พระเจ้าอยู่หัวทรงไม่อยากรบกวน ไม่เชิญพระราชอาคันตุกะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “สมเด็จพระเทพฯ” ทรงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนระหว่างพระราชพิธีฯ ต้องได้จังหวะจะโคนที่พอดี “วิษณุ” เผยแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคใช้เวลา 4.30 ชม. ส่วนทางชลมารคใช้ระยะทาง 4 กม.
เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มี.ค. ที่ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แถลงข่าวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 1/2562 โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แถลงว่า งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะมีขึ้นในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ แต่ไม่ต้องก่อสร้างถาวรวัตถุใด เพียงเอาโบราณวัตถุเดิมที่มีอยู่มาบูรณะซ่อมแซมใหม่ ส่วนใหญ่หนักเรื่องขั้นตอนพิธี ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ตามพระราชประเพณี แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ พระราชพิธีเบื้องต้น เบื้องกลาง และเบื้องปลาย
นายวิษณุแถลงอีกว่า ฝ่ายจัดพิธีการต้องเตรียมการต่างๆ ดังนี้ 1.เตรียมเรื่องตราสัญลักษณ์ ซึ่งจะใช้ประทับลงบนคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงมอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) นำไปประดับตกแต่งสถานที่และเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตลอดจนธงพระราชพิธีที่มีพื้นสีเหลืองและตราสัญลักษณ์อยู่ตรงกลาง และจัดทำเป็นเข็มที่ระลึก ซึ่งจะเป็นเข็มพระราชทานแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และสำนักนายกฯ จะขอพระราชทานพระราชานุญาตนำไปจัดทำเป็นเข็มที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชน 2.เตรียมเลือกพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อให้ใช้ให้เหมือนกันทั้งประเทศ
3.ตระเตรียมน้ำใช้พิธีสรงมุรธาภิเษก โดยจะมีพิธีพลีกรรมวันที่ 6 เม.ย. 4.เตรียมน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด สำหรับใช้เป็นน้ำอภิเษก จะมีพิธีตักน้ำจากแหล่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันในวันที่ 6 เม.ย. โดยวันที่ 8-9 เม.ย. จะเชิญน้ำไปจัดเก็บในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะเชิญไปเก็บไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจัดเก็บในคนโทตราสัญลักษณ์ 5.ตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้แผ่นทองคำสำหรับใช้จารึกพระสุพรรณบัฏ แกะดวงพระราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร ซึ่งพระราชลัญจกรเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระมหากษัตริย์ ซึ่งในรัชกาลที่ 10 ตราพระลัญจกรประกอบด้วยครุฑพ่าห์องค์ใหญ่กางปีก ล้อมรอบด้วยพระปรมาภิไธยใหม่
6.เครื่องมือเครื่องใช้ก่อสร้างมณฑปพระกระยาสนาน ซ่อมเกยสำหรับที่จะเสด็จลงเสลี่ยงหรือพระราชยานก้าวลงประทับแล้วเสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ 7.การเตรียมเกี่ยวกับขบวนพยุหยาตรา ซึ่งในทางสถลมารคจะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 4.30 ชม. ฝ่ายทหารได้เตรียมการส่วนนี้แล้ว ส่วนทางชลมารคซึ่งจะมีช่วงปลายเดือน ต.ค. โดยใช้เรือในพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ในรัชกาลที่ 9 และเรือพระราชพิธีอีก 48 ลำ ใช้ฝีพาย 2,200 นาย โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคจะเริ่มที่ท่าวาสุกรี ไปยังวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร และจะเห่เรือตลอดเส้นทางระยะทาง 4 กิโลเมตร
“ที่สำคัญคือการประชุมตระเตรียมคัดเลือกบุคคลที่จะเข้าเฝ้าฯ ทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีต่างๆ อาทิ พิธีในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พิธีเสด็จออกมหาสมาคมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และภายในพระอารามหลวงทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสถานที่ นอกจากนี้ วันที่ 6 พ.ค. เสด็จออกสีหบัญชร ประชาชนสามารถเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคลได้ที่ถนนสนามไชย สวนสราญรมย์ ศาลฎีกา ไปจนถึงสนามหลวง คาดว่าจะมีประชาชนนับแสนนับล้านร่วมเฝ้าชื่นชมพระบารมี ซึ่งกทม.จะติดตั้งจอแอลอีดีเพื่อให้ประชาชนได้รับชมการถ่ายทอดสดอย่างพร้อมเพรียงกัน หลังจากนี้จะเสด็จรับคณะทูตถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นการเสร็จพระราชพิธีเบื้องกลาง" นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวต่อว่า เรื่องการเชิญพระราชอาคันตุกะได้ตกลงกันว่าจะไม่มีการเชิญ เพราะพระองค์ท่านตรัสว่าไม่อยากให้รบกวน แต่หากประเทศใดจะเดินทางมาให้แจ้งความประสงค์ จะถือเป็นแขกของรัฐบาล เราจะดูแลต้อนรับอำนวยความสะดวกอย่างดี ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะนำให้ระมัดระวังเรื่องการเคลื่อนย้ายผู้คนระหว่างพิธีต่างๆ เนื่องพระราชวงศ์หลายพระองค์ รวมทั้งบุคคลสำคัญต่างๆ หลายท่านเป็นผู้สูงอายุ การเดินจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งเป็นการเปลี่ยนจุดที่ละเอียดอ่อน จะต้องเป็นฝ่ายรอเฝ้าฯ ก่อนหรือตามไปเฝ้าฯ ทีหลัง ต้องได้จังหวะจะโคนที่พอดี
