สมัชชาประชาชนภาคใต้ยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมือง 4 ด้าน เน้น ‘ความมั่นคงด้านชีวิต-อาหาร-เศรษฐกิจ-ชุมชนเข้มแข็ง’


เพิ่มเพื่อน    

 

 

นครศรีธรรมราช/ เครือข่ายประชาชนภาคใต้จัดงานสมัชชาประชาชนฯ  ‘คนทุกข์ลุก-รุกสร้างสุข’ และจัดทำข้อเสนอ ‘ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน’ เสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้นำไปจัดทำเป็นนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ  เน้นยุทธศาสตร์ 4 ด้าน  คือ ‘ความมั่นคงด้านชีวิต-อาหาร-เศรษฐกิจ-ชุมชนเข้มแข็ง’

 

ระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม  เครือข่ายภาคประชาชนในภาคใต้  ในนาม ‘สมัชชาประชาชนภาคใต้’ ได้จัดงาน สมัชชาประชาชนภาคใต้ครั้งที่ 1 ‘คนทุกข์ ลุก-รุกสร้างสุข’ ที่ห้องประชุมเมืองสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อ.เมือง  จ.นครศรีธรรมราช  เพื่อเป็นเวทีกลางให้ประชาชนได้เรียนรู้สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อประชน  ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนกำหนดอนาคตตนเอง  และยกระดับเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยคุกคามภาคใต้  รวมทั้งร่วมเสนอยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 4 ด้าน  เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ นำไปจัดทำเป็นนโยบายและแผนพัฒนาประเทศต่อไป   โดยมีประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ ในภาคใต้เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 คน

 

รศ.ดร.ณัฐพงษ์  จิตรนิรัตน์  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ  ประธานจัดงานสมัชชาประชาชนภาคใต้ฯ  กล่าวว่า  การพัฒนาภาคใต้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา  รัฐมุ่งเน้นสร้างการเติบโตของระบบทุนนิยมเสรีเป็นสำคัญ  และได้ออกแบบเพื่อสนองการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและบริการ  ภายใต้แผนพัฒนาต่างๆ  เช่น แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้  เขตเศรษฐกิจพิเศษ  และกำลังจะมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจเพิ่มเข้ามา  รวมถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องการนำไปแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นต้น  ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานศักยภาพที่มีอยู่ของพื้นที่  และยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

 

“แนวทางเหล่านี้จะนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  แหล่งผลิตอาหาร วิถีชีวิต วัฒนธรรม  ภูมิปัญญา  และการดำรงชีวิตของประชาชนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด  ยิ่งไปกว่านั้นคือความคิดต่าง และความไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนด้วยกันเอง  และกับภาครัฐ  จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต  ซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชน  สิทธิมนุษยชน และความไม่เป็นธรรมในสังคม  ซึ่งจะกลายเป็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”  รศ.ดร.ณัฐพงษ์กล่าว

 

จากสภาพปัญหาดังกล่าว  เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย  เครือข่ายองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม  กลุ่มประเด็นปัญหา  กลุ่มศิลปิน กลุ่มนักวิชาการ และสื่อมวลชนกว่า  60 เครือข่าย  ได้รวมตัวกันเป็น “สมัชชาประชาชนภาคใต้”  เพื่อเป็นพื้นที่กลางให้ทุกภาคส่วนได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาแนวทางแก้ไขปัญหา  เฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาภาคใต้  และสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่สอดคล้องเหมาะสม และหวังที่จะสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคประชาชนอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต ซึ่งหมายถึงอนาคตที่ประชาชนจะต้องกำหนดได้เอง  

 

“ถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนต้องจับมือกันเพื่อลุกขึ้นมาดูแล  ปกป้องแผ่นดินของตนเอง  เราหวังว่าสมัชชาประชาชนภาคใต้  จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางให้ประชาชนมีเวที  มีที่ยืน  และมีตัวตนในการพัฒนาประเทศ” ประธานจัดงานกล่าว

 

 

การจัดงานในครั้งนี้  มีเวทีวิชาการ  การแสดงศิลปะวัฒนธรมพื้นบ้าน  รวมทั้งการร่วมกันเสนอและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาของภาคประชาชน   เพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาร่วมงานจำนวน 11 พรรค  ให้นำไปประกอบการจัดทำนโยบายและเป็นแผนพัฒนาประเทศหลังจากที่พรรคการเมืองได้เข้าไปบริหารประเทศแล้ว  ดังนี้

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ประชาชนภาคใต้จะต้องมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ดังนี้

1.เร่งรัดให้มีการออกพระราชบัญญัติโฉนดชุมชนที่ประชาชนร่วมกันยกร่าง  ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้มีสิทธิในที่อยู่อาศัย  ที่ทำกิน  บนหลักสิทธิร่วมของชุมชน  รวมทั้งให้มีกลไกเพื่อแก้ปัญหาที่ดินของรัฐแต่ละประเภท โดยมีตัวแทนผู้เดือดร้อนอยู่ในกลไกดังกล่าว

2.สนับสนุนการกระจายการถือครองที่ดิน  ที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัยของประชาชน  โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในที่ดิน  ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3. สนับสนุนให้ประชาชนทุกครัวเรือนได้มีที่อยู่อาศัย หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพที่ดี  โดยภาคประชาชนเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยในทุกกระบวนการ

4. สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐอย่างทั่วถึงถ้วนหน้า โดยกำหนดเป็นกฎหมายว่าด้วย “รัฐสวัสดิการ”  รวมถึงการส่งเสริมบทบาทภาคประชาชนในการจัดสวัสดิการด้วยตนเอง  ฯลฯ

5. กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวเลและชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธ์ที่กำลังถูกรุกรานจากการท่องเที่ยว  และจากการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม

 

ยุทธศาสตร์ที่  2 : สร้างความมั่นคงทางอาหาร

1.ต้องยุติ  เพื่อทบทวน และยกเลิกโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบสภาวะอากาศ พื้นที่แหล่งผลิตอาหาร และวิถีชีวิตชุมชน  เช่น  โรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหิน  โครงการท่าเรือน้ำลึก  โครงการสร้างเขื่อน  รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการระเบียงเศรษฐกิจ  เป็นต้น

 

 

2.ส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรชุมชนให้มีการอนุรักษ์  พื้นฟู  และเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน  ซึ่งถือเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและยาตามธรรมชาติ  โดยจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน   3.ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์4.สนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนให้กับชาวสวนยาง  สวนปาล์ม  สวนผลไม้  และนาข้าว  5.คุ้มครองสิทธิด้านเมล็ดพันธุ์ และพันธุ์ไม้พื้นเมือง  ฯลฯ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากบนฐานศักยภาพท้องถิ่น

1. ประกาศเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้  รวมถึงการพัฒนาพันธุกรรม ส่งเสริมปัจจัยการผลิต การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน  จัดหาตลาด  และให้เกษตรรายย่อยเข้าถึงการอุดหนุนจากรัฐอย่างทั่วถึง

2. พัฒนาระบบวิสาหกิจชุมชน จัดกลไกการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อส่งเสริมและยกระดับวิสาหกิจของชุมชนอย่างเป็นระบบในทุกด้าน  เช่น  ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการจัดการผลิต  ฯลฯ   โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

3. แก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558  มาตราที่ส่งผลกระทบกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และวิถีการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน  รวมถึงการรับรองการจดทะเบียนเรือชาวประมงพื้นบ้านทุกประเภท และทุกพื้นที่   4.ยกเลิกเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน  โดยเฉพาะเรืออวนลาก เรือปั่นไฟ และต้องประกาศการปิดอ่าวในฤดูปลาวางไข่ทุกพื้นที่  5. สนับสนุนแนวคิดธนาคารต้นไม้  โดยต้นไม้ที่ประชาชนปลูกถือเป็นสิทธิและทรัพย์สินที่สามารถกำหนดเป็นมูลค่า ซึ่งรัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรเพื่อการจัดการในลักษณะกองทุนธนาคารต้นไม้  ฯลฯ

 

ยุทธศาสตร์ที่  4 : ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและภาคประชาสังคม

1.ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมือง  เพื่อเป็นการสร้างฐานรากการเมืองในระบบประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 

 

2.ฟื้นฟูกลไกของภาคประชาชนที่ถูกเทรกแซง  ถูกลดบทบาท หรือถูกยกเลิกไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต้องออกแบบเพื่อนำไปสู่การส่งเสริมขบวนการของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง และจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคประชาชนในการกำหนดแผนการพัฒนาในระดับชุมชน จนถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติที่ไม่แค่เพียงการเข้าร่วม  หากแต่จะต้องมีส่วนร่วมในทุกระดับ

3.จัดให้มีกองทุนภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่สนับสนุนขบวนการองค์กรชุมชนเพื่อการจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ในทุกมิติ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ การจัดการผลผลิต การท่องเที่ยวชุมชน การรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เยาวชน ผู้หญิง และการพัฒนาระบบสุขภาวะ การจัดการภัยพิบัติของชุมชน และอื่นๆ  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากนี้สมัชชาประชาชนภาคใต้มีความเห็นว่า  ปัจจัยที่จะทำให้ข้อเสนอดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จได้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเมืองในระบบประชาธิปไตย  ที่ฝ่ายการเมืองจะต้องส่งเสริมให้การเมืองภาคพลเมืองมีความเข้มแข็งมากขึ้น  มีการบริหารประเทศแบบการกระจายอำนาจที่เป็นการลดอำนาจรัฐ  เพิ่มอำนาจประชาชน  โดยต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม  และไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ และจะต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงในทุกระดับขั้นตอน  ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะนำข้อเสนอนี้ไปสู่การปฏิบัติ

              ทั้งนี้เพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวมีการนำไปสู่การปฏิบัติและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม สมัชชาประชาชนภาคใต้จึงมีมาตรการขับเคลื่อนต่างๆ  เช่น  1.หลังการเลือกตั้งไม่เกิน 3 เดือน  สมัชชาประชาชนภาคใต้จะจัดให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง  และจะเชิญตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วมการประชุม  เพื่อถามถึงแนวนโยบายและแนวทางการนำข้อเสนอดังกล่าวสู่การปฏิบัติ

2.จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อน และติดตามข้อเสนอร่วมกันระหว่างตัวแทนของสมัชชาประชาชนฯ กับผู้แทนของรัฐบาล  3.สมัชชาประชาชนฯ จะจัดให้มีการประชุมคณะทำงานสมัชชาฯทุกปี เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงาน    การทบทวนและสร้างข้อเสนอใหม่ที่ทันต่อสถานการณ์ปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและนำไปสู่การแก้ไขต่อไป

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"