อย.ผนึกศอ.ปส.ตร.ปฎิบัติการสยบไพรี จับยาลดอ้วนเถื่อน พบทำเป็นขบวนการ มีแพทย์ร่วมด้วย ส่งขายนอก


เพิ่มเพื่อน    

11 มี.ค.62- นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)    พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย.ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.) นำทีมโดย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. / ผอ.ศอ.ปส.ตร. เป็นประธาน ร่วมกับ พล.ต.ท. ชินภัทร สารสิน ผบช.ปส. ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า    จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบนำยาลดความอ้วนที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตัวยา Phentermine (เฟนเตอร์มีน) ชื่อการค้า Duromine (ดูโรมีน)    และ Panbesy (แพนบีซี่) ออกนอกระบบ จึงได้ประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจปราบปราม    ยาเสพติด ในการสืบหาตัวผู้กระทำความผิด จากข้อมูลการสืบสวนพบว่า มีกลุ่มนายทุนร่วมมือกับแพทย์      ในเครือข่าย ลักลอบนำวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวออกจากระบบการควบคุมของ อย. โดยไม่ได้มีการจ่ายให้แก่ผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่เป็นสถานที่รับอนุญาตฯ สำหรับวัตถุออกฤทธิ์ที่นำออกนอกระบบนี้ ส่วนหนึ่งมีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับผู้ค้ารายย่อยนำไปขายต่อผ่านทางแอปพลิเคชัน ไลน์ ไอจี  และเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน แคนาดา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสมคบ ร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันทำงาน เพื่อเอาวัตถุออกฤทธิ์ออกนอกระบบโดยอาศัยใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของแพทย์เป็นใบเบิกทางนำมาหลอก อย. ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่      4 - 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 - 2,000,000 บาท

 


     “ยาลดน้ำหนัก” หรือ “ยาลดความอ้วน” มักจะประกอบไปด้วยยาหลายชนิดเพื่อให้เห็นผลเร็วในการ  ลดน้ำหนัก เช่น ยาลดความอยากอาหาร ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ยาขับปัสสาวะ และยาระบาย ซึ่งการรับประทานยาเหล่านี้ด้วยกัน อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อร่างกายได้ สำหรับยาลดความอยากอาหาร “เฟนเตอร์มีน” เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและทำให้เกิดการติดยาได้ ดังนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559  ซึ่งมีการควบคุมการขาย โดย อย. และจะขายให้เฉพาะสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยที่แพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยแล้วเท่านั้น ยานี้ควรใช้ในระยะสั้น คือ 4 - 6 สัปดาห์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน เนื่องจากมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งผลข้างเคียง   อื่น ๆ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว หากใช้ไปนาน ๆ อาจถึงขั้นติดยาได้ หรือทำให้น้ำหนักที่ลดลงคืนกลับมาอีก นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ อีก เช่น ปากแห้ง อาเจียน ท้องผูก เหงื่อออก ตื่นเต้น ม่านตาขยาย ประสาทหลอน อาจทำให้เกิดโรคจิตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง  จะพบว่ามีไข้สูง เจ็บหน้าอก การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ชัก โคม่า และตายได้ จะเห็นได้ว่าการใช้   ยาเฟนเตอร์มีนอาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดอุดตัน         โรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน มีประวัติการใช้ยาในทางที่ผิด เป็นโรคจิตหรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ผู้ป่วยที่กำลังได้รับยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors (MAOI) รวมทั้งที่เคยได้รับ MAOI มาก่อนหน้านี้ไม่เกิน 14 วัน ซึ่งภาวะเหล่านี้ ถือเป็นข้อห้ามใช้ของยาเฟนเตอร์มีน เนื่องจากผลข้างเคียงจากยา  จะมีผลทำให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยมีสภาวะเลวลง

      เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า การรับประทานยาลดความอ้วนเฟนเตอร์มีนติดต่อกันเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิตและประสาทได้ คล้ายกับคนเสพยาบ้า ดังนั้นจึงต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะมีผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ การรักษาโรคอ้วนที่ดี ประหยัด และปลอดภัยที่สุด คือ การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารอย่างถูกวิธี    การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"