หวั่นทั่นปธ.นักล่าหลุดคดี ชูวิเชียรโมเดลปลุกผู้กล้า


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ เบรกตำรวจเรียกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สอบสวนคดีเจ้าสัวล่าสัตว์ป่า หวั่นเสียรูปคดี ลั่นต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย หัวหน้าชุดพญาเสือผนึก ตร.ลงพื้นที่เก็บรายละเอียดจำลองเหตุการณ์มัดแก๊งฆ่าเสือดำ วงเสวนาหวั่นเจ้าสัววิ่งเคลียร์คดี ลั่นจับตาถึงที่สุด "ศศิน" จวก "เปรมชัย" ไร้ยางอายยิงเสือดำในทุ่งใหญ่ฯ พื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น เร่งสร้าง "วิเชียรโมเดล" ปลุกคนกล้า จุฬาฯ จัดกิจกรรม "สัตว์ใหญ่ต้องไม่ตายฟรี" ร่ำไห้จุดเทียนไว้อาลัย 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีการดำเนินคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถูกจับหลังลักลอบล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ว่า เรื่องป่าเรื่องเสือดำอะไรก็แล้วแต่ ตนไม่อยากให้สังคมหรือใครเรียกเจ้าหน้าที่ไปสอบสวน ไม่ได้มีหน้าที่ตรงนั้น ไม่อย่างนั้นมันจะเสียรูปคดี เดี๋ยวถามไปถามมา เจ้าหน้าที่ก็พูดไม่ถูก ไม่ตรงกัน ไม่เหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับคำถาม ฉะนั้นให้เขาสอบสวน 
    "ผมยืนยันว่าต้องถูกลงโทษไปตามกฎหมาย เดี๋ยวจะบอกว่าคนรวยไม่ติดคุก คนจนติดคุกอีก เอาไปเทียบกันหมดทุกอัน ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน เก็บเห็ดอะไรไปโน่นอีก ช่างเปรียบเทียบกันเหลือเกิน มันคนละคดี  คนละเรื่อง คนละกฎหมาย คนละตัว ไม่อย่างนั้นจะทำอย่างไร ศาลจะอยู่กันได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    วันเดียวกัน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, นายวิเชียร ชิณวงษ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฯ, พ.ต.ท.สมหมาย โชติกะวนิช พิสูจน์หลักฐาน 7, ร.ต.อ.สุมิตร  บุญยะนิจ รอง สว.(สอบสวน) สภ.ทองผาภูมิ, ทีมสัตวแพทย์จาก สบอ.3 (บ้านโป่ง), ตำรวจ บก.ปทส. และทหาร ฉก.ลาดหญ้า เดินทางเข้าพื้นที่โดยขึ้น ฮ.ที่เขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) ลงจุดจอดที่หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช ก่อนเดินทางต่อเข้าไปอีก 9 กม. ที่จุดตั้งแคมป์บริเวณริมห้วยปะชิ ซึ่งอยู่ระหว่างหน่วยทิคอง-มหาราช เพื่อหาจุดชำแหละเสือดำ โดยจะขยายพื้นที่ตรวจพิสูจน์ 2,129 ตร.ม.
    นายชัยวัฒน์กล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่เพื่อไปดูจุดเกิดเหตุต่างๆ โดยละเอียดอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจุดที่พบเศษลำไส้ในครั้งแรก ซึ่งเวลานี้ทางเจ้าหน้าที่มั่นใจแล้วว่าเป็นเศษชิ้นส่วนจากซากของเสือดำที่อยู่ห่างจากจุดกางเต็นท์ประมาณ 700 เมตร โดยได้พบเศษเขียงพลาสติกอยู่บริเวณริมลำห้วย ห่างจากจุดกางเต็นท์ประมาณ 30 เมตร ซึ่งคาดว่าจะเป็นเขียงที่ใช้ในการชำแหละสัตว์ที่ล่ามาได้ อีกทั้งจะตรวจสอบอย่างละเอียดในพื้นที่โดยรอบเพื่อหาจุดที่ใช้ในการชำแหละสัตว์ จุดยิง จุดที่พบปลอกกระสุน และอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบในสำนวนคดีให้รัดกุมมากขึ้น จะจำลองเหตุการณ์ จุดที่กางเต็นท์และจุดอื่นๆ ที่พบทั้งหมด ซึ่งได้นำซากสัตว์ป่าของกลางมาจำลองยังจุดเกิดเหตุ เพื่อนำมาตรวจสอบการมองเห็นว่า ทิศทางในการมองเมื่อเวลาอยู่ตามจุดต่างๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง มีรัศมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อใช้ประกอบในการหักล้างคำกล่าวอ้างต่างๆ ของผู้ต้องหาที่จะเกิดขึ้น 
    "อีกประเด็นคือเจ้าหน้าที่จะทำการสำรวจโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุ โดยการบันทึกภาพมุมสูงด้วยการใช้โดรนขึ้นบินในระยะวงกว้าง 200 เมตร, 400 เมตร และ 600 เมตร เพื่อประกอบในสำนวนว่าพื้นที่โดยรอบไม่ปรากฏว่ามีชุมชนตั้งอยู่โดยรอบบริเวณนั้น การจำลองในครั้งนี้ ได้นำเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทั้งหมดเข้าพื้นที่ไปนำชี้ยังจุดเกิดเหตุทุกจุด เพื่อให้ตรงตามวันที่เกิดเหตุ" นายชัยวัฒน์ กล่าว   
หวั่นเจ้าสัวเคลียร์คดี
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  ถนนสามเสน ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวฯ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเสวนาวิชาการ "จาก 16  ถึง 61 คลี่ม่านเกมล่าสัตว์ 'ทุ่งใหญ่' เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน ?  โดยนางรตยา จันทรเทียร นักอนุรักษ์อาวุโส อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เมื่อปี 2516 มีเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเขตทุ่งใหญ่ฯ ครั้งนั้นถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ สถานที่เกิดเหตุห่างจากจุดคดีทุ่งใหญ่ฯ ปี 2561 ประมาณ 60 กิโลเมตร นำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ขณะที่คดีฆ่าเสือดำ ล่าสุด ทราบว่าเสือดำในบริเวณนั้นคุ้นเคยกับคน และคงไม่คิดจะถูกทำร้าย ขอฝากติดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  และ พ.ร.บ .สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อย่าอนุญาตให้ภาคเอกชนเช่าพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ สร้างบ้านพัก เต็นท์ปรับอากาศ จะเปิดช่องให้เกิดการลักลอบล่าสัตว์อีกด้วย 
    นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร  กล่าวว่า จากคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์ฯ ผู้ต้องหาเข้าไปทุ่งใหญ่ฯ วันเดียวแล้วยิงเสือดำได้ แสดงว่าป่าตะวันตกเจ๋งดี และอุดมสมบูรณ์ ทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ชั้นเยี่ยม และมีการจัดการเข้มข้น แต่มีคนกล้าขออนุญาตไปกระทำผิด จากปี 16 ผ่านมา 45 ปี กับการล่าสัตว์ เปรมชัยใช้หัวใจประเภทไหน ไม่อาย ไม่เกรงใจคนอนุญาต หรือย่ามใจลูกน้องของท่านสามารถเคลียร์ได้ ในพื้นที่ตัวอย่างการอนุรักษ์ระดับทุ่งใหญ่ฯ เป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง ที่มีบุคคลทำแบบนี้ คนที่ไปยิงสัตว์ป่าเล่นบนประวัติศาสตร์การทำงานของผู้คนจำนวนมาก ไม่เกรงใจกันเลย 
    "จากคดีนี้สะท้อนหลังจากต่อสู้มา 40 ปี การอนุรักษ์ชนะ สังคมชัดเจนไม่ยอมรับการกระทำแบบนี้อีกต่อไป ไม่ใช่วิกฤติ ไม่ใช่กฎหมายอ่อน แต่ต้องปรับปรุงระบบให้ทำงานให้ดีขึ้น อนาคตสุขภาพป่าของประเทศไทย ขนาดพื้นที่ป่าต้องไม่แตกออกเป็นหย่อม ต้องมีอุทยาน และเขตรักษาพันธุ์ฯ เชื่อมโยง และถ้าติดเชื่อมป่าติดกับพม่า เขมร จะเกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมมากขึ้น ป่าสุขภาพดีต้องมีความหลากหลายของสัตว์ป่า เช่น ทุ่งใหญ่ฯ ที่มีเสือดำ เสือดาว เสือโคร่ง กรมอุทยานฯ ต้องยกระดับการจัดการใช้วิชาการนำหน้า" 
    ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า วันนี้ยังพบภัยคุกคามการใช้ประโยชน์ที่ดินการล่าสัตว์การท่องเที่ยวที่มากเกินไป รัฐต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีหน่วยพิทักษ์ป่าครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ที่ดูแล อย่าลดการดูแล ต้องกดดันกรมให้มีการเดินลาดตระเวนคุณภาพ หัวหน้าต้องยึดป้องปรามการกระทำผิด ไม่ใช้บริการการท่องเที่ยว ส่วนการเพิ่มโทษเป็นเรื่องเล็กน้อย คนรวยล่า ไม่กลัว หวังเคลียร์ รัฐต้องสร้าง 'วิเชียรโมเดล' ให้เกิดขึ้น คนหนุ่มรุ่นใหม่วัย 37 ปี ใจกล้า ไม่กลัวใคร ขยัน ต้องยอมรับว่าเราขาดแคลนคนแบบนี้ อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์ฯ 200 แห่งในประเทศ มีหัวหน้าใจกล้าอย่างวิเชียรกี่คน และจะมีอีกหรือไม่ 
    "ส่วนเรื่องเปรมชัยมีทางเลือก หนี สู้ สารภาพ ถ้าท่านคิดได้มีทางออก แต่ถ้าเคลียร์ได้ก็จบ ลึกๆ คงหวั่นกระแสสังคม แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐบาล ถ้าคดีนี้ไม่หลุด รัฐได้เครดิต แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องพยานหลักฐานและเทคนิคทางกฎหมาย ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผมไม่ยอม ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินไม่เป็นไปตามคาดหวังจะเป็นอย่างไร   องค์กรอนุรักษ์มูลนิธิสืบฯ และเครือข่ายไม่ลืม จะทำหน้าที่ติดตามต่อไป วันนี้วิเชียรเป็นฮีโร่ แต่ถ้าสู้ยาวถึงศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ใครจะยืนอยู่เคียงข้าง คดีนี้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี จากปี 16 ท่าทีของรัฐต่างไป สมัยนั้นปกปิด ปิดบัง ขยายผลสู่ความไม่น่าเชื่อถือของรัฐ แต่คดีนี้ นายกฯ ไม่ปกป้องคนผิด" นายศศินกล่าว
    ด้านเอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย สังคมรู้ว่าใครกระทำความผิด ตำรวจมีพยานหลักฐานเพียงพอ แต่ในกระบวนการยุติธรรมบางครั้งจะมีหลักฐานตกไป ไม่มีการดำเนินคดี ผู้ใหญ่จะรอด คนไม่มีตังค์ติดคุก ทางมูลนิธิเป็นห่วงและจับตา เพราะคนรวยคนดังหลุดคดีบ่อยครั้ง จากวันที่เกิดเหตุเกินสัปดาห์แล้ว ยังไม่สอบปากคำผู้ต้องหา หมายเรียกยังไม่ออก สังคมจะรับได้หรือไม่ ถ้าคดีนี้ไปไม่ถึงศาล แต่ผมห่วงเจ้าหน้าที่ อย่างหัวหน้าวิเชียรและลูกน้อง กำลังใจจะหายไป เจ้าหน้าที่เข้าป่าทุกวัน ลำบาก เสี่ยง ถ้าคดีไม่ถึงที่สุด พวกเขาจะทำงานต่อไปได้หรือไม่ เสือดำในไทยมี 200-300 ตัว ตัวที่ถูกล่าไม่ใช่ตัวสุดท้ายแน่นอน การล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้า พบเสือดาวบ่อยที่ชายแดนไทยลาว ส่งออกเวียดนาม จีนราคาตัวละ 1-2 แสนบาท 
นศ.ฮือเสือดำไม่ตายฟรี
    ด้านนายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า คดีนี้สร้างความตกใจให้กับสังคมไทย เพราะคนที่ถูกจับเป็นคนดังในสังคม เดิมกรมอุทยานฯ ทำคดีตามปกติ เมื่อกลายเป็นข่าวดัง ทำให้ต้องดำเนินการหลายเรื่องอย่างพิถีพิถัน ตนไม่ปฏิเสธข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่กรณีหนังสืออนุญาตยังไม่ออกก็อนุญาตให้เข้าพื้นที่ ถือเป็นบทเรียนแต่ต้องดูว่าเจตนาหรือไม่ กรณีนี้ทำให้ต้องคิดมากขึ้น เรากังวลพื้นที่สำคัญๆ จะต้องทำพื้นที่โซนนิ่ง และให้คุณค่าความสำคัญเพื่อลดผลกระทบ ส่งเสริมบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องเพิ่มโทษขณะนี้กฎหมายมีการปรับแก้ตามขั้นตอนอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา 
    "ส่วนเรื่องคดี ต้องว่าไปตามกระบวนการยุติกรรม แต่พยายามทำให้สำนวนเข้มแข็ง อย่าตีประเด็นฟ้องหรือไม่ฟ้อง ท่ามกลางกระแสสังคม รัฐไม่ยอมให้เอาหัวและขารอดออกไปได้ ขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกประเด็น เพื่อให้สังคมได้เคลียร์" โฆษกกรมอุทยานฯ กล่าว     
    นายธนยศ ศรีวิไลรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องราวล่าสัตว์เกิดขึ้นซ้ำๆ ยุคนี้แตกต่างจากอดีต มีพลังโซเชียลมีเดียที่สามารถผลักดันประเด็นสู่กลุ่มเยาวชน คำว่าเสือดำตัวสุดท้ายไม่เป็นความจริง ยังมีเสือดำอีกมากในผืนป่าต้องอนุรักษ์ เราต่อสู้กับวาทกรรม" สุดท้ายใช้เงินคดีก็จบได้" พลังนักศึกษาจะเริ่มจากใช้โซเชียลมีเดียผลักดัน ติดแฮชแทค ฆ่าเสือดำ ขั้นต่อไปเตรียมส่งหนังสือยื่นเรื่องตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คดีดำเนินไปถึงที่สุด แม้กระแสสังคมจะเงียบลง แต่เครือข่ายนักศึกษาจะติดตามไม่หยุด 
    เมื่อเวลา 17.00 น. ที่บริเวณหัวมุมสนามกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งจุฬาฯ ได้จัดกิจกรรม "สัตว์ใหญ่ต้องไม่ตายฟรี" เพื่อสร้างจิตสำนึกและบทเรียนให้นิสิตนักศึกษาในการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดย น.ส.ณิชา เวชพานิช สมาชิกชมรมอนุรักษ์ฯ เปิดเผยจุดประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า  เพื่อเปิดพื้นที่ให้เพื่อนๆ นิสิตจุฬาฯ และบุคคลภายนอกที่สนใจเกี่ยวกับประเด็นการล่าสัตว์ป่าที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นเพื่อเตือนใจคนไทยว่าการอนุรักษ์สัตว์ป่าสำคัญแค่ไหน  
    "วันนี้ครบรอบ 1 สัปดาห์ที่เครือข่ายนักศึกษาอนุรักษ์ออกแถลงการณ์ร่วมกัน จะคอยตามเรื่องนี้ ถ้ายังไม่มีความคืบหน้า จะออกมาแสดงความเคลื่อนไหวอีกครั้ง แต่ละมหา'ลัยจะทำกิจกรรมแตกต่างกันไป ซึ่งมีกว่า 30 ชมรมทั่วประเทศ โดยมีสัญลักษณ์ร่วมกัน เช่น หน้ากากเสือ หรือแฮชแท็ก การร่วมเปลี่ยนโปรไฟล์" น.ส.ณิชากล่าว 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมในวันนี้มีการแสดงละครสั้น ร้องเพลง และอ่านบทกลอนของสืบ นาคะเสถียร ที่อุทิศชีวิตให้กับฝืนป่า โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน ทุกคนจะใส่หน้ากากเสือดำด้วย
     ขณะที่บางช่วงนักศึกษาหลายคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงกับร้องไห้ หลังทราบข่าวว่าเสือดำซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนถูกล่าด้วยน้ำมืออภิมหาเศรษฐีคนหนึ่งที่เห็นชีวิตสัตว์ป่าเป็นของเล่น และในวงเสวนาได้มีการพูดถึงการแก้กฎหมายเพิ่มโทษกับผู้ที่เข้าไปล่าสัตว์ให้สังคมตื่นตัวช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
    หลังเสร็จกิจกรรมทั้งหมด กลุ่มนักศึกษาได้จุดเทียนเพื่อไว้อาลัยให้กับเสือดำและสัตว์ป่าที่ถูกล่าด้วยน้ำมือมนุษย์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"