนวนมาก มีสัญญาณบอกก่อน การใส่ใจรับฟังเป็นวิธีปฐมพยาบาลทางจิตใจเบื้องต้น ถัดมาส่งต่อเชื่อมโยง นี่คือ นาทีชีวิตเป็นจุดเปลี่ยนได้" พญ.ดุษฎี กล่าว
พญ.ดุษฎี กล่าวด้วยว่า สังคมไทยแห้งแล้งคำชม เด็กเติบโตโดยไม่รู้คุณค่าของตัวเอง ทำอย่างไรให้เกิดสังคมให้คุณค่า และให้โอกาสคนทำผิด
ด้าน ดร.ลูซี่ ตันอติชาติ สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมสะมาริตันส์ฯ ตั้งมา 40 ปีในไทย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีการให้บริการทางโทรศัพท์ โดยมีอาสาสมัครรับฟัง เราจะให้ผู้โทรได้พูดถึงความไม่สบายใจ ไม่เร่งเร้า สะท้อนถึงสถานการณ์ที่ผู้โทรกำลังเผชิญ ถามถึงทางออกที่ผู้โทรคิดว่า จะทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ถ้าคิดไม่ออกเราจะช่วยกันคิด แต่ไม่แนะนำ รวมถึงถามถึงความคิดที่จะจบชีวิตหรือฆ่าตัวตาย ให้กำลังใจ เราถามผู้โทรจะทำอย่างไรหลังจบการสนทนา เราไม่ด่วนตัดสินผู้โทร จะมีทั้งผู้ท้อแท้ สิ้นหวัง และผู้มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งจะมีการประเมินความเสี่ยงของผู้โทรต่อการฆ่าตัวตาย ทั้งคำพูด น้ำเสียง สิ่งแวดล้อม อยู่คนเดียว หรืออยู่หอพับเพื่อน มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่ มีการเตรียมอุปกรณ์ในการฆ่าตัวตายหรือไม่ อยู่ใกล้หรืออยู่บนตึกสูงหรือไม่ หรืออยากให้ไปพบผู้โทรหรือไม่ โดยจะมีการประวิงเวลาให้ผู้โทรผ่านพ้นวิกฤตช่วงนั้นไป จากสถิติมีผู้โทรติดต่อเข้ามาที่สมาคมฯ กว่าหมื่นรายต่อปี
" เฟซบุ๊กช่วยได้โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ติดตามข้อมูล ถ้ามีโพสต์ที่มีคำพูดแสดงภาวะซึมเศร้า เหงา เสี่ยงฆ่าตัวตาย จะมีหมายเลขโทรศัพท์ของสมาคมสะมริตันส์ที่เขาจะติดต่อได้ ปัจจุบันวัยรุ่นมีการท่องเน็ตหาเพื่อน มีการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ ถูกแบล็กเมย์ ซึ่งนำมาสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ควรมีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ " ดร.ลูซี่ กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |