หนังสือชื่อ Anand Panyarachun : The Making of Modern Thailand เขียนโดย Dominic Faulder นักข่าวฝรั่งที่ประจำเมืองไทยมายาวนานวางตลาดเมื่อต้นปีนี้ กำลังเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงคนอ่านหนังสือการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมไม่น้อย
เป็นหนังสือที่น่าอ่าน มีเบื้องหลังชีวิตของอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องหลายราวที่คนไทยจำนวนมากยังไม่เคยได้รับรู้มาก่อน โดยเฉพาะเบื้องหลังการตัดสินใจรับตำแหน่งสำคัญๆ รวมถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้งในชีวิตการทำงานของ “ผู้ดีอังกฤษ” คนนี้
ผมสัมภาษณ์คุณอานันท์ค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ จึงคัดและตัดต่อบางตอนมาให้ได้อ่านกันครับ
สุทธิชัย : หนังสือเล่มนี้ผมอ่านแล้วสนุกครับ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังชีวิตคุณอานันท์ที่น่าสนใจมากมาย อีกทั้งยังได้เข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันด้วย หนังสือเล่มนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรครับ?
คุณอานันท์ : ครับ เพราะมันไม่ใช่ประวัติของผมคนเดียว มันเป็นประวัติเชิงการทูตของเมืองไทยด้วย เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ การเมืองการทูตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเรื่องเวียดนาม เรื่องเขมร เรื่องจีน มีเรื่องอาเซียน มีเรื่องเขตการค้าเสรีและอีกหลายเรื่อง ผมว่าถ้าเราอ่านแล้ว ผมอาจจะมีบทบาทในหนังสือนี้มากหน่อย แต่ในขณะเดียวกัน รายละเอียดต่างๆ ที่เขาเขียน ก็เป็นเรื่องที่เขาไปทำวิจัย ไปค้นคว้ามาจากเอกสาร
สุทธิชัย : ในช่วงที่โลกกำลังปรับเปลี่ยนอย่างมากเสียด้วย เพราะเป็นโลกที่อยู่ในช่วงสงครามเย็น เป็นช่วงที่ไทยเราเองก็ต้องตัดสินใจในเรื่องที่กระทบความมั่นคง กระทบเศรษฐกิจและความร่วมมือต่างๆ นานา ดังนั้นเบื้องหลังของการตัดสินใจ บางส่วนโดยเฉพาะส่วนใหญ่ที่คุณอานันท์มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ วางแผนกลับเปลี่ยน มันก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจในภูมิภาคนี้ด้วยใช่ไหมครับ
คุณอานันท์ : ใช่ครับ แล้วก็สำหรับเมืองไทยด้วย ผมใช้ชีวิตในราชการร่วม 30 ปี ตอนหลังมาเป็นนายกฯ 2 ครั้ง เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรี ดร.ถนัด คอมันตร์ แล้วตอนที่ผมเข้าสู่กระทรวงการต่างประเทศใหม่ๆ ผมก็ได้สัมผัสบ้างพอประมาณกับ 'เสด็จในกรมฯ' กรมหมื่นนราฯ 'พระองค์วรรณ' (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) และได้มีโอกาสพบปะกับผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน
ในฐานะที่ผมเป็นข้าราชการที่ชั้นอาจจะไม่ได้สูงนัก เป็นเลขานุการรัฐมนตรีก็เดินทางไปกับรัฐมนตรี ไปตามที่ต่างๆ ท่านพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศคนไหน พบกับเลขาธิการสหประชาชาติ พบกับนายกรัฐมนตรีประเทศต่างๆ ผมก็เข้าร่วมนั่งฟังอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นความโชคดีของผม แล้วคุณถนัดท่านเป็นคนที่ทำงานเร็ว ทำงานไว และเป็นคนตรงไปตรงมา ผมก็คงจะได้รับบทเรียนหลายๆ อย่างจากท่าน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำงานของผมในเวลาต่อมา
สุทธิชัย : แนวคิดที่จะเริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นจากโดมินิกเองใช่ไหมครับ แกมาทาบทามอย่างไร และคุณอานันท์ยอมได้อย่างไร เพราะคุณอานันท์เคยบอกผมว่า ‘โอ้ยไม่เอา ผมไม่อยากจะโอ้อวดตัวเอง’
คุณอานันท์ : โดมินิกนี่เขาเป็นนักเขียน อยู่เมืองไทยมา 20-30 ปีนะ รู้เรื่องเมืองไทยดี เขาเป็นนักเขียนมืออาชีพ เคยทำงานกับสำนักงานข่าวหรือหนังสือแมกกาซีนในภูมิภาคนี้หลายฉบับ แล้วก็ทำเรื่องเมืองไทยหลายเล่มแล้ว แล้วในการเขียนหนังสือหลายเล่มนั้น ผมก็มีส่วนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหนังสือที่บริษัทนี้พิมพ์ขอให้ผมไปช่วยเป็นประธาน หรือเป็นแชร์แมน (chairman) ของ editorial board เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่ออะไรต่างๆ เป็นต้น
สุดท้าย เมื่อประมาณสัก 4-5 ปี ก็ได้มีการเขียนเรื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งก็ออกมาเป็นเล่มใหญ่พอใช้ เป็นภาษาอังกฤษเหมือนกัน แล้วเขาก็ขอให้ผมเป็นประธานใน editorial board อีก ในการเป็นประธานของกองบรรณาธิการ เราไม่ไปยุ่งกับสิ่งที่เขาเขียน ไม่ไปยุ่งกับสาระของหนังสือหรือสไตล์ของการเขียนหรืออะไรของเขา แต่เราพยายามที่สุดที่จะให้เห็นว่าข้อความที่เขาเขียนมันเป็นความจริง อาจจะเป็นความจริงในแง่ดีและทางไม่ดีอะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเป็นความจริง
พอหนังสือเล่มนั้นจบเขาก็มาถามผมว่า ทำไมยูไม่เขียนเรื่องของตัวเองบ้าง ผมก็บอกไปว่า ในสังคมไทยหรือในวัฒนธรรมไทย การเขียนประวัติตนเองมันมีอัตราเสี่ยงพอใช้ เพราะว่าตามวัฒนธรรมของเรา เราเขียนอะไรไปหากมันไปพาดพิงบุคคลที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นในทางที่ดี หรือในทางที่วิพากษ์วิจารณ์ มันอาจจะเกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย บรรดาลูกเต้าพี่น้อง ก็อาจจะชี้ว่าเราเขียนแบบไม่ให้ความยุติธรรมกับเขา หรือกับปู่เขา หรือกับน้าเขา มันจึงเป็นดาบสองคม
และถ้าหากเราเขียนเรื่องของคนที่สิ้นชีวิตไปแล้วยิ่งหนักใหญ่เลย เพราะตามธรรมเนียมไทยคนที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่ควรจะพูดในสิ่งที่ ผมไม่ได้บอกว่าพูดในสิ่งที่ไม่ดีนะ แต่พูดในสิ่งที่เราเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์ ผมก็เลยบอกว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของผม มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมพูดไม่ได้ เพราะว่ามันจะเป็นความลับทางราชการก็ดี เป็นจารีตประเพณี เราไม่ได้อยู่ในฐานะที่พูดได้
เขาจึงบอกว่า ถ้าหากว่าเขาเขียนให้จะสนใจหรือไม่ ผมก็ตอบว่าสนใจซิ เพราะว่าผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตั้งแต่ทำงานราชการกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่อายุ 23 ปี มาออกตอนอายุ 47-48 ผมก็ได้เห็นการเมืองระหว่างประเทศ ของนโยบายต่างประเทศที่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ในระยะ 70-80 ปีที่ผ่านมา คนไทยก็ทำชื่อเสียงให้กับเมืองไทยมาก ผมจึงบอกว่าดีซิถ้าเผื่อคุณอยากจะเขียน
เขาบอกว่า ในการเขียนเขาจะต้องทำการค้นคว้านะ ผมบอกแน่นอน และข้อ 2 เขาต้องขอมาสัมภาษณ์ผม ผมจึงบอกว่าได้ ทำเป็นในลักษณะ oral history แล้วก็ควรจะสัมภาษณ์คนอื่นด้วย
ทั้งหมดใช้เวลาอยู่กว่า 4 ปี ประมาณ 200 ชั่วโมง เขาก็ถามผมว่า ผมจะแนะนำให้เขาไปคุยกับใครบ้าง ผมก็ให้รายชื่อไปสักประมาณร้อยกว่าชื่อ ร้อยกว่ารายชื่อส่วนใหญ่ก็ตอบรับ รวมทั้งคุณด้วย แต่หลายคนท่านก็มีปัญหามีเหตุผลส่วนตัว แล้วผมก็แนะนำให้ไปสัมภาษณ์คนที่ความเห็นไม่ตรงกับผมด้วย ผมก็บอกว่าผมอยากที่จะให้การเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นการเขียนหนังสือเพื่อมาสรรเสริญเยินยอผม แบบนั้นไม่ใช่ มันจึงต้องมีทั้งติทั้งชม มันจึงต้องมีทั้งตั้งข้อสังเกต มีข้อสงสัยหรือไปสัมภาษณ์คนอื่นๆ ที่มีความเห็นไม่ตรงกับผม หรือไม่ชอบผม สมมตินะ มันก็เป็นประโยชน์มันจะได้มองหลายมุม เพราะคนเรามันไม่ใช่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันต้องมีจุดอ่อน มันต้องมีข้อบกพร่อง มันมีบางสิ่งบางอย่างที่การตัดสินใจของเราอาจจะผิดได้ ต้องมาพูดกัน เป็นการเขียนแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่เขียนถากถาง ไม่ใช่เป็นการเขียนประจาน ไม่ใช่เป็นการเขียนโดยมีลับลมคมในหรือมีวาระส่วนตัว (personal agenda) นะครับ ไม่ใช่เรื่องแบบนั้น
(พรุ่งนี้ : เบื้องหลังการเขียนหนังสือเล่มนี้)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |