กรมทางหลวงชนบท เผย ปี 63 เพิ่มการใช้ยางพาราสร้าง-บำรุงถนนทั่วประเทศ 1.8 หมื่นตันทั่วประเทศ รวมทั้งเปลี่ยนหลักนำโค้งเป็นแบบยางพารา 800,000 หลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคายางพาราภายในประเทศและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้อย่างยั่งยืน หนุนรายได้ชาวสวนยาง เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง
04 มี.ค. 62- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านงานทาง กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยความเหมาะสมของการนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบหลักผสมกับยางแอสฟัลต์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้กับวัสดุผิวทาง และการประยุกต์ใช้ยางพารารูปแบบอื่น ๆ ทั้งในงานทาง งานสะพาน และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยบนทางหลวง เช่น เสาหลักนำทาง ยางกรวยกั้นถนน เป็นต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความคุ้มค่าสูงสุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสร้างความยั่งยืนให้แก่ราคายางพารา
นายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยางพาราในงานทาง ซึ่งการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมของถนนก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศ สามารถช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้ชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ในส่วนของ ทช.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมด้านการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
โดยได้มีการวิจัยและพัฒนางานทางเพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสม ซึ่งการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างหรือซ่อมบำรุงถนนนั้น จะเป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพและสมรรถภาพของพื้นผิวถนนให้ดีขึ้น เพิ่มความฝืดเพื่อความขับขี่ที่ปลอดภัย ต้านทานการลื่นไถลที่ดีกว่าอีกด้วย โดยปี 2556 – 2561 ได้ใช้ยางพาราในงานทางไปแล้ว จำนวน 33,620 ตัน
สำหรับในปี 2562 ทช.ได้นำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการก่อสร้าง งานซ่อมบำรุง งานอำนวยความปลอดภัยทั่วประเทศ จำนวน 11,300 ตัน งบประมาณรวมค่าก่อสร้าง 13,293.49 ล้านบาท และในปี 2563 ทช.มีแผนเพิ่มส่วนผสมยางพาราจาก 5 % เป็น 8 % ซึ่งจะใช้ยางพาราดิบประมาณ 18,000 ตัน งบประมาณรวมค่าก่อสร้าง 21,145 ล้านบาท พร้อมทั้งมีแผนที่จะเปลี่ยนหลักนำโค้งที่อยู่บนถนนทางหลวงชนบททั่วประเทศ จำนวน 800,000 หลัก ให้เป็นหลักนำโค้งที่ทำจากยางพารา ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทช.ยังได้ร่วมหารือกับการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะเร่งพัฒนาการนำยางพารามาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการอำนวยความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ หลักกิโล ทางเท้า แผงกั้นจราจร (Barrier) ราวกันอันตราย (Guard Rail) และแถบชะลอความเร็ว (Rumble Strip) เพื่อจะสนับสนุนการใช้ยางพารา ในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ตลอดจนเพื่อเป็นแนวทางที่จะสามารถต่อยอดนำไปปรับใช้ในถนนทางหลวงท้องถิ่นต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |