ปลุกพลังเงียบ


เพิ่มเพื่อน    

อีก 2 สัปดาห์เลือกตั้ง พปชร.รอปล่อยหมัดเด็ด

                เหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์ก็จะถึงวันชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย กับการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมนี้ ทำให้หลายพรรคการเมืองต่างเร่งหาเสียงกันอย่างหนัก และจะขับเคี่ยวกันหนักมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายต่อจากนี้

                ในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ความเห็นจากคนรุ่นใหม่-หน้าใหม่ทางการเมืองใน พปชร.ที่เข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรก แต่เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม โดยมีบทบาทในพรรค พปชร.ในฐานะแกนนำในคณะทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ของพรรค พปชร. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย อายุไม่เกิน 23 ปี ที่วันนี้ลาออกจากผู้บริหารองค์กรสื่อ คือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท  นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อมาทำงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว ในฐานะ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรค พปชร.ลำดับที่ 19

 มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา ประเมินว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่ละพรรคการเมืองจะหาเสียงเข้มข้นขึ้น และคงจะมีการสื่อสาร การออกแคมเปญที่จะเป็นหมัดเด็ดออกมา ก็เชื่อว่าถึงเวลานี้ หลายพรรคก็ยังไม่ได้ปล่อยของออกมาทั้งหมด ตอนนี้ยังอาจแค่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะมีรอปล่อยหมัดเด็ดในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ละพรรคก็ต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุด

แน่นอนที่สุด พลังประชารัฐก็จะมีไพ่ใบสุดท้าย อย่างวันนี้นโยบายพรรค เราก็ยังเปิดไม่ครบ ที่ผ่านมาได้เปิดไปทีละระลอก เราก็จะมีนโยบายที่จะใช้เป็นหมัดเด็ดในช่วงโค้งสุดท้ายเช่นกัน

                ขณะเดียวกัน แม้ล่าสุดมีข่าวว่า พลเอกประยุทธ์อาจจะไม่ขึ้นเวทีปราศรัยของพรรค พปชร.แล้ว แต่อาจใช้วิธีอื่นแทน เช่น ช่วยผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเดินหาเสียง เมื่อเราถามว่า การเข้ามาช่วยหาเสียงดังกล่าวของพลเอกประยุทธ์จะมีผลอย่างไรกับพรรค พปชร.ต่อจากนี้ มาดามเดียร์ ให้ความเห็นว่า ความเห็นส่วนตัว เดียร์เห็นว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีคนที่รักนายกฯ อยู่แล้ว หลายคนรู้ว่าด้วยสถานการณ์เหตุบ้านการเมือง ณ ตอนนี้

หากจะถามจากบรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง เดียร์ก็เชื่อว่า หากดูจากปัจจัยในปัจจุบัน ยังไงพลเอกประยุทธ์ก็เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการที่จะควบคุมประเทศต่อไปอย่างไรให้ก้าวเดินต่อไปได้ ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย พลเอกประยุทธ์คือคนที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่า หลังวันที่ 24 มีนาคม บ้านเมืองเราจะยังสงบ ได้มีระบบรัฐสภากลับคืนมา ได้มีการบริหารงานด้านต่างๆ การเดินหน้าโครงการต่างๆ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ได้ทำไว้ ก็จะได้มีการเข้ามาสานต่ออย่างต่อเนื่อง

...อันนี้เดียร์เชื่อว่าคือหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้หลายคนอย่าเพิ่งไปหลงกับวาทกรรมบางอย่าง แล้วเรานั่งนิ่งๆ ใช้วิจารณญาณพิจารณาก็จะรู้ได้ว่า วันนี้ยังไงตัวพลเอกประยุทธ์คือคนที่เหมาะสม

...เดียร์เชื่อว่าวันนี้คนไทยเราเก่งพอที่จะใช้วิจารณญาณได้ว่า จากบุคลิกภาพของท่านนายกฯ หรืออะไรก็แล้วแต่ของท่าน ที่คนอื่นๆ พยายามจะโจมตี แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้เลยคือความเสียสละของพลเอกประยุทธ์ ความรักชาติที่ท่านมี ซึ่งเดียร์คิดว่ามันคือคุณค่าในตัวของท่านเอง อันนี้ความเห็นส่วนตัว

...ดังนั้นหากจะถามว่ามีกลยุทธ์อะไรในการไปลงพื้นที่จริงๆ ไม่ได้มีกลยุทธ์อะไร เพราะด้วยทุกอย่างที่ท่านนายกฯ เป็น ด้วยคุณค่าที่ตัวท่านนายกฯ มีอยู่แล้ว และจากที่เดียร์ได้ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง ก็ทำให้เห็นว่านายกฯ มีแฟนคลับของท่านอย่างจริงจัง ทำให้เดียร์เชื่อว่าหากท่านนายกฯ ได้ออกไปพบเจอประชาชน ยังไงก็น่าจะเป็นผลบวก ผลที่ดี แต่เราไม่ได้จะคิดว่าหากท่านไปแล้ว จะต้อง set up ทำอะไรต่างๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากให้ท่านทำอะไรที่ไม่เป็นตัวท่านด้วย เพราะเดียร์คิดว่า ข้างในที่เป็นตัวตนของท่านนายกฯ จริงๆ เป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ได้ถึงความจริงใจที่ท่านนายกฯ มี

ไม่มีเผด็จการ-ไม่สืบทอดอำนาจ

-เหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง บางพรรคเริ่มพยายามสร้างกระแสให้ประชาชนต้องเลือก โดยแบ่งเป็น 2 ทาง เช่น เอา-ไม่เอาบิ๊กตู่ สนับสนุนหรือคัดค้านการสืบทอดอำนาจ?

ต้องบอกว่าสเต็ปต่อไป มันไม่มีคำว่าสืบทอดอำนาจอีกต่อไปแล้ว เพราะเรากำลังกลับไปสู่ประชาธิปไตย วันนี้ถ้าพลเอกประยุทธ์ ก่อนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ กลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ก็แสดงว่าพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคการเมืองที่อาจจะมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เราก็ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนก่อนอยู่แล้วถึงจะเข้าไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาได้

ดังนั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกาอยู่แล้ว และด้วยรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้เกิดรัฐบาลหลังเลือกตั้งเป็นรัฐบาลผสม เพราะฉะนั้นเมื่อประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว ไม่มีมาตรา 44 ไม่มี คสช.อีกต่อไป นายกฯ ก็ต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

เมื่อไปถึงตรงจุดนั้น มันคือประชาธิปไตยแล้ว มันไม่มีเผด็จการ ไม่มีการสืบทอดอำนาจอะไรอยู่แล้ว การที่นายกฯ จะออกกฎหมายหรือภาครัฐจะทำนโยบายอะไรก็ตาม ก็ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ผ่านการพิจารณาของ ส.ส.-ส.ว. มีการกลั่นกรอง ทุกอย่างมีระบบ ระเบียบ เพราะฉะนั้น หากจะมานั่งฟังอยู่กับแค่วาทกรรม แล้วคิดว่าเป็นเผด็จการ แต่เดียร์ว่าเราต้องกลับมาดูตรงจุดที่ว่า หลักพื้นฐานความเป็นจริงมันคืออะไร

ได้ฟัง มาดามเดียร์ พูดเรื่อง ประชาธิปไตย-เผด็จการ-การสืบทอดอำนาจ แบบนี้ เลยขอคำจำกัดความของคำว่า ประชาธิปไตย ในทัศนะของเธอว่า หมายถึงอย่างไร คำตอบที่ได้จาก มาดามเดียร์-ที่เคยถูกเรียกขานกันว่า นางฟ้าวงการลูกหนังไทย สมัยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย อายุไม่เกิน 23 ปี โดยเธอพูดไว้ว่า สำหรับเดียร์ ประชาธิปไตยคือประชาชนต้องเป็นหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากย้ำมากๆ ก็คือ คำว่าเผด็จการ กับคำว่าประชาธิปไตย เดียร์ว่าเราถูกคำนี้ และบางคนที่เสพสื่อเยอะๆ แล้วถูกคำนี้ว่าต้องเป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งที่อยากเตือนสติมากกว่าก็คือ ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตย แต่วันที่ 24 มีนาคม ที่มีการเลือกตั้ง แล้วสุดท้ายวันถัดมา ม็อบไม่ว่าข้างใดก็แล้วแต่ออกมาเดิน ถามว่ามีเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยแล้ว มีม็อบออกมา ตกลงคุณต้องการประชาธิปไตยตรงนั้นจริงๆ หรือเปล่า

...ถ้าการเป็นประชาธิปไตย แล้วคุณใส่ใจแต่กับแค่คำว่าประชาธิปไตย แต่คุณกลับไม่ได้บอกให้ลึกลงไป คือเลือกคนโกงเข้าไปในสภาฯ แล้วสุดท้าย ก็เข้าไปทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์พวกพ้องของตัวเอง แล้วตกลงมันใช่ประชาธิปไตยแท้จริงอย่างที่เราอยากได้หรือไม่ คือประชาธิปไตย เดียร์ก็คิดว่าสำคัญและเดียร์ก็เชื่อว่าเราเข้ามาตามกรอบของประชาธิปไตย เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ลงแข่งขัน มีการหาเสียง มีการโหวตอะไรทุกอย่างตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเราให้ความสำคัญกับคุณค่าของกระบวนการประชาธิปไตย

เพียงแต่วันนี้ที่เดียร์อยากเรียกร้อง เตือนสติสังคมมากกว่าก็คือว่า นอกจากการเป็นประชาธิปไตยแล้ว คุณต้องมองให้ลึกกว่านั้นคือการเลือกคนที่เหมาะสม เลือกคนที่ดีเข้าสภาฯ เพราะเขาเหล่านั้นจะเข้าไปทำหน้าที่แทนคนไทย 70 กว่าล้านคน เพราะหากเราเป็นประชาธิปไตยอย่างที่บอก แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าประชาธิปไตยจะออกมาแบบไหน แล้วไม่ยอมรับกติกา พูดง่ายๆ คือหากไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็จะเอาม็อบออกมา หรือว่าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วก็มาออกกฎหมายเพื่อ support เฉพาะคนของตัวเอง เดียร์ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาคิดให้ชัดๆ ก่อน

อย่าเพิ่งไปหลงกับประชาธิปไตย จนลืมพิจารณาที่ตัวบุคคลว่า ได้เลือกคนที่ใช่ เลือกคนที่ดีจริงๆ หรือเปล่า ที่เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา

ไม่หวั่นโดนทุกพรรครุ

-มองยังไงที่พรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้ถูกหลายพรรคการเมืองออกมาวิจารณ์อย่างหนัก แม้แต่ 2 พรรคใหญ่ที่ต่างขั้วกัน ก็ตั้งเป้ามาที่พรรค พปชร.เป็นหลัก?

