เรามาสร้าง ‘นวัตกร’ กันเถอะ!


เพิ่มเพื่อน    

 

           ช่วงนี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับ "นวัตกรรม" มากหน่อย เหตุผลมีง่ายนิดเดียว...ผมกลัวตกรถไฟ  กลัวถูกทิ้งไว้ที่ชานชาลา

                อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมต้องการจะ "ขี่คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง" แทนที่จะถูกคลื่นซัดจมในทะเล  ซึ่งอาจจะเป็นความตายที่ค่อนข้างจะอึดอัดอย่างไรชอบกล

                วันก่อนได้อ่านบทย่อของหนังสือเล่มนี้ ทำให้อยากส่งผ่านมาให้ผู้อ่านคอลัมน์ได้ช่วยกันรับรู้และนำไปพิจารณาร่วมกันว่า

                เราจะสร้าง "นักนวัตกรรม" หรือ innovators รุ่นต่อไปได้อย่างไร

                เขาบอกว่านี่เป็นความพยายามที่จะร่วมกันค้นหาความท้าทายใหม่ๆ ของการเลี้ยงลูก การสอน ให้คำปรึกษา ตลอดจนบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร

                หนังสือเล่มนี้ชื่อ Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โดย โทนี วากเนอร์  นักการศึกษา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของ Harvard Innovation Lab มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

                เขาเขียนไว้ว่านี่เป็น "การสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จของนักสร้างสรรค์และเจ้าของกิจการรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งวิศวกรผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จของไอโฟนรุ่นแรก ชายผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมรองเท้าด้วยความหลงใหลตั้งแต่วัยเยาว์ เด็กชายสมาธิสั้นผู้กลายเป็นนักสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ เด็กหนุ่มชาวแอฟริกาผู้เปลี่ยนความคิดเรื่องมุ้งให้กลายเป็นนวัตกรรมป้องกันมาลาเรียในบ้านเกิด และแสดงให้เห็นว่า 'ผู้ใหญ่' รอบตัวเด็กมีบทบาทอย่างไรในการปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์  จุดประกายจินตนาการ และสอนให้รู้จักรับมือกับความล้มเหลวที่พวกเขาต้องเผชิญในโลกจริง"

                นำมาสู่ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เด็กๆ เติบโตเป็น "นวัตกร" ที่ประเทศไทยและโลกของเราต้องการในศตวรรษที่ 21

                นวัตกรรมคืออะไร?

                หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า

                "มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความปรารถนาตามธรรมชาติที่จะสำรวจ ทดลอง และคิดจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรียกง่ายๆ ว่าการสร้างนวัตกรรมนั่นเอง"

                แล้วนวัตกรรมคืออะไร?

                มันคือกระบวนการที่สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ผมมองว่านวัตกรรมคือแนวทาง อย่างไรก็ตาม เรายึดคำจำกัดความมาตรฐานที่พูดถึงการสร้างคุณค่าผ่านสินค้าและบริการใหม่ โมเดลธุรกิจใหม่ หรือกระบวนการใหม่ โดยใช้วิธีการแปลกใหม่และสร้างสรรค์

                -เซอร์แอนดรูว์ ลิเกียร์แมน

                คณบดีวิทยาลัยธุรกิจลอนดอน

                ในหนังสือ The Global Achievement Gap (2010) ของผู้เขียนได้พูดถึงทักษะใหม่ 7 ประการที่นักเรียนทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อทำงาน เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และเป็นพลเมืองของโลกอย่างทุกวันนี้

                7 ทักษะเพื่อการอยู่รอด ได้แก่

                1.การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา

                2.การร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ และการนำด้วยการจูงใจ

                3.การปรับตัวและความแคล่วคล่องว่องไว

                4.การคิดริเริ่มและการเป็นผู้ประกอบการ

                5.การเข้าถึงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล

                6.การสื่อสารทั้งทางการพูดและการเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ

                7.การใฝ่รู้และมีจินตนาการ

                และ 5 ทักษะที่ทำให้คนมีนวัตกรรมแตกต่างจากคนไม่มีนวัตกรรม ได้แก่

                -การเชื่อมโยง

                -การตั้งคำถาม

                -การสังเกต

                -การทดลอง

                -การสร้างเครือข่าย

                ทักษะที่ว่านี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ การทำและการคิด

                การทำ

                การตั้งคำถาม เปิดโอกาสให้นวัตกรก้าวออกจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ และพิจารณาความเป็นไปได้ใหม่ๆ นวัตกรจะจับรายละเอียดพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในกิจกรรมของลูกค้า ผู้ผลิต และบริษัทอื่นด้วยการสังเกต ซึ่งช่วยแนะวิธีใหม่ในการทำสิ่งต่างๆ พวกเขาได้เปิดประสบการณ์ใหม่และสำรวจโลกอย่างไม่ลดละผ่านการทดลอง ส่วนการสร้างเครือข่ายกับคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกันจะทำให้พวกเขาได้รับมุมมองที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง

                การคิด

                การกระทำทั้งสี่รูปแบบข้างต้นรวมกันช่วยให้นวัตกรเกิดการเชื่อมโยง เพื่อบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจใหม่ๆ

                ที่ผมได้กำลังใจคือ ข้อสรุปของกูรูด้านนวัตกรรมที่บอกว่า "ทักษะด้านนวัตกรรมสร้างได้!"

                และหนึ่งวิธีการสร้างคือ "การคิดเชิงออกแบบ" (design thinking)

                การคิดเชิงออกแบบคืออะไร?

                หนังสือเล่มนี้ตอบว่า

                เป็นที่ยอมรับในวงกว้างว่าเป็นวิธีมองโลกซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับทุกกระบวนการของนวัตกรรม เป็นแนวคิดของไอดีโอ บริษัทออกแบบระดับโลกที่ก่อตั้งเมื่อปี 1991 โดยเดวิด เคลลีย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ก่อตั้งสถาบันการออกแบบแฮสโซ แพลตเนอร์ หรือที่รู้จักกันในนาม d.school

                5 คุณสมบัติของ "นักคิดเชิงออกแบบ" ได้แก่

                -เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือสามารถมองโลกจากมุมมองที่หลากหลาย และมีทัศนคตินึกถึงผู้อื่นก่อน

                -มีความคิดเชิงบูรณาการ คือสามารถมองเห็นทุกมิติของปัญหา และวิธีแก้ที่ทะลุกรอบและเป็นไปได้

                -มองโลกแง่ดี โดยตั้งต้นจากสมมติฐานว่า ไม่ว่าปัญหาจะท้าทายแค่ไหนย่อมมีทางออกเสมอ

                -ปฏิบัตินิยม คือกระบวนการลองผิดลองถูกที่ศึกษาปัญหาและทางแก้ไขด้วยวิธีใหม่และสร้างสรรค์

                -ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความเชื่อผิดๆ เรื่องอัจฉริยะที่สร้างสรรค์งานคนเดียวถูกแทนที่ด้วยความจริงว่า คนต่างสาขาวิชามาร่วมมือกันด้วยความกระตือรือร้น นักคิดเชิงออกแบบที่เก่งที่สุดไม่เพียงทำงานควบคู่กับคนสาขาวิชาอื่นๆ เท่านั้น หลายคนมีประสบการณ์ช่ำชองมากกว่าหนึ่งสาขาด้วย

                ผมอ่านบทย่อของหนังสือเล่มนี้แล้ว...คิดได้ทันทีว่า "อย่างนี้ต้องส่งต่อให้ทุกคนได้อ่านเหมือนเรา"!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"