สั่งรับมือภัยแล้ง 'กฤษฎา'ถกด่วน เชื่อเอลนีโญยาว


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ ห่วงภัยแล้ง สั่งทุกหน่วยเร่งรับมือ "กฤษฎา" ถกด่วนผู้ว่าฯ 76 จังหวัด คาดเกิดเอลนีโญยาวนานกว่าปี 57-58 ตั้งฐานฝนหลวง 20 ชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ สสนก.เตือน 4 เขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ "อุบลรัตน์" เหลือแค่ 4% กรมชลฯ ยันพอใช้ถึงเดือน พ.ค. 
    เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้งที่เริ่มขึ้นแล้ว โดยได้รับรายงานว่าปริมาณน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระเหยของน้ำเพราะอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยืนยันว่าจะมีน้ำเพียงพอให้ประชาชนใช้ไปจนถึงเดือน พ.ค.อย่างแน่นอน ทั้งนี้ นายกฯ ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการบริหารจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน เพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น 
    นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจความต้องการ และวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อไป โดยขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาค 12 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อออกปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ต.ค.62 ทั้งการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง เติมน้ำต้นทุนในเขื่อน บรรเทาหมอกควันและไฟป่า และยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ 
    ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมระบบทางไกลไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ทุกพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มภัยแล้งและวางมาตรการรับมือภัยแล้งปีนี้ ซึ่งนักวิชาการคาดการณ์ว่าภัยแล้งปีนี้เกิดภาวะช่วงภัยแล้งยาวนานกว่าปี 2557-2558 และสภาพอากาศปีนี้เป็นภาวะเอลนีโญ ซึ่งกรมชลประทานยืนยันปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ มีน้ำใช้การได้ 24,095 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีเพียงพอใช้ได้ถึงเดือน พ.ค. และสำรองไว้ต้นฤดูฝนบางส่วน 
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาทันท่วงทีในแนวทางทำงานแบบบูรณาการผ่านอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน บริหารงานเชิงรุกทั้งโครงสร้างภาคเกษตร สำหรับปัญหาภัยแล้งในปีนี้ ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงแล้วพร้อมกับให้กรมฝนหลวงฯตั้งฐานฝนหลวง 20 ชุด เพื่อปฏิบัติการได้ทั่วถึงทุกภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเร่งชี้แจงเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย งดทำนาปรังต่อเนื่อง พร้อมกับกระทรวงมหาดไทย ช่วยทำความเข้าใจชาวนาด้วย ในปีนี้ข้าวราคาดี อาจไม่เว้นทำปรังรอบสอง เมื่อเกิดภัยพิบัติไม่ได้รับเงินชดเชย
    "ก่อนหน้านี้ได้สั่งให้ทุกพื้นที่รณรงค์เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งสามารถจูงใจเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 9 แสนไร่ แต่เป็นห่วงนอกเขตชลประทาน โดยได้ให้ทุกจังหวัดรวบรวมแหล่งน้ำ ทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำกักเก็บ ว่ามีน้ำใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ เพียงพอหรือไม่ โดยจะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังทุกจังหวัดเร่งสำรวจน้ำในเขื่อน อ่างเก็บน้ำทั้งหมด เทียบปริมาณการใช้ ดูแลเครื่องมือ เตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานองค์กรส่วนท้องถิ่น" นายกฤษฎาระบุ
    รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ประเมินว่าทั่วประเทศมีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภค แต่สำหรับภาคเกษตร อุตสาหกรรม อาจมีผลกระทบ ทั้งนี้ หากเกิดฤดูฝนมาช้าไป 1-2 เดือน จะต้องมีมาตรการการใช้น้ำและในการปล่อยน้ำอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าวจากแผน 8 ล้านไร่ แต่มีการปลูกไปแล้วถึง 11 ล้านไร่
    เว็บไซต์สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) หรือ สสนก. ได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำเขื่อนมีน้ำน้อยวิกฤติ ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้ 106 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4%, เขื่อนสิรินธร มีน้ำใช้การได้ 135 ล้าน ลบ.ม. หรือ 7%, เขื่อนกระเสียว มีน้ำใช้การ 27 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9 %, เขื่อนทับเสลา มีน้ำใช้การ 23 ล้าน ลบ.ม. หรือ 14% สำหรับเขื่อนใหญ่ของลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 3,915 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29%,  เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การ 3,125 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33%,  เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การ 415 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44%, เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การ 354 ล้าน ลบ.ม. หรือ 37%
    ส่วนเขื่อนน้ำมากวิกฤติ เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำ 87% ปริมาตรน้ำในอ่าง 1.5 หมื่นล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 5.1 พันล้าน ลบ.ม. หรือ 29% และเขื่อนแม่งัด มีน้ำ 87% ปริมาตรน้ำ 231 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้ 219 ล้าน ลบ.ม. หรือ 83% ในส่วนสถานการณ์พายุ ยังไม่มีเข้าใกล้ประเทศไทยในขณะนี้
    นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ขึ้นปฏิบัติการได้ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยศูนย์ฝนหลวง จ.จันทบุรี ได้ขึ้นบินทำฝนหลวงบริเวณพื้นที่เป้าหมาย อ.ท่าใหม่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.นายายอาม และอ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี ได้ขึ้นบินเพื่อก่อเมฆตามแนวเขาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ได้ขึ้นบินทำฝนหลวง เนื่องจากสภาพซึ่งไม่เหมาะกับการปฏิบัติการฝนหลวง ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และ จ.อุดรธานี ไม่ได้ขึ้นบินทำฝนหลวงเช่นกัน เนื่องจากสภาพอากาศยังไม่เหมาะสำหรับการขึ้นปฏิบัติการ แต่มีการติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสม จะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการสลายฝุ่นละอองในพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่น และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.บุรีรัมย์ และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.อุดรธานี จะขึ้นบินเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ 
    สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สงขลา ยังไม่ได้ขึ้นบินเช่นกัน แต่หากสภาพอากาศมีความเหมาะสม จะวางแผนขึ้นปฏิบัติช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งบางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี จ.ตรัง จ.กระบี่ และ จ.สุราษฎร์ธานี
    ที่ จ.นครราชสีมา เริ่มขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น โดยเฉพาะแม่น้ำลำน้ำมาศ พื้นที่ ต.ประสุข อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก เชื่อมต่อระหว่าง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และ อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา หล่อเลี้ยงคนในตำบลประสุข 10 หมู่บ้าน ปัจจุบันเริ่มแห้งขอด บางช่วงสามารถเดินข้ามได้
    นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ 5 แห่ง ของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าทุกปี มีปริมาณน้ำกักเก็บรวม 505.03 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50.16 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 1,006.90 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณน้ำกักเก็บเกือบ 65% จึงขอให้มั่นใจว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งนี้แน่นอน 
    ที่ จ.อุทัยธานี นายฐกร กาญจิรเดช ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์ความแห้งแล้งตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนวังร่มเกล้าและในแม่น้ำตากแดดเหนือเขื่อนวังร่มเกล้ารวมกันเพียง 11 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้อยมากหรือในเกณฑ์ที่ต่ำ ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ในส่วนนี้เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคให้ได้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในการที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรสำหรับการทำนาปรังของปีนี้ได้ จึงได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า และขอความร่วมมือเกษตรกรงดการทำนาปรังอย่างเด็ดขาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"