หนังสือ ANAND PANYARACHUN AND THE MAKING OF MODERN THAILAND โดย Dominic Faulder กำลังได้รับความสนใจจากคนจำนวนไม่น้อย เพราะเป็นครั้งแรกที่เล่าเรื่องชีวิตของ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน อย่างละเอียด สนุกและได้สาระ
ผมคุยกับคุณอานันท์เรื่องที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้ ขอตัดอีกบางช่วงบางตอนของการสนทนามาให้ได้อ่านกันครับ
สุทธิชัย: หนังสือเล่มนี้เป็นการเอาประวัติศาสตร์และประสบการณ์ของคุณอานันท์มาบอกเล่าอย่างน่าสนใจ มีทั้งที่มองตรงกันและมองต่างกันนะครับ
คุณอานันท์: ใช่ ผมยังแนะนำให้โดมินิกไปสัมภาษณ์คนอย่างอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) และอาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) กับอาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล)
ผมเคยสัมผัสงานกับทั้ง 3 ท่านค่อนข้างจะมาก แล้วก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ก็เคยเถียงกัน ผมยังเคยแนะนำคนเขียนไปพบกับพวกเสื้อเหลืองเสื้อแดงด้วยนะ เพื่อให้ทุกฝ่ายมามองให้ครบด้าน เพราะผมว่ามันจะทำให้เรื่องสนุกด้วย ไม่ใช่มานั่งเขียนแต่เรื่องผม
สุทธิชัย: 200 ชั่วโมงนี่ประมาณกี่วันครับ ครั้งละประมาณกี่ชั่วโมง
คุณอานันท์: ก็ 3-4 ปีนะ ครั้งหนึ่งก็ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
สุทธิชัย: แต่ว่าจริงๆ แล้วเขาไปสัมภาษณ์คนร้อยกว่าคนด้วย
คุณอานันท์: ผมก็ให้เขาติดต่อกระทรวงต่างประเทศ เขาได้ไปอ่านเอกสารต่างๆ แต่แน่ล่ะเขาเป็นคนฝรั่ง เขาอาจจะมีคณะวิจัยของเขาซึ่งเป็นคนไทยอยู่ด้วย แต่หลายสิ่งหลายอย่างเขาอาจจะไม่ได้ซาบซึ้งความตื้นลึกหนาบางของเหตุการณ์ในวันนั้นๆ
สุทธิชัย: แต่ว่าเขาก็ไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์เยอะเลยนะครับ
คุณอานันท์: มีครับ มีมากเลยทีเดียว
สุทธิชัย: ฉะนั้นก็จะได้รู้เบื้องลึกจริงๆ ในหลายเรื่อง เบื้องหลังของการตัดสินใจ เบื้องหลังของการที่คุณอานันท์ต้องเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้น แล้วก็วิธีคิดที่ต้องเปลี่ยน การตัดสินใจที่สำคัญๆ หลายครั้ง อยู่ในนี้หมด ผมถึงบอกว่ามันไม่ใช่แค่ประวัติของคุณอานันท์เพียงอย่างเดียว มันเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยด้วย ซึ่งมันช่วยทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปจะได้เรียนรู้จากตรงนี้ได้เยอะ
ทาง Publisher เมื่อเขาจะต้องการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เขาไปเลือก Dominic Faulder หรือว่าคุยกันอย่างไรครับ
คุณอานันท์: ผมเข้าใจว่าเป็นการตัดสินใจของโดมินิก แล้วโดมินิกก็คุยกับพรรคพวก คุยกับบริษัท บริษัทก็บอกดี สนับสนุน โดมินิกเป็นคนเขียน แต่ในการเขียนหนังสือนี่เมื่อเสร็จแล้ว สุดท้ายมันต้องมี editor คอยปรับปรุงด้วย
สุทธิชัย: ส่วนใหญ่คุณอานันท์ได้อ่านหมดแล้วมันตรง มันแม่นหรือไม่
คุณอานันท์: ผมได้อ่านหมดเมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว
สุทธิชัย: ก่อนพิมพ์นี่ไม่ได้อ่านหมด?
