ผู้พิพากษา “ศรีอัมพร” ย้ำผ่าน พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ พาประเทศถดถอย


เพิ่มเพื่อน    

 

วันที่ 3 มี.ค. นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งที่ตนเองได้คัดค้านแล้ว ว่า ร่างดังกล่าวที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากร่างเดิมที่ตนเคยให้ความเห็นถึงปัญหาไว้แต่อย่างใด เพราะหลักการใหญ่ยังเหมือนเดิม ที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ Cyber Security ในการเข้าตรวจค้น ยึด ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ ได้หมดโดยเหตุแค่เพียงต้องสงสัย โดยที่ไม่ได้เริ่มคดีหรือมีการตั้งข้อหา ประชาชนทุกคนจะมีสิทธิที่จะถูกล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นส่วนตัวได้หมด โดยที่ความผิดยังไม่เกิด เพียงแค่เขาถูกสงสัย และกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลต่อการตรวจสอบถ่วงดุลขอหมายค้นจากศาล ซึ่งเป็นอำนาจการถ่วงดุลระหว่างศาลกับฝ่ายบริหารทำไม่ได้ 

ต้องอธิบายว่าอำนาจตุลาการของศาล ถือเป็นองค์กรเดียวของประเทศที่จะคุ้มครองดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาล แต่ศาลยุติธรรมกลับถูกกีดกันไม่ให้ใช้อำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐในส่วนนี้ ส่วนที่มีการอ้างว่าเฉพาะเหตุที่เป็นวิกฤติร้ายแรง จึงจะให้เจ้าหน้าที่เจ้าใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยไม่ต้องขอศาลก่อนนั้น ตนขอถามว่ามาตรฐานนี้คือตรงไหน ใช่อยู่ที่คณะกรรมการไซเบอร์ชุดเล็กหรือไม่ เพราะในทางปฏิบัติคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็จะให้กรอบการทำงานไว้เท่านั้น แต่คณะกรรมการชุดเล็กซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีระดับอธิบดีควบคุมตามหน่วยงาน ซึ่งระดับไม่ได้สูง ใช้อำนาจได้โดยอาศัยหลักการเพียงเชื่อว่าคณะกรรมการไซเบอร์ดังกล่าวมีหลักคุณธรรมสูง สามารถยังยั้งชั่งใจและใช้ดุลพินิจที่ดีได้ 

“ขอถามว่าการใช้คณะกรรมการลักษณะนี้เป็นการให้อำนาจตัวบุคคล ที่เราไม่สามารถมีหลักประกันอะไรเลยว่า เขาจะไม่ใช้อำนาจที่จะเกินเลยหรือไปล่วงเกินสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นข้อยกเว้นที่ไม่มีหลักประกันตรวจสอบว่าจะใช้อำนาจเกินเลยหรือไม่ และอะไรคือมาตรฐานกลางที่ถือว่าร้ายแรงตรงนี้มันไม่มีคำจำกัดความที่เหมาะสมเป็นหลักประกันเลย เป็นเพียงการอ้างความไว้วางใจที่เป็นความเสี่ยง”

นายศรีอัมพร กล่าวต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีจุดน่าห่วงคือโทษอาญาที่มีนัยยะสำคัญ ที่ทำให้คนเกรงกลัว เช่นไม่ยอมให้ตรวจค้น ยึดจับกุม บอกรหัสผ่านก็จะมีการถูกดำเนินโทษทางอาญา ที่น่ากลัวคือกฎหมายยังบังคับไปถึงกลุ่มนิติบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนบริษัทต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกัน ตรงนี้มองว่าเป็นการไปสร้างระบบป้องกันก่อนที่จะมีการกระทำผิดมากจนเป็นภาระ ที่ประเทศอื่นมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนและนิติบุคคล อย่างในต่างประเทศถ้ามีความผิดเกิดขึ้นเขาถึงจับกุม แต่ร่างกฎหมายอันนี้กลับระมัดระวัง คือกำหนดให้มีแผนป้องกันจนที่ว่าจะให้เกิดความผิดไม่ได้เลย ถ้าไม่ทำแผนขึ้นมาก็จะมีโทษ ตรงนี้มันขัดกับตรรกวิทยา ส่งผลต่อบริษัทที่ประกอบการผลิตแอพพลิเคชั่นต่างๆ 

อย่างสตาร์ทอัพ ในสหรัฐอเมริกาหรือภาคพื้นยุโรปที่เจริญก้าวหน้าเพราะได้สิทธิเสรีภาพในการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งก็มีโอกาสถูกอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ แม้จะมีความเสี่ยง เขาก็จะพยายามมีโปรแกรมป้องกันที่พัฒนาขึ้นมาต่อต้านแฮกเกอร์ ที่เขาต้องพัฒนาอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยไปมองว่าถ้าเขากระทำผิดได้ก็ไปห้ามเขาหมด พอไปห้ามนวัตกรรมใหม่ๆ พวกนี้มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาก็ต้องมีความเสี่ยงก่อนถึงค่อยพัฒนา แบบนี้เท่ากับเราห้ามคิดห้ามอะไร เหมือนเป็นโรงเรียนกินนอน มันเป็นการบังคับให้คนไทยอยู่ในกรอบไม่ได้คิดนอกกรอบที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ กลายเป็นว่าตัวกฎหมายมันทำให้ประเทศไทยเหมือนนักเรียนสมัยโบราญที่ต้องท่องจำเท่านั้น การคิดนอกกรอบแปลว่าไม่ดีต้องถูกทำโทษ เมื่อเป็นแบบนี้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของเราจะถดถอยลง 

”การที่ผู้นำออกมาบอกว่านักเรียนต้องเรียน ไม่ต้องมีความคิดนอกกรอบในเรื่องอื่น ไม่ให้มีความคิดทางการเมือง หรือนอกตำรา มันก็คือการปกครองแบบโบราณไปยิ่งกว่าอยู่สมัยก่อนปี 2475 ซะอีก ความคิดที่ว่าจะต้องหวาดกลัวภัยไซเบอร์ เหมือนกุ้งที่กลัวตัวงอขี้ขึ้นสมองมันไม่ได้หรอก มันเป็นตัวขัดขวางอนาคตประเทศ” นายศรีอัมพร กล่าว

นายศรีอัมพร ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาเรื่องข้อมูลทางการค้า กฎหมายยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยึดคอมพิวเตอร์ และข้อมูลทางความจำได้ ตนขอถามว่าข้อมูลทางการค้าของผู้ประกอบการที่ลงทุนในต่างประเทศหรือต่างประเทศ ใครจะมาไว้ใจได้อย่างไรว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ทุจริต ตรงนี้เราต้องพูดกันตรงๆ เพราะข้อมูลทางการค้าที่เดิมมีเรื่องการล้วงขโมยกัน อย่างสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวหาว่าจีนมีการล้วงความลับทางการค้าและเทคโนโลยีโดยผ่านเครื่องมือสื่อสาร เช่น หัวเว่ย ก็เลยมีการประกาศห้ามใช้เครื่องโทรคมนาคมสื่อสารของหัวเว่ย ถามว่าขนาดเกิดปัญหาแบบนั้นแล้วเขาออกกฎหมายแบบเราหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่มี เขาแค่ห้ามไมให้ใช้ 

แต่ของเรากลับออกมาบังคับให้ทำระบบป้องกันไม่พอ ยังบังคับให้ต้องเปิดเผย แล้วถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมันเกิดทุจริต มันไปเอาความลับทางเทคโนโลยีแล้วไปขายให้อีกบริษัทจะทำอย่างไร แล้วที่บริษัทลงทุนไปหมื่นล้านแสนล้านจะยอมหรือไม่ ก็จะกลายเป็นว่าประเทศไทยจะขาดโอกาสจากอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ หรือเทคโนโลยีชั้นสูงที่จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในเมืองไทย เนื่องจากเขาไม่ไว้ใจว่าตัวกฎหมายของประเทศและเจ้าหน้ารัฐจะสามารถคุ้มครองหรือป้องกันความลับข้อมูลทางการค้าที่มีมูลค่าสูงมากได้ เขาก็เลยไม่มาลงทุน หันเหไปลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านที่เงื่อนไขดีและไม่มีความเสี่ยง 

“ถ้าจะให้ผมประเมินความคุ้มค่าของภัยไซเบอร์ที่เป็นห่วงกันกับความเสียหายทางการค้าที่คิดมูลค่าเป็นเงินมหาศาล และความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีคุณค่าทางจิตใจและความเป็นมนุษย์ ถ้าเราไม่คุ้มครองไม่อาจประเมินเป็นราคาได้ ประเทศไทยเราก็จะมีอันดับเรื่องการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพถูกจัดอยู่ในอันดับที่แย่ลง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ ผมไม่เข้าใจว่าเราไปห่วงภัยไซเบอร์จนประเทศชาติถดถอย ไม่ใช่ถอยธรรมดา ในขณะที่ประเทศอื่นไปข้างหน้ามีการพยายามส่งเสริมการค้าและยอมรับกติกาสากล สิทธิเสรีภาพของประชาชนมันต้องมาก่อน ความมั่นคงปลอดภัยของความลับของประชาชนและการค้าจะไม่ถูกล่วงละเมิดโดยง่าย"

เมื่อถามถึงทางแก้ไขหลัง สนช.ผ่านกฎหมาย ผู้พิพากษาอาวุโส ระบุว่า ขณะนี้แทบจะไม่มีทางแก้ไข เพราะมันจะเป็นกฎหมายแล้ว มันจะมีได้ก็หากว่ามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้วได้เห็นภัยของกฎหมาย ก็จะดำเนินการแก้ไขกฎหมายด้วยการลดทอนอำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ลดลงจึงจะทำได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าการแก้ไขกฎหมายแต่ละฉบับนั้นทำได้ยาก ยิ่งเมื่อเราเข้าสู่การมีรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้งที่จะต้องมีฝ่ายค้านในรัฐบาลที่จะต้องมีการถกเถียงกัน การออกกฎหมายจะยาก จะมีกฎหมายเข้าคิวกัน บางเดือนอาจออกกฎหมายไม่ได้เลย อีกทั้งกฎหมายแบบนี้มีความสำคัญ การถกเถียงยังสูง

“เหตุที่ผมออกมาเพราะเราหวังดีต่อประเทศไทย ถ้าผมไม่ใส่ใจผมก็ไม่ต้องพูด ผมก็อยู่เฉยๆ ไม่เปลืองตัว ผมไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและไม่ได้อยากออกสื่อ แต่เราเป็นผู้พิพากษาที่ห่วงชาติ ถ้าเราเห็นข้อเสียเราก็ต้องบอก เพราะผมเป็นข้าราชการตุลาการที่ทำหน้าที่เป็นศาล ที่มีหน้าที่คุ้มครองดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกประเทศในระบอบประชาธิปไตยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพประชาชนคือศาล ผมทำหน้าที่ของตุลาการที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นั่นคือภารกิจที่สมบูรณ์ของศาล” ผู้พิพากษาอาวุโสย้ำ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"