5 มี.ค.62-นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นถึงกรณีที่ สนช.ได้ผ่านกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เเละเว็บไซต์รัฐบาลไทย http://www.thaigov.go.th ได้ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน แต่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการใช้อำนาจตรวจค้นยึดล้วงข้อมูลต้องขออนุญาตศาล ยกเว้นระดับวิกฤติที่กระทบความมั่นคง แต่เสร็จแล้วต้องแจ้งศาลโดยเร็ว ว่า ต้องขอย้อนถามกลับว่า มาตรการ 1-3 ที่กล่าวมาใครเป็นคนจำแนกชี้ขาด เป็นตัวคณะกรรมการใช่หรือไม่ ตรงนี้มันไม่สามารถหาอะไรมาชี้วัดได้ ถ้าคุณบอกว่าเป็นเรื่องภัยวิกฤติร้ายแรง จริงๆ ปัจจุบันนี้มันก็มีกฎหมายอื่นที่ใช้ในสภาวะฉุกเฉิน เช่น กฎอัยการศึกอยู่แล้ว แต่ในขณะที่บ้านเมืองเราเป็นปกติ ขณะนี้ควรจะเอากฎหมายแบบนี้มาใช้หรือไม่ ถ้าคุณบอกเป็นเรื่องร้ายแรง แต่ศาลบอกว่าไม่ร้ายแรง กลายเป็นว่ากรรมการไซเบอร์ดังกล่าวสามารถชี้ขาดได้เลย หลักการตรวจค้นในที่เกิดเหตุสภาวะฉุกเฉิน กฎหมายก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการตรวจค้นไม่ต้องขอศาลอยู่แล้ว เช่น ในที่ที่ผู้บัญชาการทหารในท้องที่ใดมีการประกาศกฎอัยการศึกอยู่
ร่าง พ.ร.บ.ไซเบอร์ดังกล่าว ไม่มีหลักประกันที่ระบุไว้ว่าถ้าวิกฤติมีการตรวจค้นแล้วให้รายงานศาล ตนถามว่าถ้าแบบนั้นจะมารายงานศาลทำไม เพราะคุณสงสัยคุณเข้าไปจับกุมตรวจค้น ถ้าตรวจพบก็แจ้งข้อหา ถ้าไม่พบก็ปล่อยแล้วมาบอกศาลที่หลัง ตอนนั้นศาลจะทำอะไรได้ แล้วไปยับยั้งการค้นได้หรือไม่ เพราะทำไปแล้ว มีการชี้แจงว่าในร่างดังกล่าวให้ระดับความร้ายแรงขั้นที่ 1-2 มาศาลได้ แต่ทำไมขั้นที่ 3 จะมาไม่ได้ ศาลยุติธรรมมีการจัดให้ผู้พิพากษาเข้าเวร 24 ชั่วโมงในการพิจารณาออกหมายค้นหมายจับ มีทุกศาลและทุกวัน
ในส่วนที่อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวใช้เฉพาะกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ในส่วนพวกแฮกเกอร์ จะไม่เกี่ยวกับประชาชนทั่วไปนั้น ตนเห็นว่า ลองไปดูตัวกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าจะเอาเฉพาะความผิดที่เป็นลักษณะแฮกเกอร์เท่านั้น เขียนไว้ว่าถ้าเกิดสงสัยในบุคคลหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ไหน เขาสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีหมาย แม้จะมีการแก้ไขผ่อนลงหน่อยนึงว่า ถ้าไม่ถึงวิกฤติต้องขอหมายศาลโดยอ้างว่าไม่ทันการ ก็อย่างที่กล่าวย้ำไปแล้วว่ามันมีกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ แต่นี่คุณไปค้นก่อนที่จะรู้ว่ามีความผิดเกิดมันขัดกับหลักการสากล คุณแค่สงสัยแล้วไปค้น ไม่ผิดก็แล้วไป แต่ถ้าผิดก็ดำเนินคดี ตรงนี้เป็นการกลับหลักในกระบวนการยุติธรรม ตัวคนที่ถูกสงสัยโดนตรวจค้นยึดไปแล้ว เกิดความเสียหายไปแล้ว ดุลพินิจตรงนี้ต้องระวังเพราะหลักการของประชาธิปไตยเราต้องเชื่อในหลักการที่ว่า ต้องใช้ระบบตรวจสอบมากกว่าใช้คน เพราะการเชื่อในตัวบุคคลเป็นเรื่องอันตราย เราต้องไม่เชื่อว่าบุคคลเป็นคนดีแท้ได้ตลอดไป อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเกิดไม่ดีขึ้นมาก็จะเกิดความเสียหายได้
เมื่อถามว่านอกจาก พ.ร.บ.ไซเบอร์แล้ว สนช.ยังมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ... ตรงนี้เป็นการคุ้มครองถ่วงดุลได้หรือไม่ นายศรีอัมพร กล่าวว่า ปรกติแล้วเรื่องนี้ไม่ต้องออกกฎหมายยังได้ เพราะการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักพื้นฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ต้องเข้าไปละเมิดล้วงความลับของบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ ตรงนี้ไม่ควรทำ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้นมาก็จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่มิชอบ แต่จะมีกฎหมายที่ห้ามบุคคลอื่นเข้ามาล้วงข้อมูลก็เป็นเรื่องดี เป็นการปกป้องประชาชนเพิ่มขึ้น ที่ตนห่วง พ.ร.บ.ไซเบอร์ เพราะมันเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจได้เต็มที่เพียงต้องสงสัย ความจริงกฎหมายนี้ก็มีการแก้ได้ถูกต้องในเรื่องการต้องขอหมายศาลค้น ติดตรงที่เรื่องวิกฤตร้ายแรงทำไมไม่ขอศาล หรือฝ่ายบริหารไม่เชื่อในกระบวนการตุลาการ หรือเกรงว่าศาลจะไม่ให้หมายค้น
นายศรีอัมพร กล่าวต่อว่า ในระยะหลังที่ตนสังเกตพบว่าเจ้าพนักงานของรัฐพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้การทำงานผ่านการถ่วงดุลโดยศาล โดยอ้างว่าทำงานไม่สะดวก ต้องคิดด้วยว่าถ้าไม่มีอำนาจศาลในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐจะเป็นอย่างไร ปกติที่ผ่านมามีการขอหมายจับหมายค้นถ้าเป็นเรื่องร้ายแรงและนำพยานหลักฐานมาแสดงแบบคดีฆ่า ส่วนมากศาลก็ออกหมายให้ ขอได้ 24 ชั่วโมง ที่เป็นปัญหาที่ศาลไม่ให้ก็จะเป็นเรื่องพยานหลักฐานว่ามีเหตุสมควรในการออกหมายหรือไม่ แต่ไม่ใช่ว่าศาลจะไม่ให้ตลอด ส่วนใหญ่เกินร้อยละ 80 ศาลอนุญาตออกหมายให้ถ้ามีพยานหลักฐานชัดเจน ถ้าคลุมเคลือเราก็ไม่ให้ เรื่องร้ายแรงมีหลักฐานศาลก็ออกให้ทันที ตรงนี้เราไม่ได้ไปต่อต้านกับการจัดการภัยทางไซเบอร์ หากมีพยานหลักฐานมาอธิบายให้ศาลฟัง ศาลก็ร่วมมือออกหมายให้ แต่ถ้าไปละเมิดสิทธิมากไปเราก็ไม่ให้ ส่วนที่กลัวว่าข้อมูลของศาลรั่วเองได้นั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยมีที่พอศาลออกหมายค้นหมายจับมีคนรู้ตัวไหวตัวทัน เพราะไม่ได้รู้จักกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องปล่อยความลับรั่วไหล
“การออกกฎหมายระยะหลังมีการออกให้เลี่ยงการตรวจสอบของศาลหลายฉบับ แต่องค์กรศาลเป็นองค์กรเดียวที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐในระดับปกติถึงสูงที่สุดได้ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่หลักการสากลเขาจะต้องใช้หลักการตรวจสอบถ่วงดุลที่จะทำให้ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดน้อยลง มิหนำซ้ำยังเป็นการคุ้มครองการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อย่างดี เพราะได้รับอนุญาตจากคำสั่งศาลแล้ว การที่จะไปถูกดำเนินคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบไม่มีทางเกิด เพราะศาลอนุญาตตรวจค้นการกระทำก็เป็นโดยชอบ ดีกว่าเราไปใช้คณะกรรมการชื่อเรียกชุดเดียวกันแต่ระดับสูงกว่า ที่จะทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องการใช้อำนาจ หากเกิดการละเมิดข้อมูลทางการค้าหรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ยากแก่การเยียวยาความเสียหายของเอกชน ทำให้กรอบการคุ้มครองอ่อนแอลงและล่อแหลมที่ข้อมูลประชาชนหรือนิติบุคคลจะรั่วไหล ตรงนี้มันเป็นผลเสีย” ผู้พิพากษาอาวุโส กล่าว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |