ปฏิปักษ์การปกครอง ศาลรนธ.มติเอกฉันท์ยุบ'ทษช.'ตัดสิทธิ์13กก.บห.10ปี


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยยุบพรรค “ไทยรักษาชาติ” เหตุเป็นปรปักษ์ต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ่วงมติ 6:3  ตัดสิทธิ์ 13 กรรมการบริหารพรรค 10 ปี คำวินิจฉัยชี้ชัดตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และพระราชหัตถเลขารัชกาล 7 สถาบันฯ อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่ราชาธิปไตยเหมือนอนารยประเทศ ระบุ ทษช.ตั้งใจอย่างแยบยลเสนอชื่อทูลกระหม่อมฯ หวังผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันต้องเสื่อมโทรมลง ต้องตัดไฟแต่ต้นลม “ปรีชาพล” สะอื้น พรรคอายุสั้น ขอพบกันใหม่เมื่อมีโอกาส
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4  ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องเรื่องที่ 1/2562 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2561 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ จากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2562
    โดยบรรยากาศก่อนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย บริเวณศาลรัฐธรรมนูญมีกำลังตำรวจนครบาล 1,500 นาย กระจายเข้าตั้งจุดดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบและพื้นที่ชั้นในของศูนย์ราชการอาคาร A ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 6 มี.ค. และในช่วงเช้าได้ตั้งด่านตรวจตราทางเข้า-ออกศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ รวม 4 จุด นอกจากนี้ยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบกระจายตัวเดินปะปนกับข้าราชการ และประชาชนที่มาใช้บริการ ซึ่งบรรยากาศโดยทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนพื้นที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ห้ามผู้ใดชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจตราอย่างเข้มงวด และบริเวณสระน้ำด้านข้างศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ได้สูบน้ำจนแห้งด้วย นอกจากนี้ยังได้มีการประสานไปยังการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำรถสำรองไฟฟ้ามาจอดใต้อาคารศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นมาตรการรองรับกรณีไฟฟ้าดับด้วย
    ขณะเดียวกัน ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย ศาลปกครองกลางได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ คร.57/2562 ที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ฟ้องคดีฟ้อง กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีว่า กกต.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนำข้อเท็จจริงมาตีความขยายเกินเลยไป ขอให้เพิกถอนมติของ กกต.ในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2562 ที่ให้ยุบพรรค ทษช. โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เพราะไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดีสามารถยกข้ออ้างเกี่ยวกับการกระทำของ กกต.ที่อ้างในคำฟ้องขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญได้ ทำให้นายเรืองไกรได้คัดสำเนาคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด 9 ชุดมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
    ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรค ทษช.นั้น แต่เวลา 12.00 น. แกนนำพรรคและกรรมการบริหารพรรคได้ร่วมรับประทานร่วมกันที่ที่ทำการพรรคชั้น 2 ซึ่งประกอบด้วย ขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ ไข่พะโล้ พะแนงหมู และข้าวเหนียวมะม่วง ก่อนเดินทางไปศาล จากนั้นได้แบ่งกลุ่มแกนนำพรรคถ่ายรูปร่วมกันและส่งเสียงเฮ โดยหนึ่งในสมาชิกพรรคได้ฮัมเพลงศรัทธาท่อนหนึ่งว่า “ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา” เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน 
    จากนั้นเวลา 13.30 น. กก.บห.พรรค รวมถึงแกนนำพรรคได้แบ่งกันนั่งรถตู้เดินทางออกจากพรรค และเมื่อเวลา 13.40 น. ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช. ได้นำกรรมการบริหารพรรค พร้อมผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคเดินทางมายังถึงศาลท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชน  ทั้งนี้ ก่อนเดินผ่านเข้ามายังลานอเนกประสงค์ของศูนย์ราชการฯ ผู้ประสานงานของพรรค ทษช.ได้กำชับสมาชิกพรรคทุกคนให้ยิ้มรับสื่อมวลชน โดย ร.ท.ปรีชาพลซึ่งเดินลงจากรถยนต์ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด เมื่อพบสื่อมวลชนก็ยกมือไหว้และยิ้มทักทาย โดยไม่ให้สัมภาษณ์หรือตอบคำถามใดๆ ซึ่งพรรค ทษช.ประสานขอนำผู้ติดตามเข้าร่วมรับฟังคำวินิจฉัยในห้องพิจารณาคดี 40 คน โดยศาลได้อนุญาต ในส่วนสำนักงาน กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง พนักงานอัยการ พร้อมเจ้าหน้าที่ กกต.ประมาณ 20 คน เป็นตัวแทนสำนักงาน กกต. ร่วมรับฟังผลวินิจฉัยคดีของศาล 
