8 นักเขียนร่วมสมัยทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้คำแนะนำนักเขียนหน้าใหม่อย่างใกล้ชิด
นักเขียนร่วมสมัยที่มากด้วยประสบการณ์ ดีกรีรางวัลซีไรต์และศิลปาธรจำนวน 8 คน ร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการวรรณกรรมร่วมสมัยให้แก่นักเขียนหนุ่มสาว 42 คน ใน 6 ประเภทงานเขียน ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์ บทความ และบทวิจารณ์วรรณกรรม ช่วยพัฒนาทักษะการเขียนเและให้คำแนะนำค้นหาแนวทางของตนเอง สู่การเป็นนักเขียนมืออาชีพบนเส้นทางวรรณศิลป์
การเปิดกิจกรรมบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ ปี 2562 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ ถือเป็นรุ่นที่ 5 จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ปีนี้มีนักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นเทรนเนอร์อย่างใกล้ชิด ได้แก่ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ทำหน้าที่บรรณาธิการแก่นักเขียนประเภทกวีนิพนธ์ จำนวน 6 คน ส่วนอนุสรณ์ ติปยานนท์ และประชาคม ลุนาชัย ให้คำแนะนำแก่นักเขียนเรื่องสั้น 13 คน ในประเภทนวนิยายเป็นครั้งแรกชวนวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์หญิง จัดเวิร์คช็อปพร้อมกับปองวุฒิ รุจิระชาคร มีน้องๆ 8 คน มีโอกาสพัฒนาทักษะและเพิ่มแรงบันดาลใจ
วีระพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ร่วมกิจกรรมบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ครั้งแรก
ประเภทบทความ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง เป็นพี่เลี้ยงแก่นักเขียนรุ่นใหม่ 6 คน สารคดี จำนวน 5 คน อยู่ภายใต้คำแนะนำของวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และวิจารณ์วรรณกรรม ซึ่งเป็นปีแรกที่มีอบรมประเภทนี้ ได้จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรมที่ทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมเคี่ยวกรำให้นักเขียน 4 คน นับจากนี้ไป 5 เดือน 42 นักเขียนหน้าใหม่จะได้ประสบการณ์และความรู้ที่เป็นประโยชน์
วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า กิจกรรมบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ จุดเด่นมีวิทยากรเป็นนักเขียนร่วมสมัยเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจงานเขียนมากขึ้น โครงการนี้คัดนักเขียนหน้าใหม่ที่มีฝีมือและความตั้งใจ เมื่อได้รับการพัฒนาทักษะจากมืออาชีพจะทำให้การสร้างสรรค์งานเขียนมีคุณภาพยิ่งขึ้น
" ตลอด 5 เดือนจากนี้ นักเขียนรุ่นใหม่จะได้พบนักเขียนพี่เลี้ยงถือเป็นครูและเพื่อนนักเขียนจากทั่วประเทศ ทุกเดือนจะร่วมกิจกรรม ติดตามผลงานอย่างสม่ำเสมอ ได้พัฒนางานร่วมกัน และกิจกรรมครั้งต่อไปวันที่ 20-21 เมษายนนี้ จะเดินทางไปเวิร์คช็อปที่จ.นครราชสีมา เยี่ยมบ้านลาว คำหอม และชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ " ผอ.สศร. กล่าว และยืนยันโครงการจะจัดทุกปีเพื่อสนับสนุนนักเขียนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวงการอาชีพนักเขียนด้วยกัน
42 นักเขียนรุ่นใหม่ร่วมกิจกรรมบ่มเพาะพัฒนาการเขียน รุ่นที่ 5 จัดโดย สศร.
