ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จับตาผลกระทบตระกูลเพื่อ


เพิ่มเพื่อน    

            เป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ทางการเมือง 7 มีนาคม องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายปัญญา อุดชาชน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายบุญส่ง กุลบุปผา ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

                ผลจากการลงมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมกับตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้ง 13 คน เป็นเวลา 10 ปี และผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ถือว่าได้บรรยาย เขียนได้ครอบคลุมทุกมิติ แม้จะมีความละเอียดอ่อน ทั้งในแง่หลักกฎหมาย จารีต ประเพณี อธิบายบริบททางการเมืองไทยตอนนี้ได้เป็นอย่างดี

คำวินิจฉัยบางช่วงบางตอนจากนครินทร์ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า 

                ...รัฐธรรมนูญหมวด 1 ได้บัญญัติว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าโดยกำเนิด ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองตามพระประสงค์ของรัชกาลที่ 7 พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ที่ระบุว่า พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เป็นที่เคารพ ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง และควรอยู่เหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาซึ่งพระเดชและพระคุณย่อมอยู่ในวงที่จะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น โดยในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนเจ้านายจะทำนุบำรุงประเทศ ก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำและตำแหน่งในวิชาชีพ

                 หลักการพื้นฐานดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก และเป็นฉันทานุมัติที่ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่า พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักเป็นฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และจะกระทบต่อความสมัครสมานระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร ที่เป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                ต่อมา กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บุคคลใดอยู่ในข่ายหรือได้รับการยกเว้นไม่ต้องแจ้งเหตุขัดข้องในการไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องในทางใดๆ ไม่ได้ ทรงอยู่เหนือการเมืองและดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยไปใช้สิทธิ์ทางการเมือง หากกำหนดให้พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ มีหน้าที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งและขัดต่อหลักความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์

                ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไม่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ตามพื้นฐานว่าด้วยการดำรงความเป็นกลางทางการเมือง สอดคล้องกับหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่ไม่ได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการตามรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรม เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นของชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะพระประมุขของรัฐทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนการปกครองของไทย มีความแตกต่างจากการปกครองของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐอื่น ที่กษัตริย์ใช้อำนาจราชาธิปไตยสมบูรณ์ ควบคุมการใช้อำนาจการเมืองผ่านการแต่งตั้งบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร

                 ดังนั้นการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลในนามพรรคการเมืองเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้การปกครองของไทยจะแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพที่สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองประเทศ สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย....

                 ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและมีผลผูกพันไปทุกองค์กร พลันที่มีคำวินิจฉัยออกมา คณะพรรคไทยรักษาชาติต่างน้อมรับ ด้วยอายุทางการเมืองของ กรรมการบริหารพรรคยังไม่มากนัก อาทิ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรค ในวัยเพียง 38 ปี มิตติ ติยะไพรัช อดีตเลขาธิการพรรค คณาพจน์ โจมฤทธิ์ ต่างอยู่ในวัย 30 ต้นๆ เช่นเดียวกับ ฤภพ ชินวัตร ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานทักษิณ ชินวัตร ยังไม่แตะหลัก 4 หากยังหวังกลับมาโลดแล่นในวงการการเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า ถือว่ายังกลับมาในเวทีการเมืองได้ หากไม่ถอยห่าง เบื่อไปเสียก่อน

                 ผลจากคำวินิจฉัยอาจถูกหยิบยกนำไปเสวนาในแวดวงนักกฎหมาย นักวิเคราะห์การเมืองในวงแคบ บางคนหยิบยกหลักทฤษฎีตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียว อ้างอิงจากตำราตะวันตก มองต่างมุม บ้างพิเคราะห์ถึงบริบททั้งตัวบทกฎหมาย จารีต ในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องสถาบัน เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งชาติ ไม่สมควรอย่างยิ่งหากจะมีผู้หนึ่งผู้ใด พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด นำสถาบันลงมาให้เกี่ยวข้องกับการเมือง

ไม่เท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยได้เห็นบทความ บทสัมภาษณ์ แกนนำคนเสื้อแดงบางคนที่หนีคดี 112 ได้พูดถึงเป้าประสงค์ ความต้องการ เป็นบันได ที่หนึ่งในนั้นคือ การกัดเซาะเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในเวลาต่อไป ดังนั้นผลจากคำวินิจฉัยอาจถือเสมือนเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเอาไว้ก่อน

                อย่างไรก็ดี ยังมีอีกมิติที่น่าติดตามกันต่อไป ผลกระทบจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ได้ส่งผลบวกหรือผลลบต่อพรรคซีกประชาธิปไตยหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มมีการมองกันว่า ได้รับทั้งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ในแง่ทางบวก ปฏิเสธไม่ได้คะแนนความสงสาร จะถูกเทไปยังฝั่งเพื่อไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หลายพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งจากฐานเสียงเดิม แต่ในส่วนของพื้นที่ที่เพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส. ก็อาจส่งผลดีต่อพรรคซีกฝ่ายประชาธิปไตยซีกอื่นเช่นกัน

                แต่ในทฤษฎีดังที่กล่าวมาใช้ไม่ได้ในพื้นที่อ่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม. จากคะแนนสำรวจภายใน บางเขตที่ผู้สมัครเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์แข่งขันกัน เมื่อเกิดปรากฏการณ์ยุบพรรค ยิ่งทำให้คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.กทม.เพื่อไทย ในเขตที่มีผลต่างการนำไม่มากนัก กลับกลายเป็นคู่แข่งขันการเมืองพลิกกลับมานำ นอกจากนี้ ในเขตที่คะแนนสำรวจภายในเพื่อไทยตามกันไม่มากนัก ยิ่งเพิ่มช่องว่างระยะห่างให้ห่างออกไป และอีกประเด็นที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องจากเพื่อไทยเน้นการแก้ปัญหาภาพกว้าง นโยบายที่เปิดออกมาเป็นการเอาใจฐานเสียง มวลชนในต่างจังหวัดเป็นหลัก จนถึงวันนี้เพื่อไทยยังไม่มีการประกาศนโยบายสำหรับชาว กทม.ออกมาเลย ขณะที่การเลือกตั้งเหลือเวลาเพียง 2 อาทิตย์เท่านั้น

                ผลจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ไม่เพียงพื้นที่ กทม.ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีการประเมินไปถึงพื้นที่ภาคกลางหลายจังหวัด หรือแม้แต่อีสานตัวเมือง จากที่มีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นตัวเลือกมากขึ้น ทำให้คะแนนถูกแบ่งออกไป แล้วยิ่งมาเจออาฟเตอร์ช็อกจาก การกระทำมิบังควรของพรรคไทยรักษาชาติ สูตรคณิตศาสตร์ สมการการเมืองว่าด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส. อาจต้องกลับมาดีดลูกคิดกันใหม่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"