ความเห็นส่วนตัว คือแน่นอนว่าในการหาเสียง แต่ละพรรคก็พยายามจะชูจุดดีของตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะใส่สีตีไข่ ที่ก็อาจมีทั้งข้อเท็จจริงและก็เชื่อว่าก็มีสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ในการที่จะทำลายความน่าเชื่อถือ ทำลายจุดแข็งของคู่ต่อสู้ ที่ก็เป็นการเมืองในรูปแบบเก่าๆ ที่ก็คงหนีไม่พ้นกับบริบทแบบนี้ แต่ก็อยากเรียกร้องในอีกมุมหนึ่งว่า ถ้ามองกลับกันในมุมของพรรคพลังประชารัฐ วันนี้เราอยากสร้างการเมืองใหม่ ทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ ก็จะเห็นว่า เราไม่เคยที่จะมีข่าวออกไปโจมตีหรือเที่ยวไปค่อนขอดพรรคการเมืองอื่นๆ เลย

วันนี้เดียร์คิดว่า อย่างเรื่องกระบวนการประชาสัมพันธ์ที่เดียร์ทำ ก็จะเห็นว่าอย่างเวทีปราศรัยของพรรค สิ่งที่เป็นจุดแข็งและเราพยายามจะชูก็คือเรื่องนโยบาย ที่เป็นจุดแข็งของเรา พรรคไม่ได้ทำในลักษณะไปค่อนขอด..หรือไปประณามพรรคการเมืองอื่นเลย

...อย่างที่พรรค พปชร.พูดถึงเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็เพราะจุดยืนของเราคือ เราไม่อยากไปพูดถึงปัญหาเดิมที่ผ่านมา สิ่งที่พรรคบอกในเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้งก็คือ วันนี้ที่เราอาสามาเป็นพรรคการเมืองทางเลือกให้กับประชาชน เพราะวันนี้ถ้ายังเป็นแบบที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลักก็จะมี 2 ขั้วอำนาจเท่านั้น เราจึงอาสามาเป็นพรรคทางเลือกที่ 3 เพื่อให้หลุดจากกรอบวังวนเดิม และวันนี้สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐทำมาตลอดก็คือ เราไม่เคยมีนโยบายที่จะออกไปโจมตี ไปพูดสาดเสียเทเสียใคร เราไม่ไปค่อนขอดใคร อันเป็นสิ่งที่ตอกย้ำได้ว่าสิ่งนี้คือแนวทางที่เราต้องการนำพาประเทศไปเพื่อให้เดินต่อ แทนที่จะมามัวแต่นั่งพูดนั่งถกกันแต่เรื่องปมการเมืองเดิมๆ ใช้วิธีการสาดโคลนกันแบบเดิมๆ แต่พรรคขอที่จะพูดเรื่องนโยบายที่สามารถทำได้ สิ่งที่จะไปแก้ปัญหาปากท้องประชาชน พรรคก็อยากเดินไปในจุดนี้ เพื่อขออาสาไปทำงานต่อในรัฐสภา

 

หวังพลังเงียบ หนุน พปชร.-บิ๊กตู่

-ผลโพลหลายสำนักพบว่า ประชาชน 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ยังไม่ตัดสินใจ จะมียุทธศาสตร์อะไรทำให้คนเลือก พปชร.?

มีแน่นอน เพราะ inner เราคือทุกคนไม่มีใครอยากเห็นประเทศบอบช้ำ ทุกคนก็รักประเทศตัวเอง อยากเห็นประเทศสงบ เดินไปข้างหน้าได้

คีย์หลักจึงอยู่ตรงนี้ว่า เราจะปลุกพลังตรงนี้อย่างไรเพื่อให้เขาลุกขึ้นมาออกมาแสดงพลังเงียบ เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้าได้ เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งใช้วาทกรรมแล้วเป็นการชักจูงสังคม

ซึ่งเดียร์ก็เชื่อว่าพลังเงียบเหล่านี้ เดียร์เชื่อว่าวันนี้คนไทยฉลาดพอ มีวิจารณญาณเพียงพอ อย่าไปหลงกับแค่เรื่องวาทกรรมบางอย่างที่มันออกมา

...อย่างวาทกรรมคนเบื่อนายกฯ แต่เดียร์ดูจากที่ว่า เราได้ลงไปสัมผัสในพื้นที่จริง ก็มีแต่คนบอกว่า "เออ ของนายกฯ หรือ เลือกแน่นอนอยู่แล้ว" ก็ทำให้เดียร์รู้สึกว่า เราได้กระแสตอบรับดีมาก อย่างตอนที่ไปลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสาน เวลาพูดถึงเรื่องบัตรสวัสดิการประชารัฐ เรื่องนายกฯ ลุงตู่ พูดได้เลยว่าทุกคนตอบรับดีมาก ก็เป็นอย่างที่เดียร์บอกคือ ความเป็นจริง กับวาทกรรม ที่เป็นเรื่องความฉาบฉวยข้างนอก อันนี้เป็นสิ่งที่เดียร์คิดว่า จะทำอย่างไรให้คนมีวิจารณญาณแยกได้ และปลุกพลังเหล่านี้ให้เขาออกมา protect บ้านเมือง protect ชาติ

เมื่อถามถึงแนวทางการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายจะมีแนวทางอย่างไร มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา เผยเบื้องต้นว่า สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐให้น้ำหนัก ที่เป็นจุดแข็งก็คือตัวนโยบายพรรค นอกจากนี้พรรคก็ยังมีบุคลากรในพรรคอย่างอดีตรัฐมนตรีที่มีประสบการณ์เคยผ่านงานมาแล้ว มีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันที่เพิ่งทำงานมา จึงเห็นปัญหา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมถึงการทราบในเรื่องโอกาส-อุปสรรค ในสภาพปัจจุบัน ที่ทำให้เป็นจุดแข็งที่ทำให้พรรคสามารถออกนโยบายที่ตรงใจประชาชนมากขึ้น

...ด้วยการที่เราเป็นพรรคใหม่ ซึ่งหากเป็นพรรคการเมืองเก่า โอกาสที่คนรุ่นใหม่ๆ จะเข้าไปทำงานในเรื่องนโยบายให้กับพรรค จะมีน้อยมาก แต่พลังประชารัฐเป็นพรรคใหม่ จึงมีการเปิดกว้างให้พื้นที่กับคนรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาทำงาน นำเสนอนโยบายหลายอย่าง เช่น เรื่องเทคโนโลยี ที่เรามองเห็นได้ว่าแนวโน้มของเทคโนโลยีจะมูฟไปทางไหน รวมถึงการที่พรรคมีผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างคนมีประสบการณ์กับคนรุ่นใหม่

...เดียร์จึงมีความเห็นส่วนตัวว่า จุดแข็งก็คือการทำให้นโยบายของพรรคมีความแข็งแรง รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไว้ เช่น บัตรสวัสดิการประชารัฐ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นโครงการหลักๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง โครงการ EEC ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคว่า หากเข้าไปเป็นรัฐบาลก็จะเข้าไปสานต่อโครงการที่รัฐบาลได้ทำไว้

                เมื่อถามย้ำถึงจุดแข็งของพรรค พปชร. และหากประชาชนเลือกผู้สมัครของพรรค พปชร.เขาจะได้อะไร มาดามเดียร์-ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พปชร. แจงว่า จุดแข็งสำคัญของพรรค ที่สำคัญอันแรกคือ อุดมการณ์ ความตั้งใจจริงของพรรคพลังประชารัฐ ที่เข้ามาเพื่อทำให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกเพื่อให้ประเทศสงบสุข ซึ่งเดียร์ก็เชื่อว่า อย่างตัวเดียร์เองที่มาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ที่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่เป็นพลังเงียบ ที่ยังไม่ออกมาพูด แต่ก็เชื่อว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนที่อยากเห็นความสงบสุขของบ้านเมือง อยากเห็นบรรยากาศที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เราทำงานกับภาคเอกชนมา เราก็รู้ว่าวันที่ก่อม็อบ รายได้ขององค์กรลดฮวบทันที เดียร์จึงมองว่าไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป ต่างก็อยากเห็นประเทศมีความสงบ บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ตรงนี้ก็เป็นจุดแข็งอันหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐที่ก็เชื่อว่า ประชาชนข้างนอกเขาก็มีความเห็นที่ใกล้เคียงกัน

                จุดแข็งที่ 2 คือด้วยอุดมการณ์ ความตั้งใจ อย่างที่บอก พลังประชารัฐเราคือพรรคการเมืองตั้งใหม่ ภายใต้ความเป็นพรรคใหม่ ก็มีข้อดี คือทุกคนเข้ามาด้วยความไฟแรง และความเป็นพรรคใหม่ ก็ทำให้ยังไม่มีอะไรที่เป็น Culture เข้ามา ที่เข้ามา overwhelm การทำงานพรรค

ยกตัวอย่างผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพลังประชารัฐ ก็มีที่เป็นคนซึ่งทำธุรกิจ บ้างก็เป็นอดีตนักวิชาการ เขาไม่มี base เรื่องการเมือง ไม่มีนามสกุลดังๆ แต่เป็นคนซึ่งมีความตั้งใจอยากเข้ามาทำงานการเมืองจริงๆ ซึ่งหากไปอยู่พรรคอื่นอาจไม่มีโอกาส แต่ด้วยความที่พลังประชารัฐเป็นพรรคตั้งใหม่ ทำให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสแสดงผลงานได้เต็มที่ อีกทั้งความเป็นพรรคใหม่ทำให้หลายคนมาจากทั่วทุกสารทิศ แล้วทุกคนก็ต่างมีไฟมีไอเดียมีทุกอย่าง ทำให้บรรยากาศการทำงานมีการเปิดกว้างจริงๆ ผู้ใหญ่ในพรรคให้โอกาส

สำหรับบทบาทในพรรค พปชร.ของ มาดามเดียร์ นอกจากรับผิดชอบเรื่องการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งให้กับพรรคแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่เข้าไปร่วมประชุม นำเสนอแนวคิดเพื่อร่วมออกนโยบายพรรคด้วยเช่นกัน โดย มาดามเดียร์ พูดถึงนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ ว่าแบ่งเป็น 2 กรอบใหญ่ๆ โดยกรอบแรก ทางพรรคก็ได้เริ่มทยอยเปิดนโยบายออกไปบ้างแล้ว คือเรื่อง สวัสดิการประชารัฐ ซึ่งสำหรับสังคมเรา หากดูจากฐานรายได้ เปรียบเหมือนสามเหลี่ยมพีระมิด คือ กลุ่มผู้มีรายได้สูง รายได้ปานกลาง และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่อยากให้มองว่า เรื่องการให้สวัสดิการเป็นเรื่องประชานิยม เพราะความตั้งใจจริงในเรื่องของการที่เราออกนโยบายสวัสดิการต่างๆ ออกมา เพราะเรามองว่า สามเหลี่ยนพีระมิด กลุ่มที่อยู่ท้ายที่สุดก็คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่เป็นกลุ่มฐานรากของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีคนจำนวนเยอะที่สุด เป็นกลุ่มฐานพีระมิด

                ...คนกลุ่มนี้เท่าที่เดียร์ได้ออกไปสัมผัสข้างนอก เห็นได้ชัดเลยว่าชาวนาหรือชาวบ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งห่างไกลจริงๆ วันนี้ต้องบอกว่าเขาอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนด้วยซ้ำ ดังนั้นนโยบายเรื่องสวัสดิการจึงเป็นนโยบายที่เข้าไปเติมเต็มเขา เข้าไปช่วยเขาเพื่อช่วยให้เขามีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น  โดยเราไม่ได้บอกในแง่เรื่องประชานิยม แต่พูดง่ายๆ คือก่อนที่เราจะไปสอนให้เขาจับปลา แน่นอนว่าวันนี้เขาอาจจะยังหิวอยู่ เราก็ต้องให้เขาอิ่มก่อน เพื่อที่เมื่อเขาอิ่มแล้วเราก็จะสอนวิธีจับปลา ให้เขาออกไปหาอาหาร คือสามารถสร้างคนสร้างอะไรต่อไปอีกได้ เรื่องของสวัสดิการเป็นการเติมเต็มเพื่อให้เขามีความพร้อม และต่อมาเมื่อเขาพร้อมแล้ว เราต้องไม่ลืมที่จะสอนหรือสร้างเขาให้มีความแข็งแรง เพื่อให้เขาสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองในระยะยาวได้

มาดามเดียร์-ในฐานะคุณแม่ลูกสอง ยังได้กล่าวถึงนโยบาย มารดาประชารัฐ ที่พรรค พปชร.กำลังเร่งหาเสียงในเวลานี้ว่า ในฐานะมีครอบครัวมีลูก นโยบายมารดาประชารัฐมีความจำเป็น เพราะการสร้างบุคลากร เด็กหนึ่งคนที่จะเติบโตมาเป็นอนาคตของประเทศ เพราะการมีลูกหนึ่งคนต้องมีทั้งกำลังทรัพย์ ต้องมีเวลาและทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะต่อให้เป็นครอบครัวที่มีเงิน ไม่ใช่ว่าคุณโยนเงินลงไปแล้วเขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคมได้ เพราะพ่อแม่ต้องมีเวลาให้ ต้องมีเวลาในการเลี้ยงดูปลูกฝังให้มีคุณธรรมจริยธรรม

นโยบายมารดาประชารัฐ เราถึงอยากทำให้ครอบครัวที่วันนี้เขาอาจยังแข็งแรงไม่พอ ทำให้เขามีทุนทรัพย์เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องพะว้าพะวังกับการหาเงินมาเลี้ยงเด็กหนึ่งคน ทำให้เขามีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อที่พ่อแม่แทนที่จะเอาเวลาไปหารายได้เพียงอย่างเดียว เขาก็จะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวอยู่กับลูก จะได้มีเวลาบ่มเพาะอบรมลูกได้มากขึ้น

"แต่ละนโยบายที่ออกมาจะต้องสามารถทำได้จริง เพราะเราไม่ได้มองแค่ว่าออกนโยบายพรรคออกมาเพื่อให้โดนใจคนหรือให้ไปกระแทกใจโหวตเตอร์ แต่หลังจากนั้นจะเกิดขึ้นได้หรือไม่-ไม่รู้ หรือจะเอาเงินจากไหนมาทำ-ไม่รู้ และจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ สิ่งเหล่านี้เราได้คุยกันว่าทุกนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ออกมาจะต้องปิดรูรั่วคำถามเหล่านี้ ทีมงานของพรรคพปชร.ที่ทำรายละเอียดนโยบายสามารถแจงรายละเอียดได้หมด"

                น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึง นโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐ ที่พรรคนำมาเป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงครั้งนี้ว่า บัตรสวัสดิการพบว่ากระแสตอบรับดีมาก เห็นได้จากที่เพิ่งกลับจากการไปช่วยหาเสียงที่สุรินทร์และอุบลราชธานีเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก็พบว่าเกือบทุกครอบครัวเป็นสมาชิกบัตรสวัสดิการประชารัฐ เท่าที่พบประชาชนก็ชอบนโยบายนี้ รวมถึงนโยบายมารดาประชารัฐที่พบว่าประชาชนชอบมาก คนเมืองมองแล้วอาจมองไปในเชิงประชานิยมอย่างเดียว โดยเขาอาจมองไม่เห็นภาพจริงๆ ว่าเวลาที่ชาวบ้านขาดแคลน เขาลำบาก คือต้องไปช่วยพวกเขาจริงๆ เพราะหากไม่เข้าไปช่วย เราก็ไม่สามารถไปบอกให้เขามาศึกษาการทำอาชีพได้เลย เพราะมีความกังวลอย่างที่เห็นก็คือ เขามีหนี้นอกระบบเยอะมากเกือบทุกคน โดยหากไม่เข้าไปช่วยเขาตั้งแต่แรก อย่างน้อยตัดความกังวลเขาไปได้บ้าง เพราะหากจะไปคุยเรื่องการสร้างอาชีพ แต่สุดท้ายเขาก็จะจดจ่ออยู่กับเรื่องปากท้อง เพราะเรื่องหนี้นอกระบบก็อย่างที่ทราบกัน ดอกเบี้ยเงินกู้คิดเป็นรายวัน ก็ทำให้เขาตื่นขึ้นมาก็ต้องกังวลแล้วว่าวันนี้จะหาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ยังไง ทำให้เดียร์เห็นเลยจากที่ได้ไปสัมผัสว่าจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา

                มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึงการเจาะฐานคะแนนกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First time voter ว่า พรรคก็กำลังจะทำนโยบายออกมาเพื่อไปถึงคนกลุ่มดังกล่าว กลุ่มคนรุ่นใหม่เขาสื่อสารใช้ออนไลน์เป็นหลักอยู่แล้ว อย่างคนกรุงเทพฯ ที่ในมุมการเมืองก็จะมีการพูดกันว่าคนกรุงเทพฯ การตัดสินใจก็จะเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย คือประมาณสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง  ซึ่งนโยบายสำหรับกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกหลังจากนี้พรรคก็จะมีการออกนโยบายที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้เพิ่มเติม

หลังจากนี้ก็จะมีการเปิดนโยบายด้านการศึกษา เช่นเรื่องของการศึกษาสายอาชีวะ จากที่ให้นักเรียนออกไปฝึกงานในช่วงปี 3 ที่เป็นปีสุดท้ายของการเรียน ต่อไปก็จะสนับสนุนให้เขาสามารถไปฝึกงานแล้วมีรายได้กลับมาด้วย มีการช่วยเรื่องของทุนทรัพย์ แต่ไม่ได้ช่วยแค่เรื่องของกองทุน ลดดอกเบี้ยกองทุน แต่ต้องทำให้เขาสามารถมีรายได้เข้ามาจนดูแลตัวเองได้ หรือเรื่องการมีกองทุน Startup ของเด็กวัยรุ่น เพราะปกติหากใช้ระบบของ banking ในการพิจารณาปล่อยเงินกู้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะยากมากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็มีแนวนโยบายตั้งกองทุน Startup ขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาจบใหม่ หรือนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ แต่หากเขามีไอเดียที่ดีก็สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจะได้นำเงินทุนดังกล่าวไปสร้างฝันของตัวเองได้.

 

ก้าวข้ามความขัดแย้ง พปชร.ขอโอกาสปลดล็อก

                ที่ผ่านมาบทบาทของ มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา ในพรรค พปชร. นอกจากขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงในบางจังหวัดแล้ว ก็ยังลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร ส.ส.กทม.หาเสียงอย่างหนัก

                เลยตั้งคำถามว่า มีเป้าหมายหรือวางอนาคตทางการเมืองไว้อย่างไรบ้าง มาดามเดียร์-อดีตผู้จัดการฟุตบอลชายทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้มีผู้ใหญ่ถามเธอหลายคนว่าเข้ามาตรงนี้มีเป้าหมายต่อไปอย่างไร ซึ่งสำหรับเดียร์ไม่ได้มองในเรื่องว่าจะต้องมีตำแหน่งอะไร แต่ในความรู้สึกของเราคือ ตราบใดที่เรายังได้รับโอกาสในการทำงาน คือเข้ามาแล้วได้มีโอกาสทำงานจริงๆ  เข้ามาแล้วเรามีคุณค่า เราเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างได้ตามที่เราตั้งใจจริงๆ เดียร์ก็คิดว่าเราก็อยากขออาสาทำงานตรงนี้ต่อไป เพราะเรื่องของการเมืองเป็นเรื่องของสาธารณะ หากเราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะก็อยากอาสาทำต่อ

                เมื่อถามถึงว่า มีนักการเมืองต้นแบบบ้างหรือไม่ มาดามเดียร์-หน้าใหม่ในถนนการเมืองไทย  คิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า ล่าสุดตอนนี้ก็ชอบอลิซาเบธ วอร์เรน (สมาชิกวุฒิสภารัฐแมสซาชูเซตส์ พรรคเดโมแครต) ที่จะเข้ามาขอเป็นแคนดิเดตเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในอนาคต  เพราะแม้ฮิลลาลี คลินตัน จะเคยอาสาเข้ามาเป็นแคนดิเดต แต่เขาก็มีพื้นฐานการเมืองมาก่อน เช่นมีสามีเป็นอดีตประธานาธิบดี แต่สำหรับอลิซาเบธเดียร์มองว่าแม้ว่าเขาจะทำงานการเมืองมาตลอด แต่การที่เขาขึ้นมาบอกว่าจะเป็น Next candidate ก็มองว่าเขาต้องมีความกล้า ใช้พลังต่างๆ เยอะมาก และหากไปอ่านประวัติของเขาก็จะพบว่าเป็นผู้หญิงที่ลงมือทำงานจริงๆ

                สำหรับบทบาทภายในพรรค พปชร. มาดามเดียร์ บอกว่า หลักๆ ก็มาช่วยพรรคดูเรื่องการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ก็ใกล้เคียงกับงานที่เรามีประสบการณ์อยู่แล้ว ก็ทำให้เรานำประสบการณ์ที่เราเคยมีนำมาใช้กับพรรค บริบทงานหลักๆ ก็จะมีประมาณนี้ รวมถึงการไปช่วยผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตหาเสียง  อย่างในกรุงเทพฯ ก็ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้หลายเขตแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ไปบางจังหวัดในภาคอีสาน  เพราะเดียร์ทำงานไม่ได้นั่งแต่ข้างใน แต่เราไปลงพื้นที่

ส่วนความสนใจทางด้านการเมือง มาดามเดียร์ เล่าย้อนให้ฟังว่า สมัยก่อนเวลามีการอภิปรายในสภา คุณแม่จะเป็นชอบฟังการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำให้ซึมซับตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่สมัยรัฐบาลเช่น พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทำให้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก คือฟังด้วยความสนุก ดูลีลาการอภิปราย แต่เราก็อาจไม่เข้าใจบริบท ไม่เข้าใจเนื้อหามากในตอนนั้น ดูลีลาการอภิปราย ยังจำได้เมื่อก่อนมีสภาโจ๊ก ก็ชอบนั่งดู ตลกมาก ทำให้ซึมซับตั้งแต่เด็ก แต่เริ่มสนใจการเมืองจริงจังก็ตอนมาตั้งสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ที่ตอนนั้นบรรยากาศเราก็ไม่อยากเห็น มันย้อนแย้งกับความเชื่อที่เรามีมาตลอดว่าคนไทยเอื้ออาทรกัน เป็นสยามเมืองยิ้ม แต่เมื่อเกิดเหตุม็อบมีความรุนแรง เดียร์มีความรู้สึกว่ามันย้อนแย้งกับสิ่งที่เป็นคาแรกเตอร์ของคนไทยมาตลอด

โดยตอนช่วงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เราแม้จะไม่ได้อยู่ภาคสนามเหมือนนักข่าว แต่ก็จะคอยเป็นห่วงนักข่าวภาคสนามของสถานีที่ไปทำข่าวการชุมนุมทางการเมืองตลอด จะคอยเช็กตลอดว่านักข่าวภาคสนามของสถานีเรามีอุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัยให้ตัวเองหรือไม่ เพราะตอนนั้นบางทีเขาไปทำข่าวในม็อบก็จะมีอย่างถูกคุกคามบ้าง หรือเหตุการณ์หลายอย่างที่นักข่าวทำข่าวภาคสนามเจอ เช่นตอนเกิดเหตุปะทะกันบริเวณพื้นที่ใกล้ๆ จุดชุมนุม ต้องมีการหลบกระสุนกันที่เสาไฟฟ้าหน้าโรงแรมดุสิตธานี

ด้วยความที่เราก็รู้เรื่องเหตุการณ์ต่างๆ รู้เบื้องหลัง มันก็มีความน่ากลัวเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันย้อนแย้งกับความเชื่อของเราที่เราเติบโตมาตลอด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านั้นคนไทยไม่มีใครอยากเห็น ไม่อยากให้เกิดขึ้น

สำหรับการเข้าพรรค พปชร. มาดามเดียร์ บอกว่าตอนก่อนจะเข้ามาก็มีผู้ใหญ่ในพรรคทาบทามมา  โดยวันแรกที่ไปเจอผู้ใหญ่ในพรรค เราก็ถามผู้ใหญ่ในพรรคตั้งแต่แรกว่าหากเข้ามาร่วมงานกับพรรคจะสามารถทำประโยชน์อะไรให้กับพรรคได้บ้าง เพราะถ้ามาแล้วพูดตรงๆ คือ มาแล้วคนพูดว่าเออเป็นผู้หญิงมาเป็นไม้ประดับ แล้วไม่ได้ทำงานอะไร เราก็บอกว่าแบบนี้ก็ขอไม่ทำ เพราะหากเราไม่ได้เข้ามาตรงนี้ ก่อนหน้านี้เราก็มีหน้าที่การงาน มีความมั่นคง เรามีเวทีการทำงานของเรา เรามีทุกอย่างอยู่แล้ว

อีกทั้งเรื่องการบริหารงานองค์กรสื่อกับการเมืองก็มีข้อกฎหมายอยู่ คือหากเข้ามาทำงานการเมือง จะต้องลาออกจากงาน ซึ่งเมื่อเราต้องออกมาจากอาชีพที่เรารัก ก็ต้องหมายถึงเราต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าเข้ามาที่พรรคพลังประชารัฐแล้วเข้ามาลอยๆ ไม่ได้ทำงานอะไร เดียร์ก็บอกกับผู้ใหญ่ในพรรคว่าถ้าแบบนั้นเราก็ขออนุญาตไม่เข้าร่วม

อีกประเด็นที่ได้คุยกับผู้ใหญ่ในพรรคคือ ประเทศเราติดล็อกอยู่กับวังวนของการทะเลาะกัน เรื่องม็อบจะฝั่งเหลืองฝั่งแดงหรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันเกิดขึ้น ก็เลยได้คุยกันว่าพรรคจะเป็นทางออกที่เข้ามาคือเป็นพรรคที่สาม เพราะหากยังมีอยู่สองพรรคมันก็เหมือนกับติดล็อกกันอยู่อย่างนี้

 พรรคก็อยากจะขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกที่สาม ปลดล็อกขั้วตรงนี้ให้มีทางเลือกมากขึ้น ผู้ใหญ่ในพรรคก็บอกว่าโอกาสที่จะเกิด ถ้ามาช่วยกันก็เป็นโอกาสเดียวแล้วที่จะเกิดพรรคที่สามเป็นทางเลือกให้กับบ้านเมืองให้กับสังคม

ถามถึงว่าก่อนเข้า พปชร.ก็มีพรรคอื่นมาทาบทามเช่นกัน มาดามเดียร์ ตอบว่า ก็ใช่ ก็มีผู้ใหญ่ก็ถามๆ มา แต่ก็ไม่ได้คุยจริงจัง แต่อย่างที่บอกคือด้วยเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของเรามันตรงกับของพรรคพลังประชารัฐ พูดง่ายๆ หากบริบทการเมืองยังเป็นเหมือนเดิม เดียร์ก็ไม่รู้ว่าหากเข้าไปแล้วจะไปช่วยเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ที่มีพรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้น ด้วยลักษณะของงานที่เดียร์ไม่ได้มองว่าเราจะมาทำงานการเมือง แต่เราเข้ามาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมมีทางเลือก เพราะก่อนที่จะมองไปถึงอนาคตยาวๆ อย่างน้อยวันนี้แค่รู้สึกว่าเราอยากทำเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้

มาดามเดียร์ ให้ทัศนะว่า ที่ห่วงที่สุดคือที่จะมีการเลือกตั้ง 24 มีนาคม แต่ถ้าประเทศยังมีสองฝ่ายสองขั้วเหมือนเดิม ไม่ว่าข้างไหนออกมาเราก็รู้สึกเรากลัวมากเลย เราก็คิดและอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง ก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นข้างไหนออกมา ก็จะมีม็อบอีกข้างที่จะเกิดขึ้นตามมาเหมือนกับที่เราพบเห็นตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา

 เราก็เลยรู้สึกว่าตอนที่ผู้ใหญ่ในพรรคมาคุยกับเรา ก็เลยสะกิดและโดนใจเรา เพราะตอนเราทำงาน เราก็เฝ้ามองความผันแปร มองเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ เราไม่ได้เห็นแค่หน้าฉากตามหน้าสื่อ แต่เราที่เคยทำสื่อเรารู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เราสัมผัสได้ถึงความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ที่อาจไม่เหมือนประชาชนที่เขาอาจแค่ติดตามจากหน้าสื่อ แต่เรารู้เราติดตามจากคนของเรา เขาลงไปทำข่าว เขาต้องเสี่ยงภัยอันตรายขนาดไหน เรารู้ว่ามันมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแบบไหน ซึ่งเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนั้นกลับมาเกิดขึ้นอีกแล้ว

ซึ่งหลังคุยกันก็ใช้เวลาตัดสินใจนานก่อนตอบรับ เพราะอย่างที่บอกคืออุดมการณ์ตรงกัน แต่ถ้าวันหนึ่งถึงจุดที่ว่าคนอื่นๆ ที่มาจอยเขาทำธุรกิจอะไรอยู่ หากเข้ามาทำงานการเมืองก็ยังสามารถทำธุรกิจเดิมของตัวเองต่อไปได้ แต่ของเดียร์แตกต่างจากของคนอื่นเพราะเราเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อ ที่เป็นบทบัญญัติต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ การที่เราตัดสินใจเข้ามาไม่ใช่แค่การจะเข้ามาทำเพิ่ม แต่เป็นการตัดสินใจที่เราต้องยอมทิ้งในสิ่งที่เรารักเพื่อเข้ามาทำอีกสิ่งหนึ่ง ก็ทำให้เดียร์กว่าจะใช้เวลาตัดสินใจที่ไม่ใช่ดูแค่เรื่องอย่างที่บางคนบอกกลัวเรื่องเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่เลย เพราะเดียร์ก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้วด้วย เรื่องความกดดัน การแบกรับความกดดัน ความคาดหวังจากคนทั้งชาติตอนเข้าไปเป็นผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี สิ่งเหล่านั้นเราผ่านมาหมดแล้ว แต่ที่เข้ามาการเมืองมันเป็นเรื่องที่เราจะต้องออกมาจากสิ่งที่เรารักและผูกพันมาตลอด

-จากที่เข้ามาทำการเมืองตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้วจนถึงเวลานี้ สิ่งที่ได้สัมผัสกับสิ่งที่เคยมองจากข้างนอกแตกต่างกันหรือไม่?

โดยบริบทก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะ system การเมือง การเลือกตั้ง ส.ส. การแข่งขัน แท็กติกแต่ละอัน .ถ้าเราอยู่ในวงการสื่อก็พอจะรู้บ้างอยู่แล้ว แต่อันนี้ส่วนตัวก็คือจากเดิมที่เราเคยอาจได้แต่พูดว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้นๆ แต่วันนี้มันเหมือนกับว่าไม่ได้แค่เอาแต่วิจารณ์อย่างเดียวว่าทำไมไม่ทำ แต่วันนี้เรามีโอกาสที่จากเดิมได้แต่คิด ได้นำมาทำเป็นนโยบาย และหากได้มีโอกาสได้เข้าไปในรัฐสภา ก็จะได้นำนโยบายมาทำให้มันเกิดขึ้นจริงๆ อันนี้คือความแตกต่างระหว่างจากก่อนที่จะเข้ามาทำกับหลังจากที่ได้เข้ามาทำแล้ว

 มาดามเดียร์ กล่าวด้วยว่า การเข้ามาทำงานการเมือง โดยส่วนตัวมีความสนใจที่จะเข้าไปทำงานการเมืองใน 2-3 เรื่อง เช่นเรื่องการศึกษา เพราะทุกปัญหาที่เราถกเถียงกันทั้งหมด หากเราทำให้คนมีคุณภาพเพราะคนคือทรัพยากรหลักของชาติ หากคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตั้งแต่แรกเริ่ม ก็จะเป็นรากฐานของทุกๆ เรื่อง

...รวมถึงในฐานะที่เคยทำงานด้านกีฬามา จึงทำให้เห็นถึงอุปสรรคบางอย่าง ก็อยากมีส่วนในการผลักดันให้กีฬาของไทยไปได้ไกลมากขึ้น เพราะเรื่องกีฬาอย่ามองแค่ว่าเป็นกีฬาหรือเรื่องของทีมชาติ  เพราะหากเราทำให้วงการนี้แข็งแรง ก็จะเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักให้กับคนในสังคมได้อีกเยอะ หากพัฒนากีฬาให้เป็นอาชีพที่ทำให้คนมีรายได้มั่นคง.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"