คุณอานันท์: ไม่ได้อ่านหมด ในหนังสือเขาก็เขียนว่าผมไม่ได้เซ็นเซอร์เขาเลย เขาจะมีความเห็นยังไง เขาจะเขียนยังไงก็เป็นความรับผิดชอบของเขา
สุทธิชัย: เขาเป็นมืออาชีพพอสมควร เพราะว่าอย่างกรณีที่สัมภาษณ์ผม เมื่อเขาเขียนเสร็จเขาจึงส่งมาให้ผมตรวจสอบก่อนว่าแบบนี้ใช่ไหม อย่างนี้ถูกต้องไหม เพราะว่าตอนที่สัมภาษณ์ เขาอัดเทปอะไรต่างๆ นานา แต่ว่าการนำไปเขียนมันอาจจะไม่ใช่ ฉะนั้นเขาก็มืออาชีพพอสมควร
คุณอานันท์: อย่างเขาไปสัมภาษณ์คนอื่นมา เขาอัดเสียงไว้ แล้วนำมาให้ผมอ่าน ผมมาอ่านผมก็บอกว่า เอ! อันนี้ความจำไม่ตรงกัน แต่ผมก็ไม่ได้ไปแตะต้องเขา เพราะผมก็ไม่ได้เป็นคนพูด เป็นนาย ก. นาย ข.พูด ผมอาจจะมีความจำอีกอย่างหนึ่ง เราไม่ไปขัดแย้ง เราไม่ไปแก้ไขเขา
สุทธิชัย: ก็เลยจะเรียกว่าเป็น authorized biography ใช่หรือไม่ครับ
คุณอานันท์: ใช่ แบบนี้เขาเรียกว่า authorized biography ไม่ใช่ autobiography เพราะถ้าเป็น autobiography นี่คือเขียนประวัติตัวเอง แต่แน่ล่ะ เขียนเองนี่เราอาจจะมีคนอื่นช่วยแต่จะต้องรับผิดชอบด้วย อันนี้สมมติถ้ามีอะไรที่คนไม่ชอบ อยากจะฟ้องร้อง ก็อย่ามาฟ้องร้องที่ผม ไปฟ้องร้องที่คนเขียน
สุทธิชัย: รูปขึ้นปกดูสีหน้าแววตาของคุณอานันท์มีความสดชื่น สะท้อนถึงการ alert อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ดูเป็นกันเองด้วย
คุณอานันท์: นี่รูปนี้ไม่ใช่รูปหนุ่มนะ นี่แก่แล้วผมขาวหมดแล้ว หัวล้านแล้ว
สุทธิชัย: แต่ว่าเป็นกันเองนะครับดูชุดนี้ ไม่ใส่เสื้อนอก ไม่ใช่เป็นชุดทางการ
คุณอานันท์: ใช่ เพราะส่วนใหญ่จะออกมาเป็นใส่เสื้อ หรือท่ากำลังพูด ยกมือก็บอกไม่เอา
สุทธิชัย: ใช่ครับ ถ้าเป็นรูปนั้นมันก็จะเป็นทางการเกินไป เพราะว่าจริงๆ เวลาพูดถึงคุณอานันท์ ปันยารชุน แต่ละคนจะมีภาพที่ต่างกันไป บางคนก็จะมองคุณอานันท์ในฐานะเป็นนักพูดในที่สาธารณะ บางคนมองจากมุมเป็นนายกรัฐมนตรี อีกคนอาจจะมองในฐานะเป็นนักการทูต หรืออาจจะมองเป็นนักธุรกิจ แต่รูปนี้สะท้อนถึงความเป็นคุณอานันท์ ตัวตนของคุณอานันท์พอสมควรเลยทีเดียว รูปนี้เขาเลือกให้หรือว่าอย่างไร
คุณอานันท์: เขาเลือกสิ
สุทธิชัย: เขาเลือกหรือครับ ไม่ได้ไปบอกก่อนหรือว่าจะใช้รูปนี้
คุณอานันท์: เขาเอารูปนี้มาใช้ดู
สุทธิชัย: แล้วชื่อนี้ล่ะ Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand ชื่อนี้แหละที่ผมว่ามันได้ความหมาย
คุณอานันท์: ชื่อนี้เขาก็เอามาปรึกษาผม เราก็หารือกันไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร ตอนหลังพอออกมาเข้าผมก็ว่ามันดี เพราะมันทำให้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของนายอานันท์นะ แต่เป็นเรื่องของประวัติการทูตของประเทศไทยในบริบทของการเติบโตของประเทศไทยด้วย
สุทธิชัย: และรวมถึงแต่ละขั้นตอนที่ประเทศไทยต้องฟันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ นานา พอเขาต้องมาสัมภาษณ์คุณอานันท์ 200 ชั่วโมง แล้วต้องช่วยกันคิดว่าคนไหนน่าจะอยู่ในเหตุการณ์ไหน มันช่วยทำให้คุณอานันท์คิดย้อนกลับไป มันทำให้เห็นภาพเก่าและสามารถเรียงลำดับชีวิตในอดีตได้ดีขึ้นหรือไม่
คุณอานันท์: ถ้าหากจะพูดด้วยความสัตย์จริงนะ ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้ผมรู้จักผมมากขึ้น (หัวเราะ)
สุทธิชัย: (หัวเราะ) ใช่ครับใช่
คุณอานันท์: รู้จักผมแล้วยังทําให้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเราไม่สำนึกว่าเราเป็นคนอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วมันออกมาเลย เพราะผมเองผมก็เปลี่ยนไปเยอะนะ อย่างที่เขียนในสมัยที่ผมหนุ่มๆ ผมก็เป็นคนใจร้อน เป็นคนเอาแต่ใจตนเอง เป็นคนพูดไม่เกรงใจความรู้สึกของคนอื่น แต่ปัจจุบันที่คุณพบผมมา 2 -3 ปีหลัง คุณก็รู้จักผมมา 30 กว่าปีแล้ว 2-3 ปีหลังนี้ผมเป็นคนอ่อนโยนมากขึ้น เกรงใจคนมากขึ้น เรียกว่ามีสติมากขึ้น
สุทธิชัย: (หัวเราะ) ใช่ เรียกได้ว่ามีความสุขุมรอบคอบมากขึ้นใช่ไหมครับ ใจเย็น พูดง่ายๆ ใจเย็นขึ้น
คุณอานันท์: ก็แก่มากขึ้น ความแก่ความชรา
สุทธิชัย: แต่พออ่านแล้วถึงกับ อ้อตอนนั้นเราเป็นอย่างนี้ เออจริงเราไม่ได้คิดว่าตัวเราเป็นอย่างนั้น
คุณอานันท์: อืม ใช่ๆ เฮ้ยเป็นไปได้หรือ
สุทธิชัย: แต่ที่สำคัญคือมีความเห็นและคอมเมนต์จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์
คุณอานันท์: แล้วเขาก็ให้ความเห็นที่ตรงไปตรงมามาก
สุทธิชัย: ใช่ก็มีบางคนบอกว่า โอ้ยคุณอานันท์แกเป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก แกพูดกับคนแกไม่เกรงใจหรอก อันนี้ก็มี
คุณอานันท์: แต่ผมรู้จักขอโทษนะ ถ้าผมรู้สึกผมทำอะไรล่วงเกินจนเกินไป ผมก็ขอโทษนะ แล้วคนที่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับผม สุดท้ายใน 20 ปีหลังก็กลายเป็นเพื่อนกันทุกคนเลย
สุทธิชัย: ครับ เพราะคุณอานันท์รู้ว่า ณ ขณะนั้นเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างนั้น
คุณอานันท์: ข้อเท็จจริงไม่ครบสมบูรณ์
สุทธิชัย: ข้อเท็จจริงไม่ครบสมบูรณ์ ฉะนั้นเราก็ react ไปตามนั้น
คุณอานันท์: หลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำไปก็อาจจะเข้าใจเหตุผลผิด เข้าใจความตั้งใจของเราผิดไป ซึ่งก็เป็นของธรรมดา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |