"ระยอง"โมเดล เศรษฐกิจหมุนเวียน


เพิ่มเพื่อน    

        ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการตื่นตระหนกถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในทะเล โดยเฉพาะขยะพลาสติก ในประเทศไทยเป็นหน้าที่กรมทรัพย์ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการศึกษาพบว่าขยะพลาสติกในทะเลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นมลพิษในหลายๆ ด้าน ถุงพลาสติก หลอด ฝา ขวด พาชนะ เชือก ก้นบุหรี่ กระป๋อง และสุดท้ายอันดับต้นก็หนีไม่พ้นพลาสติก

        ปัญหาขยะในทะเลที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็นมลพิษในหลายๆ ด้าน อย่างที่เห็นคือเกิดขึ้นกับสัตว์โดยตรง และเริ่มเห็นว่าเมื่อขยะไปอยู่ในทะเลนานๆ เริ่มมีการแตกตัว เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมโคร และเล็กลงไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็เข้าไปอยู่ในวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปูปลา ที่กินเข้าไปและกลับมาสู่มนุษย์ 

(ภราดร จุลชาต)

        นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ระบุว่า ปัญหาขญะพลาสติกที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้ในกลุ่มประเทศยุโรปได้เริ่มเดินหน้าแก้ไขปัญหาแล้ว โดยการลดการใช้ถุงพลาสติก และนำกลับมาใช้ใหม่ สำหรับประเทศไทยนั้นภาครัฐเริ่มเข้ามากระตุ้น และเอกชนบางกลุ่มเริ่มให้ความสนใจ ล่าสุดภาครัฐได้ประกาศจะยกเลิกการใช้พลาสติก 7 ชนิด พร้อมทั้งมีนโยบายกระตุ้นส่งเสริมให้หมดไปจากประเทศ

        สำหรับพลาสติกที่จะเลิกใช้นั้น 3 ตัวแรกจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ประกอบด้วย กลุ่ม ไมโครบีดส์ (Microbeads)  หรือเม็ดบีดส์ คือชิ้นส่วนเล็กๆ ของพลาสติกในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ยาสีฟัน น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางได้ยอมรับและเลิกใช้แล้ว, ฝาหุ้มขวดน้ำดื่ม และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ ซึ่งเป็นสารเติมแต่งที่ทำให้พลาสติกแตกตัวได้เร็วเมื่อโดนแดด ซึ่งเมื่อแตกตัวจะเป็นไมโครพลาสติก ไม่ได้ย่อยสลายไป

        และมีอีก 4 ประเภทที่ตั้งเป้าว่าปี 2564-65 จะต้องหมดไป ประกอบด้วยโฟมบรรจุอาหาร, ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมคอน, หลอดพลาสติกและแก้วที่ใช้ครั้งเดียว ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มฟุ่มเฟือย โดยมีนโยบายจะเริ่มลดปริมาณการใช้ลงเริ่มจากปี 2562 ลดลง 25% ปี 63 ลดลง 50% ปี 64 ลดลง 75% และปี 65 ลดลง 100% ซึ่งภาครัฐพยายามรณรงค์ให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ดังนั้นภาครัฐในส่วนที่มีอำนาจของตนเอง ก็ออกกฎระเบียบหลายๆ อย่างมาควบคุม เช่น ห้ามนำเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ห้ามขึ้นเกาะ ฯลฯ รวมถึงการออกจดหมายไปยังกระทรวงต่างเพื่อรณรงค์ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะมีการพิจารณาถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในอีก 18 เดือนข้างหน้า

 

ผนึกกำลังแก้ปัญหาขยะพลาสติก

        "ต้องยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เริ่มพูดกันเสียงดังขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งภาครัฐทำเองก็คงจะแค่เริ่ม ส่วนเอกชนต่างคนต่างทำซีเอสอาร์ของบริษัทตัวเอง ปูนก็ทำ ปตท.ก็ทำ ซึ่งทำไปแล้วไม่ตอบโจทก์สังคม เอ็นจีโอก็ว่าทุกวัน จะให้เลิกอย่างเดียว ดังนั้นจึงได้ชวนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กทม. กรมควบคุมมลพิษ ทรัพยากรทะเลชายฝั่ง มาร่วมกับเรา เอกชนก็มีเอสซีจี จีซี ดาว ไออาร์พีซี รวมไปถึงองค์กรท้องถิ่น และกลุ่มเอ็นจีโอ ฯลฯ มาลงนาม "ความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการปัญหาพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือพีพีพีพลาสติก"

      ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเลยไทย โดยตั้งเป้าอีก 10 ปีขยะพลาสติกในทะเลไทยต้องลดลงไม่ต่ำกว่า 50% โดยนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ พยายามดึงเข้ามาใช้

        ทั้งนี้ การจัดตั้งพีพีพีพลาสติกนั้นผ่านมาแล้ว 8-9 เดือน ก็ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เพราะเห็นว่าทีมงานทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้เรามาทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารขยะพลาสติก

        อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมีแผนพัฒนาและการจัดการขยะพลาสติก ผ่านโรดแมป 20 ปีที่ต้องการเลิกการใช้พลาสติก และให้ขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นกลับเข้าสู่กระบวนการหมุนเวียนการกำจัดขยะพลาสติกที่ถูกวิธีโดยที่ไม่ต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบ ภายในปี 2027 หรือภายใน 9 ปีข้างหน้าจะต้องไม่มีขยะพลาสติกตกลงสู่สิ่งแวดล้อม ต้องวนกลับมาเป็นวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการหมุนเวียน 

 

เปลี่ยนพฤติกรรมคัดแยกขยะ

        สำหรับหลักการที่เราจะพยายามสร้างนั้น คือการสร้างระบบการศึกษาการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์คนไทยให้เกิดการคัดแยก ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้อย่างรับผิดชอบ  ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย ใช้เมื่อต้องการใช้ และทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง รวมถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างในการจัดเก็บ เมื่อระบบการคัดแยก การจัดเก็บที่บูรณาการอย่างดีแล้วพลาสติกจะมีมูลค่า  ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมรีไซเคิล ซึ่งเมื่อรีไซเคิลแล้วก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ และโปรดักต์ที่เกิดจากการรีไซเคิลพลาสติก 

        ดังนั้น ต้องมีการพัฒนาระบบรีไซเคิลพลาสติก ทำให้กลับเอามาใช้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องมีการคัดแยกเพราะจะทำให้ขยะพลาสติกมีความสะอาด ก็จะช่วยลดต้นทุน ซึ่งปัจจุบันปัญหาหลักยังอยู่ที่ไม่มีการคัดแยก ทำให้มีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 6 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกการบริการขยะเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ ซึ่งเราได้สร้างโมเดล 2 ที่ คือ ที่ระยองและคลองเตย เน้นตึกสูง

 

ระยองโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน

        นายภราดรกล่าวว่า ที่ระยองถือว่าเป็นความหวังอันสูงสุดของกลุ่มพลาสติก เพราะตั้งเป้าให้ระยองเป็นจังหวัดเศรษฐกิจหมุนเวียน และไม่มีขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้เข้าหลุมฝังกลบเลยภายในอีก 5 ปีข้างหน้า มั่นใจว่าทำได้ และจะเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะ หรือระยองโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนท้องถิ่น และยังรองรับการเติบโตของการลงทุนตามนโยบายโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

        "มั่นใจว่าทำได้ เพราะท้องถิ่นมีความเข้มแข้ง และมีความต้องการทำให้เขต หรือเทศบาลตนเองมีความสะอาดมาก จึงมีการส่งเสริมการคัดแยกขยะ ทำให้มีรายได้สร้างอาชีพ และที่สำคัญ อบจ.ระยองตั้งบริษัทร่วมกับเอกชนเพื่อบริหารขยะ พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อบริหารจัดการขยะ ดังนั้นเราจะใช้ระยองเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะก่อนที่จะขยายไปจังหวัดอื่นๆ" นายภราดรกล่าว

        อย่างไรก็ตาม ระยองมีระบบโครงสร้งพื้นฐานเกือบพร้อม 100% ดังนั้นจึงเพียงแค่อบรม เจ้าหน้าที่จะพูดถึงวิธีการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกต้องควรทำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้นำพลาสติกไปผสมกับยางมะตอย ซึ่งจะมีการนำขยะพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้ยาก อาทิ ถึงพลาสติก ถุงขนมไปผสมประมาณ 8% ซึ่งจะทำให้การยึดเกาะติดและแข็งแรงดีขึ้น 30% ขณะนี้นิคมอมตะได้เริ่มนำไปใช้ทำถนนในนิคมฯ แล้ว รวมทั้ง 7-11 ที่เริ่มทยอยนำมาใช้เช่นกัน

        นายภราดร กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะนั้น นอกจากจะรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการรับรู้ นอกจากนี้ในส่วนของภาครัฐเองต้องมีสิ่งจูงใจ อาทิ สิทธิประโยชน์การลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ, การปรับปรุงกระบวนการดำเนินการของภาครัฐให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจรายเล็กๆ คัดแยกขยะ

        อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยจุฬาฯ พบว่าปี 2560 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพียง 5 แสนตันเท่านั้น  ส่วนอีก 1.5 ล้านตันนั้นอยู่ที่หลุมฝังกลบบ้าง ทะเล แหล่งน้ำ ฯลฯ  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหลุ่มฝังกลบกว่า 2 แห่ง ในจำนวนนี้มีระบบที่มีมาตรฐานเพียง 600 แห่งเท่านั้น และนอกระบบ ทะเล คลอง  

        ขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถที่จะสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ถ้าสามารถกลับเข้ามาในระบบรีไซเคิล อย่าตั้งเป้าเลยว่าขยะพลาสติกที่นำมารีไซเคิลนั้นจะสามารถจีดีพีเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้ยุโรปตั้งเป้าว่าปี 2030 บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดตั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการรีไซเคิล สำหรับประเทศไทยนั้น เราตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีระยองโมเดลนั้นต้องประสบความสำเร็จ คือขยะพลาสติกเป็น 0

        ส่วนกรณีที่จะขยายไปในจังหวัดอื่นหรือไม่นั้น ขึ้นกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ   ดังนั้นจึงมีการนำโมเดลนี้ไปขยายต่อในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แต่จะทำให้ดีได้นั้นระเบียบข้อบังคับต้องมีการแก้ไขให้เหมาะสม

        "เลือกระยอง เพราะโชคดีที่ท้องถิ่นเขาเข้มแข็ง และมีดาว  เอสซีจี ปตท. อยู่ที่นั่น มีโรงงาน มีทีมงาน มี CSR ที่ต้องอยู่กับชุมชน ซึ่งมีเครือข่ายกับชุนชนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงตั้งใจว่าจะทำให้ระยองดี เพื่อคนอื่นอยากได้ และมีแผนที่จะขยายไปที่บางกระเจ้า อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนผู้ที่ทำอุตสาหกรรมพลาสติก คนที่ทำปิโตรเคมีคอล ผู้บริโภค คนที่ใช้ ควรแสดงความรับผิดชอบให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกของคุณไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"

        อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการมองว่าการส่งเสริมรีไซเคิลนั้นจะกระทบต่อผู้ประกอบการพลาสติกหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า การรีไซเคิลจะมีการผสม ทั้งพลาสติกเกาและใหม่ แต่ที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องรู้จักปรับตัวเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

        "กิจกรรมที่เราทำทั้งหมดนี้ต้องการพิสูจน์ให้ภาครัฐเห็นว่า ภาคเอกชนไม่นิ่งนอนใจ เราต้องมาร่วมมือกัน,เอกชนเป็นผู้ที่รู้เรื่องเทคโนโลยี และต้องการทำให้เป็นต้นแบบ ซึ่งขณะนี้ภาครัฐยอมรับในเรื่องการจัดทำโมเดลระยองนี้มาก และที่กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำได้"

 

นโยบายอีอีซีช่วยอะไรกับกลุ่มพลาสติกได้

      มองว่าอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุดิบเช่นเม็ดพลาสติกขนาดใหญ่นั้นได้ประโยชน์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ยานยนต์ที่มีอยู่แล้วได้ประโยชน์อยู่แล้ว กลุ่มขนาดกลางและเล็กไม่น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงมากนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ประโยชน์โดยทางอ้อมคือเป็นซัพพอร์ตติ้งให้กับอุตสาหกรรมรายใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ไม่น่าจะได้ประโยจชน์โดยตรง คือ    เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกขนาดกลางและย่อมนั้นยังต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

        นอกจากนี้ การลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าแรงที่มีอัตราสูงมาก และลูกค้าของกลุ่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์นั้นอยู่รอบ กทม.มากกว่าในอีอีซี ที่สำคัญอีอีซีเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก  ส่วนของเราเป็นกลุ่มที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารมากกว่า

        "อีอีซีเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ลูกค้าของกลุ่มที่ผลิตแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของกลุ่ม จะไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ เราแบบไม่มีอะไรมากมาย อุตฯ แพ็กเกจจิ้งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ซัพพลายให้กับอุตสาหกรรมอาหาร  มากกว่า แต่ข้อดีของอีอีซีคือทำให้ถนนดีขึ้น การขนส่งดีขึ้น ซึ่งหัวใจของเราคือต้องจับให้ได้ว่าใครเป็นผู้ไปลงทุน" นายภราดรกล่าว

 

สิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ

      นายภราดรกล่าวว่า หลักการของรัฐที่ต้องการสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมพลาสติกกับการผลิตที่ให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมาสนับสนุนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ บ้าง และคนที่อยู่เดิมที่ทำให้เกิดการรีไซเคิล หมุนเวียน ซึ่งรัฐควรให้กรสนับสนุน และทำอย่างไรให้โรงงานรีไซเคิลบางกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โรงงานได้มาตรฐานป้องกันน้ำเสียได้

      นายภราดรกล่าวโดยสรุปว่า ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ปัญหาสิ่งแวดล้อม หัวใจหลักที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามา คือ การเข้ามาช่วยกันรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้มีความรู้ในการคัดแยกขยะ มีจิตสำนึกที่จะใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างรับผิดชอบ โดยเราพูดถึงทั้งการศึกษา การออกกฎระเบียบ การจัดเก็บขยะต่างๆ ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกเองนั้น การส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลต้องสนับสนุนให้เป็นอีกอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งโมเดลนั้นผมมองว่า ถ้าวางกลยุทธ์ให้ดี จะสามารถสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจนี้ได้อีกหลายหมื่นล้านบาทต่อปี สร้างงานได้ และช่วยผู้มีรายได้น้อยได้อย่างมาก

        และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมานั้นเราไม่เคยคำนวณถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เราปล่อยปละจนเป็นปัญหาสิ่งเวลาล้อมนี้เราสูญเสียไปเท่าไหร่

 

                                                        บุญช่วย ค้ายาดี  รายงาน

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"