พลังประชารัฐคึก เตรียมเข็น "บิ๊กตู่" ขึ้นเวทีปราศรัย ไม่กลัวถูกโจมตีเป็นเผด็จการ "อุตตม" เย้ยแค่วาทกรรมเดิมๆ "จตุพร" จินตนาการไปไกล สถานะเจ้าหน้าที่รัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแผนทำให้เลือกตั้งโมฆะ จี้ กกต.วินิจฉัยด่วน ช่อง 9 บ้าจี้ให้พิธีกรรายการดีเบตยุติการทำงาน พรรคการเมืองโหนกันเกลียว ย้อนอดีตยุคทักษิณก็เคยถอดรายการอ้างฝักใฝ่ประชาธิปัตย์มาแล้ว
ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สามารถขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง รวมทั้งร่วมเวทีดีเบตได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีความคึกคักเป็นพิเศษ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ? ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้พรรคกำลังปรึกษาหารือกันถึงวันเวลาที่เหมาะสม ก่อนจะนำไปปรึกษากับ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับเวทีที่พรรคจะจัด และให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พบปะกับพี่น้องประชาชน ได้พูดความในใจ พูดถึงแนวความคิดของท่าน รวมถึงได้พบปะพูดคุยกับผู้สมัครของพรรค เพื่อให้กำลังใจ ตอนนี้ก็กำลังดูกันอยู่ว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ และที่ไหน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากรายงานข่าวระบุเป็นวันที่ 10 มี.ค.เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตอบว่า วันที่ 10 มี.ค. ก็มีความเป็นไปได้ เร็วๆ นี้จะมีความชัดเจน ตอนนี้ตามข่าว พล.อ.ประยุทธ์ก็เข้าตรวจสุขภาพ จึงต้องให้เวลาท่านพักก่อน แล้วทางพรรคจึงจะไปคอนเฟิร์มกับท่านว่าจะเป็นที่ไหน เวลาไหน ทั้งนี้ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากอยากพบ พล.อ.ประยุทธ์ ทางพรรคจึงคิดว่าจะพยายามจัดและเชิญท่านไปในทุกภาค แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมีภารกิจเยอะ จึงต้องไปหารือให้เกิดความชัดเจน
ถามอีกว่า เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งในเป้าโจมตีจากหลายฝ่าย หากมาช่วยพรรค พปชร. จะส่งผลต่อคะแนนนิยมหรือไม่ นายอุตตมบอกว่า ส่วนตัวไม่คิดเช่นนั้น แต่คิดตรงข้าม เพราะว่ากลุ่มที่โจมตีเรื่องประชาธิปไตยก็เป็นวาทกรรมเดิมๆ อธิบายกันมามากแล้ว หากยังนิยมของเดิมก็ว่ากันไป แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็เหมือนกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในพรรคอื่นๆ ก็น่าจะให้โอกาสกับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหลายได้มีโอกาสพบปะกับพี่น้องประชาชน จริงๆ พรรค พปชร.ยังไม่ได้มีโอกาสทำเช่นนั้นเลย จะพูดว่าเสียเปรียบพรรคอื่นอยู่หน่อยๆ ก็ได้ แต่จากนี้ไป ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวที ก็ถือว่าเท่าๆ กัน
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า คาดว่า 1-2 วันนี้ผู้บริหารพรรคจะหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติ และจะประสานนายกรัฐมนตรี ดังนั้นคาดว่าต้นสัปดาห์นี้จะได้ข้อยุติทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีโอกาสหารือกับทีมงานของนายกฯ ไว้บ้างแล้ว หลังจากได้รับคำตอบจาก กกต. ในการที่จะให้โอกาสนายกรัฐมนตรีช่วยพรรคของเรา
ต้องใช้เวลาอย่างลงตัว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะปักหมุดที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นที่แรกจริงหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ทางพรรคกำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะเป็นกิจกรรมลักษณะใดนั้น ต้องดูเวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย สิ่งที่พรรคให้ความสำคัญคือต้องใช้เวลานอกเวลาราชการ ตัวนายกฯ เองก็มีตารางงานค่อนข้างแน่น ก็ต้องดูความเหมาะสม ดูตารางงานของ พล.อ.ประยุทธ์ และดูแผนการหาเสียงของพรรคควบคู่กันไป ส่วนจะเป็นกิจกรรมในรูปแบบไหนนั้น ต้องขอหารือกันก่อน การที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปช่วยอย่างไรมีหลายวิธี ซึ่งอาจจะดูเรื่องของเวลาที่เหลืออยู่ 3 สัปดาห์ให้มาก ต้องใช้เวลาอย่างลงตัว
ถามว่าเมื่อนายกฯ ไปหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐได้ แต่ไปดีเบตไม่ได้ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐตอบว่า ต้องขอความเป็นธรรมเรื่องดีเบต ถ้าพูดจริงๆ เป็นเรื่องของการแสดงวิสัยทัศน์ในทางความคิดเห็น ซึ่งการดีเบตเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะพูดจากัน และขึ้นอยู่กับว่าเป็นการดีเบตในลักษณะอย่างไร หลายครั้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็นเต็มที่ และไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ ซึ่งพรรคคงต้องมาดูจะทำอย่างไรให้นายกฯ ได้มีโอกาสที่จะให้พี่น้องประชาชนได้เห็นแนวความคิดของนายกฯ ที่ท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง จะทำงานอย่างไรให้พี่น้องประชาชน การสื่อสารกับประชาชนตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ
ซักว่าบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่โผงผางและค่อนข้างตรง จะทำให้กลายเป็นจุดอ่อนของพรรคหรือไม่ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปบอกอย่างนั้น ท่านอาจจะนิ่มนวลก็ได้ อาจจะน่ารักกว่าเดิมก็ได้ ขอให้ติดตาม
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ความจริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปปราศรัยก็ได้เปรียบมากกว่าพรรคอื่นอยู่แล้ว เพราะทุกวันศุกร์ท่านก็ได้ออกโทรทัศน์ทุกช่อง ยกเว้นช่องต่างประเทศ ไม่นับเวลาเดินหน้าประเทศไทยทุก 18.00 น.
"นั่นยิ่งกว่าการปราศรัยใดๆ สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ เรื่องสถานะของพลเอกประยุทธ์จะนำมาสู่การเลือกตั้งโมฆะ เหตุใด กกต.จึงไม่นำเรื่องนี้มาวินิจฉัยก่อน เพราะหากมีการวินิจฉัยภายหลังวันที่ 24 มีนาคม 2562 ว่าพลเอกประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากปล่อยให้เดินไปถึงวันดังกล่าว แล้วมาวินิจฉัยเรื่องสถานะของพลเอกประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมีคุณสมบัติเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก็จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้"
นายจตุพรกล่าวอีกว่า ความจริงแล้วไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะเรื่องข้อกฎหมายไม่ได้ต่างจากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ส่วนจะวินิจฉัยอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น และควรจะปฏิบัติต่อพรรคพลังประชารัฐเช่นเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้
ความผิดสำเร็จแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.ปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ออกแบบไว้มีความหลากหลายมาก ยกตัวอย่างเช่น 4 รัฐมนตรีที่เป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ลาออกจากรัฐมนตรี ไม่สามารถลง ส.ส.ได้แม้แต่คนเดียว
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์วันนี้ถามใครก็ได้ว่าท่านเป็นบุคคลสาธารณะ หรือท่านเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การเป็นบุคคลสาธารณะก็เป็นแบบตน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีอำนาจการบัญชาการ สั่งราชการ ไม่มีเครื่องแบบ พล.อ.ประยุทธ์มีเครื่องแบบ มีเงินเดือน ครบถ้วนทุกประการ ที่เข้าคุณสมบัติเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ การพยายามอธิบายว่าเป็นชั่วคราว
"จะชั่วคราวหรือชั่วถาวร ไม่ได้มีอะไรต่างกันเลย ดังนั้นแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจลาออกในวันนี้ก็ตาม แต่ความผิดสำเร็จขึ้นมาแล้ว เพราะถ้าประชาชนตัดสินใจ ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าความผิดได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว" นายจตุพรกล่าว
ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.สมุทรปราการ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมการ กกต. ระบุว่า การที่ กกต.ตอบพรรคพลังประชารัฐ?ประเด็นการช่วยหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังในการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการให้คุณให้โทษแก่พรรคการเมือง ขออนุญาตที่จะขยายความเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดให้เป็นที่ลำบากใจของ กกต.