ยกตัวอย่างตั้งแต่ 2475
    และเมื่อ 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี โดยนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นว่า ศาลนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องต่างๆ โดยได้แยกคำร้องออกเป็น 9 คำร้อง ซึ่งศาลมีมติยกคำร้องทั้งหมด เนื่องจากผู้ร้องต่างๆ ไม่ใช่คู่ความในคดี โดยในคดีนี้มี กกต.และพรรค ทษช.เป็นคู่กรณี จึงได้มอบหมายให้นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย
โดยนายนครินทร์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยไว้ 3 ประเด็น คือ 1.มีเหตุให้สั่งยุบพรรค ทษช.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (2) หรือไม่ 2.คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช.ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ และ 3.ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง กก.บห.ผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็น กก.บห.พรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกหรือไม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 หรือไม่
    ประเด็นที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญในราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด  หรือโดยแต่งตั้งก็ตามในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย.2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผ่านกรรมการราษฎร ระหว่างที่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นชอบด้วยทุกประการ 
    “พระราชหัตถเลขาระบุว่า ด้วยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพเหนือความที่จะถูกติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงอันจะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะนำมาซึ่งความขมขื่น ในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยอันสมัครสมานอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย”
    นายนครินทร์กล่าวอีกว่า แม้ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (ร.8) สภาผู้แทนราษฎรได้ปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ทั้งฉบับ อันนำมาสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญว่าด้วยฐานะของสมาชิกของพระบรมวงศานุวงศ์ถูกลบล้าง อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 ที่ระบุว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามในของวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้นสอดคล้องกับหลักการที่มีอยู่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครองอันเป็นหลักการในรัฐธรรมนูญอันเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศ ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ 
ประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนใคร
    นายนครินทร์อ่านคำวินิจฉัยต่อ ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย แตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐลักษณะอื่น ซึ่งมีบทบาททางการเมืองโดยตรง โดยการใช้อำนาจในการเมือง และควบคุมการใช้อำนาจทางการเมือง โดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังเช่นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศในปัจจุบันดังนั้นการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ ในนามของพรรคการเมืองผู้แข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ จึงเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า จะส่งผลให้ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการอันเดียวกับระบอบการเมืองที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ สภาพการเช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครองต้องถูกเซาะกร่อน ทำลาย บ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย 
    นายนครินทร์กล่าวต่อว่า การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น ย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และต้องมิใช่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพ ที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติ รากฐาน การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไปด้วยเหตุฉะนี้ ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ 
    “แม้พรรค ทษช.จะมีสิทธิและเสรีภาพการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพในการกระทำการใดๆ ของพรรคการเมือง ย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่า การกระทำนั้นจะไม่เป็นการอาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญ ให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการพื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณว่า พระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังมิให้สถาบันกษัตริย์ของไทย ต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะหากถูกทำด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยย่อมสูญเสียไป เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมือง ก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์และปกป้องสถาบันให้ทรงอยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่ทรงอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย จะต้องเสื่อมโทรม หรือลง หรือต้องสูญสิ้นไป ซึ่งหาควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่” 
ศาลสอนคำว่า'ปรปักษ์'
    นายทวีเกียรติอ่านคำวินิจฉัยต่อว่า ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างหรือเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้น รวมทั้ง กก.บห.นั้นย่อมต้องถูกลงโทษทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็น ความเชื่อของตน มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อการกระทำนั้นไม่ได้ ถึงแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่าล้มล้างและปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้ง 2 คำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ด้วยเองว่า ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก ส่วนคำว่าปฏิปักษ์นั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะการกระทำเป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว
    สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรค 1 (2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายไป จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป 
    “ผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำไปโดยรู้สำนึก และโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่ง กก.บห.พรรค ทษช.ย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ  เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักใฝ่ในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนและคนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักใฝ่ทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรค 1 (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 92 วรรค 2”
เปิดเหตุตัดสินโทษ 10 ปี
    นายทวีเกียรติกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ทษช.แล้ว จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห.พรรค ทษช.ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อยู่ในวันที่ 8 ก.พ.2562 อันเป็นวันที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค ส่วนจะต้องเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็นระยะเวลาเท่าไร เห็นว่าการกำหนดเวลาของการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมือง ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอควรระหว่างพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งการกระทำกับโทษที่จะได้รับ ซึ่งการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำโดยมีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งการกระทำดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบการปกครองของประเทศชาติ นอกจากนี้ พิจารณาความสำนึกรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้องที่ได้น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีภายหลังได้รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงเห็นสมควรกำหนดเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 
    “ประเด็นที่ 3 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว บทบัญญัติทางกฎหมายว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารพรรคผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในวันที่ 8 ก.พ. อันเป็นวันที่กระทำยุบพรรค ผู้ถูกร้องก็ไปจดทะเบียนขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค”
    นายนุรักษ์สรุปในช่วงท้ายว่า ในประเด็นที่ 1 ศาลมีมติยุบพรรคผู้ถูกร้องโดยมติเอกฉันท์ ส่วนประเด็นข้อที่ 2 เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีกำหนดเวลา 10 ปีมีมติ 6 : 3 ส่วนประเด็นที่ 3 ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ และให้คู่กรณีคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยได้ภายใน 15 วันนับแต่วันอ่านคำวินิจฉัย (อ่านรายละเอียดหน้า 4) 
พบกันใหม่เมื่อมีโอกาส
    ภายหลังรับทราบคำตัดสินยุบพรรค ทษช.และตัดสิทธิ์ กก.บห.พรรค 10 ปี  ร.ท.ปรีชาพลให้สัมภาษณ์ด้วยเสียงสั่นเครือ สีหน้าเศร้า ว่าตนเองและ กก.บห.พรรคในฐานะ ทษช. ยืนยันว่าเราได้น้อมรับพระราชโองการเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ด้วยความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งคำวินิจฉัยนั้นก็เป็นไปตามที่ได้รับทราบแล้ว ตนเองและ กก.บห.พรรครู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพราะการยุบพรรคส่งผลกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพทางการเมืองขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยก็กระทบต่อผู้สมัครของพรรค และพี่น้องประชาชนที่มุ่งหน้าจะไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ขอขอบคุณทุกกำลังใจจากพี่น้องประชาชนพรรคการเมือง แม้พรรค ทษช.จะมีอายุที่ไม่ยาวเพียง 4 เดือนเท่านั้นที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว แต่ก็ได้รับความเมตตาจากพี่น้องประชาชนจำนวนมาก เราพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อยากเห็นบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดี และอยากทำสิ่งดีๆ ให้กับบ้านเมือง โดยมีเจตนาบริสุทธิ์ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา 
     "ผมขอขอบคุณผู้สมัครและพี่น้องประชาชนที่เดินเคียงข้างกันมาตลอด ถึงแม้ว่ามันจะไปไม่ถึงสิ่งที่เราปรารถนา แต่ก็ขอขอบคุณทุกๆ คน ปัญหาบ้านเมืองมีมาก คนที่อยู่ก็ต้องทำงานกันต่อไป สำหรับผมและกรรมการบริหารพรรค ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะอะไรก็ตาม เราจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เราทุกคนปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่มีใครคิดร้าย ผมอยากให้พวกเราทุกๆ คนทำหน้าที่ของตนเอง แม้ว่ากรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง ผมเชื่อว่าในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งสามารถทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็ตาม ในฐานะคนไทยผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ขอบคุณมากๆ สำหรับกำลังใจ เราคงได้พบกันใหม่เมื่อมีโอกาส" ร.ท.ปรีชาพลกล่าว
    ขณะที่กลุ่มประชาชนที่สนับสนุนพรรค ทษช.หลายสิบคน ซึ่งเดินทางมาติดตามผลคำวินิจฉัยต่างแสดงความเสียใจ โดยต่างให้กำลังใจกันเองว่าอย่าไปท้อ ต้องสู้ต่อ ยังมีพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอีกเยอะ ขณะที่หญิงสูงอายุ 1 ราย สวมเสื้อสีขาวมีโลโก้พรรค ทษช. ซึ่งระบุว่าเดินทางมาตั้งแต่ตี 5 นั่งร่ำไห้บอกว่า หนูอยากได้ประชาธิปไตยคืน ทำไมไม่เอาให้พวกหนู พวกหนูสู้กันจนตายปี 2553 แล้ว ขอได้ไหม ขอคนมีอำนาจเอาประชาธิปไตยคืนได้ไหม รู้สึกน้อยใจ ทำไมต้องยุบพรรค 
    ด้านนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง ได้นำกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาได้รวมกลุ่มตะโกนให้กำลังใจระบุว่า แม้ว่าพรรค ทษช.ถูกยุบ แต่ประชาชนจะสู้ต่อ ไม่ยอมแพ้ เลือกฝ่ายประชาธิปไตย พร้อมชูมือตะโกนว่า 24 มี.ค. จับปากกาฆ่าเผด็จการ หลายสิบครั้ง
    ส่วนบรรยากาศที่พรรค ทษช.เป็นไปอย่างเงียบเหงา เจ้าหน้าที่ของพรรคมีสีหน้าไม่สู้ดีขณะที่นั่งฟังการให้สัมภาษณ์ของ ร.ท.ปรีชาพล ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนบางส่วนที่มาปักหลักรอให้กำลังใจ ต่างก็มีสีหน้าเศร้าสร้อย แต่ยืนยันจะยังเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยต่อไป จากนั้นเวลา 16.10 น. กก.บห.พรรคได้เดินทางกลับมาที่พรรคเพื่อพูดคุยกันประมาณ 10 นาทีก่อนทยอยเดินทางกลับ ซึ่งนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการสรรหา ระบุสั้นๆ ว่า “ตอนนี้ขอไปตั้งหลักก่อน” 
    สำหรับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ 10 ปีของ ทษช.นั้นมีทั้งสิ้น 13 ราย ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทษช.ทั้ง 2 ระบบนั้นที่หมดสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แบ่งเป็น ส.ส.ระบบเขต 175 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 108 ราย
ทูลกระหม่อมฯ เศร้า-หดหู่
    ด้านทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้ทรงแสดงความคิดเห็นต่อข้อความของผู้ใช้งานอินสตาแกรมรายหนึ่งที่เข้ามาตอบบนโพสต์บัญชีใช้งานอินสตาแกรมส่วนตัวของพระองค์ที่ชื่อว่า nichax ต่อกรณีการยุบพรรคไทยรักษาชาติว่า "ทราบแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและหดหู่มาก" 
ทั้งนี้ ทูลกระหม่อมหญิงฯ ยังทรงตอบแสดงความเห็นต่อผู้ใช้งานที่เข้ามาโพสต์ว่า "พรรคไทยรักษาชาติไม่รอดแล้วครับ... แต่ถึงยังไงก็จะขอเดินหน้าไปพร้อมกับทูลกระหม่อมนะครับ" ว่า "ขอบใจมากค่ะ เราจะช่วยทำให้ดีที่สุด"
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงผลของการยุบพรรค ทษช.ว่า เมื่อยุบพรรคแล้วก็ต้องพ้นความเป็นสมาชิก เพราะไม่มีพรรคอยู่ อิสระจะไปอยู่พรรคไหนก็ได้หากเขารับ แต่จะไปสมัครรับเลือกตั้งนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนั้น 90 วัน ส่วนการจะไปช่วยพรรคอื่นหาเสียงนั้น เขาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขาเป็นประชาชนทั่วไป จะไปช่วยใครก็แล้วแต่ท่าน
    เมื่อถามว่าจะเยียวยาสมาชิกที่พรรคถูกยุบหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะไปเยียวยาไปเอาอะไรกับใคร ไปเอากับพรรคสิ เรายุบกันมาหลายครั้งก็มีบทเรียนที่ต้องปฏิบัติกันอย่างไร ส่วนหากมีการกาบัตรเลือกพรรค ทษช.นั้นก็จะไม่นับปาร์ตี้ลิสต์ และไม่นับอะไรทั้งนั้น เพราะไม่มีพรรคนี้อยู่แล้ว ถือว่าไม่ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นบัตรเสีย ซึ่ง กกต.ต้องแจ้งให้ทราบ จะมาบอกว่าทุกคนดูโทรทัศน์เหมือนกันไม่ได้ เพราะมีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วย
ถามถึงการเพิกถอนสิทธิ์ กก.บห. 10 ปี ถือว่าเป็นการลงโทษสถานเบาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่วิจารณ์ เบาหรือหนักไม่รู้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนว่าตลอดชีวิต แต่เอาไปแปลกันว่าเมื่อไม่ได้เขียนเวลาไว้ก็คงตลอดไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็แปลใหม่ว่าเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลยพินิจแปลตรงนี้ได้ ถ้าเป็นคดีอื่นศาลก็อาจแปลอีกอย่าง เพราะว่าศาลระบุว่าเอาความผิดเอาการกระทำมาเป็นตัวตั้ง และใช้เทียบมาตรฐานในการเพิกถอนสิทธิ์ในกรณีอื่นๆ ลดจากไม่มีกำหนดเวลาสูงสุดคือ 10 ปีอยู่แล้ว
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้อ่านแถลงการณ์กรณียุบ ทษช.ตอนหนึ่งว่า การยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง 17 วันเป็นการตัดโอกาส และเป็นการทำลายเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเลือกพรรคที่ถูกยุบ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ได้ดุลยภาพ เคารพเสียงข้างมาก พร้อมคุ้มครองเสียงข้างน้อย สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระที่ได้มาตรฐานตามแบบประชาธิปไตยสากลและสามารถควบคุมมิให้เสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบได้ แต่ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือในการกวาดล้างทางการเมือง
    “โทษตัดสิทธิ์ 10 ปีนั้นถือว่ารุนแรงมาก หลายประเทศที่โดนยุบพรรคฐานปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเป็นพรรคที่ล้มล้างการปกครองจริงๆ หรือสนับสนุนอำนาจที่ไม่ได้มาตามระบบ ซึ่งวิญญูชนคงพิจารณาได้เองว่าคำว่าปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ควรกินความกว้างเพียงใด” นายปิยบุตรกล่าว 
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงคะแนนเสียงหลังยุบ ทษช. ว่าบทเรียนของประเทศไทยประชาชนจะมีคำตอบให้เสมอ ไม่มีอะไรที่ไม่มีทางออก ผ่านวิกฤติการเมืองมามากมาย และก็เจอการตัดสินใจของประชาชน ซึ่งบางครั้งนักการเมืองอาจไม่เข้าใจ แต่ประชาชนจะรู้ว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะปฏิบัติตนอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไร ให้เชื่อมั่นว่าประชาชนพร้อมมีคำตอบในทุกๆ วิกฤติปัญหา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"