ทำไมต้องผลักดัน "อาชีวะ" กับ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร


เพิ่มเพื่อน    

        การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. มีนักวิชาการหลายคนที่ตัดสินใจก้าวมาสู่เวทีการเมืองเต็มตัวเป็นครั้งแรก หนึ่งในนั้นมีชื่อ ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค อดีตเคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมมีประสบการณ์วิชาการอย่างมากมาย ทั้งวิทยากรให้กับสถาบันพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ บริษัท ทุนมนุษย์ จำกัด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) คณะกรรมการการอำนวยการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร นอกจาก ดร.จักษ์ จะดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคแล้ว ยังเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาของ รปช.ด้วย

ทุกคนทราบดีว่า ประเทศไทยติดปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างการศึกษามานานเต็มที และเกี่ยวโดยตรงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทาง รปช.มีแนวทางจัดการปัญหานี้อย่างไร

        คนเคยได้รับโอกาสเป็นวิทยากรให้กับโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เกี่ยวกับครูที่สอนเด็กบนดอยทำหน้าที่สอนนักเรียนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งให้ความรู้อีกหลายเรื่องแก่ชาวบ้าน ทั้งระบบสาธารณสุขเบื้องต้น ไปจนถึงช่วยซ่อมบ้าน  ซึ่งการให้นักเรียนเหล่านี้มาสอบวัดระดับความรู้เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย โดยใช้ตัวชี้วัดกลางเป็นมาตรฐาน จะยิ่งเห็นเลยว่า ความเหลื่อมล้ำมีสูงมาก เมื่อประกอบกับปัจจัยอื่น อย่างคุณภาพบุคลากร จำนวนครูต่อนักเรียน โดยเฉพาะในชุมชนที่ห่างไกล หรือนโยบายที่ออกมาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทำให้การศึกษาไม่มีประสิทธิภาพ และความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยิ่งทำให้ระบบการศึกษาถอยหลังไปกว่าเดิมต่อเนื่องทุกปี

        “ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณต่อปีเยอะที่สุด แต่นโยบายที่ออกมากลับไม่มีความยืดหยุ่น อย่างนโยบายแจกแท็บเล็ต แต่บางโรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าจะใช้เลยด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารัฐยังมองการศึกษาแบบรวมศูนย์ พยายามเอาโมเดลของการศึกษาในเมืองไปใส่ในชนบทแล้วคิดว่าจะได้ผล ซึ่งผลที่ออกมามันตอบแล้วว่าไม่ได้ เมื่อถูกซ้ำเติมโดยใช้ตัวชี้วัดเป็นมาตรฐานกลางยิ่งทำให้เราดิ้นไม่หลุดจากชุดความคิดแบบนี้”

ตามแนวทางดังกล่าว สิ่งที่ยากกว่า การหาว่าโครงสร้างระบบการศึกษาแบบไหนเหมาะกับประเทศ นั่นคือการเปลี่ยนค่านิยมแบบเดิมที่ฝังหัวคนไทยมาหลายสิบปี โดยเฉพาะเรื่อง การเข้ามหาวิทยาลัย

        สังคมไทยยังติดค่านิยมเรื่องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้มองถึงความเหมาะสมกับศักยภาพที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน แม้รัฐบาลจะพยายามพูดถึงการศึกษาทางเลือก แต่ดันออกนโยบายคนเรียนจบปริญญาตรี 15,000 แสดงให้เห็นว่าเขาไม่มีความจริงใจ หรือเมื่อสัก 40 ปีที่แล้ว คนเก่งต่างอยากเข้าวิทยาลัยครู แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีกระแสมหาวิทยาลัยมา คนก็เปลี่ยนไปเรียนมหาวิทยาลัยกันหมด ทำให้วิทยาลัยครูเองต้องปรับตัว ให้เป็นมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้รัฐล้วนเป็นผู้ชี้นำทั้งสิ้น

        “ทุกวันนี้ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ ไม่ต้องการนักศึกษาปริญญาตรี บางแห่งลดวุฒิการศึกษาที่รับสมัครพนักงาน เหลือระดับ ปวส. เห็นได้ว่าสถาบันการศึกษาของบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งต่างผลิตบุคลากรเอง อย่าง เจริญโภคภัณฑ์ สื่ออย่างเนชั่น โรงแรมเครือดุสิตธานี ที่มีวิทยาลัยของตัวเอง เป็นต้น”

