แล้งลาม17จว. คาดเศรษฐกิจ วอด1.5หมื่นล.


เพิ่มเพื่อน    


    "ฉัตรชัย" ห่วงภัยแล้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ-อีสาน หลังระดับน้ำนอกเขตชลประทานเหลือน้อย เล็งอาจต้องดึงน้ำจากพื้นที่อื่นเสริม แนะภาคเกษตรปรับระบบการเพาะปลูก "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย"  คาดส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 15,300 ล้านบาท
    เมื่อวันที่ 6 มี.ค. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อยในช่วงเกิดภัยแล้งว่า เรื่องนี้ตนได้เตือนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไป 2 สัปดาห์แล้ว เพราะอากาศร้อนเร็ว สิ่งที่น่าห่วงคือนอกเขตชลประทาน เพราะที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปรับเรื่องการเพาะปลูกเพื่อลดความเสียหายอยู่แล้ว และจากนี้ไปต้องไปดูว่าน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับท้องถิ่นด้วย 
    พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะต้องพยายามควบคุมดูแล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดู บางพื้นที่อาจต้องดึงน้ำจากพื้นที่อื่นมาช่วยเสริม ส่วนในเขตชลประทานยังพอดูแลได้ แต่ทั้งหมดนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานท้องถิ่น จะต้องไปวางแผนรับมือ
    "ในเขตชลประทาน จากที่ดูสถานการณ์น้ำสำหรับการอุปโภคคงไม่เป็นปัญหา เราหาทางช่วยเหลือได้ แต่ที่จะเป็นปัญหาคือภาคการเกษตร เรื่องนี้คงต้องไปปรับระบบการปลูก เราต้องพยายามให้ผ่านไปให้ได้" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว 
    รองนายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่น่าเป็นห่วงมี 17 จังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน โดยหลังจากนี้จะให้ สทนช.ชี้แจงสถานการณ์ในภาพรวมอีกครั้ง ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง ตนก็เข้าใจ เพราะตอนนี้เข้าสู่สภาวะหน้าแล้งแล้ว แต่ได้พยายามดูแลอยู่ และคาดว่าในเดือน พ.ค. ฝนน่าจะมาแล้ว 
    ที่ จ.พิจิตร ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นประธานจัดอบรมโครงการหลักสูตรอุตุนิยมวิทยา เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างไร บริเวณ อบต.โพธิ์ประทับช้าง โดยมีส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 60 คน เข้าร่วมรับฟังความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้ข้อมูลอากาศ หรือข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาไปบูรณาการ หรือประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตร 
    ว่าที่ ร.ต.ธนะสิทธิ์กล่าวว่า ตั้งแต่กลางเดือนก.พ.2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนหรือหน้าแล้ง ซึ่งจะมียาวนานไปจนถึงกลางเดือนพ.ค.2562 ซึ่งอุณหภูมิความร้อนในบางพื้นที่อาจจะมีสูงถึง 42 องศาเซลเซียส 
    "ในส่วนปริมาณน้ำฝนที่มีการเก็บค่าเฉลี่ยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นจึงขอฝากเกษตรกรที่จะทำการเกษตรควรบริหารจัดการระบบน้ำให้เหมาะสมและเพียงพอ" รองอธิบดีกรมอุตุฯ กล่าว
    ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการทุกเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในทุกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับปัญหาไฟป่า และประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกจังหวัด เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยง และสนับสนุนกำลังพล เครื่องมือ เครื่องจักรและยานพาหนะ เข้าร่วมบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำอุปโภคและบริโภคของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ 
    "นอกจากนี้ให้กองทัพอากาศประสานกับกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนอากาศยานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาค 12 หน่วยปฏิบัติการที่รัฐบาลตั้งขึ้น ออกปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก" โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุ
    วันเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาภัยแล้งขณะนี้ว่า ภัยแล้งในปีนี้ได้ส่งสัญญาณที่มาเร็วและยาวนานกว่าทุกปี ซึ่งส่อเค้าถึงระดับน้ำในเขื่อนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะกระทบต่อพืชเกษตรสำคัญที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคดังกล่าวคือ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคกลางเป็นหลักถึง 47.8% และอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักถึง  43.5% 
    "ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้"
    นอกจากนี้ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน
    "ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเดือนเม.ย. ที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นเกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ต้องมีการเตรียมพร้อมวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรได้" ศูนย์วิจัยกสิกรระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"