ด้าน อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนผู้ร่วมผลักดันกิจกรรม กล่าวว่า โครงการนี้มีความต่อเนื่อง แนวคิดหลักทุกคนมีศักยภาพในการเขียนหนังสือ แต่เรามาพูดคุยกันสิ่งที่เขียนจะพัฒนาอย่างไรมากกว่าบอกนักเขียนหน้าใหม่ให้เดินซ้ายหรือเดินขวา ขอเพียงให้นักเขียนที่ได้ร่วมกิจกรรมมีความตั้งใจ อย่าอ่อนล้า โดยเฉพาะประเภทนวนิยายต้องพัฒนาโครงเรื่อง ซึ่งเป็นงานที่หนักหนา
เช่นเดียวกัน เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ แนะนำกับกวีรุ่นใหม่ว่า กวีนิพนธ์เป็นอารมณ์ความรู้สึก อยากให้ทุกคนเปล่งเสียงของตนเอง ตลอดการกิจกรรม 6 ครั้งจะได้พัฒนางานเขียนอย่างแน่นอน แต่ตนจะไม่สอน แต่เล่าประสบการณ์ทำงาน ทุกวันนี้ร้อยหน้าสองร้อยหน้าก็ยังเขียนนิยายด้วยลายมือในกระดาษ ยังใช้การจดบันทึก เพราะเก็บอารมณ์ความรู้สึกในการสร้างผลงานได้ทันท่วงที แนะนำว่า งานเขียนที่เคยส่งเข้าประกวด หากไม่ได้รางวัลควรชำระทิ้งไป ไม่ใช่กลับมาแก้ๆ แต่ควรสร้างงานใหม่ต่อไป
" วันแรกที่พบกันก็ให้นักเขียนรุ่นใหม่ลองเดินดูผลงานศิลปะที่จัดแสดงในหอศิลป์ร่วมสมับราชดำเนิน นำภาพที่ปะทะกับจิตใจ มาเขียนกวีนิพนธ์ อยากเห็นภาวะสดๆ ในการสร้างงาน " เรวัตร์ กล่าว
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์งานกวีนิพนธ์กับหนุ่มสาวกวีหน้าใหม่
ครั้งแรกกับกิจกรรมบ่มเพาะ วีรพร นิติประภา บอกว่า เมื่อตอนอายุเท่าน้องๆ สมัยนั้นไม่มีโอกาสพบนักเขียนเจ้าของผลงาน โครงการนี้เป็นโอกาสดีที่นักเขียนรุ่นใหม่ได้พบนักเขียนมืออาชีพ ตนหวังจะได้ช่วยพัฒนานักเขียน อยากให้ทุกคนที่ร่วมกิจกรรมตั้งใจ มาทำงานร่วมกัน ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเก็บเกี่ยวความรู้ไปใช้ในงานเขียนของตนเองได้
ด้าน ประชาคม ลุนาชัย นักเขียนเรื่องสั้น กล่าวว่า เป็นพี่เลี้ยงให้กิจกรรมบ่มเพาะตั้งแต่เปิดโครงการฯ รุ่นแรกก็พัฒนาจนได้นักเขียนมากกว่า 10 คน เป็นผลิตผลน่าภาคภูมิใจของโครงการ เราไม่ได้สอนทฤษฎี เพราะเก่งทฤษฎีจะเป็นนักวิชาการวรรณกรรมมากกว่านักเขียน แต่จะดูว่าใครจะเปล่งประกายออกมา เพราะวิธีการเขียนเป็นแนวทางของใครของมัน วรรณกรรมเป็นงานศิลปะทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องใส่ความคิด ความรู้สึก น้องๆ ทุกคนต้องโบยบินไปในทิศทางของตนเอง
ส่วน โตมร ศุขปรีชา กล่าวว่า ในฐานะเมนเทอร์ให้คำแนะนำก็ต้องเรียนรู้จากนักเขียนรุ่นใหม่ด้วย ตลอดทั้งโครงการเหล่านักเขียนพี่เลี้ยงและนักเขียนรุ่นใหม่จะก้าวไปด้วยกัน มีการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์งานเขียน
ขณะที่นักวิจารณ์มือหนึ่ง จรูญพร ปรปักษ์ประลัย กล่าวว่า ผลงานบทวิจารณ์วรรณกรรมที่ทำให้น้องๆ ผ่านเข้ามาร่วมกิจกรรม ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี และมีโอกาสพัฒนาไปได้ ในฐานะพี่เลี้ยงจะให้คำแนะนำวิธีดึงประเด็นของเรื่อง วิธีการถ่ายทอดเพื่อให้งานเขียนน่าอ่าน มีชั้นเชิงมากขึ้น ไม่ใช่งานเขียนในห้องเรียน
" งานวิจารณ์เป็นเรื่องความคิดเห็น ต้องเข้าใจว่างานเขียนแต่ละประเภทคืออะไร ทุกวันนี้ที่เห็นตามสื่อออนไลน์เป็นวิจารณ์หนัง ดนตรี หนังสือเพื่อให้กำลังใจ ยังไม่ใช่งานบทวิจารณ์วรรณกรรมที่แท้จริง สำหรับโครงการที่เปิดอบรมประเภทบทวิจารณ์เป็นครั้งแรกในรุ่นที่ 5 ก็เข้ากับแนวโน้มของบทวิจารณ์มีที่ทางมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งวิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ " จรูญพร กล่าว
อนุสรณ์ ติปยานนท์ และประชาคม ลุนาชัย นักเขียนร่วมสมัยมีชื่อ
หนึ่งในนักเขียนหน้าใหม่มาไกลจากจังหวัดบึงกาฬระยะทาง 759 กิโลเมตร อาคม คำภูษา กล่าวว่า ส่งผลงานกวีนิพนธ์ ชื่อ "กลอนสุภาพสตรี" เพื่อสมัครร่วมอบรม ดีใจที่ผลงานผ่าน และได้ร่วมโครงการนี้กับเพื่อนๆอีก 41 คน ความตั้งใจอยากได้ทำงานแวดวงกวีนิพนธ์และประสบความสำเร็จในอนาคต
กวีสาวหน้าใหม่ ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนเอกชน กล่าวว่า ชอบบทกวีและเห็นผลสำเร็จของนักเขียนที่ร่วมโครงการนี้ จึงส่งกวีนิพนธ์สมัครเข้าอบรม รวมถึงชื่นชอบผลงานของกวีซีไรต์ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ อยากพัฒนางานเขียนของตัวเองให้โดดเด่นและมีเอกลักษณ์มากขึ้น หวังจะให้พี่นักเขียนแนะนำสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตการทำงานเขียนจริงๆ ได้
" จากความชอบอ่านบทกวีและอ่านอย่างต่อเนื่อง สามปีก่อนเรียนรู้การเขียนบทกวีอย่างจริงจังจากเว็บกลอน รวมถึงเริ่มอบรมทางวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ทำให้รู้ความแตกต่างระหว่างกลอนกับกวีนิพนธ์ จากนั้นได้อบรมลายลักษณ์วรรณศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ปี 2560 ผลงานได้เหรียญทองจากค่ายนี้ จุดประกายให้มีไฟ มีความมั่นใจมากและเป็นแรงบันดาลใจสร้างวีนิพนธ์ต่อเนื่อง ใช้นามปากกาว่า "สิริวตี" ผลงานได้ตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตั้งใจมาอบรม เพราะคิดว่า ต้องพัฒนางานไม่ให้หยุดนิ่ง อยากมีนักอ่านของตัวเอง วิทยากรจะช่วยลับคม และได้แง่คิดการทำงานเขียนที่แตกต่าง " ณัฐฤทัย กล่าว
กวีสาวหน้าใหม่ ณัฐฤทัย พลอยหิรัญ ร่วมลับคมฝีมือประเภทกวีนิพนธ์
ขณะที่ พลอยสิรินทร์ แสงมณี นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ชอบเขียนกวีนิพนธ์แต่เด็ก จุดนี้อยากพัฒนาเป็นนักกวีมืออาชีพ กลอนมีความสวยงาม จะตรึงชั่วโมงยามไว้ในชั่วเวลาหนึ่งได้ อยากใช้ศิลปะกวีนิพนธ์เผยแพร่แนวคิดในสังคม
ประเภทเรื่องสั้นมี 13 นักเขียนหน้าใหม่ร่วมกิจกรรม ชัชพล เปรมชัยสวัสดิ์ กล่าวว่า มาจากจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทำงานในสายวิทยาศาสตร์ เมื่อได้อ่านนวนิยายก็ชื่นชอบ อยากรู้เสาหลังวรรณกรรม จะได้มาศึกษาพูดคุยจากนักเขียนเรื่องสั้นมืออาชีพ
ส่วน คเณศ ทองรัศมี สถาปนิกหนุ่ม ผู้หลงไหลงานวรรณกรรม กล่าวว่า นักเขียนเป็นอาชีพที่มีแรงบันดาลใจมากที่สุด คิดว่า งานเขียนจะช่วยให้เราหลุดจากกรอบสถาปนิก ไม่ได้คิดลาออกจากอาชีพนี้ แต่ต้องการเติมเต็มเรามากกว่า ตนเคยทำงานเขียนเรื่องสั้นมาก่อน แต่การร่วมกิจกรรมจะเพิ่มความมั่นใจสักวันจะเรียกตัวเองว่านักเขียนได้ ถ้าถามถึงนักเขียนที่ชื่นชอบ มีโกวเล้ง กิมย้ง และฮารูกิ มูรากามิ งานเขียนมีพลังมาก
วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สศร. มอบหนังสือที่ระลึกให้วีระพร นิติประภา
8 นักเขียนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันเป็นนักเขียนนิยาย พลอย-พชร อยู่สวัสดิ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ มีประสบการณ์เขียนและแปลนิยายทุกแนว สมัครร่วมกิจกรรม เพราะอยากพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงพัฒนางานเขียนตัวเองจนมีนักอ่านยอมรับ ชื่นชอบ
ส่วน เมธัส ศิรินาวิน กล่าวว่า เริ่มเขียนนิยายของตนเอง เพราะอกหัก ใช้งานเขียนเยียวยาตัวเอง หมกมุ่นกับตัวเอง ก็เขียนเรื่องราวนี้ส่งมาสมัครเข้าโครงการบ่มเพาะฯ และได้รับคัดเลือก อยากสร้างผลงานนวนิยายสักชิ้นจากโครงการนี้ โดยได้คำแนะนำจากนักเขียนร่วมสมัย
หนุ่มแบงก์รักหนังสือ บูรฉัตร เสียงใส กล่าวว่า ตนเขียนนวนิยายแฟนตาซีส่งผลงานสมัครมาตั้งแต่โครงการบ่มเพาะฯ รุ่นแรก เพิ่งได้รับคัดเลือกร่วมกิจกรรมรุ่นที่ 5 รู้สึกว่าดีใจมาก จากการเขียนงานผลงานตัวเองยังไม่สมบูรณ์ต้องการมาฝึกฝนตัวเองตลอด 5 เดือน จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่
สำหรับกิจกรรมบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ รุ่นที่ 5 นี้ กำหนดดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2562 โดยมีการพบปะและบรรยายพิเศษเดือนละ1ครั้ง และมีช่องทางติดต่อสื่อสารตลอดโครงการผ่าน facebook สนับสนุนการวิพากษ์วิจารณ์งานเขียน และเป็นสื่อกลางแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ความเคลื่อนไหวการเขียนตลอดทั้งโครงการ มาติดตามกันว่า นักเขียนรุ่นใหม่รุ่นนี้จะเจิดจรัสสู่นักเขียนอาชีพต่อไป