รปช.เองจึงออกแบบนโยบายการศึกษาแห่งอนาคต เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง สร้างแรงงานที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาด และที่สำคัญ นอกจาก ”เก่ง” แล้ว ต้อง “ดี” ด้วย

      นอกจากยกระดับมาตรฐานของโรงเรียนทั่วประเทศให้ใกล้เคียงกันแล้ว รปช.จะส่งเสริมการศึกษาทางเลือกอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะเรื่อง “อาชีวะ” โดยอาศัยโมเดล “วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ” ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี สถาบันแห่งนี้ให้นักศึกษาเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เรียนรู้จากบุคลากรที่มีประสบการณ์ อย่างเรื่องการโรงแรม ทำอาหาร หรือบริหารธุรกิจ จากเชฟต่างชาติในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านภาษา ที่เป็นปัญหาของคนไทยมานาน คนไทยมีทักษะการทำงานที่ดี แต่หลายคนยังติดปัญหาเรื่องภาษา และที่สำคัญคือเรานำธรรมะมาใส่ในวิถีการดำเนินชีวิตของนักศึกษาที่นี่

        วิทยาลัยแห่งนี้การหารายได้เพิ่มเติม โดยการทำเกษตรกรรม หรือเลี้ยงไก่เพื่อนำไข่และผลผลิตทางการเกษตร ออกจำหน่ายในชุมชน เช่นเดียวกับสินค้าภายใต้แบรนด์ BBVC ของอาชีวะ อาทิ ขนมปัง แยม น้ำพริก

        “การเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้คนมองอาชีวะใหม่ ต้องมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ผมมองว่าปัจจุบัน หากคุณจบ ปวส.จากสถาบันการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เงินเดือนที่ควรจะได้คือไม่ต่ำกว่า 25,000 แต่เรื่องนี้ภาครัฐ-ภาคเอกชน ต้องมาร่วมกำหนดด้วยว่า ตลาดแรงงานในขณะนั้นต้องการแรงงานแบบไหน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หากถามต่อว่าแล้วภาพความรุนแรงของเด็กอาชีวะจะแก้อย่างไร คำตอบคือ การนำธรรมะเพิ่มเข้าไปไม่ใช่แค่ในหลักสูตร แต่ต้องอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของนักศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนมุมมองของสังคม”

        เรามีเป้าหมายขยายวิทยาลัยอาชีวะ โดยให้เรียนฟรี ไม่เสียค่าจ่าย รูปแบบนี้ไปพื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย แต่อาจแตกต่างในรายละเอียดของภูมิปัญญาและควาเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ความหลากหลาย ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม แต่สิ่งสำคัญคือต้องยึดโยงกับธรรมะ เพื่อสร้างคุณธรรมให้มีอยู่ในนักศึกษาทุกคน และแนวทางการเรียนรู้ต้องมีเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น หาทางต่อยอดและพัฒนา เพิ่มมูลค่าจุดแข็งของสินค้า และชุมชนผ่านนวัตกรรมใหม่ๆ

        ทั้งนี้ เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง ถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับการออกแบบนโยบายด้านการศึกษา ผมเห็นรัฐบอกว่า เราจะพัฒนาด้านการแปรรูปยางพารา แต่กลับไม่มีสถาบันการศึกษาไหนที่มุ่งให้การศึกษาเรื่องนี้ โดยยกให้เป็นวาระที่สำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมระบบราง เช่นเดียวกัน อะไหล่รถไฟหลายอย่างเราผลิตเองได้ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีการต่อยอดในส่วนนี้ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการพัฒนาประเทศ

        “การศึกษาเป็นทางเดียวที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างถาวร เช่นเดียวกับการเพิ่มทักษะชีวิต ที่เป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาคนในยุคต่อไป เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่า การสร้างคนเก่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่การสร้างคนดีนั้นยากกว่า”.

 

ประวัติการศึกษา

 

- นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

- วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

- รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.) การปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

- การจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

- รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ร.ด.) รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่ง อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"