เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต : ลูกหลานเราจะอยู่รอดอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

    หัวข้อสำคัญที่สุดหัวข้อหนึ่งของการสนทนาของสังคมโลกและสังคมไทยวันนี้คือ พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร? เราควรจะเตรียมลูกหลานของเราให้ตั้งรับอนาคตอย่างไร?
    คำตอบที่จะแจ้งที่สุดคือไม่มีใครรู้
    ที่ตอบอย่างนี้ไม่ใช่เล่นคำ แต่เป็นสัจธรรมแห่งยุคสมัยที่อยู่ท่ามกลางสิ่งที่ผมเรียกว่า Perfect Storm อันหมายถึงพายุหนักหน่วงรุนแรงแห่งเทคโนโลยีที่ซัดถาโถมเข้ามาสู่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกวงการ และทุกประเทศ ทุกทิศทุกทาง
    มันเป็นพายุที่นำมาความล่มสลายมาสู่ผู้ไม่ยอมปรับตัว แต่เปิดโอกาสมหาศาลสำหรับผู้ที่พร้อมจะขี่คลื่นแห่งความปรับเปลี่ยน
    มันมีความยุติธรรมตรงที่ว่า มันกวาดทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่เลือกว่าจะเป็นยักษ์หรือหนอน จะเป็นผู้เคยประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามหรือล้มเหลวจากเศรษฐกิจเก่า
    ทุกคนมีสิทธิ์จะตาย และทุกคนมีสิทธิ์จะเกิดใหม่
    ผมได้รับหนังสือชื่อ Futuration ที่ย่อมาจาก Future Generation ที่รวบรวมบทความของคุณสันติธาร เสถียรไทย ที่เขียนในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" มาเป็นซีรีส์ยาว อ่านแล้วอยากให้คนไทยทุกคนได้อ่าน
    คุณสันติธารรับตำแหน่งเป็น Group Chief Economist ของ Sea Group ที่มีบริการในเครือ เช่น  Garena, Shopee และ AirPay ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้เป็น Head of Emerging Asia  Economics Research ของ Credit Suisse (เครดิตสวิส) ประจำที่สิงคโปร์
    "เปลี่ยนปัจจุบันทันอนาคต" คือข้อใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ซึ่งทันกับความเป็นไปของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง
    เพราะเรากำลังอยู่ในจังหวะเปลี่ยนผ่านที่ทุกอย่างกำลังถูกท้าทาย และหากสำรวจตรวจสอบกันจริง ๆ แล้ว เรายังมีความไม่พร้อมอยู่มาก
    หนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็นการ "ถอดรหัสโลกอนาคตผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย"
    หัวข้อของบทความต่างๆ ล้วนสะท้อนถึงประเด็นที่สังคมไทยจะต้องเผชิญ และแม้หลายอย่างจะไม่มีคำตอบ แต่สิ่งสำคัญกว่าการมีคำตอบที่ถูกต้องคือการตั้งคำถามที่ถูกต้อง
    เพราะการรู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้องนั้นเองจะนำมาซึ่งความพยายามแสวงหาคำตอบที่ถูกต้อง
    ยิ่งในอนาคตที่อยู่ใน "ภาวะป่วน" หรือ disruption แล้วยิ่งจะพบสัจธรรมว่าไม่มีใครมีคำตอบที่ถูกต้องคนเดียว
    และไม่มีคำตอบใดคำตอบหนึ่งที่ถูกต้องแต่เพียงอย่างเดียวเช่นกัน
    คุณ "ต้นสน" สันติธารเขียนไว้ในคำนำของหนังสืออ้างคำกล่าวของ Graeme Wood ว่า
    "Pace of change has never been this fast and will never be this slow again..."
    แปลว่า "โลกไม่เคยผันแปรเร็วขนาดนี้ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอย่าง 'เชื่องช้า' เช่นวันนี้อีก"
    ภาษาชาวบ้านก็คงจะเป็นว่าที่เราเห็นว่าอะไรๆ มันวิ่งไปเร็วเหลือเกินวันนี้นั้น สำหรับวันข้างหน้าแล้วคนในอนาคตจะบอกว่ามันช่างเชื่องช้าเสียจริงก็ได้
    คุณสันติธารทำงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจให้องค์กรธุรกิจต่างชาติที่สิงคโปร์ ประสบการณ์ชีวิตจริงทำให้เขายอมรับว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปเกินกว่าที่ใครจะคาดเดาได้
    "นี่คือประโยคที่ผมจำฝังใจนับตั้งแต่วันที่ได้รับหน้าที่การเป็น 'พ่อ' แม้ว่าผมจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์การลงทุนที่ต้องทำนายอนาคตเป็นอาชีพ แต่การคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ 1-2 ปีข้างหน้านั้นช่างแตกต่างกับการคาดเดาว่าโลกจะเป็นอย่างไรในอีก 15-20 ปีข้างหน้า ผมถามตัวเองว่าโลกที่ลูกเรากำลังจะโตขึ้นมา หน้าตาจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน และเราควรเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมให้พวกเขารวมถึงตัวเราเองด้วยอย่างไร เราอาจจะคิดว่าวันนี้โลกผันแปรไปอย่างรวดเร็วแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตต่อจากนี้อาจจะเกิดขึ้นในอัตราความรวดเร็วกว่าที่เราเห็นกันในวันนี้เสียอีก"
    เขายอมรับว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนบทความซีรีส์ "จดหมายแห่งอนาคต" ลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจนั้นมาจาก
    "ความเกรงกลัวต่ออนาคต"
    คุณต้นสนบอกว่าภาพที่ค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา บ่งบอกว่าเราอยู่ในยุคที่กำลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ใช่เพียงระดับบนพื้นผิวเท่านั้น แต่ลึกลงไปถึงระดับแก่นของเศรษฐกิจโลก การพลิกขั้วอำนาจและการเปลี่ยนแปลงนี้กำลังท้าทายต่อความรู้ความเชื่อที่เรามีอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก
    พรุ่งนี้ผมจะยกเอาบางประเด็นในหนังสือมาเล่าขานเพื่อกระตุ้นให้เราได้ช่วยกันคิดช่วยกันพิเคราะห์เพื่อช่วยกันหาคำตอบว่า
    ลูกหลานเราจะฝ่าคลื่นลมแห่งเทคโนโลยีไปได้อย่างไร?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"