"สำหรับพระราชพิธีครั้งนี้รัฐบาลตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ ใช้ไปแล้วจะอยู่คงทนถาวรไม่สิ้นเปลือง เช่น ในการปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตด้วย จะมีการนำสายไฟลงใต้ดินตลอดเส้นทางเสด็จฯ เลียบพระนครระยะทาง 7 กิโลเมตร รวมถึงการซ่อมแซมเรือในพระราชพิธีที่ไม่ได้บูรณะมากว่า 10 ปี" นายวิษณุ กล่าว
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า งานที่ได้รับมอบหมายคือการเตรียมการขบวนอัญเชิญน้ำอภิเษก การจัดและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันที่ 5 พ.ค. อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนครด้วยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเสด็จฯ ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และในวันที่ 6 พ.ค. ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของ กทม.ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเลียบพระนครในวันที่ 4 พ.ค. โดยปรับปรุงซ่อมแซมพื้นผิวการจราจร เรื่องไฟฟ้าแสงสว่างระบบการสื่อสาร รวมไปถึงการตีเส้นเครื่องหมายจราจรว่า 20 เส้นทาง ซึ่งคืบหน้าไปแล้วกว่า 75% ส่วนเรื่องสายไฟฟ้าและระบบติดต่อสื่อสารต่างๆ ก้าวหน้ามากกว่า 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จทุกอย่างภายในวันที่ 15 มี.ค. 2.ปรับปรุงซุ้มเฉลิมพระเกียรติเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ปรับปรุง ถ.ราชดำเนินนอก ถ.ราชดำเนินกลาง และตรงบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐานรวม 32 ซุ้ม และซุ้มเฉลิมพระเกียรติทั่ว กทม. 106 ซุ้ม พร้อมประดับธงตราสัญลักษณ์ที่เสา 4,000 ชุด คาดว่าจะเสร็จไม่เกินเดือน มี.ค.นี้ 3.การประดับตกแต่งต้นไม้ ซุ้มดอกไม้สด ดอกไม้แห้งและอื่นๆ จะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. โดยเฉพาะดอกไม้สด ซึ่งจะยังคงความสดและสวยงามไปจนถึงวันที่ 10 พ.ค. และ 4.การซ่อมแซมโบราณสถาน 12 แห่ง รอบเส้นทางเสด็จเลียบพระนคร ซึ่งได้ทาสีกำแพงโบราณ ทาสีอาคารอนุรักษ์ไปแล้ว จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ได้จัดทำร่างแผนการรักษาความปลอดภัยและการจราจรงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยยึดหลักสมพระเกียรติ ปลอดภัย และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณาการแผนปฏิบัติงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการถวายความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยกำหนดพื้นที่ปฏิบัติงาน ได้แก่ พื้นที่ชั้นใน พื้นที่ชั้นกลาง และพื้นที่ชั้นนอก กำหนด 6 โซน เพื่อให้ประชาชนชื่นชมพระบารมี โดยจะผ่านจุดคัดกรองโดยรอบพื้นที่ ก่อนเข้าพื้นที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวต่อว่า ส่วนการอำนวยความสะดวกการจราจร ช่วงพระราชพิธีเบื้องกลาง วันที่ 2-4 พ.ค.จะปิดการจราจร พื้นที่ชั้นใน 8 เส้นทาง ได้แก่ ถ.ราชดำเนินใน, ถ.สนามไชย, ถ.หน้าพระลาน, ถ.หน้าพระธาตุ, ถ.ท้ายวัง, ถ.หน้าหับเผย, ถ.หลักเมือง และ ถ.สราญรมย์ นอกจากนี้จะจัดจราจรเดินรถทางเดียวอีก 5 เส้นทาง จากนั้นวันที่ 5 พ.ค. เสด็จเลียบพระนคร จะยกระดับปิดการจราจร 27 เส้นทาง เพื่อรองรับประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ วันที่ 6 พ.ค. เสด็จสีหบัญชร จะลดระดับปิดการจราจรเหลือ 17 เส้นทาง โดยจัดพื้นที่จอดรถรองรับประชาชนใน 4 มุมเมือง 27 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเดินเท้าต่อไปยังพื้นที่พระราชพิธี นอกจากการเดินทางโดยรถแล้ว ประชาชนสามารถใช้ขนส่งระบบรางและทางน้ำได้ด้วย
นางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า กรมได้จัดทำข้อมูลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรูปแบบออนไลน์ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.เว็บไซต์ www.phralan.in.th ซึ่งสามารถสืบค้นข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านหนังสือสำคัญๆ ที่บรรจุในรูปแบบอีบุ๊ก 4 เล่ม ที่ได้เปิดตัวแล้ว 2.เพจเฟซบุ๊กพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีเนื้อหาเช่นเดียวกับเว็บไซต์พระลาน และ 3.คิวอาร์โค้ดและกูเกิลไดรฟ์บรรจุข้อมูลต่างๆ ข้างต้นไว้เพื่ออำนวยความสะดวก
“วันนี้ยังถือเป็นการเปิดศูนย์สื่อมวลชนย่อยเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-26 เม.ย. ณ อาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนย้ายไปเปิดศูนย์สื่อมวลชนหลัก ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.- 6 พ.ค. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ ยังมีสายด่วนสอบถามข้อมูลงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โทร.1257 เปิดให้บริการ 10 คู่สาย”นางทัศนีย์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |