พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า วิกฤติขยะพลาสติกยังเป็นปัญหารุนแรงที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงสนับสนุนการยกร่างโรดแมปจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ เช่น มุ่งยกเลิกพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มภายในปี 2562 การยกเลิกถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา น้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหลอดพลาสติก ภายในปี 2565 เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการยกร่างโรดแมปเพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวแล้ว คณะรัฐมนตรียังมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงาน “โครงการทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วประเทศ ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ซึ่งผลการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ มีความคืบหน้าไปมากดังนี้
1.มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดประจำปีงบประมาณ 2562 สำหรับประเมินผู้บริหารองค์การ ปลัดกระทรวง อธิบดี จำนวน 152 หน่วยงาน และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด โดยเริ่มประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป แต่ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ได้มอบนโยบายเพิ่มเติม คือ ต้องมีเกณฑ์ประเมินผลมากกว่าหน่วยงานสังกัดอื่น 2 เท่า
2.กิจกรรมรณรงค์ “ทำความดี ด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้แยกพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ 2.1) ตลาดสดเทศบาลและเอกชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 21กรกฎาคม 2561 - 28 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถลดถุงพลาสติกได้กว่า 464 ล้านใบ 2.2) ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งผลดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ 250 ล้านใบ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์งดให้บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 ซึ่งจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 สามารถลดได้อีก 100 ล้านใบ โดยเมื่อรวมกิจกรรมทั้งหมดเท่ากับสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 814 ล้านใบ หรือประมาณ 4,600 ตัน ภายในระยะเวลา 7 เดือน
3.กิจกรรมลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 ถึงเดือนมกราคม 2562 มีผู้ร่วมโครงการ 4,270,129 คน สามารถลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ 1,639,920 ชิ้น
4.การรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่สวนสัตว์ โดย องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
5. การจัดการขยะบกสู่ขยะทะเลในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ได้ดำเนินการใน5กิจกรรมสำคัญคือ 5.1) การจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศอย่างน้อยจังหวัดละ 2 ครั้ง รวมถึงจัดทำมาตรการลดปริมาณขยะทะเลพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี พังงา ภูเก็ต และตรัง 5.2) การรณรงค์ชายหาดปลอดบุหรี่และปลอดขยะ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นนำร่อง 24 แห่งใน 15 จังหวัด 5.3) การจัดทำทุ่นกักขยะ (Boom) เพื่อการจัดการขยะบริเวณปากแม่น้ำและคลองที่จะไหลลงสู่ทะเล นำร่องพื้นที่เป้าหมาย 10 แห่ง และ 5.4) การกำจัดขยะในพื้นที่มีปัญหาเฉพาะ อาทิ การดำเนินมาตรการคุ้มครองพื้นที่เกาะเต่า เกาะพะงัน เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ปัญหาขยะและขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องสำคัญระดับนานาชาติ ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำที่จะยกระดับความร่วมมือในการจัดการปัญหาขยะทะเลให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเล “Special ASEAN Ministerial Meeting on Marine Debris” ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันว่าปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาข้ามพรมแดนและรับทราบถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ โดยรัฐมนตรีอาเซียนได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านความยั่งยืนและเพื่อส่งเสริมการประสานงานที่สอดคล้องกันภายใต้กรอบความร่วมมือของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนและทิศทางในอนาคต รวมถึงข้อปฏิบัติที่แนะนำสำหรับอาเซียนในการป้องกันและลดปัญหาขยะทะเล
“โครงการทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายสำคัญ คือ การรณรงค์สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในพื้นที่ชุมชนและแหล่งธรรมชาติต่าง ๆ ที่กำลังก่อวิกฤติให้กับสิ่งแวดล้อมอยู่ในเวลานี้ ดังนั้นจึงอยากขอเชิญชวนคนไทยทุกคนมารวมพลังกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ด้วยการช่วยกันลดใช้ถุงพลาสติกและกล่องโฟมและปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |