บิ๊กโจ๊กหันมาลุยตลาดนัดกลางคืน ตระเวนจับร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า-บารากู่ ยึดของกลางมูลค่ากว่าล้าน พร้อมดำเนินคดีผู้ค้า ลูกจ้างต่างด้าว
เมื่อเวลา 23.00 น. วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) พร้อมด้วยตำรวจ สตม. ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจ สน.โคกคราม และตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) แถลงผลการตรวจค้นร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ จำนวน 22 จุด ในแหล่งท่องเที่ยวใจกลางกรุงเทพฯ ได้ผู้ต้องหาพร้อมของกลางจำนวนมาก มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้ได้รับการประสานขอความร่วมมือจากสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ว่าในปัจจุบันมีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ รวมทั้งน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยมีการจำหน่ายทางสื่อออนไลน์ และตลาดนัดกลางคืนมากที่สุด เจ้าหน้าที่จึงได้ลงตรวจสอบตามตลาดนัดชื่อดัง คือ ตลาดคลองถม ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา ตลาดนัดตะวันนา ตลาดห้วยขวาง ตลาดซอยนานา ตลาดนัดอินดี้ และตลาดนกฮูก สามารถจับกุมร้านที่กระทำความผิดได้จำนวน 30 ร้าน ผู้ต้องหาจำนวน 23 คน เป็นคนไทย 19 คน สัญชาติลาว 2 คน สัญชาติเมียนมา 2 คน พร้อมของกลาง 4,025 รายการ แบ่งเป็นน้ำยา 2,856 ขวด เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า 194 เครื่อง อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า 950 ชิ้น อุปกรณ์อื่นๆ 25 รายการ
"ขอสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนทั่วไปว่า การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พร้อมทั้งผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกาย หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ให้สอบถามได้ที่ ศปอส.ตร. โทร.1155 หรือผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (ศปอส.ตร.) หรือผ่านเฟซบุ๊กของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โทร.0-2716-6961 กด 0, 0-2716-6661-4 ต่อ 6028 เพื่อดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย" พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาแก่ร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารวม 8 ข้อหาคือ 1.ขายหรือให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า (มาตรา 36, 56 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522) 2.ขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (มาตรา 30, 42 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522)” 3.ขายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐมนตรีที่มีคำสั่งห้ามขายหรือนำเข้า (มาตรา 11 วรรค 3 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535) 4.นำเข้าซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร (มาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560)
5.ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปเสีย ซื้อรับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิด ตามมาตรา 242 (มาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560) 6.นำเข้าซึ่งสินค้าต้องห้าม ตามมาตรา 5 (1) หรือฝ่าฝืนมาตรา 7 (1) มาตรา (20) พ.ร.บ.การส่งออกฯ 7.มีไว้ในครอบครองและขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน (มาตรา 203, 204 พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560) 8.เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน (มาตรา 8, 110 วรรค 1 พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของต่างด้าว พ.ศ.2560) นำตัวพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สน.ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |