(ตลาดเช้าที่อุทัยฯ อาหารอร่อย แถมราคาถูกมาก)
เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้จักจังหวัดอุทัยธานี เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ แต่หลายคนไม่รู้ว่าที่นี่เป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำสะแกกรัง และขึ้นชื่อเรื่องปลาแรดซึ่งมีรสชาติสุดอร่อย โอบล้อมไปด้วยธรรมชาติของผืนป่าห้วยขาแข้ง และมีเสน่ห์ที่ผู้คนยังคงดำเนินชีวิตในแบบเรียบง่าย บ้านเรือนหลายหลังยังเป็นครึ่งไม้ครึ่งปูนอย่างที่รุ่นพ่อแม่เคยสร้างมา อาหารก็ราคาย่อมเยา รสชาติอร่อย หากใครได้ลองมาสัมผัสครั้งแรกแล้วรับรองว่าต้องคิดหวนกลับมาซ้ำอีกแน่นอน เหมือนกับเราที่ได้กลับมาอุทัยธานีอีกครั้ง
มาเยือนอุทัยธานีครั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พาคณะเดินทางมาท่องเที่ยวในสไตล์สัมผัสฮีโร่ในแต่ละท้องถิ่นของเมืองอุทัยธานีที่มีหลายด้าน หลายคน โดยฮีโร่เหล่านี้ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี หรือวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือบางคนก็เป็นกลุ่มคนที่จากบ้านเกิดแล้วกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สืบทอด พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนในมุมที่เรียบง่าย หลีกลี้จากความวุ่นวาย พักจากงานที่เครียดๆ ให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย
คณะของเราเดินทางมาถึงถิ่นฮีโร่แห่งอำเภอบ้านไร่ในช่วงเกือบเที่ยง จุดหมายแรกของเราคือ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอโบราณบ้านย่ายาย ของป้าจำปี ธรรมศิริ ศิลปินผ้าทอผู้ออกแบบลายผ้าที่ได้รับรางวัล Asean Selection 2561 ซึ่งเป็นการทอผ้าแบบลาวครั่ง ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นเองของป้าจำปี ไม่มีการตกแต่งแบบหรูหรา หรือต้องลงทะเบียนเข้าชมด้านใน แต่ให้บรรยากาศเหมือนมาเยี่ยมบ้านญาติผู้ใหญ่ที่มีของดีๆ มาให้ลูกหลานได้ชม ด้านในถูกจัดแบ่งเป็นโซนคร่าว 3 โซนเพื่อให้เข้าใจง่าย โซนด้านหน้าเป็นผ้าที่ทอขึ้นมาใหม่ มีลวดลายแบบดั้งเดิมผสมผสาน อย่างลายสร้อยสา ลายอ้อแอ้ และลายโบราณอื่นๆ ที่ตกถอดมาจากบรรพบุรุษ โซนที่เป็นลายผ้าโบราณแบบต่างๆ ซึ่งถูกจัดเก็บใส่กรอบอย่างดี และโซนที่เป็นผ้าทอซึ่งมีการทอเป็นบทกลอนตัวอักษร รูปสัตว์ต่างๆ
(ลายผ้าที่ตกทอดมาจากรุ่นยายของป้าจำปี)
ป้าจำปีใจดี ได้มาเล่าให้ฟังอีกว่า เริ่มทอผ้าตั้งแต่ 10 ขวบ เพราะย่ากับยายอยากให้เรียนรู้ แม้ว่าในตอนนั้นจะไม่ชอบนัก แต่ก็เรียนรู้เรื่อยมา ลายแรกที่เรียนก็คือ กุญแจลาย ซึ่งเป็นลายต้นฉบับทั้งหมดที่มี พอย่ากับยายเสียชีวิต ทิ้งสมบัติไว้ให้คือลายผ้า 2 ถุงใหญ่ ที่มีมากเป็นหลายร้อยลาย ซึ่งป้าจำปีจดจำได้เป็นอย่างดีหมดทุกลาย ต่อมาป้าจำปีจึงได้นำลายผ้าที่อยู่ในความทรงจำมาประยุกต์ในการทอเป็นรูปวิว สัตว์ และตัวอักษรที่มีวิธีการทอแบบลาวครั่ง เพราะไม่อยากให้สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาเหล่านี้หายไป และป้าจำปียังได้สอนเด็กๆ ในโรงเรียนละแวกใกล้เคียง ให้พวกเขาได้ซึมซับลายผ้าต่างๆ เพื่อสืบสานต่อไป
(พี่นก และพี่กำพล ชีวิตที่เรียบง่าย กับการทำเกษตรอินทรีย์)
เราเดินทางต่อไปยัง "ไร่ดินดีใจ" ทานอาหารมื้อเที่ยงจากวัตถุดิบที่ปลูกในไร่ โดย "พี่นก" และ "พี่กำพล" คู่รักที่ตัดสินใจมาทำเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิดของพี่กำพล ก่อนจะทำความรู้จักไร่แห่งนี้ให้มากขึ้นคณะเราก็เตรียมตั้งวงกินข้าว อาหารบ้านๆ ที่หาทานได้ง่ายอย่าง น้ำพริกผักต้ม หมูทอดกระเทียม ต้มไก่ ไข่เจียว แต่อร่อยมาก กินกันจนอิ่มแปล้หนังท้องตึงเลยทีเดียว
ไร่แห่งนี้ยังไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นแหล่งให้นักเรียน เยาวชนได้มาเรียนรู้ จัดกิจกรรมเข้าค่ายเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกแบ่งไว้เป็นแปลงๆ ปลูกพืชผักต่างๆ มีโรงอบ สถานที่เวิร์กช็อป และบ้านที่เรียบง่าย พี่นกบอกว่าการจะปลูกอะไรที่นี่ไม่ง่ายเลย จะทำไร่ก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน ยิ่งทำเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ยิ่งไม่มีใครเห็นด้วย เพราะดินที่อุทัยธานีเป็นดินแห้ง มีฝุ่นเยอะ แต่ด้วยความตั้งใจของเราจึงได้ลองผิดลองถูก และยอมที่จะโดนแม่ว่าบ้างในช่วงแรก แต่พอผลผลิตของเราที่ปลูกแบบอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีออกมา ไม่ว่าข้าว งา มะกรูด ส้มซ่า ผักสวนครัวอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ทั้งยาสระผม แยม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ฯลฯ ก็เป็นที่ยอมรับ
(สะพานข้ามไปยังวัดโบสถ์ ในช่วงเช้าที่แสงอรุณงดงาม)
วันต่อมาเราก็ถือโอกาสตื่นเช้าไปเดินตลาดเช้าใกล้กับวัดอุโบสถาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดโบสถ์ ชาวบ้านทยอยเดินทางมาจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก แต่ที่ทำให้เราประทับใจนอกจากผัก ปลา ที่วางขายดูสดใหม่มากแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นของที่ชาวบ้านปลูกเอง อีกอย่างก็คงจะเป็นราคาของ ที่น่ารักมากๆ ไม่แพงเลย
(นักท่องเที่ยวใส่บาตรยามเช้า)
เราได้แวะทานก๋วยจั๊บ ชามหนึ่งให้เยอะมาก คิดว่าน่าจะต้องชามละ 40 บาทแน่นอน แต่พอเก็บตังค์จริงๆ ราคาแค่ชามละ 20 บาทเท่านั้น รสชาติไม่ต้องพูดถึง เพื่อนที่มาด้วยทานหมดกันทุกคน อิ่มท้องแล้วก็ไปอิ่มบุญกันต่อ พวกเราตรงไปท่าเรือสำหรับใส่บาตร บริเวณท่าก็จะมีอาหาร ดอกไม้ที่ชาวบ้านนำมาจำหน่ายสำหรับใครที่ไม่ได้เตรียมของใส่บาตรมาด้วยนะ ใครว่างพอมีเวลาเหลือก็เดินเล่นยามเช้าข้ามสะพานไปกราบไหว้พระที่วัดโบสถ์ด้วยก็ได้
(บ้านนกเขา ที่เก็บของเก่า ส่งต่อความรู้ให้รุ่นลูกหลาน)
ล้อหมุนต่อไปยังถนนคนเดินตรอกโรงยา ที่ร้านบ้านนกเขา ในวันเสาร์แบบนี้แน่นอนว่าต้องมีถนนคนเดินที่เป็นสินค้าจากชาวอุทัยธานี เดิมที่นี่เป็นชุมชนคนจีนอพยพ ตรงนี้เคยเป็นย่านที่มีการสูบฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย การค้าก็คึกคัก แม้จะเคยมีช่วงเวลาที่ซบเซาและวิกฤติ แต่ในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์สิ่งที่เป็นเรื่องราวในอดีตไว้ได้อย่างดี แต่ช่วงที่เราเดินทางมาถึงเป็นช่วงบ่าย ทำให้ได้เห็นภาพบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนในอดีต บางหลังก็มีตกแต่งปรับปรุงไปบ้าง บ้านที่เปิดเป็นร้านขายของก็จะมีคนแวะเวียนมานั่งหน้าบ้าน พูดคุยกันตามประสา ดื่มชา เล่นหมากรุก มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอบอวล
(ลุงนกเขา ฮีโร่ตรอกโรงยา)
หนึ่งในฮีโร่ผู้ที่พัฒนาพลิกฟื้นให้ย่านชุมชนเก่าแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ลุงนกเขา รองประธานถนนคนเดินตรอกโรงยา บอกว่า เดิมทีตรอกโรงยาเป็นถิ่นของคนจีนที่ได้อพยพมา มีการค้าขายคึกคัก และอย่างที่รู้ คือ สามารถสูบฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน บ้านเมืองมีการพัฒนามากขึ้น เด็กๆ ลูกหลานก็ไปเรียน ทำงานต่างถิ่นมากขึ้น ย่านนี้เลยซบเซา ถ้าไม่ทำอะไรก็คงจะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ ตนจึงคิดที่อยากจะทำให้ย่านแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยอาศัยคนในชุมชน เปิดเป็นถนนคนเดิน และพิพิธภัณฑ์โรงฝิ่นที่กำลังตกแต่ง เป็นสถานที่ให้ความรู้และเข้าใจชุมชนแห่งนี้มากขึ้นด้วย
(บุ๊คโทเปีย ร้านหนังสืออิสระที่ใครได้มาก็หลงใหล)
เดินทางต่อมายังถิ่นฮีโร่ที่สุดท้าย ที่ร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย ร้านหนังสืออิสระของพี่อ้วน หรือ วิรัตน์ โตอารีย์มิตร ที่เปิดมา 13 ปี ตึกแถว 3 ชั้นแห่งนี้ชั้นล่างถูกจัดให้เป็นพื้นที่ของหนังสือ ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือวรรณกรรม มีหลากหลายแนว พื้นที่แทบจะทั้งหมดถูกจัดเป็นชั้นวางหนังสือ แบ่งทางให้เดินเลือกไว้พอประมาณ ทำให้เราชอบมาที่นี่ ได้กลิ่นอ่อนๆ ของกระดาษ เหมือนสมองได้ผ่อนคลายเลย
(พี่อ้วน เจ้าของร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย)
พี่อ้วนเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เริ่มจากอาการที่เบื่อกรุงเทพฯ และคิดว่าอาชีพฟรีแลนซ์คงไม่ยั่งยืน เพราะโลกเปลี่ยนไป พอมีร้านหนังสือที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถนัดที่สุด ขายหนังสือวรรณกรรม วรรณกรรมแปล และหนังสือที่เขียนเรื่องเอง เช่น เรื่อง เธอไม่เคยรู้ว่ามีเพลงนี้อยู่บนโลก และ sad cafe การเปิดร้านหนังสือยังทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่เข้ามาซื้อหนังสือ มันเหมือนเป็นการเชื่อมคนที่เดินทางเข้ามากับเรา บางทียังมีนัดกันไปเที่ยว แลกเปลี่ยนความคิดกันเกี่ยวหนังสือเล่มนั้นๆ นับเป็นความสุขที่หาได้จากในเมืองที่เงียบสงบแห่งนี้
เราก็คิดว่าอุทัยธานีเป็นอีกจังหวัดที่เงียบ สงบ และผู้คนก็ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายจริงๆ ที่สำคัญเวลาขับรถไปไหน ความกังวลเรื่องรถติด รถเยอะ ก็น้อยมากจริงๆ ลองมาดูนะ แล้วจะหลงรักเมืองอุทัยฯ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |