ศาลาแดง ตึกจักรพงษ์ในอดึต
หากใครเข้าใจว่า ถนนพระรามที่สี่เป็นถนนตัดใหม่ คงต้องเปลี่ยนความคิดแล้ว เนื่องจากถนนสายนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองและพระนครตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เดิมทีถนนเส้นนี้ มีชื่อ"ถนนตรง" ต่อมาพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนพระรามที่สี่ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2462 ปีนี้ถนนพระรามที่สี่จึงมีอายุครบ 100 ปี มาหมาดๆ
แม้ถนนพระรามที่สี่ในการรับรู้ของคนเมืองจะเป็นหนึ่งในถนนที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถนนสายนี้มีประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าและมีสถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่าน ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง คริสตจักรสะพานเหลือง ตลาดสามย่าน วัดหัวลำโพง สภากาชาดไทย ดุสิตธานี สวนลุมพินี พระตำหนักปลายเนิน ตลาดคลองเตย แต่ละสถานที่มีเรื่องเล่าเชื่อมโยงย่านพระรามสี่
ในงาน " 100 ปี ถนนพระรามที่สี่ : สานพลังความร่วมมือ พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน " จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาหลักที่อยู่คู่ถนนพระรามสี่ ซึ่งจุฬาฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการประสานพลังแห่งความร่วมมือเพื่อการเปลี่ยนแปลงยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมืองในทุกมิติ ทั้งกายภาพ ชุมชน สังคม และวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน และดึงภาครัฐ เอกชน ชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงร่วมพัฒนาพระรามสี่วิถีเมืองโฉมใหม่
บรรยากาศงาน 100 ปีถนนพระรามที่สี่ สานพลังความร่วมมือ
จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านศิลปวัฒนธรรม พาย้อนอดีตถนนพระรามสี่ผ่านวงเสวนาว่า ถนนพระรามสี่เป็นถนนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพราะฝรั่งอังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศส เข้าชื่อกัน ขอย้ายสถานีการค้ามาตั้งใต้ปากคลองพระโขนง และขอให้ตัดถนนเพื่อให้สะดวกในการเดินทาง แต่ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดตั้งแต่พระโขนงเชื่อมถึงคลองผดุงกรุงเกษม เพราะคนพระนครเคยชินกับการสัญจรทางน้ำ แล้วนำมูลดินมาถมเป็นแนวอีกฝั่งของคลอง พระราชทานชื่อคลองถนนตรง ส่วนถนนเลียบคลองก็เรียก ถนนตรง ถือเป็นถนนสายแรกที่ตรงและมีระยะทางไกล ต่อมารัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนหลวงสุนทรโกษาเป็นถนนพระรามที่สี่ เพราะ ร. 4 โปรดให้สร้าง นอกจากนี้ ถนนพระรามที่สี่ในอดีตยังเป็นต้นสายของทางรถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ เมื่อบ้านเมืองเจริญใช้รถยนต์มากกว่า ก็ยกเลิกทางรถไฟ แล้วก็ถมคลองถนนตรงกลายเป็นถนน ทำให้ไม่เห็นร่องรอยคลองประวัติศาสตร์ ส่วนชื่อ"ศาลาแดง" ก็มาจากอดีตมีศาลารอรถไฟมุงหลังคาสีแดง ชาวบ้านก็เรียก ศาลาแดง
" ถนนสายนี้ผ่านสถานที่สำคัญ แต่การเปลี่ยนผ่าน การเติบโตบนถนนพระรามที่สี่ เราไม่สามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบัน เมืองมีคนที่เกิดและผูกพัน แต่ปัจจุบันก็มีคนย้ายออก เพราะเบียดเสียดจอแจ ขณะที่อีกกลุ่มเข้ามาใช้พื้นที่ชั่วคราว ไม่สนใจราก เห็นว่า การคงอยู่ของวัฒนธรรมต้องเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต หากจะสร้างพระรามสี่ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ทำให้คนที่มาเรียน มาทำธุรกิจ เห็นความสำคัญของย่านที่อยู่ว่ามีเรื่องราว สามารถพัฒนาสร้างคุณค่าและมูลค่าได้ ควรรวบรวมภาพเก่าเล่าเรื่องและเปิดพื้นที่ให้ช่วยกันเติมเต็มประวัติศาสตร์ท้องถิ่น " จุลภัสสร เน้นย้ำ
ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง รองกรรมการ ผอ. ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ
สำหรับการเปลี่ยนผ่านของเมืองบนนถนนพระรามที่สี่ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ กล่าวว่า ปัจจุบันบนถนนพระรามที่สี่มีความเติบโตมาก เริ่มตั้งแต่บริเวณหัวลำโพง มีสถานีรถไฟกรุงเทพ ซึ่งคนเคยชินเรียก สถานีรถไฟหัวลำโพง จะมีการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ถัดมาสามย่าน บ้านห้องแถวถูกรื้อและหายไป เริ่มมีอาคารสูงเกิดขึ้นบริเวณแยกบรรทัด แล้วยังมีโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ เห็นว่า ยังควรให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ศาสนสถาน วัด คริสตจักร และชุมชนต่างๆ โดยรอบ
" ส่วนบริเวณแยกศาลาแดง รพ.จุฬาฯ แม้จะสร้างและขยายอาคารรองรับผู้ป่วยสูงวัย แต่อาคารร้อยปีด้านหน้าของสภากาชาดที่มีคุณค่าและงดงามกำลังบูรณะ ภายนอกจะมีมนต์ขลัง ภายในทันสมัย จะเป็นพื้นที่เชื่อมอดีตกับปัจจุบัน ขณะที่อีกฟากเป็นสวนลุมพินี สวนสาธารณะอายุ 100 ปี ใจกลางเมือง กทม. มีแผนปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้มีชีวิตการใช้งานยาวนานขึ้น ฝั่งตรงข้ามเป็นดุสิตธานี แลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งปิดเพื่อพัฒนาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่วนคลองเตยเสนอให้ส่งเสริมเป็นย่านประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ และปรับปรุงตลาดคลองเตยให้ทันสมัย ย่านพระรามสี่มีการเปลี่ยนถ่ายสัญจรของรถใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส คาดการณ์ว่ามีคนใช้ขึ้น-ลงกว่า 8 แสนคนต่อวัน " ดร.ศุภิชัย กล่าว
ภาพเก่าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่คนเคยชินเรียก สถานีหัวลำโพง
หากจะเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ดร.ศุภิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จะต้องสานพลังความร่วมมือ โดยจุฬาฯ นำมาพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ กรุงเทพมหานคร รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย แล้วยังมีประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนดึงนิสิต นักศึกษาจุฬาฯ พลังอนาคตร่วมแก้ไขปัญหา ชวนคิด ชวนฝัน สร้างพระรามสี่ให้สวยงาม สะดวก สะอาด สอดรับกับไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีการปรับปรุงโครงสร้างเอื้อต่อการใช้ชีวิต มีทางยกระดับหรือทางใต้ดินเชื่อมพื้นที่ จัดระบบขนส่งมวลชนลดฝุ่น สนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง การกำหนดอนาคตจะยึดถนนพระรามสี่มีราก อย่าดึงรากออก แม้สิ่งที่ทำไม่ง่าย แต่อยากให้ทุกฝ่ายคิดและพัฒนาเมือง สุดท้ายถนนพระรามที่สี่ไม่ใช่ถนนของใคร เป็นเรื่องของเรา เป้าหมายการขับเคลื่อนจะผลักดันให้ถนนสายนี้เป็นโครงการต้นแบบรวมความร่วมมือทุกภาคส่วนที่แท้จริง
.รูปทัศนียภาพการออกแบบพื้นที่สถานีกรุงเทพฯและสถานีMRT หัวลำโพง
.ตัวอย่างระบบขนส่งมวลชนรองรับพื้นที่ถนนวิทยุ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |