คิดว่าประชาชน 'กินหญ้า'


เพิ่มเพื่อน    

    รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม!
    อีกเพียง ๓ สัปดาห์ จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว 
    บรรยากาศชวนทะเลาะก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
    ดีเบต-ไม่ดีเบต 
    ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ
    คนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า
    เอาทักษิณ-ไม่เอาทักษิณ
    มองไปทางไหนมี ๒ ขั้วเสมอ
    มีคนบอกว่าในเวทีดีเบตที่ออกตามทีวีช่องต่างๆ นั้น มีคนอยากฟังนโยบายพรรคการเมือง มากกว่านั่งฟังนักการเมืองทะเลาะกัน
    แต่ก็แปลกที่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงวันนี้ ยังเป็นประเด็นการเมืองแทบทั้งนั้น 
    กระพือให้มีความขัดแย้งระหว่างกองทัพ กับฝ่ายการเมือง
    ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมจะปฏิรูปกองทัพ เพราะทหารโกง ชอบทำรัฐประหาร
    ถ้าผมมีอำนาจ จะแก้กฎหมายให้นายกฯ ย้ายนายพลได้ จะรื้อพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ให้การเมืองล้วงลูกกองทัพได้
    ถ้าดิชั้นเป็นนายกฯ ดิชั้นจะปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม เอาเงินไปช่วยคนจน
    กลับกันแทบไม่มีพรรคการเมืองไหน ใช้นโยบายปฏิรูปตำรวจมาหาเสียง
    ทั้งที่มีสาเหตุต้องปฏิรูปร้อยแปดพันเก้า เช่น.... 
    เพราะวงการตำรวจมีการคอร์รัปชันสูง 
    เพราะตำรวจรับใช้ฝ่ายการเมือง
    เพราะตำรวจทำให้กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำบิดเบี้ยว
    ฯลฯ
    แทนที่พรรคการเมืองจะหาเสียงด้วยการชูนโยบายปฏิรูประบบราชการ ซึ่งรวมหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ตำรวจ 
    แต่เน้นไปที่กองทัพมากเกินไป
    ภาพที่ออกมาจึงดูเหมือนพรรคการเมืองขั้วที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มีความพยายามชำระแค้นกองทัพ ที่ทำรัฐประหาร ๒ ครั้งในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ มีนาคมนี้
    ให้นักการเมืองอยู่เหนือกองทัพ     
    ตามตำรา การปกครองระบอบประชาธิปไตย มันก็ควรเป็นเช่นนั้น     
    พรรคการเมืองคือผู้อาสาเข้ามาบริหารประเทศ
    ผ่านการเลือกตั้ง
    ส่วนข้าราชการ รวมทั้งกองทัพ คือผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งรัฐบาลที่มาจากประชาชน
    แต่นอกตำรา การเมืองไทยมันบิดเบี้ยว  
    การเมืองกับการคอร์รัปชันยังเป็นของคู่กัน 
    การหาเสียงเลือกตั้ง มีพรรคไหนบ้างมีนโยบายปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจังและเด็ดขาด
    เท่าที่เห็นนักการเมืองไม่คิดจะปิดโอกาสโกงของตัวเอง เอาแต่พร่ำเพ้อไม่ให้กองทัพทำรัฐประหาร
    หลายประเทศแก้ปัญหาการทำรัฐประหารด้วยการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เช่นชิลี หรือแม้กระทั่งเกาหลีใต้ก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน
    สำหรับประเทศไทยถึงจะมีนโยบายปราบคอร์รัปชันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงนโยบายที่ไม่ได้รับการปฏิบัติให้เป็นจริง 
    และไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ชูการปราบคอร์รัปชันในวงการเมือง จะมีก็แค่ปราบโกงในกองทัพ  เพราะหาเสียงแบบนี้ได้คะแนนจากกลุ่มคนที่เกลียดทหาร
    ในภาพรวมการหาเสียง จะพบว่าพรรคการเมือง คิดว่าประชาชนกินหญ้า อยากพูดอะไรก็พูด ไม่ดูอดีตของตนเอง
    ตัวอย่างเช่น หน้าเพจเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย โพสต์วิสัยทัศน์ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ
    ที่พรรคเพื่อไทยยังบอกดีกรีว่าเป็น "นักบริหารมืออาชีพ"
    คำพูดสั้นๆ ที่เพจนี้เอามาโพสต์ไว้คือ  
    "สร้างรถไฟฟ้าเสร็จทุกสาย รถก็จะยังไม่หายติด ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดของการพัฒนาเมือง"
    ก็ถูกนะ!
    ต่อให้มีเป็นร้อยสาย แต่นโยบายพัฒนาเมืองไม่ได้เรื่อง ก็จบเห่
    เพียงแต่...ก่อนพูดเคยย้อนกลับไปดูสิ่งที่ตัวทำก่อนหรือไม่?
    นโยบายรถคันแรกออกมา เมื่อปี ๒๕๕๔ มีเสียงทักท้วงอย่างหนักว่า จะเป็นการทำลายอุตสาหกรรมรถยนต์ย่อยยับยาวนานถึง ๕ ปี 
    และจะเพิ่มปัญหาการจราจร ทำให้รถติดสาหัสมากขึ้นไปอีก 
    มีเสียงแนะนำว่า รัฐบาลควรลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานเช่นรถไฟฟ้าจะดีกว่า แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่นำพา 
    แล้ว "ชัชชาติ" ไปมุดหัวอยู่ที่ไหน?
    ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ - ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ "ชัชชาติ" เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
     และ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ - ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ "ชัชชาติ" เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
    เกือบตลอดระยะเวลาของนโยบาย รถคันแรก "ชัชชาติ" อยู่ในกระทรวงคมนาคม 
    ประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ หากจะเคลมว่า "ชัชชาติ" คือ "นักบริหารมืออาชีพ" แล้วอะไรที่สื่อให้เห็นว่ามีความเป็นมืออาชีพ
    ทำไม?? กับนโยบายรถคันแรกที่สร้างปัญหาให้อุตสาหกรรมรถยนต์ และรถติดมโหฬาร ถึงไม่ยับยั้งนโยบาย 
    ถ้าบอกว่า...ไม่รู้ว่าจะมีปัญหา ก็ต้องถามกลับว่าแล้วทำไมไม่ฟังเสียงเตือนตั้งแต่ต้น
    ใช่...จนถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยไม่เคยเปลี่ยนวิธีคิด 
    หากมองเลยไปว่า "ชัชชาติ" คือ แคนดิเดตนายกฯ ถามว่าปัญหาที่ใหญ่กว่ารถคันแรกคือปัญหาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ปัญหาปากท้องของประชาชน จะแก้อย่างไร
    ยังไม่พบว่าพรรคการเมืองไหนหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ 
    ยังวนอยู่กับพักหนี้ ปลดหนี้ 
    ทั้งพักทั้งปลดมาหลายสิบปี วันนี้ยังเป็นหนี้บานตะไทอยู่ 
    พรรคอนาคตใหม่ ของคนรุ่นใหม่ ก็แค่ใช้ภาษาการตลาดใหม่ๆ
    นโยบายรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในทางการเมืองมีการคิดและทำมานานแล้ว
    ๓๐ บาทรักษาทุกโรคนี่ก็ใช่ แต่ก็สร้างปัญหาด้านงบประมาณไม่จบสิ้น 
    คิดนโยบายคิดได้...แต่วิธีการทำให้นโยบายเป็นจริงต้องชัดเจนด้วย
    ไม่ใช่อ้างแค่ว่า ไม่ให้ คสช.สืบทอดอำนาจ ประเทศต้องเป็นประชาธิปไตย แล้วนโยบายจะเป็นจริง 
    แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? 
    ที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปไตยทำให้นโยบายเป็นจริงได้แค่ไหน
    พักหนี้ ง่ายๆ จับเด็ก ป.๑ ไปนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้วสั่ง พักหนี้เกษตรกร ๓ ปี ๕ ปี ถามว่ามันยากหรือ 
    แต่ก็ทำกันมาทุกรัฐบาล 
    และวันนี้แทบทุกพรรคยังวนหาเสียงกับการพักหนี้อยู่
    มีพรรคไหนบ้างที่บอกว่าไม่พักหนี้ แต่จะช่วยให้มีเงินไปใช้หนี้ และเหลือเก็บออม 
    อยากให้อ่าน....หน้าสิ่งแวดล้อมไทยโพสต์วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตีพิมพ์บทสนทนาของ ดร.วิรไท  สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานแถลงข่าวของ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
    "....แนวทางหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.๙ ที่มีหลัก ๓ ประการ คือ การมีเหตุมีผล การพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกันมาเป็นหลักในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ใช่การประยุกต์ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มีความเปราะบาง ปัญหาที่สำคัญก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วและมีจำนวนมาก ปกติคนที่ก่อร่างสร้างตัวสมัยก่อนทำงานไปหนี้จะลดลงไปเรื่อย เป็นความยั่งยืนในบั้นปลายชีวิต แต่ตอนนี้ คนที่อายุมากแล้ว แต่หนี้กลับไม่ลด หนี้เหล่านี้ไม่ใช่หนี้สินทรัพย์ หรือเป็นหนี้เพื่อการลงทุนก่อร่างสร้างตัว แต่เป็นหนี้ที่เกิดจากการอุปโภคบริโภค ทั้งการท่องเที่ยว การซื้อของ ออกรถใหม่ ซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ด้วยเหตุนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจึงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว  และ ๖๐% เป็นหนี้การอุปโภคบริโภค ในจำนวนนี้ ๒๐% เป็นหนี้เสีย ปัญหาหนี้ดังกล่าวเห็นได้ชัดในภาคเกษตร คนอายุ ๔๐-๕๐ ปียังมีหนี้สูง กู้ไปเรื่อยๆ เพื่อนำเงินกู้ใหม่มาชำระหนี้เก่า กู้เพื่อเอาเงินใหม่ไปจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการกู้ต่อเนื่อง หนี้เหล่านี้เห็นได้จากยอดสินเชื่ออุปโภคบริโภค ปัญหาดังกล่าวจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศในระยะยาวที่ไม่มีทางออก ถ้าเราไม่ทำอะไร 
    การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหลักการมีเหตุผล หลักการพอเพียง และภูมิคุ้มกัน ของในหลวง ร.๙  สามารถนำมาใช้ได้หมด ซึ่งตามหลักการทรงงานของพระองค์ท่านไม่มีทางลัด การแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยกลไกเชิงสร้างระบบ เช่น ความไม่มั่นคงการออม หนี้ครัวเรือน ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ เศรษฐกิจดี แต่คนไม่จับจ่าย เนื่องจากมีภาระหนี้สินที่ต้องไปชำระ หรือคนที่ตอนทำงานใหม่ๆ เงินเดือนอาจไม่เยอะ  แต่พอทำไปนานๆ เงินเดือนเยอะขึ้น กลับไม่มีเงินออม และมีภาระหนี้ หนี้ครัวเรือนจำนวนมากจึงยังหาทางออกไม่ได้ ซึ่งการแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายมหภาค ทั้งการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือยืดระยะเวลาเวลาหนี้ ก็แก้ปัญหา เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมพวกที่เป็นหนี้ไม่ได้ ดังนั้น วิธีการแก้ต้องแก้ด้วยวิธีระดับจุลภาค ไม่ใช่มหภาค
     โดยเฉพาะภาคเกษตร มีความซับซ้อนมาก การแก้ปัญหาแบบมหภาคอาจช่วยบรรเทาปัญหาได้  แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทำให้เราต้องหันมาดูบริบทของปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องมาดูที่ข้อต่อต่างๆ ในระบบ ภาคเกษตรของเรามีปัญหาเรื่องรายได้ไม่ดีมาตลอด พบว่าผลผลิตตอบแทนต่อพื้นที่ของไทยยังอยู่ในอันดับท้ายๆ ในอาเซียน อยู่เหนือเพียงพม่าเท่านั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ใช้หลักบริหารมหภาคมาแก้ไม่ได้ แต่ต้องเข้าไปดูรายละเอียด เช่น เรามีต้นทุนค่าปุ๋ย  ค่ายาฆ่าแมลง มากกว่าประเทศอื่นหรือไม่ อาจต้องแนะนำให้เกษตรกรหันไปทำเกษตรเชิงประณีตแทน นาแปลงใหญ่ ในพื้นที่เล็กกว่าเดิม แต่สามารถลดต้นทุนแต่ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่มากกว่าเดิม จะเป็นการดีกว่าหรือไม่  
    ไม่มีนโยบายมหภาคใดที่จะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้เบ็ดเสร็จ หรือใช้นโยบายแบบท็อปดาวน์ จากบนลงล่างมาแก้ โดยไม่ดูปัญหาประชาชน ไม่มีนโยบายการเงินหรือหลักเศรษฐศาสตร์ใด ที่แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้โดยลำพัง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเริ่มจากประชาชน เกษตรกร ภาครัฐ  แล้วเอาปัญหาเกษตรกรเป็นตัวตั้ง ซึ่งผมถือว่านโยบายปิดทองเดินมาถูกทางแล้ว การทำงานของปิดทอง ที่ทำตามแนวพระราชดำริ ถือว่าได้มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนชนบท ให้รู้จักการมีเหตุผล รู้จักความพอเพียง และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน  และจะเป็นกันชนไม่ให้เราได้รับผลกระทบจากความผันผวนของโลกภายนอกได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเบร็กซิต ปัญหาอเมริกากับจีน หรือตอนนี้ก็คืออินเดียกับปากีสถาน ซึ่งโลกต่อไปจะมีปัญหาแบบนี้เยอะขึ้น ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกัน เราก็จะได้รับผลกระทบ อีกทั้งต่อไปคนวัยทำงานของเราจะลดลง ดังนั้นคนที่ทำอยู่จะต้องเก่งขึ้น และทำให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น การทำเกษตรแบบไมโคร หรือจุลภาคน่าจะเป็นคำตอบ...."
    มีพรรคการเมืองไหนคิดไปถึงรากเหง้าของปัญหาหรือยัง     
    เหลือเวลาอีก ๓ สัปดาห์ คงยาก เพราะแค่ด่ากันเรื่อง ประชาธิปไตย สืบทอดอำนาจ ก็หมดเวลาแล้ว
    และสำหรับนักการเมืองเวลาที่ใช้ด่ากันมันไม่เคยพอ.
                                    ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"