1.การไปช่วยหาเสียง ต้องดำเนินการนอกเวลาราชการเท่านั้น
2.การไปช่วยหาเสียง ไม่สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น ไม่สามารถใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง ไม่สามารถใช้เจ้าพนักงานของรัฐติดตามอำนวยความสะดวก
3.การเดินทางไปต่างจังหวัด โดยเครื่องบิน ไม่สามารถใช้เครื่องบินของราชการ แม้ว่าอาจมีภารกิจในช่วงกลางวัน และมีการหาเสียงตอนเย็น ถือว่าเป็นการแอบแฝงใช้ทรัพยากรของรัฐเอื้อประโยชน์พรรคการเมือง 4.สื่อมวลชนของรัฐพึงระมัดระวังในการเสนอข่าวภารกิจของนายกรัฐมนตรีในช่วงการหาเสียงนอกเวลาราชการ ให้มีสัดส่วนของข่าวที่ไม่มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จนเห็นชัดเจนว่าเป็นการใช้สื่อของรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่าตั้งใจจะไปปราศรัยหรือหาเสียงในนามพรรคหรือไม่ ด้วยวิธีไหน อย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือ ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย เพราะแม้ท่านจะเป็นผู้มีชื่อในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง แต่ท่านก็ยังมีสถานภาพเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เวลาราชการและการใช้กลไกหรืออำนาจรัฐหาเสียง ซึ่งเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และเชื่อว่าท่านก็คงระวังตัวอยู่ เพราะคงจะมีคนคอยเฝ้าติดตามอยู่ในทุกอิริยาบถแน่นอน
แชมป์ดีเบตแห่งชาติ
นางทยา ทีปสุวรรณ อดีต กปปส. โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้ ดีเบต...ไม่ดีเบต ช่วงนี้ทุกพรรคการเมืองกำลังพุ่งเป้าไปที่การลาก “ลุงตู่” มาลงสนามดีเบต ว่ากันง่ายๆ ถ้าใครเสนอตัวเป็นนายกฯต้องกล้ามาแสดงวิสัยทัศน์
เมื่อวานลุงตู่ออกมาประกาศชัดว่า “ไม่ดีเบต” ส่วนตัวไม่คิดว่าพลเอกประยุทธ์จะกลัวว่าพูดสู้นักการเมืองไม่ได้ (จริงๆ แล้วเรื่องวาทกรรมต่างๆ เอาเข้าจริงก็คงสู้ไม่ได้หรอก) แต่ถ้าจะวัดกันเรื่องวิสัยทัศน์ เชื่อว่าท่านเป็นนายกฯ มาเกือบ 5 ปี ต้องรู้ว่านโยบายใดควรสานต่อ ปัญหาอะไรที่ต้องแก้ แต่ในด้านกฎหมายมันมีความสุ่มเสี่ยง หากมาพูดนโยบายพรรค หาเสียงให้พรรคในขณะที่ยังดำรงทั้งตำแหน่งหัวหน้า คสช.และตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นจะพูดอะไรบนเวทีดีเบต ย่อมมีความเสี่ยงในการผิดระเบียบ กกต. และอาจถึงขั้นยุบพรรคได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็เข้าทางพรรคตระกูลเพื่อที่ขุดหลุมรอไว้อยู่แล้ว
ส่วนพวกแชมป์ดีเบตแห่งชาติ เช่น ณัฐวุฒิ เฉลิม จตุพร จาตุรนต์...ที่พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่เอาเข้าจริงบริหารประเทศแล้วเป็นยังไง ยังจำภาพณัฐวุฒิตอนเป็นรัฐมนตรีเจอนักข่าวซักเรื่องจำนำข้าว แล้วตอบเฉไฉไปไม่เป็น...ไม่เห็นปากกล้าเหมือนอยู่บนเวที “พี่น้องครับ เผาไปเลย ผมรับผิดชอบเอง” ยังจำกันได้มั้ยเอ่ย?!
ส่วนตัวมองว่า การกระทำ คงสำคัญกว่าการมาพูด มาโต้วาทีกัน จะว่ากันไปแล้วพลเอกประยุทธ์เองเสียเปรียบกว่าด้วยซ้ำที่ไม่สามารถขึ้นเวทีปราศรัย ลงพื้นที่ช่วยลูกพรรคหาเสียงได้เหมือนหัวหน้าพรรคหรือแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ
จริงๆ แล้วในฐานะประชาชนก็อยากฟังลุงตู่มาดีเบตนะ แต่ไม่ฟังก็ไม่ตาย เพราะยังไงก็เชื่อว่าท่านยังเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในสถานการณ์ตอนนี้ และน่าจะกลับมาสานต่อนโยบายที่ดีหลายๆ เรื่องได้ เช่น นโยบายการศึกษา การพัฒนาครู นโยบายสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน การท่องเที่ยว...แต่หลายนโยบายด้านเศรษฐกิจก็คงต้องปรับเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้มากขึ้น...เป็นต้น
แต่ขออย่างได้มั้ยคะ ถ้าลุงตู่กลับมา “คนรอบตัว” ไม่จำเป็นต้องกลับมาทุกคนก็ได้นะคะ ปล.ว่าแต่นายกฯ คนก่อนก็ไม่เคยดีเบตนะ สภายังไมค่อยเข้าเลย!
สืบเนื่องจากกรณีคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีคำสั่งให้นางอรวรรณ ชูดี ผู้จัดการส่วนสร้างสรรค์รายการข่าว สำนักข่าวไทย อสมท ยุติบทบาททำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ "ศึกเลือกตั้ง 62" ที่ออกอากาศทางช่อง MCOT HD หมายเลข 30 หลังรายการสดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ใช้ชื่อรายการว่า "เอาใจวัยโจ๋ดีเบตเกมโชว์" โดยเชิญตัวแทนพรรคการเมือง 10 พรรคมาดีเบต และให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา 100 คน ในห้องส่งโหวต เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย จากคำถามที่ทางรายการกำหนด โดยถูกมองว่าเป็นการชี้นำโจมตีรัฐบาล มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางตามมา
"ส้มหวาน"ไม่ตกขบวน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่ช่อง 9 ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลของคุณอรวรรณ สมาคมสื่อฯ ควรแสดงบทบาทชัดเจนในการปกป้องสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตามจรรยาวิชาชีพ ต้นสังกัดควรทบทวนการตัดสินใจ ไม่ว่าจะมีเบื้องหลังอย่างไร เรากำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย การปิดกั้นไม่ใช่คำตอบ ผมขอให้กำลังใจทั้งคุณอรวรรณ คุณวีระ และสื่อมวลชนที่กำลังจะจัดเวทีดีเบตให้ยืนหยัดทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ทวิตเตอร์ว่า หากข่าวเป็นจริง ก็ขอเป็นกำลังใจและยืนหยัดเคียงข้างคุณอรวรรณ-คุณวีระที่ทำหน้าที่สื่อฯ ได้อย่างดีสุดความสามารถตามจรรยาบรรณวิชาชีพ ทั้งสองมีความคิดสร้างสรรค์ กล้านำเสนอ ทำให้เป็นรายการที่ดูสนุกมีสาระมาก ตนขอประณามการกระทำใดๆ ที่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการดีเบตครั้งนี้ ตนมองว่ารูปแบบการดีเบตในรายการโทรทัศน์ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการเลือกตั้ง เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยทางรายการได้นำเสนออย่างเหมาะสม และสร้างสรรค์ เป็นเวทีของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งรายการอาจถูกใจประชาชน แต่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจหรือไม่ อีกทั้งการปลดพิธีกรดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดการทำหน้าของสื่อมวลชน สมาคมและวิชาชีพสื่อควรออกมาปกป้อง
ทั้งนี้ ตนในฐานะที่เคยเป็นสื่อมวลชนมาก่อน ต้องขอแสดงความชื่นชม และเป็นกำลังใจให้คุณอรวรรณ ได้ยืนหยัดในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนต่อไป
นายยุ้ง จักรไพศาล ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเมืองไทยมีคุณภาพ ขอแสดงการให้กำลังใจต่อพิธีกรคนดังกล่าว ซึ่งได้ทำหน้าที่อย่างดีตลอดการดำเนินรายการ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องการเมือง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
ฝ่ายประชาธิปไตย
นายยุ้งกล่าวต่ออีกว่า อยากเรียกร้องไปยังผู้บริหารภาครัฐและเอกชนให้เปิดกว้างและเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนทุกกลุ่มในสังคมได้แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างหลากหลาย ไม่ใช่ใช้อำนาจมาปิดกั้นหรือปิดช่องทางในการแสดงออก เพียงเพื่อต้องการที่จะเอาใจหรือช่วยผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งผ่านความเห็นของประชาชนออกมาในรูปแบบของรายการต่างๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้ง จำเป็นอย่างมากที่ประชาชนต้องได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน
“ในนามคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย อยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ร่วมมือกันสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้ได้สิทธิเสรีภาพและเศรษฐกิจที่ดีตามที่คนรุ่นใหม่ได้ให้คำตอบในรายการดีเบตการเมืองทางช่อง 9 ” นายยุ้งกล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันสำคัญของประชาธิปไตย ดังนั้นการแทรกแซงสื่อจึงเป็นคำถามว่าสมควรหรือไม่ ช่อง 9 ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจแสดงว่าเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ยิ่งต้องเป็นกลาง อีกทั้งคนที่มาแสดงความคิดเห็นก็เป็นอิสระไม่มีใครบังคับ และไม่ได้ว่าใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่อย่าให้เกิดขึ้นอีก
ตนมองว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เวทีในการแสดงความเห็นเป็นเรื่องสำคัญ และหากเป็นการแทรกแซงของภาครัฐจะส่งผลลบกับฝ่ายภาครัฐเอง ทำให้มีแรงสะท้อนกลับยิ่งแรงขึ้น คนเห็นความไม่เป็นธรรมหรืออยุติธรรม คนยิ่งไม่ชอบ ตนเชื่อว่าคนไทยเกลียดความอยุติธรรม อีกด้านหนึ่งการกระทำลักษณะนี้เป็นความไม่ฉลาดทางธุรกิจ เพราะกลายเป็นกระแสลบกับทาง อสมท มากกว่า ตรงกันข้ามหากปล่อยไปตามธรรมดา และปล่อยให้ประชาชนมองด้วยวิจารณญาณของตัวเอง อนาคตคงต้องดูให้ละเอียดและรอบคอบมากขึ้น
เมื่อถามว่า หากปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นขนาดนี้ กลัวซ้ำรอยเหตุการณ์ลงประชามติหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า หากประชาชนเห็นแบบนี้จะยิ่งมีทางในการไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และสื่อที่ไม่เป็นธรรมก็จะมีคนฟังลดลงและเลิกเชื่อถือ ซึ่งเป็นผลลบกับตัวสื่อเอง ที่แสดงความไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ นายชัชชาติยังกล่าวว่า อสมท เองปีที่แล้วขาดทุนไปกว่า 300 ล้านดังนั้นบอร์ดจึงควรไปดูผลประกอบการของบริษัทตัวเองด้วย ถ้ายิ่งไม่เป็นกลางคนจะมาฟังน้อยลง เพราะทุกคนมีทางเลือกมากขึ้น แต่ถ้าเป็นกลางทุกคนจะมาฟังและตัดสินใจด้วยตัวเอง และทุกอย่างจะเข้มแข็งขึ้น แต่ทำแบบนี้ทุกอย่างจะยิ่งอ่อนแอลง
ยุคทักษิณก็ถอดรายการ
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทางรายการที่ได้ในโอกาสเชิญผู้แทนของพรรคพลังประชารัฐไปร่วมรายการ ซึ่งในวันนั้นตนเองได้รับมอบหมายจากทางพรรคให้ไปร่วม ซึ่งทราบแต่เพียงว่าเป็นรายการดีเบตรูปแบบใหม่ในลักษณะเกมโชว์ และไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะมีคำถามอะไรบ้าง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในรายการเป็นไปตามสถานการณ์จริง ไม่มีการเตรียมบทให้แต่ละฝ่ายตอบคำถามแต่อย่างไร ซึ่งในส่วนที่มีข่าวให้ผู้ดำเนินรายการทั้ง 2 คนยุติการทำหน้าที่ครั้งนี้ ส่วนตัวขอให้กำลังใจตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจในการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ไม่ขอก้าวล่วงการตัดสินใจของคณะกรรมการบอร์ดช่อง 9 เพราะเป็นเรื่องภายในขององค์กร และหวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายและมีทางออกที่ดีที่สุด
น.ส.วทันยายังเชื่อว่า การจัดรายการดีเบตมีความสำคัญ และมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการแสดงวิสัยทัศน์ เครื่องยืนยันความสำเร็จที่ดีที่สุด คือการลงมือทำให้ประชาชนเห็นจริง นอกจากนี้ต้องการเห็นเวทีดีเบตเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เราควรออกมาประชันวิสัยทัศน์นโยบายเพื่อเป็นทางออกให้กับประเทศ มากกว่าการพูดถึงประเด็นทางการเมืองที่จะนำสังคมกลับสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ได้ข้อยุติ และมีมติจากประชาชนไปแล้ว ทั้งนี้ยืนยันส่วนตัวยังจะไปร่วมรายการดีเบตในเชิงสร้างสรรค์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีใกล้เคียงกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2545 ช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร รายการบันทึกสถานการณ์ ที่จัดโดย ฟองสนาน จามรจันทร์ ถูกถอดออก โดยอ้างเหตุว่า ฝักใฝ่การเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่เคยเข้าข้างฝ่ายใดหรือแทรกแซงด้านเนื้อหาจากผู้ใด แต่ก็ยอมรับการถูกถอดถอนโดยดี โดยบอกว่าเป็นเพียงข้าราชการชั้นผู้น้อย ผู้ใหญ่สั่งอะไรมาก็ต้องปฏิบัติตาม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |