จากวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. นับถอยหลังไปก็เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. วันชี้ชะตาประเทศไทย ที่ประชาชนจะใช้อำนาจประชาธิปไตยผ่านการกาบัตรเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี นับจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 จึงทำให้ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปโหมดการหาเสียงของทุกพรรคการเมืองจะยิ่งทวีความเข้มข้น-ร้อนแรงขึ้นมากกว่าช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
จุดหนึ่งที่เริ่มจับสัญญาณได้ชัดก็คือ หลายพรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเพื่อให้เกิดกระแส ประชาชนต้องเลือก บนทางสองแพ่ง
เอา-ไม่เอาบิ๊กตู่ กลับมาเป็นนายกฯ
หนุน-ไม่หนุน คสช.สืบทอดอำนาจ
ซึ่ง trend การหาเสียงดังกล่าว พรรคการเมืองในเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทยอย่าง ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ-ประชาชาติ พยายามสร้างกระแส สื่อสารทางการเมืองด้วยแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้ การเมืองแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ เอา-ไม่เอาบิ๊กตู่, หนุน-ไม่หนุน คสช. มาตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่โหมดหาเสียงเต็มตัว หลังมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งฯ เสียด้วยซ้ำ
ยิ่งเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงชิงเก้าอี้ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยรักษาชาติมีโอกาสถูกยุบพรรคในวันที่ 7 มี.ค.นี้ การเลือกตั้งที่นับถอยหลังใกล้มาถึงมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างกระแสให้ประชาชนเลือกข้างดังกล่าวก็ยิ่งเห็นชัดมากขึ้น
แม้ในความเป็นจริงทางการเมือง ปัจจุบันในทางการเมืองประชาชนก็มีการแบ่งข้างอย่างไม่เป็นทางการมานานแล้ว ที่ก็คือ ข้าง เอา-ไม่เอาทักษิณ เอา-ไม่เอาบิ๊กตู่ โดยกองเชียร์แต่ละฝ่ายยังไงก็ยากที่จะออกเสียงเลือกตั้งโหวตสวิงจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง
เช่น คนที่ไม่ชอบทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง จนเคยออกมาร่วมชุมนุม กปปส. แม้สุดท้ายตอนนี้จะผิดหวังกับรัฐบาลบิ๊กตู่ที่ยังทำผลงานไม่เข้าเป้า และเจอผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้หากินฝืดเคือง ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่คนกลุ่มนี้ก็ย่อมไม่สวิงคะแนนไปโหวตเลือกพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ ที่เป็นแนวร่วมเดียวกันอย่างพรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หรือพรรคอนาคตใหม่ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เป็นไปได้มากที่สุด คนกลุ่มดังกล่าวก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหน เช่น ประชาธิปัตย์ หรือจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังให้โอกาสบิ๊กตู่อีกสักรอบ
และก็เช่นเดียวกัน คนกลุ่มที่ไม่ชอบ กปปส.-ประชาธิปตย์-เกลียด คสช. ไม่เอารัฐประหาร เคยเชียร์ทักษิณ-เพื่อไทย-เป็นแนวร่วมเสื้อแดง แต่อาจผิดหวังกับเพื่อไทยที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ชอบทักษิณและพรรคเครือข่ายอย่างไทยรักษาชาติ ที่เปิดดีลเจรจากับบุคคลบางกลุ่มในการเสนอชื่อแคนดิเดทนายกฯ เมื่อ 8 ก.พ. จนทำให้พรรคกำลังจะถูกยุบ และมองว่าพรรคเพื่อไทยไม่ตอบโจทย์การเมืองยุคใหม่ เพราะไม่มีความก้าวหน้าทางความคิดและแนวทางพรรค คนกลุ่มนี้ก็อาจโหวตให้พรรคอนาคตใหม่ ที่มีแนวทางประชาธิปไตย-ต้านรัฐประหารที่ชัดเจนกว่าพรรคเพื่อไทย คือ ยังไงคนกลุ่มนี้ก็ไม่มีทางที่จะสวิงโหวตข้ามขั้วมาโหวตให้พรรคอย่างประชาธิปตย์ พลังประชารัฐ หรือแม้แต่พรรคที่เน้นทางสายกลางอย่างภูมิใจไทย
เว้นเสียแต่ อาจจะมีบ้างในระบบการจัดตั้งทางการเมือง-หัวคะแนนในต่างจังหวัด ที่ประชาชนอาจจะยึดติดกับตัวผู้สมัคร ส.ส.-อดีต ส.ส.-หัวคะแนน ก็อาจมีผลทำให้การสวิงขั้วดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีอดีต ส.ส.เพื่อไทยย้ายไปพลังประชารัฐ ยิ่งหากเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย ทำพื้นที่มาดี มันก็มีโอกาสที่คะแนนจะสวิงข้ามขั้วได้
แม้ทฤษฎีดังกล่าว ฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทยเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าอดีต ส.ส.เพื่อไทยหลายคนที่ย้ายพรรค เกือบทั้งหมดได้เป็น ส.ส.มาก็เพราะกระแสความนิยมในตัวทักษิณและนโยบายพรรคเพื่อไทย จึงมั่นใจว่าพวกที่ย้าย โดยเฉพาะออกไปอยู่พลังประชารัฐจะสอบตกหมด ซึ่งก็ต้องรอดูกันกับผลเลือกตั้งที่จะออกมา
ด้วยเหตุที่แนวคิดทางการเมือง-ความชื่นชอบทางการเมืองของประชาชนจำนวนมากถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วดังกล่าวมานานแล้ว ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงมองว่า ยังไงมันก็ยากที่คะแนนจากขั้วหนึ่งจะสวิงไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งด้วยฐานคะแนนเสียงในอดีตที่ฝ่ายเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งมาตลอด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ-อนาคตใหม่-เสรีรวมไทย จึงมั่นใจมาตลอดว่า เลือกตั้งครั้งนี้ยังไงก็ชนะฝ่าย คสช.-พลังประชารัฐ
แม้ในความเป็นจริง สมการทางการเมืองวันนี้แปรเปลี่ยนไปมาก เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนับทุกคะแนนเสียง “ซึ่งทำให้ฐานคะแนน ฐานเสียง แบบที่เคยเห็นกันมาตั้งแต่ปี 2544 ที่เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เลือกคนที่รัก-เลือกพรรคที่ชอบ ย่อมไม่สามารถนำมาตั้งสมมุติฐานเพื่อคาดการณ์ผลเลือกตั้งในปี 2562 ได้ แต่พรรคการเมืองฝ่ายดังกล่าวก็แลดูจะเชื่อมั่นว่าถึงระบบเลือกตั้งเปลี่ยน แต่ ความผันแปรที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง ตัวเลขไม่น่าจะสวิงเปลี่ยนไปมาก ยิ่งประชาชนตอนนี้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจกันเกือบหมด ทุกอาชีพ จนทำให้กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของรัฐบาลบิ๊กตู่ที่แก้ปัญหาไม่ได้ผล ก็ยิ่งทำให้ พรรคการเมืองข้างต้นยิ่งมั่นใจว่า สโลแกน 24 มีนาคม เข้าคูหา ฆ่าเผด็จการ จะได้รับเสียงขานรับ จนทำให้พรรคฝ่ายหนุนบิ๊กตู่แพ้หมดรูป
การสร้างกระแสแบ่งข้างเลือกขั้วให้กับประชาชนในการเลือกตั้งดังกล่าว ยิ่งใกล้ถึงวันเลือกตั้งก็ยิ่งเห็นชัดมากขึ้นโดยเฉพาะกับฝ่ายตรงข้าม คสช.
อาทิ ความเห็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ปลุกกระแสประชาชนให้โหวตไม่เอาพรรคหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“คนไทยต้องผนึกกำลังกันให้แน่นแฟ้น อย่าให้คะแนนหลุดไปทางเผด็จการโดยเด็ดขาด 24 มีนาคม จับปากกาฆ่าเผด็จการ”
สอดรับกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก็ย้ำในแนวทางนี้เช่นกัน คือ มองว่าโค้งสุดท้ายของการหาเสียง การตัดสินใจของประชาชนก็จะไปถึงจุดที่เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาการสืบทอดอำนาจ
“การหาเสียงเลือกตั้งถึงนาทีสุดท้ายคงไปถึงการตัดสินใจในเรื่องจะเอาการสืบทอดอำนาจ หรือไม่สืบทอดอำนาจ หากพรรคการเมืองใดยังไม่ยืนยันชัดเจนก็อาจต้องสมมุติฐานก่อนว่า ไปร่วมกันได้” (ปิยบุตร-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่)
ขณะที่ พรรคฝ่ายทักษิณ ทั้งเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ-เพื่อชาติ-ประชาชาติ จะพบว่า แกนนำพรรคการเมืองเหล่านี้ ต่างสอดประสานเป็นหนึ่งเดียว ในการให้การเมือง-การเลือกตั้ง แบ่งออกเป็นสองขั้ว คือ เอา-ไม่เอาบิ๊กตู่, หนุน-ไม่หนุน คสช.สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์-ชัยเกษม นิติศิริ-ภูมิธรรม เวชยชัย จากเพื่อไทย หรือจาตุรนต์ ฉายแสง-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จากไทยรักษาชาติ และจตุพร พรหมพันธุ์ จากเพื่อชาติ รวมถึงวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ ซึ่งท่าทีของคนนี้ทั้งหมดก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้งหมดคือกลุ่มที่เสียอำนาจจากการถูก คสช.ทำรัฐประหาร และเป็นพรรคที่มีฐานเสียงเดียวกัน รวมถึงอาจจะใช้ กระเป๋าเงิน-ถุงเงิน เดียวกันในการเลือกตั้ง บนเป้าหมายคือ จะมาจับมือตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้ง ดังนั้น การพยายามให้การเลือกตั้งแบ่งออกเป็นสองขั้วดังกล่าว แล้วแต่ละพรรคก็ไปเก็บคะแนนกันเอาเอง ก็เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์การเมืองการเลือกตั้งที่ต้องไล่ทุบ คสช.ว่าเป็นเผด็จการ แล้วชูตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อสร้างวาทกรรมให้ติดตลาดไปจนถึงวันหย่อนบัตร 24 มี.ค.
ประเมินได้ว่า การพยายามสร้างกระแสแบ่งข้าง-เลือกขั้วดังกล่าว หลังจากนี้จะยิ่งถูกโหมให้หนักขึ้น อย่างเช่นที่แลเห็นบนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนบอกว่าอาจจะเป็นเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของพรรคก่อนถูกยุบ!
จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ ย้ำไว้ว่า “วันที่ 24 มี.ค. คือวันชี้ชะตาประเทศไทย จะเป็นการตัดสินว่าจะให้ระบอบ คสช.อยู่ต่ออีก 20 ปีหรือไม่ ถ้าสืบทอดอำนาจได้อีก 20 ปี ได้อดตายกันทั้งประเทศ ถ้าประชาชนต้องการให้มีรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ต้องเลือกอย่างท่วมท้น เพื่อไม่ให้ระบอบ คสช.อยู่กับประเทศไทยต่อไป”
ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำไทยรักษาชาติ ปราศรัยตอนหนึ่งโดยอ้างว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายตรงข้ามใช้แผน รวมร่างปีศาจเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยทำผ่านเครือข่ายที่ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-รวมพลังประชาชาติไทย และมีองค์กรอิสระคอยร่วมมือด้วย โดยใช้การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมเพื่อให้ คสช.กลับมาสืบทอดอำนาจ จึงขอให้ประชาชนต้องรวมพลังกันเพื่อทำลายพิธีกรรมสืบทอดอำนาจด้วยการตัดหัวการสืบทอดออกไป
การหาเสียงที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ทำให้เชื่อได้ว่า การหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายโดยเฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อน 24 มี.ค. แกนนำพรรคการเมืองแต่ละขั้วคงเปิดฉากรุก-รบทางการเมืองกันอย่างร้อนระอุไปจนถึงนาทีสุดท้ายของการหาเสียงแน่นอน.
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |