บอร์ดอิสระฯ นำร่อง "อ่างขางโมเดล" บริหารโรงเรียนในกำกับของรัฐ เลือก 5โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทดลองรูปแบบบริหารอิสระ เผยเบื้องต้นต้องยกเลิกจัดงบฯแบบรายหัว แต่จัดจริงตามความยากลำบากแต่ละพื้นที่ เป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเมืองกับชนบท
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ได้มีการหารือถึงการดำเนินโครงการโรงเรียนในกำกับของรัฐ และจากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวพบว่า เสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการทำโรงเรียนในกำกับของรัฐ และมองว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่ควรจะทำในรูปแบบเดียวแต่ควรจะดำเนินการให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถยืดหยุ่นได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยการเป็นโรงเรียนในกำกับของรัฐนั้น จะมีความเป็นอิสระทางวิชาการ งบประมาณ และงานบุคคล ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มีข้อเสนอให้มีการนำร่องโรงเรียนในกำกับของรัฐ โดยจะเริ่มในโรงเรียนที่ยังไม่พร้อมมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษาและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล 5 โรงเรียน ตั้งอยู่บนดอยอ่างข่าง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อที่จะนำผลการดำเนินการในด้านต่างๆ มาศึกษาว่าจะมีข้อบังคับในการทำอย่างไรได้บ้าง
ด้านนางเรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง (ดอยอ่างขาง) จ.เชียงใหม่ ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า สำหรับการนำร่องการพัฒนา"อ่างขางโมเดล" จะประกอบด้วย ด้านการบริหารงานวิชาการ โดยการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ เช่น สร้างหลักสูตรโดยทีมวิชาการบนพื้นที่สูง มีการทำวิจัย กำหนดกรอบเนื้อหาหลักสูตรท้องถิ่นของแต่ละโรงเรียน กำหนดเกณฑ์วัดและประเมินผล เน้นเนื้อหาการอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ เน้นการพัฒนาอาชีพ ด้านการบริหารงานบุคคล ให้ผู้บริหารสามารถเลือกครูให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียน รวมถึงสนับสนุนเจ้าหน้าที่ธุรการ และด้านการบริหารงบประมาณ ซึ่งจะมีการยกเลิกค่าใช้จ่ายแบบรายหัว แต่จะเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบเป็นก้อนตามโครงการ เพื่อให้ต่อการบริหารจัดการ และให้มีการจัดสรรงบฯ ตามความยากลำบากในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีกลไกในการคัดกรองอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กชุมชนเมืองและชายขอบ และด้านการบริหารงานทั่วไปจะลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนนอกเหนือจากงานสอน อย่างไรก็ตาม การนำเสนอทั้งหมดนี้เป็นการทำให้การบริหารด้านต่างๆ นำไปสู่ผู้เรียนโดยตรงและส่งเสริมให้ผลสัมฤทธิ์
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า สำหรับการนำร่องในโรงเรียนพื้นที่ดอยอ่างขางนั้นจะไม่ยึดรูปแบบเดียวทั้งประเทศ แต่รูปแบบของที่นี่คือการทำในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลแบบเครือข่ายโรงเรียนใกล้เคียงกัน โดยจะดำเนินการภายใต้หลักกฎหมายที่เรามีอยู่ไม่ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบอื่นๆให้ใหญ่โต เพื่อที่จะได้รูปแบบหนึ่งของโรงเรียนในกำกับของรัฐและอาจจะมีการนำมาบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |