ภาพนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมข่าวสารวันนี้?


เพิ่มเพื่อน    

    มีคนส่งรูปนี้มาให้ผม ถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร?
    ตรวจสอบแล้วได้ความว่า เป็นรูปการแถลงข่าวของนักร้องคนหนึ่งที่สื่อหลายสำนักสนใจเป็นพิเศษเพราะมีประเด็น "คบซ้อน" 
    เห็นภาพมีนักข่าวมาห้อมล้อมกันมากมายอย่างนี้ในหัวข้อข่าวเรื่องนี้ ก็คงทำให้เกิดคำถามสำหรับคนทำงานวงการสื่อวันนี้ไม่น้อย
    เช่นคำถามว่า ประเด็นข่าวเรื่องนี้มีความสำคัญต่อสังคมไทยมากมายถึงขั้นต้องเกาะติดกันอย่างละเอียด ทุกประโยคทุกความเคลื่อนไหวเลยหรือ
    เส้นแบ่งระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับ "ความอยากรู้อยากเห็น" ของสาธารณชนอยู่ตรงไหน?
    หากอ้างว่าคนที่เป็นข่าวเป็น "บุคคลสาธารณะ" ดังนั้นคนทำข่าวสามารถจะลงรายละเอียดทุกเรื่องราวเลยหรือ?
    หากเป็นเช่นนั้น คนที่มาเกี่ยวข้องกับ "บุคคลสาธารณะ" แต่ไม่ได้เป็น "บุคคลสาธารณะ" ควรมีสิทธิ์ที่จะคาดหวังว่าสื่อที่รับผิดชอบจะต้องเคารพใน "สิทธิส่วนบุคคล" เพียงใด?
    อีกคำถามหนึ่งคือ คำกล่าวอ้างของคนทำข่าวบางคนบางสำนักที่อ้างว่าพวกเขาต้อง "ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น” ของสังคม ดังนั้นการติดตามข่าวลักษณะนี้อย่าง "บ้าคลั่ง" นั้นเป็นมาตรฐานอันเหมาะควรหรือไม่เพียงใด
    บางคนอ้างว่าผู้บริโภคข่าวที่ไม่สนใจไม่ชอบข่าวอย่างนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่อ่านไม่ฟังไม่ดูข่าวได้ ปล่อยให้คนที่เขาสนใจติดตามก็ได้
    คนทำข่าวบางคนบอกว่าจำเป็นต้องติดตามข่าวอย่างนี้อย่างละเอียด ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะถูกบางส่วนของสังคมวิพากษ์วิจารณ์ "แต่นี่เป็นสัจธรรมของการทำข่าว เพราะนิสัยมนุษย์มักจะสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัวของคนอื่น"
    อาจมีคนอ้างหลักการทำข่าวว่า "หมากัดคนไม่เป็นข่าว แต่คนกัดหมาเป็นข่าว"
    หากฟังความเห็นหลายด้านเช่นนี้อาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า "ก็ต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไป เพราะไม่มีใครทำอะไรใครได้ ทุกคนมีเหตุผลที่จะทำในสิ่งที่ทำ เราต่างคนต่างก็ต้องอยู่อย่างนี้กันต่อไป"
    สรุปอย่างนี้ได้จริงๆ หรือ? สังคมไทยจะยอมให้ทุกอย่างเป็นไป "อย่างที่มันเป็นมาและเป็นไป"  กระนั้นหรือ?
    ในฐานะคนทำสื่อที่มีหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือเป็น "กระจกเงาของสังคม" และ "เป็นผู้กระตุกต่อมสำนึกของสังคม" มีคำถามที่ต้องพิจารณามากกว่าเพียงแค่ว่า "ไม่มีใครทำอะไรได้มากไปกว่านี้"
    คำถามสำหรับคนทำข่าวโดยเฉพาะในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน ที่วงการสื่อกำลังถูกกระทบอย่างแรงจากนวัตกรรมใหม่และภาวะเศรษฐกิจหนักหน่วงอาจจะต้องเพิ่มขึ้น เช่น
    ถ้าเป็นการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเมืองการเลือกตั้ง จะมีคนข่าวมะรุมมะตุ้มกันมากเพียงนี้ไหม?
    ถ้าเป็นการแถลงข่าวที่เป็นเนื้อหาสาระสำคัญต่อบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคอร์รัปชัน, ร่างกฎหมายเกี่ยวกับข้าว หรือประเด็นว่าด้วยอนาคตบ้านเมือง จะได้รับความสนใจจากคนข่าวเข้มข้นอย่างนี้ไหม?
    เราได้ยินข่าวคราวว่าสื่อหลายสำนักกำลังลดคนในกองบรรณาธิการและฝ่ายข่าวกันอย่างต่อเนื่อง  แต่เราเห็นจำนวนนักข่าวที่มาฟังการแถลงข่าวเรื่องนี้อย่างคึกคักเหนียวแน่นอย่างที่เห็นในภาพนี้ แปลว่าคนข่าวด้านบันเทิงจะมีจำนวนมากกว่านักข่าวการเมือง, เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมใช่ไหม?
    หากเป็นเช่นนี้เราจะคาดหวังเนื้อหาสาระสำหรับกระตุ้นความตื่นตัวของคนไทย ในการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองเพื่อสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านเราได้อย่างไร?
    นักข่าวหลายคนจากหลายสำนักมาเล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้การทำข่าวต้องเน้นการสร้างจำนวน  views และ likes ให้มาก เพราะนั่นคือสิ่งเดียวที่หัวหน้างานและเจ้าของสื่อนั้นๆ จะประเมินผลงานของพวกเขา
    คนข่าวเหล่านี้เริ่มจะ "ถอดใจ" เพราะหากจะต้องทำข่าวที่ทำให้เกิด views มากๆ ก็จะต้องใช้ภาษาและเนื้อหาที่หวือหวา ความฮือฮาสำหรับสาระ ข่าวเจาะลึกในประเด็นที่เป็นสาระไม่เป็นที่ต้องการของหัวหน้า นักข่าวที่จะ "อยู่รอด" และ "อยู่เป็น" จะต้องทำข่าวที่สร้างปริมาณคนดูใน social media มิใช่คุณภาพของการเจาะข่าวเพื่อเปิดโปงความไม่ถูกต้องของสังคมอีกต่อไป
    หากแนวโน้มเป็นเช่นนี้จริง ความคาดหวังของสังคมที่จะให้สื่อสารมวลชนเป็นที่พึ่งหวังของสังคม  เป็นเสียงเตือนภัย เป็น "หมาเฝ้าบ้าน" เป็น "ยามเฝ้าประตู" ก็คงจะเสื่อมสลายไปต่อหน้าต่อตา
    แม้แต่ความพยายามที่จะนำพาประเทศสู่ "ประชาธิปไตย" อย่างจริงจังก็จะถูกบ่อนทำลาย
    เพราะประชาธิปไตยเกิดจากเนื้อหาสาระที่ต้องถกแถลงเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ ไม่ใช่การเสพข่าวสาร "ดรามา" ชั่วขณะเช้าสายบ่ายเย็นเท่านั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"